xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ชาติ (บูรพา) พยัคฆ์ เปลี่ยนผ่านย้อนยุค สู่ “รัฐข้าราชการ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ไม่ว่าการพบกันครึ่งทาง-ค่อนทาง ระหว่างแม่น้ำ 4 สาย ซึ่งประกอบด้วย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กับ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ภายใต้การนำของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” จะเป็นฉากปาหี่ที่เซตกันไว้แล้วว่า จะจบลงกันตรงนี้ หรือจะเป็นการต่อรองกันไปมา

แต่ที่แน่ๆ สิ่งหนึ่งที่ กรธ. ตอบสนองให้ “คณะ 3 ป.” ทั้ง “ป.ประยุทธ์” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. “ป.ป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และ “ป.ป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย คือ การเซย์เยสให้มีบทเฉพาะกาล

และบทเฉพาะกาลที่ว่านั้นคือ การเปลี่ยนผ่าน 5 ปี!

ดังนั้น ไม่ว่าวันที่ 29 มีนาคมนี้ ในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายจะบัญญัติเอาไว้อย่างไร แต่ต้องมี “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” อย่างน้อยๆ 5 ปี เพื่อให้ “พี่น้อง 3 ป.” ยังคงคานอำนาจการเมืองไทยไม่ว่าจะเป็นในลักษณะไหนก็ตามอย่างแน่นอน

สิ่งที่น่าสนใจต่อจากนี้ นอกจากการลุ้นว่า ผลประชามติจะออกมาอย่างไร “คว่ำ” หรือ “หงาย” กันในวันที่ 7 สิงหาคมแล้ว อีกสิ่งที่ต้องจับตา เพราะมันจะเกิดขึ้นแน่ๆ ต่อให้ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่านก็คือ การจัดทัพเพื่อเตรียมพร้อมกับ 5 ปีหลังจากการเลือกตั้งในปี 2560

ดังจะเห็นได้จากการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารกลางปี ในวันเกิด “บิ๊กตู่” 21 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีแต่งตั้งโยกย้ายไปทั้งหมด 251 ตำแหน่ง ถือว่าเป็นจำนวนที่มากทีเดียวกับโผกลางปีแบบนี้ ขณะเดียวกันการแต่งตั้งโยกย้าย “ข้าราชการประจำ” ในส่วนอื่นๆก็สอดคล้องวางไลน์ไว้คล้ายกับในกองทัพราวกับตั้งใจ

จนทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า นี่คือ การจัดทัพ-จัดระเบียบ “รัฐข้าราชการ” ของคณะ “3 ป.บราเทอร์ส”

“ทีมโด่ง” หลุดผังอำนาจ “ชาติ (บูรพา) พยัคฆ์”

สถานการณ์บ้านเมืองในยามนี้ ดูจะคล้องจองกับชื่อละครย้อนยุคฟอร์มแรงแห่งปีอย่าง “ชาติพยัคฆ์” ที่ดัดแปลงเรื่องราวเมื่อครั้ง “วิกฤติการณ์ ร.ศ.112” ซึ่งประเทศไทย หรือแผ่นดินสยามในสมัยนั้นต้องกับการล่าอาณานิคมของต่างชาติ โดยมี “ไอ้กล้า” เด็กหนุ่มสายเลือดทหารเป็นตัวเอก

เปรียบได้กับความพยายามของ “คสช.” ที่พยายามปกปักษ์รักษาบ้านเมืองใน “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” ซึ่งหากจะให้ตรงกับ “ตัวเด่น-ตัวเอก” ในชีวิตจริง ก็ต้องว่ากันตามท้องเรื่อง “ชาติ (บูรพา) พยัคฆ์”

เหตุเพราะ “ตัวละครเอก” ในชีวิตจริงไม่ใช่แค่ “เสือ” ธรรมดา แต่เป็น “เสือตะวันออก” หรือที่รู้จักกันในนาม “บูรพาพยัคฆ์” ที่เติบโตมาจาก กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น “ประวิตร - อนุพงษ์ - ประยุทธ์” ตลอดจน “บิ๊กหมู” พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คนปัจจุบัน

การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารกลางปีทั้ง 251 ตำแหน่ง เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงการกระชับอำนาจของนายทหารสาย “บูรพาพยัคฆ์” ได้เป็นอย่างดี ถึงแม้จะยังไม่มีตำแหน่งระดับ 5 เสือของเหล่าทัพต่างๆ แต่ตำแหน่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่า ไลน์ของแต่ละคนจะไปโตอยู่ตรงจุดไหนบ้างในการโยกย้ายครั้งต่อไป โดยเฉพาะบรรดารองแม่ทัพภาค แม่ทัพน้อย ผบ.พล.ต่างๆ ที่ต่างขึ้นเป็นตำแหน่งใหญ่ๆ ที่มีอิทธิพลในกองทัพในอนาคตได้ทั้งสิ้น

เป็นเหมือนการวางไลน์กลายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรายชื่อเด็กในคาถา “บิ๊กป้อม” โผล่ไปอยู่ในตำแหน่งเหล่านี้จำนวนไม่น้อย ทั้งยังเป็นการเก็บงานขยับนายทหารในสาย “บิ๊กโด่ง” พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และอดีต ผบ.ทบ. ที่เป็น “เสือตะวันออกนอกไส้” ให้พ้นทางอีกครั้งหลังจากที่ “บิ๊กหมู” เคยเด้ง “ทีมบิ๊กโด่ง” ไปแล้วหลายรายเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ จนเป็นปัญหาข้อพิพาทที่ “บิ๊กป้อม” ต้องลงมาหย่าศึกด้วยตัวเอง

จาก “ดาวรุ่งพุ่งแรง” ที่เคยถูกจับตามองว่าอาจได้ดิบได้ดีขึ้นชั้น “นายกฯสำรอง” หากระดับหัวแถวเกิดพลาดพลั้งหรือถอดใจ แต่เวลาเพียงไม่ถึงครึ่งปีที่ผ่านมา ชะตาชีวิตของ “บิ๊กโด่ง” เปรียบไปก็เหมือน “ผีพุ่งใต้” ที่อาจจะมีแสงในเวลาเคลื่อนที่ แต่ก็หายวับไปในเวลาอันรวดเร็ว เรื่องของเรื่องก็มาจาก “ปมราชภักดิ์” ที่แม้ทุกหน่วยงานจะการันตีความบริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่ก็กู้ชื่อเสียงประธานมูลนิธิอุทยานราชภักดิ์กลับมายาก

ซึ่งในเกมอำนาจถือว่า “หมดราคา” ไปแล้ว แต่นับว่า “บิ๊ก คสช.” ยังไม่ใจไม้ไส้ระกำถึงขนาดเขี่ยทิ้งจากตำแหน่ง รมช.กลาโหม

ในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารกลางปีที่ผ่านมา ทุกสายตาจึงจับจ้องไปที่เด็กในสาย “บิ๊กโด่ง” ซึ่งก็เป็นไปตามคาดที่แต่ละคนถูกนำไปห้อยไปแขวนไว้ในตำแหน่งที่ไม่สลักสำคัญ จนสื่อหลายฉบับไปขึ้นหัวว่า “ล้างบาง” ซึ่งสะท้อนความเป็นจริงได้เป็นอย่างดี
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์
“พี่ป้อม - น้องหมู” วางไลน์คุมกองทัพยาว

ตามรายชื่อการโยกย้ายนายทหารที่ออกมา ทีมงาน “บิ๊กโด่ง” ถูกเด้งหลุดจากตำแหน่งสำคัญ หลุดจากสายคุมกำลังทั้งหมด ไล่ตั้งแต่ พล.ท.พลภัทร์ วรรณภักตร์ เจ้ากรมยุทธศึกษากองทัพบก ไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก พล.ท.สุทัศน์ จารุมณี รองเสนาธิการทหารบก เป็นที่ปรึกษากองทัพบก พล.ท.จิระพันธ์ มาลีแก้ว รองเสนาธิการทหารบก เป็นรองหัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา

สายแข็งอย่าง “บิ๊กหิน” พล.ต.ศรีศักดิ์ พูนประสิทธิ์ ผบ.พล.ร.2 รอ.ก็ยังขยับขึ้นเป็นแค่รองแม่ทัพน้อยที่ 1 ทั้งที่ปกติควรจะต้องขยับขึ้นรองแม่ทัพภาคที่ 1ส่วน พล.ต.โอม สิทธิสาร รองแม่ทัพภาคที่ 3 ปิ๋วจากสายคุมกำลังเข้ากรุผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบกโน่นเลย

คนที่เข้ามาแทนที่ก็ไม่ใช่ “เด็กบิ๊กตู่” ผู้ที่ดูเหมือนจะมีอำนาจมากที่สุด แต่กลายเป็นนายทหารในสาย “บิ๊กป้อม” โดยมี “บิ๊กหมู” น้องรักจัดให้แบบงานละเอียด ทั้ง พล.ต.ณัฐ อินทรเจริญ รองแม่ทัพภาคที่ 1 เด็กในเครือข่าย “บิ๊กป้อม” ได้ยศ พล.ท.ในตำแหน่งรองเสนาธิการทหารบก จ่อคิวชิงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 กับ พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพน้อยที่ 1 ที่ว่ากันว่า “บิ๊กป้อม” ไม่ค่อยปลื้ม

หากเป็นไปตามคาดการณ์ ก็จะเป็นการเคลียร์ทางให้ “บิ๊กณัฐ” ขึ้นไลน์ 5 เสือ ทบ. เป็นว่าที่แคนดิเดต ผบ.ทบ. ในปี 2564 หรือ 5 ปีหลังจากนี้ เช่นเดียวกับ พล.ท.วิชัย แชจอหอ แม่ทัพน้อยที่ 2 น้องเลิฟอีกคนของ “บิ๊กป้อม” ที่ได้ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 รอบนี้ ขณะที่ พล.ท.ปณต แสงเทียน เจ้ากรมข่าวทหารบก ที่ทั้ง “บิ๊กป้อม - บิ๊กตู่” เอ็นดูได้ขึ้นเป็น รองเสนาธิการทหารบกอีกคน

อย่างไรก็ตามตำแหน่งสำคัญอย่าง ผบ.พล.ร.2 รอ. หรือ “หน่วยบูรพาพยัคฆ์” ได้ "บิ๊กติ่ง" พล.ต.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 (ผบ.มทบ.11) ซึ่งเป็นน้องรัก “บิ๊กตู่” มาคุม โดยอนาคตยังได้ลุ้นตำแหน่งใหญ่อีกยาว เพราะเกษียณปี 2565

ไม่น้อยหน้ารุ่นพี่ งานนี้ “ทีมบิ๊กหมู” ก็มาเช่นกัน แล้วก็มาแบบครอบครัวด้วย ทั้ง พล.ต.ปิยวัฒน์ นาควานิช น้องชาย “บิ๊กหมู” ที่เสมือนได้รับการปูนบำเหน็จจากการทำงานภาคใต้ ได้เป็น พล.ท.ในตำแหน่งที่ปรึกษา ทบ. พร้อมกันนี้ยังโยก พล.ต.หญิง บุญรักษา นาควานิช ภริยาของ “บิ๊กหมู” ที่เคยถูกไปแขวนในสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กลับมากองทัพบกในฐานะผู้ชำนาญการ ทบ. รวมไปถึงการขยับ พ.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ รอง ผบ.พล.ร.9 ขึ้นเป็น พล.ต.ในตำแหน่ง ผบ.มทบ.11 ซึ่ง พ.อ.สนิธชนก เป็นสามีของ พ.อ.หญิงทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกรัฐบาล ซึ่งเป็นที่คาดว่าเพื่อเปิดทางให้ พ.อ.วุฒิชัย นาควานิช รอง ผบ.พล.ร.9 น้องชาย “บิ๊กหมู” ขึ้นเป็น ผบ.พล.ร.9 ในการโยกย้ายครั้งหน้า

น่าสนใจทีเดียวกับการวางตัว “ว่าที่ ผบ.ทบ.” ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่ว่ากันว่ามีการล็อกเป้ากันไว้เสร็จสรรพแล้ว โดยคนต่อไปแทน “บิ๊กหมู” ที่จะเกษียณในเดือนกันยายนนี้ จะพบว่า “บิ๊กแกละ” พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร เสธ.ทบ.ที่จะเกษียณปี 2560 มีภาษีดีที่สุดในเวลานี้ โดยเป็นนายทหารสาย “บูรพาพยัคฆ์” ที่มาเติบโตในสาย “วงศ์เทวัญ” ที่มีแรงสนับสนุนจากทั้ง “บิ๊กป้อม” และจาก “บิ๊กหนุ่ย” พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ และ “บิ๊กต๊อก” พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ในฐานะรุ่นพี่ที่ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) หรือ “ราบ 11 คอนเนกชัน”

คิวต่อจาก “บิ๊กแกละ” ก็เป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง “บิ๊กเจี๊ยบ” พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้ช่วย ผบ.ทบ. นายทหารสายรบพิเศษ กับ “บิ๊กเข้” พล.ท.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ แม่ทัพภาคที่ 1 เด็กสร้างของ “บิ๊กตู่” ซึ่งเกษียณในปี 2561พร้อมกัน

ก่อนจะมาถึง พล.ต.กู้เกียรติ ศรีนาคา รองแม่ทัพภาคที่ 1 ที่จ่อขึ้นแม่ทัพภาคที่ 1 ในช่วงปลายปีนี้ ที่จะเกษียณปี 2563 และปิดท้ายที่ “บิ๊กณัฐ” ที่กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น

เมื่อดูยุทธศาสตร์การจัดตัวทหารในครั้งนี้แล้ว ถือเป็นการวางตัวในระยะยาว มากกว่าจะมองแค่ปีต่อปีแบบในอดีต

เหตุก็เพราะมีภารกิจสำคัญที่ต้องอยู่ “ค้ำยัน” อำนาจในช่วงเปลี่ยนผ่านนั่นเอง

เปลี่ยนผ่านย้อนยุคสู่ “รัฐข้าราชการ”

ไม่ใช่เพียงแต่ในกองทัพ ยังต้องจับตาไปถึงการโยกย้ายข้าราชการกลางปี ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่จะใช้ “โมเดล” กับการแต่งตั้งนายทหาร หลังจากที่มีการ “ล้างบาง” มาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่วันแรกที่ คสช.เข้าควบคุมอำนาจการบริหารประเทศจากรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนพูดได้ว่า เวลานี้บรรดาหัวๆของส่วนราชการต่างๆโดนตบเรียบหมดแล้ว

ต่อจากนี้ก็เป็นคิวการวางไลน์ เซตตำแหน่งในช่วงเปลี่ยนผ่านของ คสช.เช่นกัน โดยระหว่างนี้ก็เริ่มทยอยแต่งตั้งระดับเล็กๆ เช่น ผู้อำนวยการสำนักงาน ที่ปรึกษา ผู้ช่วยเลขาธิการ รองเลขาธิการ ซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่อาจจะไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรเวลาที่มีการแต่งตั้งโยกย้าย

ถือเป็นการวางไลน์ตั้งแต่เนิ่นๆ เช่นเดียวกับในกองทัพ ประเภท “คลื่นใต้น้ำ” ก็ดูจะไม่รุนแรง เพราะ “ข้าราชการ” ถือเป็นมนุษย์พันธุ์ที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจที่สุด เมื่อรู้ว่าขั้วปัจจุบัน “อยู่ยาว” ก็ทำตัวแบบ “อยู่เป็น”

ทั้งนี้เป้าหมายของการโยกย้ายที่สำคัญก็เพื่อขจัด “เครือข่ายการเมือง” ออกไปให้หมด เพราะการเปลี่ยนแค่หัวอย่างเดียว คงไม่สามารถโละ “เด็กนักการเมือง” ออกได้ทั้งแผง และไม่สามารถแก้ปัญหาข้าราชการสนองแต่ “ฝ่ายการเมือง” ได้ จึงต้องหาทางแก้ตั้งแต่ต้นน้ำ โดยการวางไลน์เอาไว้ตั้งแต่ตัวน้อยๆ ตั้งแต่ระดับ ผอ.สำนักฯ ผู้ช่วยเลขาธิการ รองเลขาธิการ ที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงทบวงกรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีนี้ หรือถ้าจะเมคชัวร์เพลย์เซฟก็ต้องวางไลน์ยาวไปเป็น 10 ปี ที่ต่อให้มีการเปลี่ยนขั้วอำนาจอีก ก็ยังเหลือตอพวกนี้ที่ คสช.วางเอาไว้

ในทางปฏิบัติรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ต้องไปหยิบๆ ระดับรองๆ แบบนี้ขึ้นมาแทน ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นคนที่ คสช.วางเอาไว้หมดแล้ว หรือหากคิดจะย้ายข้ามห้วยชนิดน่าเกลียด ก็สุ่มเสี่ยงจะ “ตกเก้าอี้” เหมือนกรณีของ “ถวิล เปลี่ยนศรี” อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ขึ้นมาอีก

แล้วที่อย่าลืมคือ การโยกย้ายแบบน่าเกลียดคงไม่สามารถทำได้ง่าย หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ. และกฎหมายต่างๆที่ คสช.ดีไซน์เอาไว้บังคับใช้แล้ว

อีกปัจจัยที่จะทำให้ คสช.ต้องวางไลน์กันตั้งแต่หัววันก็คือ ช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีนี้ จำเป็นต้องวางคนที่ไว้วางใจได้อยู่ในตำแหน่งสำคัญ นอกเหนือจากฝ่ายบริหารอย่าง “รัฐบาล” ที่มีแนวโน้มว่า คสช.สามารถออกแบบหน้าตา-ควบคุมการทำงานได้ในอนาคต ผ่านกลไก “ร่างมีชัย”

ใน “ร่างมีชัย” ยังเพิ่มอำนาจ-พลังต่อรองให้แก่ “ข้าราชการ” อีกมากโข โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นมือเป็นไม้สำคัญสำหรับการเดินงานปฏิรูป โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ “บิ๊ก คสช.” หมายมั่นปั้นมือเอาไว้ โดยงานเหล่านี้จะได้รับการสานต่อ รวมถึงต้องคอนโทรลได้ ไม่ใช่ประเภทตามใจนักการเมืองเหมือนแต่ก่อน

ให้รอดูการแต่งตั้งโยกย้ายกลางปี-ปลายปี ในช่วงที่ “รัฐบาลบิ๊กตู่” ยังอยู่ ต่างเป็นการโยกย้ายตามยุทธศาสตร์ทั้งสิ้น โดยเฉพาะกระทรวงสำคัญๆ ที่มีผลต่อการบริหารประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย ที่ให้ไล่ดูตั้งแต่ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ตรวจราชการกระทรวง รองอธิบดี อธิบดี รองปลัดกระทรวง ตลอดจนกระทรวงสำคัญ อย่าง กระทรวงคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข เหล่านี้เป็นต้น

ในช่วงก่อนเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ข้าราชการที่มีอายุราชการน้อยๆ บางคนอาจได้ขึ้นตำแหน่งที่สูงขึ้นเร็วกว่ากำหนด หรือจะเรียกว่า “โตเร็ว” เพื่อให้นั่งอยู่ในตำแหน่งนี้กินระยะเวลาในบทเฉพาะกาล ซึ่งเป็นช่วงที่ คสช.ยังคงซ่อนรูปอยู่ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง

หรือไม่บรรดาระดับรองหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ก็เป็นพวกที่พร้อมจะขึ้นมาสานงานต่อจากหัวหน้าส่วนราชการได้ทันที โดยไม่ติดขัดหรือกังวลว่าจะไม่ได้ขึ้น

ดังนั้น นอกจากการเฝ้าจับตาว่า รัฐบาลในอนาคตจะมี “นายกฯคนนอก” หรือไม่ ชื่อเสียงเรียงนามอะไรแล้ว การวางฐานฝากรากอำนาจในส่วนราชการก็น่าสนใจไม่หยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะอย่าลืมว่านอกจาก “นักการเมือง” ที่โกงกินทุจริตแล้ว “ข้าราชการ” นี่ก็เป็นตัวการสำคัญที่ร่วมกัดกร่อนบ้านเมืองเช่นกัน

หากเป็นไปตามที่คาดไว้การเปลี่ยนผ่านของ คสช. ก็จะออกแนว “พีเรียด” ย้อนยุคไปสู่ “รัฐข้าราชการ” ตามท้องเรื่อง “ชาติ (บูรพา) พยัคฆ์” ที่ไม่รู้ใครได้ประโยชน์ แต่ “ประเทศชาติ” น่าเป็นห่วงแน่นอน.



กำลังโหลดความคิดเห็น