xs
xsm
sm
md
lg

นิคมพล่านขู่ฟ้องม.157 "ประสาร"ต้องถอน-อัดวัวหลังหวะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงปัญหาการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยยืนยันว่า สนช.มีอำนาจเหมือนวุฒิสภา ตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ในดำเนินการถอดถอดบุคคล ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งกลับมา คือ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และ นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา
แต่การดำเนินการ ทำได้หรือไม่ ต้องดูเหตุผลในสำนวนของป.ป.ช. ที่ส่งมาให้ สนช.พิจารณา ขณะนี้ป.ป.ช. ยังไม่ส่งมา แต่ถ้าส่งให้แล้ว ก็ต้องพิจารณา ส่วนจะตั้งทีมกฎหมายขึ้นมาดูหรือไม่ เห็นว่า ถ้าเป็นเรื่องยาก ก็ต้องปรึกษากันก่อน ทั้งนี้ไม่หนักใจกับเรื่องดังกล่าว แต่ที่ต้องส่งสำนวนคืนไป ยังป.ป.ช. เพราะสำนวนก่อนหน้านี้ไม่ชัดเจน และเป็นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550
อย่างไรก็ตาม อย่าถกเถียงกันเรื่องอำนาจ เพราะ สนช. มีอำนาจเต็มเหมือนวุฒิสภา ส่วนการที่พรรคเพื่อไทย จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยอำนาจ สนช.นั้น เห็นว่าหากยื่นเรื่องไปก็ไม่ต้องทำอะไรกัน และไม่ทราบว่าจะฟ้องตามความผิดกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้อย่างไร
นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 2 กล่าวถึง การส่งเรื่องถอดถอน อดีตประธาน และ รองประธานรัฐสภา จาก ป.ป.ช.กลับมาให้สนช. ดำเนินการถอดถอน ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการส่งเรื่องมา แต่เบื้องต้นมีการหารือกันกับประธาน สนช. ว่า ต้องรอให้คณะกรรมาธิการกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดถาวร ที่มาจากตัวแทนคณะกรรมาธิการวิสามัญทั้ง 16 คณะ มาพิจารณาเรื่องนี้ เพื่อให้ความเห็นในเรื่องข้อกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตาม อำนาจการตัดสินใจว่าจะดำเนินการถอดถอนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม สนช.
ส่วนจะต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจ สนช. ก่อน จึงจะดำเนินการหรือไม่นั้น นายพีระศักดิ์ มองว่า สามารถดำเนินการตามข้อบังคับได้เลย และเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่รับคำร้อง เพราะสนช. ยังไม่ได้เดินหน้ากระบวนการถอดถอน
"เรื่องนี้เป็นประเด็นทางกฎหมายล้วนๆ ไม่มีเรื่องอารมณ์ และความรู้สึกใดๆ เกี่ยวข้องกับการพิจารณา คิดว่าเรื่องนี้ยังไม่เกิดขึ้น แล้ว จะยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างไร และไม่ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาหรือไม่" รองประธาน สนช. กล่าว

นายเจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. ในฐานะวิปสนช. กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องดูสำนวนของ ป.ป.ช. ว่า จะอิงฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือตามกฎหมาย ป.ป.ช. หากส่งเรื่องมายัง สนช. และประธาน สนช. ก็ต้องพิจารณาส่วนจะส่งให้ วิปสนช. พิจารณาหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับประธานสนช. ขณะนี้ยังไม่สามารถทำอะไรล่วงหน้าได้ ต้องดูสำนวนป.ป.ช.ก่อน
ส่วนกรณีที่ นายนิคม ที่ถูกยื่นคำร้องถอดถอน เตรียมยื่นฟ้อง สนช. ที่จะถอดถอน เนื่องจากใช้อำนาจมิชอบ และไม่มีอำนาจถอดถอน ตามกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้น สามารถทำได้ แต่หากจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่าทำไม่ได้ เพราะผู้ที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ต้องเป็นองค์กร ได้แก่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี สนช. ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และที่ประชุมใหญ่ศาลปกครอง

** โวยสนช.ไม่มีอำนาจถอดถอน

ด้านนายยุทธนา ยุพฤทธิ์ อดีต ส.ว. และเป็น 1 ใน 39 ส.ว. ที่ถูกป.ป.ช. ส่งสำนวนให้ถอดถอนจากแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เรื่องที่มาส.ว. กล่าวว่า การถอดถอน เป็นเรื่องการเมือง ส.ว.ที่ถูกยื่นถอดถอน กลายเป็นเหยื่อ และยืนยันว่า สนช.ไม่มีอำนาจถอดถอนได้ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว การที่สนช. กล่าวอ้าง มาตรา 5 รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 เพื่อดำเนินการถอดถอนนั้น ก็ไม่ถูกต้อง หาก สนช. เดินหน้าเรื่องนี้ เท่ากับเพิ่มอำนาจให้ตัวเอง จะสร้างความเสียหายให้ผู้ถูกกระทำ ทั้งที่ตามปกติ หากกฎหมายไม่มีความชัดเจน ตามหลักกฎหมาย ก็จะ ยกให้เป็นคุณต่อผู้ถูกร้อง และเรื่องนี้น่าจะจบไปแล้ว การที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว. เหมือนกับการแก้ไขที่มา ส.ส. เมื่อปี 2553 ที่พรรคการเมืองหนึ่งเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นดังกล่าวในเรื่องการแก้ไขเขตเลือกตั้ง จากเขตใหญ่เป็นเขตเล็ก และบัญชีรายชื่อจากเดิม 100 คน เป็น 125 คน จึงไม่แตกต่างกัน รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 190 หากมองว่ามีผลประโยชน์ ก็มีความชัดเจน เพราะแก้เพื่อผลประโยชน์ตัวเอง แต่ขณะนั้น ไม่มีใครออกมาดำเนินการถอดถอนกับผู้ที่เสนอแก้ไขเรื่องดังกล่าว ถือว่าเป็นเรื่อง 2 มาตรฐาน และเลือกปฏิบัติ
นายยุทธนา กล่าวต่อว่า การดำเนินการฟ้องร้อง ฐานปฏิบัติโดยมิชอบ ก็คงต้องหารือกันก่อนระหว่างอดีต ส.ว. โดยวันที่ 14-15 ต.ค. มีนัดพบปะสังสรรค์กันที่ จ.อุดรธานี คงจะมีความเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ซึ่งเท่าที่ทราบมีอดีต ส.ว.หลายคน เตรียมฟ้องด้วย นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการสามัญ ยกร่างข้อบังคับการประชุม สนช. เพิ่มหมวดการถอดถอนว่า ดำเนินการมิชอบด้วยหรือไม่ เพราะปกติร่างข้อบังคับไม่มีเรื่องดังกล่าว แต่ขณะนี้มีการบรรจุไว้ จึงถือเป็นการกระทำที่มิชอบ หรือไม่

** "นิคม"ดิ้นร้องศาลปค. ลั่นอย่าอาฆาตกัน

ด้านนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวว่า เรื่องการถอดถอน เชื่อว่ามี สนช.บางคนไม่ค่อยเห็นด้วยที่จะดำเนินการและท้วงติงว่า จะสามารถทำได้หรือไม่ อาจจะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะป.ป.ช. ชี้มูลความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็ไม่ได้มีการเขียนรับรองเรื่องนี้ไว้ หากสนช.ดำเนินการถอดถอน ตนจะไปยื่นศาลปกครอง ในมาตรา 157 ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบ
" ผมไม่รู้ว่าพวกเขาอาฆาตอะไรผมนัก อย่าอาฆาตกันเลย ผมบอกแล้วว่า จะไม่ยุ่งเกี่ยวอะไรกับการเมืองอีก ผมแค่ทำตามหน้าที่ ทำตามข้อบังคับการประชุม ไม่ได้ผิดทางอาญาอะไรเลย แบบนี้เหมือนโดนกลั่นแกล้ง" นายนิคม กล่าว

**ประสารอัดนิคมทำผิดไม่รับการถอดถอน

นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช. ) กล่าวถึงกรณีมีผู้ไม่เห็นด้วยกกับการถอดถอนสำนวนของ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และ นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ว่า มีแต่วัวสันหลังหวะเท่านั้นที่ออกมาโวยวาย คนที่ไม่ผิด ไม่มีใครสักคนที่เดือดร้อน และกระบวนการถอดถอนกำหนดขึ้นเพื่อ "ล้างคนพาล อภิบาลคนดี" คนพวกนี้อ้างว่า รัฐธรรมนูญ ปี 50 ถูกยกเลิกไปแล้ว จึงเอาผิดพวกเขาไม่ได้ แต่ไม่ยอมพูดถึง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย ป.ป.ช. ปี 42 ในมาตรา 64, 56 (1) ที่กำหนดให้ ป.ป.ช. ต้องส่งเรื่องชี้มูลความผิดให้วุฒิสภาดำเนินการถอดถอน ซึ่ง รัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 57 กำหนดให้ สนช. ทำหน้าที่วุฒิสภา
"คนพวกนี้ยังอ้างเอาการปรองดองมาเป็นยาวิเศษ เพื่อล้างบาปที่ตัวเองก่อไว้ โดยไม่เคารพหลักนิติรัฐ นิติธรรม ดังเช่นความพยายามที่จะเอาเสียงข้างมาก ฉ้อฉล ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตอนตี่สี่ครึ่ง แล้วผลเป็นอย่างไร กับคนที่ทำ เมื่อพวกเขาไม่ยอมรับกฎแห่งกรรมที่กำลังทำหน้าที่สนองตอบ และยังปฏิเสธกระบวนการนิติบัญญัติ ที่กำลังทำหน้าที่ป้องกันคนบาป ไม่ให้มาครองบ้านครองเมือง ก็เหมือนนักโทษกำลังวางแผนหนีคุก ก่อนทำไม่คิด พอชนักติดหลัง กลับเป็นเสือไม่สำนึกบาป ก็ไม่มีทางอื่น นอกจากต้องปล่อยพวกเขาทุรน ทุราย ต่อไป" นายประสาร กล่าว

**'ไก่อู'ให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) ออกมาระดม อดีต ส.ส.-ส.ว. เคลื่อนไหวกดดันไม่ให้ สนช. ดำเนินการถอดถอนนักการเมืองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. เคยอธิบายแล้วว่า สนช. มีหน้าที่หลายอย่าง โดยเฉพาะการดูแลเรื่องกฎหมายที่ค้างกว่า 300-400 เรื่อง และยังมีกฎหมายใหม่ที่ต้องพัฒนาให้ทันสมัย อย่างเช่น การปรับปรุงให้ทันต่อการเตรียมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ แต่ขณะนี้ สังคมส่วนหนึ่งโดยเฉพาะสื่อ ให้ความสนใจเรื่องการถอดถอน ทำให้สังคมมองว่า สนช. เข้าไปไล่บี้ใคร แต่ความจริง สนช. มีหน้าที่ในเรื่องอื่น แต่เราไม่นำเสนอ จึงทำให้เห็นว่า สนช. มายุ่งกับประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง แต่ความจริงไม่ใช่ จึงอยากให้สังคมได้มองกว้างๆ
จากกรณีดังกล่าว เข้าใจว่าทุกคนล้วนมีเหตุผล หลักการต่างๆ เป็นของตนเอง แต่สิ่งที่เป็นปัญหาของเรื่องนี้ เกิดจากความเชื่อใจของกันและกัน ทั้งนี้จากในอดีตที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จัดการปัญหาโดยการไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้ทุกฝ่ายเกิดความรู้สึกดีขึ้น ตนก็ขอให้ไปร้องได้ เป็นสิทธิ์ของท่าน แต่หลังจากนั้นก็อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะรับหรือไม่รับ ส่วนหากต้องการให้นายกรัฐมนตรีตัดสินเรื่องนี้ คงไม่สมควร ไม่เหมาะ

** พท.ยันยื่นศาลรธน.ชี้ขาดอำนาจสนช.

นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ สนช.ระบุว่า พรรคเพื่อไทย ไม่สามารถยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า สนช.มีอำนาจถอดถอดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ เนื่องจากไม่มีข้อบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญปี 2557 รองรับ ว่า ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหาย รวมทั้งขณะนี้ต่างฝ่ายต่างเห็นแย้งในข้อกฎหมาย ย่อมสามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อตนเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้ ดังนั้นจะมอบหมายให้ทนายความเป็นผู้ดำเนินการ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างร่างสำนวน คาดว่าจะสามารถยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ภายในสัปดาห์นี้ ยืนยันว่า สนช.ไม่มีอำนาจถอดถอน เพราะรัฐธรรมนูญปี 50 ถูกฉีกไปแล้ว
"ไม่เข้าใจว่า สนช.บางคนมีเจตนาอะไร ทั้งๆ ที่คสช. เลือกให้มาพิจารณากฎหมายสำคัญๆ เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนให้มากที่สุด แต่กลับเอาเวลามามุ่งทำร้ายกัน โดยเฉพาะกลุ่ม 40 ส.ว. ยังอาฆาตไม่เลิก จะตะแบง ดื้อดึงไปถึงไหน ไม่รู้ว่า คสช. แต่งตั้งคนกลุ่มนี้เข้ามาทำไม เพราะมีแต่จะสร้างความขัดแย้งให้เพิ่มขึ้น สวนทางกับนโยบายปรองดองสมานฉันท์" นายอำนวย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น