xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“พรเพชร”กั๊กถอดถอน เพื่อ...?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -แม้ว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้ลงมติเห็นชอบร่างข้อบังคับการประชุมในส่วนของการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว เมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน แต่การถอดถอนนักการเมืองที่มีการตั้งเรื่องไว้พร้อมแล้วตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ก็ยังส่อแววว่าจะยืดเยื้อต่อไป

ถึงตอนนี้ก็พอจะมองเห็นเค้าชัดเจนขึ้นแล้วว่า การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อันเป็นมาตรการหนึ่งในการกำราบนักการเมืองที่ใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล กำลังโดนเตะถ่วง และส่อว่า คดีถอดถอนนักการเมือง 4 คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ตั้งเรื่องไว้ จะยืดเยื้อออกไปอีก

คนที่ทำให้การลงทัณฑ์นักการเมืองจอมโกงต้องล่าช้าออกไป ก็ไม่ใช่ใคร เป็นนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.นั่นเอง

วันที่ 29 ก.ย.ที่รัฐสภา นายพรเพชร ในฐานะประธาน สนช. ได้ประชุมร่วมกับ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 และนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2

หลังการประชุม นายพีระศักดิ์บอกกับผู้สื่อข่าวว่า สนช.ได้ส่งสำนวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 คน คือ นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กลับไปที่ ป.ป.ช.ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. เพราะเห็นว่าฐานความผิดของนายนิคม และนายสมศักดิ์ ที่ส่งมาให้เป็นสำนวนสมัยที่ยังมีวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 และยังมีบทบัญญัติการถอดถอนตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ปัจจุบันนี้ไม่ฐานความผิดดังกล่าวแล้ว

ถัดมาวันเดียว 30 ก.ย. ป.ป.ช.ก็มีคำตอบให้ทันที เมื่อนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่สำนักงานฯ สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี ว่า ตามที่ประธาน สนช.ส่งรายงานและสำนวนการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีถอดถอน นายนิคม และ นายสมศักดิ์ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ส่งให้ประธานวุฒิสภาพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ไปตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. 2557 และ 4 เม.ย. 2557 กลับคืนมายัง ป.ป.ช.นั้น ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติโดยเสียงข้างมากเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ในมาตรา 64 ประกอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 6 วรรค 2 ซึ่งระบุให้ สนช.ทำหน้าที่ ส.ส. ส.ว. และรัฐสภา จึงมีมติให้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังประธาน สนช.เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

นอกจากนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังได้มีมติเป็นหลักการเกี่ยวกับกรณีถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น กรณีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และกรณีถอดถอนอดีต ส.ว.จำนวน 39 ราย รวมทั้งการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ ด้วยว่า หากเป็นการกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นตามมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ก็อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่จะดำเนินการไต่สวนต่อไป จึงให้พนักงานเจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลในเรื่องดังกล่าวแล้วเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

ก็เป็นที่ชัดเจนว่า ป.ป.ช.ดำเนินการเสนอเรื่องถอดถอนนายนิคมและนายสมศักดิ์ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ในมาตรา 64 ประกอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 6 วรรค 2

แต่คำให้สัมภาษณ์ของนายพรเพชรเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ก็ยังมีลักษณะการแทงกั๊ก โดยอ้างว่า ตนยังไม่ได้รับเรื่องที่ทาง ป.ป.ช.ส่งกลับมา และเมื่อ ป.ป.ช.ส่งเรื่องกลับมาก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ส่วนปัญหาข้อกฎหมายที่ยังมีความสับสนว่า สนช.สามารถถอดถอนได้หรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ยกเลิกไปแล้ว เห็นว่าเรื่องนี้ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง แต่ต้องรอดูคำร้องจาก ป.ป.ช.ก่อนว่ามีการแก้ไขอะไรหรือไม่ จึงจะพิจารณาได้

ส่วนกรณีที่อาจมีการใช้มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ที่ระบุว่า “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทําการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ชี้ขาดเรื่องนี้นั้น นายพรเพชรอ้างว่ามาตรา 5 จะใช้เพื่อตีความกฎหมายเท่านั้น เช่น ตีความว่า สนช.ทำหน้าที่แทน ส.ว.ได้หรือไม่ แต่เรื่องการถอดถอนยังไม่เห็นอำนาจว่าจะใช้มาตรา 5 ได้ แต่เรื่องดังกล่าวก็อาจนำเข้าสู่ที่ประชุมให้สมาชิก สนช.ชี้ขาดว่าถอดถอนได้หรือไม่

ขณะที่นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุม สนช.ให้สัมภาษณ์ในวันเดียวกันว่า เมื่อ ป.ป.ช.ส่งเรื่องกลับมายัง สนช.ก็ต้องตั้งทีมงานด้านกฎหมายขึ้นมาดูอีกครั้งว่าถอดถอนได้หรือไม่ ไม่ขอพูดเรื่องนี้เพราะยังไม่ถึงเวลา อีกทั้งภายใน สนช.ก็ยังมีความเห็นสองด้านว่าถอดถอนได้และไม่ได้ ถ้ามีปัญหาก็ต้องนำเข้าที่ประชุม สนช.โดยใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 มาตรา 5 ที่บัญญัติว่า กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยกรณีใดตามความเกิดขึ้นในวงงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด

ถัดมาอีกวัน 2 ต.ค.นายพรเพชรให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ปฏิเสธว่าไม่ได้กั๊กเรื่องการถอดถอน แต่เป็นเพราะเรื่องที่ ป.ป.ช.ยื่นเรื่องถอดถอนมานั้นเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งสิ้นสุดไปแล้ว จึงต้องส่งเรื่องกลับไปให้ ป.ป.ช.ทบทวน

นายพรเพชรอ้างอีกว่า หาก ป.ป.ช.ส่งเรื่องยืนยันความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มา ทาง สนช.ก็ต้องนำกลับมาพิจารณาว่าฐานความผิดนั้นยังคงมีอยู่หรือไม่ และเข้ากับกฎหมายใดบ้าง เมื่อพิจารณาแล้วตนก็จะใช้ดุลพินิจบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ แต่ยังไม่สามารถบอกได้เพราะยังไม่ได้รับเรื่องจาก ป.ป.ช.

คำให้สัมภาษณ์ของนายพรเพชร แม้จะมีการปฏิเสธว่าไม่ได้กั๊ก แต่คำพูดทั้งหมดของนายพรเพชร มันก็บอกอยู่แล้วว่ากั๊กหรือไม่ ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับท่าทีของ ป.ป.ช.ที่กระตือรื้อร้นมากกว่า ก็จะยิ่งเห็นได้ชัด

ป.ป.ช.ก็บอกชัดเจนแล้วว่า การยื่นเรื่องถอดถอนเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 ซึ่งยังมีผลบังคับใช้อยู่ และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 6 วรรค 2 ที่ระบุว่า ให้ สนช.ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา แล้วเหตุใดนายพรเพชรจึงพูดย้อนไปถึงรัฐธรรมนูญ 2550 อีก

ซ้ำยังบอกว่า เมื่อ ป.ป.ช.ส่งเรื่องกลับมาแล้ว ต้องนำมาพิจารณาว่าฐานความผิดนั้นยังคงมีอยู่หรือไม่ และเข้ากับกฎหมายใดบ้าง ก่อนจะใช้ดุลพินิจบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ

ก็ในเมื่อ สนช.ส่งเรื่องไปถาม ป.ป.ช.แล้วว่า การดำเนินการถอดถอนนายนิคมและนายสมศักดิ์นั้นมีกฎหมายใดรองรับ ป.ป.ช.ก็ให้คำตอบกลับมาแล้ว เหตุใดนายพรเพชรจึงบอกว่า สนช.ต้องนำมาพิจารณาว่าฐานความผิดนั้นยังคงมีอยู่หรือไม่ และเข้ากับกฎหมายใดอีก ถ้า สนช.จะพิจารณาเอง นายพรเพชรส่งเรื่องกลับไปที่ ป.ป.ช.ให้ขั้นตอนยืดเยื้อออกไปทำไม


กำลังโหลดความคิดเห็น