รายงานพิเศษ
เรียกว่า “ยกมือเชียร์” กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาเลยทีเดียวสำหรับเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” ที่คาดหมายกันว่า ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งดังกล่าวจะเป็นใครเสียไม่ได้นอกจาก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์สูงสุดในราชอาณาจักรไทย
เพราะถ้าจะว่าไปแล้ว ชั่วโมงนี้ก็คงไม่มีใครเหมาะสมเท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์อีกแล้ว
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองหัวหน้า คสช.ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการคาดหมายว่า อาจนั่งเก้าอี้ตัวนี้ก็เอ่ยปากเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ว่ามีความเหมาะสม
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ รองหัวหน้า คสช. ก็เอ่ยปากเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ว่ามีความเหมาะสม
พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้เป็นน้องชายของบิ๊กตู่ ก็เอ่ยปากเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ว่ามีความเหมาะสม
โพลสารพัดโพลหรือแม้กระทั่งโหร คมช.นายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ นายลักษณ์ เรขานิเทศ ก็ฟันธงตรงกันให้ พล.อ.ประยุทธ์นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
จะมีคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยอยู่บ้าง ก็อย่างเช่น “หลวงปู่พุทธะอิสระ” แห่งวัดอ้อน้อย จังหวัดนครปฐม ที่ไม่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์นั่งถ่างขาควบ 2 ตำแหน่งไปพร้อมๆ กัน ด้วยเหตุผลที่ว่า “ขาดความสง่างาม ภาคภูมิ และเป็นที่ดูถูกของฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งต่างชาติและผู้ที่ไม่เห็นด้วย”
กระนั้นก็ดี ถามว่า พล.อ.ประยุทธ์คิดมาก หรือปริวิตกมากน้อยเพียงใดกับการเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย
คงต้องตอบว่า ไม่ เพราะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเพียงหัวโขนในการบริหารราชการแผ่นดินแทน คสช.เท่านั้น
แต่ตำแหน่งที่สำคัญที่เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า พล.อ.ประยุทธ์กำลังกลัดกลุ้มในหัวใจอยู่ไม่น้อยก็คือ ผู้ที่จะมาสืบทอดเก้าอี้ “ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 38” สืบต่อจากตนเองที่นั่งเก้าอี้ตัวนี้มาเป็นเวลา 4 ปีเต็มๆ และจะเกษียณอายุราชการพ้นจากรั้วแดงกำแพงเหลืองในวันที่ 1 ตุลาคม 2557 เนื่องเพราะเป็นตำแหน่งที่มีนัยสำคัญที่สุดทั้งในทางการเมืองและการทหาร
ใครๆ ก็ต้องให้เกียรติ
ใครๆ ก็เกรงกลัว
ใครๆ ก็หวั่นเกรงบารมี
เพราะผู้บัญชาการทหารบกมีกำลังทหารอยู่ในมือ
และที่สำคัญคือ ผู้บัญชาการทหารบกมีศักยภาพสูงสุดในการทำรัฐประหาร ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช.ย่อมรู้อยู่แก่ใจดี และประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมาก็เป็นเช่นนั้น
ทั้งนี้ เมื่อทอดสายตา ไปที่ “ตัวเต็ง” ที่มาแรงและมีโอกาสนั่งเก้าอี้สืบทอดจาก พล.อ.ประยุทธ์มากที่สุดก็เห็นจะหนีไม่พ้น 2 ขุนทหารที่อยู่ในไลน์ “5 เสือ ทบ.” และกำลังมีบทบาทใน คสช.ขณะนี้
ขุนทหารคนแรกคือ “บิ๊กโด่ง-พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร” รองผู้บัญชาการทหารบกที่เวลานี้รั้งตำแหน่งเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ขุนทหารคนที่สองคือ “บิ๊กต๊อก-พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา” ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ที่เวลานี้รั้งตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ
พล.อ.อุดมเดชคือนายทหารสาย “บูรพาพยัคฆ์” เตรียมทหารรุ่น 14(ตท.14)
ขณะที่ พล.อ.ไพบูลย์คือนายทหารสาย “วงศ์เทวัญ” เตรียมทหารรุ่น 15(ตท.15)
ส่วนนายทหารอีก 2 คนคือ “บิ๊กนมชง” พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผช.ผบ.ทบ. (ตท.12) และ “บิ๊กโบ้” พล.อ.อักษรา เกิดผล เสธ.ทบ. (ตท.14) มีโอกาสและเป็นไปได้ แต่ถึงที่สุดแล้วน่าจะไม่ใช่คู่แข่งที่น่าจับตามองประการใด
ว่ากันตามไลน์ ตามเส้นทางอำนาจแล้ว ต้องบอกว่า พล.อ.อุดมเดชมีเปอร์เซ็นต์สูงสุด เพราะก่อนหน้าที่จะอยู่ในไลน์ 5 เสือ ทบ. พล.อ.อุดมเดชคืออดีตแม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งตามประวัติศาสตร์ของกองทัพบกแล้ว นายทหารที่เคยดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 มักจะก้าวขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกเสียเป็นส่วนใหญ่ จะมีสอดแทรกจากหน่วยอื่นๆ บ้าง แต่ก็ไม่มากเท่าใดนัก
ยิ่งเมื่อ พล.อ.อุดมเดชเป็นบูรพาพยัคฆ์ด้วยแล้ว ยิ่งมีโอกาสและความเป็นไปได้สูงลิ่ว
เพราะต้องไม่ลืมว่า บูรพยาพยัคฆ์ที่มี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวเรือใหญ่ในเวลานี้ มีสรรพกำลังที่ไม่ธรรมดาในทางการทหารและในทางการเมือง
แถมถัดจากบิ๊กป้อมก็คือ บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทาหรบก ก่อนที่จะสืบทอดอำนาจต่อมาให้ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”
เป็น “พี่น้อง 3 ป.” ที่รักใคร่กลมเกลียวกันเป็นอย่างดี และเป็น “กลุ่มอำนาจใหม่” ที่ทรงพลานุภาพในทุกมิติ
กระนั้นก็ดี ก็มิอาจมองข้ามนายทหารตัวเล็กใจใหญ่อย่าง พล.อ.ไพบูลย์ได้ เพราะเขาคือนายทหารที่ไม่ธรรมดา
ถ้า พล.อ.อุดมเดชเป็น ผบ.ทบ. ตามมารยาทของทหารแล้ว พล.อ.ไพบูลย์ก็ต้องหลุดออกไปจากวังวนแห่งอำนาจในกองทัพบก ซึ่งก็มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะได้รับรางวัลปลอบใจเป็นเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
ถ้า พล.อ.อุดมเดชเป็น ผบ.ทบ. ยุคทองของบูรพาพยัคฆ์ก็จะได้รับการสืบทอดต่อไปโดยไม่ขาดสาย
แต่ถ้า พล.อ.ไพบูลย์เป็น ผบ.ทบ. ก็จะเป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่ของวงศ์เทวัญหลังห่างหายจากเก้าอี้ ผบ.ทบ.ไปเป็นเวลานานโข
และไม่ว่าฝ่ายบูรพาพยัคฆ์หรือวงศ์เทวัญได้เป็น ผบ.ทบ.ก็จะส่งผลต่อการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารในระดับล่างลงไปอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ย่อมต้องเลือกคนที่ตัวเองไว้ใจเข้ามาทำหน้าที่ในตำแหน่งแห่งหนที่สำคัญๆ เพื่อเป็นมือไม้ในการทำงาน รวมถึงค้ำประกันอำนาจของตัวเองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
นี่คือความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ไม่ว่าจะเป็นที่กองทัพบก กองทัพใดๆ หรือหน่วยราชการอื่นๆ ก็ตาม
จริงอยู่แม้จะเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ระมัดระวังในเรื่องนี้ที่สุดเพราะเพื่อนรักของเขาคือ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณก็เป็นวงศ์เทวัญ ดังนั้น การแต่งตั้งโยกย้ายจึงต้องมีความสมดุลและเป็นธรรมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายใน เกิดปัญหาคลื่นใต้น้ำ ในกองทัพบก ซึ่งก็เป็นไปได้เช่นว่า น่าจะมีข้อตกลงหรือคำมั่นสัญญาเพื่อรักษาน้ำใจวงศ์เทวัญอยู่ไม่น้อย
ทั้งนี้ เมื่อย้อนดูเส้นทางการรับราชการในตำแหน่งของ 2 นายทหารทั้งคู่ ก็จะเห็นได้ว่า ทั้ง พล.อ.อุดมเดช และ พล.อ.ไพบูลย์ เติบโตในเส้นทางเดียวกันชนิด “ลมหายใจรดต้นคอ” มาโดยตลอด ที่สำคัญทั้ง 2 คนเคยช่วงชิงตำแหน่ง “แม่ทัพภาคที่ 1” กันมา เมื่อครั้งเป็น “รองแม่ทัพภาคที่ 1” เมื่อปี 2553 มาด้วยกัน แต่สุดท้าย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นได้ตัดสินใจเลือก พล.อ.อุดมเดช ให้ขึ้นมานั่งตำแหน่ง แม่ทัพภาคที่ 1 ก่อนที่ พล.อ.ไพบูลย์ จะมานั่งเก้าอี้ตัวเดียวกันนี้ในปี 2555 ด้วยการเสนอชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์
นอกจากนี้ เมื่อตรวจสอบฐานกำลังและแรงสนับสนุนของทั้งคู่ก็เรียกว่า ไม่มีใครเป็นรองใครในทุกมิติ กล่าวคือ พล.อ.อุดมเดชเป็น “บูรพาพยัคฆ์” ที่เคยทำงานใกล้ชิดกับ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ทบ. พี่ใหญ่ของบูรพาพยัคฆ์ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผบ.ทบ. และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. มา
เป็นน้องรักของ พล.อ.ประวิตร เป็นน้องรักของ พล.อ.อนุพงษ์ และเป็นน้องรักของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ไม่เป็นสองรองใครในกองทัพบก แม้จะมีเจ้ากรมข่าวลือปล่อยข่าวเรื่องความเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.14 กับ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหมและพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ก็ตาม แต่ก็มิอาจทำให้สัมพันธภาพของ 4 พี่น้องบูรพาพยัคฆ์ต้องคลอนแคลนแต่ประการใด
และที่สำคัญเป็นนายทหารคนหนึ่งที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษเอ็นดู รักใคร่ กระทั่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นลูกรักของป๋าคนหนึ่งได้เช่นกัน
ขณะที่ พล.อ.ไพบูลย์ เติบโตมาจากสายที่รู้จักกันดีในชื่อ “วงศ์เทวัญ” ซึ่งเป็นศัพท์เรียกทหารกองทัพบกที่เติบโตมาจาก กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์(ร.1 รอ.และ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล. 1 รอ.) ซึ่งมีฐานอำนาจที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยเติบโตในหน่วย พล.1 รอ. มาเกือบทั้งชีวิต
ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมา ผู้บัญชาการทหารบกส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นทหารในสายวงศ์เทวัญแทบทั้งสิ้น เช่น พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็น ผบ.ทบ. คนที่ 16 พล.อ.ถนอม กิตติขจร ผบ.ทบ. คนที่ 17 พล.อ.ประภาส จารุสเถียร ผบ.ทบ. คนที่ 18 พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ผบ.ทบ. คนที่ 19 พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ผบ.ทบ. คนที่ 24 พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี ผบ.ทบ. คนที่ 27 พล.อ.วิมล วงศ์วานิช ผบ.ทบ. คนที่ 28 (มีต้นกำเนิดจากรบพิเศษ แต่มาเป็น ผบ.พล.1 ปี 2528-2529) พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ผบ.ทบ. คนที่ 30 พล.อ.สมทัต อัตตะนันทน์ ผบ.ทบ. คนที่ 32
ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา แม้จะมีต้นกำเนิดจากบูรพาพยัคฆ์ แต่ก็ต้องถือว่าเป็นลูกผสม “บูรพาเทวัญ” เนื่องเพราะเคยข้ามฝากมาดำรงตำแหน่ง ผบ.พล.1 ในส่วนของวงศ์เทวัญ เมื่อปี พ.ศ.2546-2547
และที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ บิ๊กต๊อกนั้นเป็นน้องรักของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ อดีตรองผบ.ทบ. ที่เป็นแรงหนุน ในการผลักดันให้ก้าวขึ้นจากตำแหน่ง ผบ.พล.1 รอ จนมาถึงแม่ทัพภาคที่ 1 และก้าวเข้าสู่ไลน์ 5 เสือ ทบ.ในตำแหน่ง ผช.ผบ.ทบ. ส่วนความสัมพันธ์กับบ้านสี่เสาเทเวศร์ก็ต้องถือว่า แนบแน่น เพราะว่ากันว่า พล.อ.เปรมเคยเอ่ยปากชม และเป็นหนึ่งในวงศ์เทวัญ ที่เข้าออกบ้านสี่เสาเทเวศร์ได้
นอกจากนั้น พล.อ.ไพบูลย์ยังเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.15 ของพล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 ผู้เป็น “น้องชาย” พล.อ.ประยุทธ์อีกต่างหาก
ยิ่งเมื่อพิจารณาบทบาทของบิ๊กต๊อกในระยะหลังๆ ทั้งก่อนรัฐประหารและหลังการทำรัฐประหารแล้ว ยิ่งทำให้บารมีของนายทหารผู้นี้โดดเด่นขึ้นมาเป็นลำดับ เนื่องจากมีข้อมูลยืนยันว่า บิ๊กต๊อกเป็นนายทหารที่พี่ตู่ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ดี นาทีนี้ถามว่า ใครมีโอกาสเข้าป้ายมากกว่ากัน ก็ต้องฟันธงว่า พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร
ส่วน พล.อ.ไพบูลย์นอกจากจะมีชื่อไปเป็น “ปลัดกระทรวงกลาโหม” แทน พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ที่เกษียณอายุราชการแล้ว ยังติดอยู่ในโผที่จะควบเก้าอี้รัฐมนตรีจากสื่อแทบจะทุกสำนักอีกด้วย
บ้างก็ว่า เป็นปลัดกระทรวงกลาโหมควบ เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
บ้างก็ว่า เป็นปลัดกระทรวงกลาโหมควบ ควบเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยตำแหน่งหลังเป็นตำแหน่งที่ต้องบอกว่า “มาแรง” ที่สุด
แต่ก็ใช่ว่า ไม่มีโอกาสที่จะพลิกโผ
นี่คือความยากลำบากในการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะทั้ง พล.อ.อุดมเดชและพล.อ.ไพบูลย์นั้น ล้วนแล้วแต่เป็น “น้องรัก” ของ พล.อ.ประยุทธ์ทั้งสิ้น
แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ พล.อ.อุดมเดช หรือ พล.อ.ไพบูลย์ ใครจะเป็นผู้บัญชาการทหารบกก็อาจมิได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก เพราะเวลานี้ขุมกำลังทางทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ในกองทัพบกแน่นปึกในทุกระดับชั้น โดยเฉพาะ “ขุมกำลังปฏิวัติ” ที่ไล่ตั้งแต่ระดับบนลงไปถึงระดับกองพัน แถมบางหน่วยที่ผู้บังคับบัญชาเป็นวงศ์เทวัญก็เป็นวงศ์เทวัญที่เป็นน้องรักของ พล.อ.ประยุทธ์ทั้งสิ้น
**** ล้อมกรอบ ****
เส้นทาง 2 ว่าที่ ผบ.ทบ.
“บิ๊กโด่ง”-บูรพาพยัคฆ์
“บิ๊กต๊อก”-วงศ์เทวัญ
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร
โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 14
โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 25
โรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตรชุดประจำที่ 65
วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 51
หลักสูตร Integrated Past Management ประเทศอิสราเอล
หลักสูตร Management Broadcast Program ประเทศสหรัฐอเมริกา
ผู้บังคับหมวดกองร้อยอาวุธเบา กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์
ผู้บังคับกองร้อยอาวุธเบา กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์
ฝอ.3 ร.21 พัน.3 รอ.
ผู้บังคับการกรมนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร
รองผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์
ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์
รองผู้บัญชาการกองพลที่ 1รักษาพระองค์
เสนาธิการกองทัพภาคที่ 1
ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11
ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9
รองแม่ทัพภาคที่ 1
แม่ทัพภาคที่ 1
เสนาธิการทหารบก
รองผู้บัญชาการทหารบก
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา
โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 15 (ตท.15)
โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ รุ่นที่ 26 (จปร.26)
โรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตรประจำ ชุดที่ 66
วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 52
ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ( ร.11 พัน.2 รอ.)
ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 111 ( ร.111)
ผู้บังคับการกรมทหารที่ 11 รักษาพระองค์ ( ร.11 รอ.)
ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ( ร.1 รอ.)
รองผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์
ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์
รองแม่ทัพภาคที่ 1
แม่ทัพภาคที่ 1
ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก