xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ยันอำนาจเหมือนวุฒิฯ มีสิทธิถอด 2 อดีต ปธ. รอดูสำนวน ป.ป.ช.-อดีต ส.ว.จ่อฟ้องคืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(แฟ้มภาพ)
ประธาน สนช.ย้ำ สนช.อำนาจเหมือนวุฒิสภา ถอดถอน “สมศักดิ์-นิคม” อยู่ที่สำนวน ป.ป.ช. ไม่หนักใจ งง พท.ขู่ฟ้อง “พีระศักดิ์” แจงทำตาม กม. ไร้ความรู้สึกส่วนตัว งงเรื่องไม่เกิด พท.จ่อร้องศาล สวน “จรัล” เชื่อ สนช.ประชุมนานาชาติได้ “เจตน์” ชี้ “นิคม” ฟ้องถอดถอนได้ ยื่นศาล รธน.ไม่ได้ “ยุทธนา” โวยเหยื่อการเมือง ฉะ สนช.ไม่มีสิทธิ เทียบแก้ที่มา ส.ส.-ม.190 ยังรอด แย้มถกอดีต ส.ว.จ่อฟ้อง

วันนี้ (6 ต.ค.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยืนยันว่า สนช.มีอำนาจเหมือนวุฒิสภา ตามมาตรา 6 รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ในดำเนินการถอดถอนบุคคลตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งกลับมา คือ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา แต่การดำเนินการหรือไม่ต้องดูเหตุผลในสำนวนของ ป.ป.ช.ที่ส่งมาให้ สนช.พิจารณา ขณะนี้ ป.ป.ช.ยังไม่ส่งมา แต่ถ้าส่งให้แล้วก็ต้องพิจารณา ส่วนจะตั้งทีมกฎหมายขึ้นมาดูหรือไม่ เห็นว่าถ้าเป็นเรื่องยากก็ต้องปรึกษากันก่อน ทั้งนี้ไม่หนักใจกับเรื่องดังกล่าว แต่ที่ต้องส่งสำนวนคืนไปยัง ป.ป.ช. เพราะสำนวนก่อนหน้านี้ไม่ชัดเจนและเป็นคำร้องตามรัฐธรรมนูญปี 2550 อย่างไรก็ตาม อย่าถกเถียงกันเรื่องอำนาจเพราะ สนช.มีอำนาจเต็มเหมือนวุฒิสภา ส่วนการที่พรรคเพื่อไทยจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยอำนาจ สนช.นั้น เห็นว่าหากยื่นเรื่องไปก็ไม่ต้องทำอะไรกัน และไม่ทราบว่าจะฟ้องตามความผิดกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้อย่างไร

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 ให้สัมภาษณ์ว่าการที่พรรคเพื่อไทยเตรียมยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจ สนช.นั้น หาก ป.ป.ช.ส่งเรื่องมาแล้วก็ต้องทำตามข้อบังคับการประชุม สนช. เรื่องนี้เป็นประเด็นทางกฎหมายล้วนๆ ไม่มีเรื่องอารมณ์และความรู้สึกใดๆ เกี่ยวข้องกับการพิจารณา คิดว่าเรื่องนี้ยังไม่เกิดขึ้นแล้วจะยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างไร และไม่ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาหรือไม่ ส่วนกรณีนายายจรัล ดิษฐาอภิชัย ผู้ประสานงานยุโรปขององค์การเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ส่งหนังสือถึงเลขาธิการสหภาพรัฐสภานานาชาติ ให้ทบทวนการเชิญ สนช.เข้าร่วมประชุมสหภาพรัฐสภานานาชาติเพราะขาดคุณสมบัติเรื่องอุดมการณ์ประชาธิปไตยว่า ตามรัฐธรรมนูญระบุให้ว่า สนช.ทำหน้าที่รัฐสภา จึงเชื่อว่า สนช.จะเข้าร่วมประชุมดังกล่าวได้

นายเจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช.ในฐานะวิป สนช.กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องดูสำนวนของ ป.ป.ช.ว่าจะอิงฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือตามกฎหมาย ป.ป.ช. หากส่งเรื่องมายัง สนช. และประธาน สนช.ก็ต้องพิจารณา ส่วนจะส่งให้วิป สนช. พิจารณาหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับประธาน สนช. ขณะนี้ยังไม่สามารถทำอะไรล่วงหน้าได้ต้องดูสำนวน ป.ป.ช.ก่อน ส่วนกรณีที่นายนิคมที่ถูกยื่นคำร้องถอดถอน เตรียมยื่นฟ้อง สนช.ที่จะถอดถอน เนื่องจากใช้อำนาจมิชอบและไม่มีอำนาจถอดถอน ตามกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้นสามารถทำได้ แต่หากจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่าทำไม่ได้ เพราะผู้ที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ต้องเป็นองค์กร ได้แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี สนช. ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และที่ประชุมใหญ่ศาลปกครอง

ด้านนายยุทธนา ยุพฤทธิ์ อดีต ส.ว.และเป็น 1 ใน 39 ส.ว.ที่ถูก ป.ป.ช.ส่งสำนวนให้ถอดถอนจากแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เรื่องที่มา ส.ว. กล่าวว่า การถอดถอนเป็นเรื่องการเมือง ส.ว.ที่ถูกยื่นถอดถอนกลายเป็นเหยื่อ และยืนยันว่า สนช.ไม่มีอำนาจถอดถอนได้ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว การที่ สนช.กล่าวอ้าง มาตรา 5 รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 เพื่อดำเนินการถอดถอนนั้นก็ไม่ถูกต้อง หาก สนช.เดินหน้าเรื่องนี้เท่ากับเพิ่มอำนาจให้ตัวเอง จะสร้างความเสียหายให้ผู้ถูกกระทำ ทั้งที่ตามปกติ หากกฎหมายไม่มีความชัดเจน ตามหลักกฎหมายก็จะยกให้เป็นคุณต่อผู้ถูกร้อง และเรื่องนี้น่าจะจบไปแล้ว การที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว. เหมือนกับการแก้ไขที่มา ส.ส. เมื่อปี 2553 ที่พรรคการเมืองหนึ่ง เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นดังกล่าวในเรื่องการแก้ไขเขตเลือกตั้ง จากเขตใหญ่เป็นเขตเล็ก และบัญชีรายชื่อจากเดิม 100 คน เป็น 125 คน จึงไม่แตกต่างกัน รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 190 หากมองว่ามีผลประโยชน์ก็มีความชัดเจน เพราะแก้เพื่อผลประโยชน์ตัวเอง แต่ขณะนั้นไม่มีใครออกมาดำเนินการถอดถอนกับผู้ที่เสนอแก้ไขเรื่องดังกล่าว ถือว่าเป็นเรื่องสองมาตรฐานและเลือกปฏิบัติ

นายยุทธนากล่าวต่อว่า การดำเนินการฟ้องร้องฐานปฏิบัติโดยมิชอบ ก็คงต้องหารือกันก่อนระหว่างอดีต ส.ว. โดยวันที่ 14-15 ต.ค.มีนัดพบปะสังสรรค์กันที่ จ.อุดรธานี คงจะมีความเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ซึ่งเท่าที่ทราบมีอดีต ส.ว.หลายคนเตรียมฟ้องด้วย นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการสามัญยกร่างข้อบังคับการประชุม สนช. เพิ่มหมวดการถอดถอนว่าดำเนินการมิชอบด้วยหรือไม่ เพราะปกติร่างข้อบังคับไม่มีเรื่องดังกล่าว แต่ขณะนี้มีการบรรจุไว้ จึงถือเป็นการกระทำที่มิชอบหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น