xs
xsm
sm
md
lg

IMC เผยการใช้คลาวด์ในไทยเริ่มเติบโต บริการดี แต่แพง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบัน IMC
IMC เผยผลสำรวจความพร้อมด้านคลาวด์ขององค์กรในไทยพบว่า แนวโน้มการใช้งานคลาวด์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่หากเทียบราคาค่าบริการแล้วยังแพงกว่าต่างประเทศราว 20-30% แม้จะได้รับบริการที่ดีกว่า แนะซอฟต์แวร์ไทยจะได้เปรียบบนคลาวด์ต้องนำเสนอบริการที่มีจุดเด่นเฉพาะและไม่ไปแข่งกับรายใหญ่ ส่วนภาครัฐควรจัดระบบการจัดซื้อจัดจ้างให้สอดคล้องกับโมเดลของคลาวด์ จึงจะช่วยเกื้อหนุนให้กับภาคธุรกิจได้

ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบัน IMC กล่าวว่า การใช้งานคลาวด์ของไทยอยู่ในระดับกลางยังไม่ได้สูงมากนัก แต่แนวโน้มการใช้งานจะมาเด่นในเรื่องของเอสเอ็มอีสำหรับพับลิกคลาวด์ เนื่องจากองค์กรขนาดใหญ่ยังห่วงในเรื่องข้อมูลจึงยังคงใช้บริการไพรเวตคลาวด์อยู่ แต่ก็เริ่มเห็นทิศทางที่ชัดเจน เช่นเดียวการทำงานแบบทุกที่ทุกเวลาและทุกอุปกรณ์ จะเป็นส่วนเสริมให้การใช้งานคลาวด์เติบโตขึ้น และทำให้บริษัทซอฟต์แวร์ไทยมีโอกาสเข้าสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้นผ่านโมเดลของคลาวด์

แนวโน้มของการใช้งานคลาวด์ในประเทศไทยนั้น ด้วยนโยบาย Digital Economy ที่ส่งเสริมให้คนไทยใช้ไอทีมากขึ้น รวมไปถึงการที่คนไทยเริ่มคุ้นเคยกับการใช้ SaaS Public Cloud มากขึ้น และมีการคิดราคาตามการใช้งานทำให้บริการคลาวด์แบบนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างดี ส่วนในระดับธุรกิจนั้นปัจจุบันเริ่มเห็นแนวโน้มของการใช้ไพรเวตคลาวด์มากขึ้น เพื่อใช้ในการลดต้นทุนในองค์กรขนาดใหญ่

“แม้ว่าการใช้งานจะเริ่มเพิ่มขึ้นแต่หากมองทางด้านค่าบริการแล้ว ผู้ให้บริการในต่างประเทศได้เปรียบเรื่องราคาที่ถูกกว่า เพราะมีต้นทุนที่ต่ำกว่า โดยมีราคาถูกกว่าถึง 20-30% ในขณะที่ผู้ให้บริการในประเทศจะได้เปรียบในเรื่องการบริการ ทั้งที่ในความเป็นจริงตลาด SaaS ยังต้องการผู้ให้บริการที่ผลิตสำหรับกลุ่มผู้ใช้ในประเทศอีกมาก ซึ่งในส่วนนี้บริษัทซอฟต์แวร์ไทยจะได้เปรียบ”

ดร.ธนชาติ กล่าวว่า การที่ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยจะสามารถทำตลาดได้บนคลาวด์นั้น ต้องใช้จุดเด่นที่มีเฉพาะตัวที่เป็นของตนเอง ไม่เหมือนกับผู้ให้บริการรายใหญ่เพราะแข่งอย่างไรก็สู้ในเรื่องต้นทุนไม่ได้ ดังนั้น ต้องหาจุดแข็งที่เป็นจุดขายที่ดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้จึงจะประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับภาครัฐที่ต้องเปลี่ยนระเบียบวิธีการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้สอดคล้องกับโมเดลของธุรกิจแบบคลาวด์เสียก่อนทุกอย่างจึงจะเกื้อหนุนกันไปได้

ทั้งนี้ ไอเอ็มซีได้จัดทำโครงการวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง “ความพร้อมด้าน Cloud Computing ของหน่วยงานในประเทศไทย” (Cloud Computing in Thailand Readiness Survey) เพื่อเปรียบเทียบความพร้อมของประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคโดยได้ทำการสำรวจทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก พบว่า กลุ่มตัวอย่างจํานวน 94% มี Servers ใช้งานในองค์กร ในกลุ่มนี้มีการใช้งาน Private Cloud อยู่ 28% และ 29% มีแผนการใช้ติดตั้งในอนาคต ส่วน 43% ยังไม่มีแผนงานด้าน Private Cloud

สำหรับการใช้บริการ Public Cloud ของหน่วยงานในประเทศไทยในปัจจุบัน การสำรวจพบว่า หน่วยงานไทยใช้บริการ Cloud Computing แพร่หลายมากขึ้นโดยเฉพาะรูปแบบการบริการ Infrastructure as a Services (IaaS) และ Software as a Service (SaaS) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากจํานวนผู้ให้บริการในประเทศที่มีจํานวนเพิ่มขึ้น แต่ในส่วนรูปแบบการบริการ Platform as a Service (PaaS) ยังไม่มีข้อมูลว่ามีผู้ให้บริการภายในประเทศ

ดร.ธนชาติ กล่าวว่า การสำรวจพบว่า หน่วยงานไทยกำลังให้ความสำคัญกับบริการ Cloud Computing ที่เป็นมาตรฐานเปิดหรือ Open Source เพิ่มขึ้น โดยผู้ให้บริการ IaaS ที่หน่วยงานมีแผนการใช้บริการในอนาคตมากที่สุดคือ OpenShift ของ Red Hat ส่วนประเภทของซอฟต์แวร์ที่หน่วยงานไทยต้องการใช้บริการ SaaS Public Cloud มากที่สุดคือระบบ E-mail 63.39% อันดับที่ 2 คือ ระบบสร้างงานเอกสาร เช่น Office 365 56.06% รองลงมาเป็นระบบฝากข้อมูล เช่น Dropbox 46.94% CRM 30.61% และระบบ ERP 24.49

ทางด้านอุปสรรคของการใช้งานคลาวด์พบว่า 70.62% เห็นว่าการใช้งาน Cloud Computing ยังมีความเสี่ยงด้านระบบความปลอดภัยต่างๆ 49.15% เห็นว่าการขาดบุคลากรที่มีความรู้ที่ดีพอ ยังเป็นอุปสรรคสําคัญ และ 45.20% เห็นว่ากฎระเบียบของหน่วยงานและภาครัฐยังไม่เอื้อต่อการใช้งาน นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของผู้ให้บริการในต่างประเทศที่มีเสถียรภาพสูงอย่าง Windows Azure, Amazon, และ Google ไม่สามารถออกใบเสร็จรับเงินและใบกํากับภาษีสำหรับนํามาขอคืนภาษีภายในประเทศได้ ขณะที่ต้นทุนในการใช้งาน Cloud นั้นไม่ได้ต่ำอย่างที่คาดไว้ และราคาค่าบริการในหลายกรณียังสูงเกินไป

Company Related Link :
สถาบัน IMC

CyberBiz Social



Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket

Instagram
กำลังโหลดความคิดเห็น