xs
xsm
sm
md
lg

มองเกมยาวหลังประชามติ จับตาทางเลือก คสช.

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


ป้อมพระสุเมรุ


และแล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ผ่านการเนรมิตของ "มีชัย ฤชุพันธุ์" ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็ยังอยู่รอดปลอดภัย ได้เข้าคิวทำคลอดในคูหาประชามติ ไม่แท้งก่อนกำหนดเหมือนฉบับของ "ศิษย์ปื๊ด" บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่โดน "ขุนทหาร" จับเชือดทิ้งอย่างไม่ใยดี

แต่กว่าจะมาถึงขั้นนี้ “ปู่มีชัย” ก็ต้องงัด “ลูกเก๋า” เอาตัวรอดมาแบบหืดขึ้นคอเหมือนกัน

โดยเฉพาะเนื้อหาใน “บทเฉพาะกาล” ที่ กรธ.ทำทีเหมือนต้องทำตาม “ใบสั่ง” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่แพ็กกันแน่นกับองคาพยพภายใต้ชื่อ “แม่น้ำ 4 สาย” แต่ในทางกลับกัน ก็มีเสียงเม้าต์มอยว่า "มีชัยแอนด์โค" รู้อยู่เต็มอกและพร้อมตอบสนองความต้องการของ คสช.อยู่แล้ว แค่ “เล่นใหญ่” ทำอิดออดเป็นพิธี เพื่อไม่ให้ กรธ.เสียเครดิต กระทบมาถึงเกียรติภูมิของ “นักกฎหมายประเทศไทย” ของ “ปู่มีชัย” มากกว่า

ดูไปดูมาอาจกลายเป็น กรธ.ที่ยืมมือ "ขุนทหาร-แม่น้ำ 4 สาย" ร่อนหนังสือกดดัน ตีบทแตกแบบคั่วรางวัลออสการ์ได้สบายๆ “ปมร้อน” อย่าง “สูตรเลือกตั้ง ส.ส.” ที่พลิกแพลงหลายตลบ หรือ “ส.ว.ช่วงเปลี่ยนผ่าน” ที่ใช้รูปแบบการสรรหา และดำรงตำแหน่ง 5 ปีนั้น ก็เป็น “ปู่มีชัย” ที่คิดอ่านวางเกมด้วยซ้ำ เพราะมีการขยับเรื่องที่มา ส.ส.-ส.ว. ไว้พิจารณาท้ายสุด ลดแรงต้านใระหว่างปลุกปั้นเนื้อหาส่วนอื่นๆ

ถึงอย่างไรก็ยังมีบางกระแสปล่อยข่าวกันว่า "ก๊วนเนติบริกร" เกือบแตกหักกับ "คสช.-ขุนทหาร" เหตุเพราะ ร่างรัฐธรรมนูญไม่สนองความต้องการ หรือไม่ตอบโจทย์ คสช. อย่างที่ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติ (สนช.) กุนซือกฎหมายของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ออกโรงมากระแทก กรธ. เมื่อสัปดาห์ก่อน แต่หากจับท่าที “บิ๊กตู่” ตลอดจน “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ “พี่ใหญ่ คสช.” แล้ว ยังให้เกียรติ "ปู่มีชัย" อยู่มาก ต่างจากสมัยที่ย่ำยี “ดร.ปื๊ด” จนเกือบเสียผู้เสียคน

ที่สำคัญ "คสช.-ขุนทหาร" รู้ดีว่า หากปล่อยให้ “ร่างมีชัย” คว่ำเสียตั้งแต่ต้น คงหาข้อแก้ตัว หรือคำอธิบายต่อนานาประเทศลำบาก เพราะมันซ้ำรอยที่คว่ำร่างรัฐธรรมนูญของ "อ.ปี๊ด" ด้วยมือตัวเอง

หากไม่มีอะไร “เหนือความคาดหมาย” 7 สิงหาคมนี้ ประชาชนคนไทยก็ได้โหวต “ร่างมีชัย” ในการออกเสียงประชามติแน่นอน ถึงเวลานั้นต่างหากที่เป็น “ชั่วโมงวัดใจ” ว่า คสช.จะเอาอย่างไร หากคิดตาม “โรดแมป” แบบไม่ซับซ้อน ก็แค่ลุ้นให้ประชาชนลงคะแนน “รับ“ มากกว่า “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญก็จะมีผลบังคับใช้ทันที
 
แต่หากเสียง “ไม่รับ” มากกว่า “รับ” นี้สิคือปัญหาและยังคงเป็น "ปริศนา" อยู่ว่า "คสช.-ขุนทหาร" จะเดินเกมต่อไปอย่างไร

เชื่อหรือไม่ว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ที่แก้ไขมาแล้ว 2 ครั้ง ก็ยังไม่มีเนื้อหาส่วนใดบอกว่าหาก “ร่างมีชัย” ถูกคว่ำ ประเทศไทยจะไปอย่างไรต่อ และแม้จะมีการทักท้วงให้แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติส่วนนี้ลงไปด้วย แต่ “บิ๊ก คสช.” ก็ดูจะไม่สนใจ

และหากเป็น “ความจงใจ” ที่ทำให้โรดแมปเป็นไปในลักษณะ “ปลายเปิด” เช่นนี้ก็ดูจะสุ่มเสี่ยงเกินไปหรือไม่ ตรงนี้ยังมีเครื่องหมายคำถามอยู่ หาก “ร่างมีชัย” ถูกคว่ำจริง ทางเลือกอย่างเดียวที่ทำได้ก็ต้องอาศัย “ยาครอบจักรวาล” มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปลดล็อกสถานเดียว
 
พูดง่ายๆคือ คสช.จะทำอะไรก็ได้ แต่จะมีความชอบธรรมหรือเปล่านั่นอีกเรื่อง

มองกันแบบยาวๆ หาก “ร่างมีชัย” ถูกคว่ำ ง่ายที่สุดก็ล้มกระดาน ร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ โดยที่ คสช. อยู่แบบยาวไป โดยหา "มือยกร่าง" ขึ้นมาใหม่ ยืดโรดแมปออกไปอีก อย่างน้อยก็ 2-3 ปี ตอบโจทย์ช่วงเปลี่ยนผ่านได้เป็นอย่างดีที่สุด

แม้ "คสช.-ขุนทหาร" ปากจะออกมาบอกว่า อยากให้ประชาชนลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ในใจของ “ใครบางคน” ยังพูดกันในวงลับอยู่ว่า "ล้มไปก็ดี" เพราะเหมือนเป็นการคืนสิทธิ์ให้ คสช.เลือกทิศทางที่จะเดินต่อไป และเป็นการต่อลมหายใจปกครองบ้านเมืองได้ โดยยังไม่ถือว่าเข้าช่วงเปลี่ยนผ่านอีกด้วย

เพราะแม้หากจะอยู่ต่อยาวๆ จะค้านสายตาประชาชน-ชาวโลก แต่มีเหตุผลดีพอก็อาจจะทำให้ "บิ๊กตู่" เลือกอยู่ต่อ-อยู่ยาว หากใครมาทักท้วง หรือเล่นเกมดึงต่างประเทศมากดดัน "คสช.-ขุนทหาร" ก็จะอ้างได้ทันทีว่า "ขั้วตรงข้าม" ต้องการล้มร่างรัฐธรรมนูญเอง ไม่ใช่เจตนาอยู่ยาว แต่สถานการณ์มันบังคับให้ต้องทำ

อีกทางหนึ่งมีความเป็นไปได้สูงเช่นกันกับ สูตร "มัดมือชก” เพราะระยะหลังสัญญาณจาก “ก๊วนเนติบริกร” ค่อนข้างชัดเจนว่า หาก “ร่างมีชัย” ถูกคว่ำ จะใช้วิธีการปรับแก้ในประเด็นที่เป็นปัญหาเพียงเล็กน้อย ก่อนประกาศบังคับใช้ทันที

ปัญหาคือ เมื่อ “ร่างมีชัย” ถูกตีตกด้วยเสียงประชามติ ก็เท่ากับเป็น “ของเสีย” ในทางปฏิบัติการนำมาปัดฝุ่นย้อมแมวใหม่คงไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างน้อยๆ “ขั้วตรงข้าม” ก็ใช้เป็นประเด็นในการเคลื่อนไหวอย่างแน่นอน

แต่กรณีนี้ขึ้นอยู่กับว่า “บิ๊ก คสช.” จะยังใช้ “ร่างมีชัย” เป็นต้นขั้วหรือไม่ หากยังไม่พอใจก็อาจมี “ใบสั่ง” ส่งตรงให้ “ทีมงานใหม่” ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญตามอำเภอใจ เพื่อวางหมากกล-ขุมกำลังให้กระชับตามแนวทางในช่วงเปลี่ยนผ่านมากที่สุด และหากมองในแง่ดีทางเลือกนี้ อาจจะเข้าทาง “ฝ่ายการเมือง” มากกว่า เพราะยิ่งลัดขั้นตอนมากเท่าไร การเลือกตั้งก็ต้องมีเร็วขึ้นเท่านั้น

ทางสุดท้าย หากพลิ้วไม่ออก-ไปต่อไม่ไหว อาจจะมีปฏิบัติการ “ผ่าทางตัน” ด้วยการ “จัดระเบียบอำนาจใหม่” จะซ่อนรูปหรือจะเปิดเผยก็เป็นเรื่องที่ “ทีม เสธ.” ต้องเป็นผู้ประเมินปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะกับ “แรงต้าน” จากทั้งภายในประเทศ และนานาชาติ ซึ่งจับตา “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” ในไทยอยู่อย่างตาไม่กระพริบ

และต้องเช็คสภาพ “ตัวละคร” ที่สวม “หัวโขน” เล่นบทเป็น “ผู้นำประเทศ” ในตอนนี้ด้วยว่า ยังไปไหวหรือไม่ ซึ่งตอนนี้มีการพูดๆ กันพอสมควรกับแนวทางลดภาพความแข็งกร้าว อาจจะเปลี่ยนหัวขบวนจาก “นายพล” มาเป็น “พลเรือน” เพื่อให้ท่าทีดูอ่อนลงน่าคบหามากขึ้น

โดยมี “ตัวละคร” ที่เป็น “พลเรือน” และอยู่ในแผงอำนาจตอนนี้เกร็งข้อรับลูกอยู่อย่างใจจอใจจ่อ สังเกตได้จากการแพ็กทีม สร้างขุมกำลังร่วมกับบรรดา “สายเลือดใหม่” ของกลุ่มทุนใหญ่ในประเทศอย่างต่อเนื่อง
 
ทั้งหมดคือ ทางเลือก-ทางออก-ทางรอด ของ “ทีม คสช.” ที่มองไกลกว่า คูหาประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมไปแล้ว บางคนอาจจะเตรียมลงจากหลังเสืออย่างสง่างาม แต่ก็มีบางคนที่ลุ้นตัวโก่ง ไม่ให้เป็นไปตามโรดแมป เพื่อให้ตัวเองได้อยู่กันไปยาวๆ นานๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น