ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยังไม่ได้รับเรื่อง ป.ป.ช.ส่งให้ถอดถอน “สมศักดิ์-นิคม” ขอดูคำร้องก่อน ชี้มาตรา 5 ใน รธน.ไม่มีอำนาจถอด แต่แย้มอาจชง สนช.ชี้ขาด ด้านรองประธานฯ ก็รับยังไม่เห็นเรื่อง โยน “พรเพชร” พิจารณาชงเข้าที่ประชุมพรุ่งนี้หรือไม่
วันนี้ (1 ต.ค.) ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งสำนวนการถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เรื่องที่มา ส.ว.โดยมิชอบ กลับมายัง สนช.ว่า ขณะนี้ตนยังไม่ได้รับเรื่องดังกล่าว เมื่อ ป.ป.ช.ส่งเรื่องกลับมาก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ส่วนปัญหาข้อกฎหมายที่ยังมีความสับสนว่าสนช.สามารถถอดถอนได้หรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ยกเลิกไปแล้ว เห็นว่าเรื่องนี้ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง แต่ต้องรอดูคำร้องจาก ป.ป.ช.ก่อนว่ามีการแก้ไขอะไรหรือไม่จึงจะพิจารณาได้
ส่วนการที่นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.อาจเสนอให้ที่ประชุมใช้ มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ชี้ขาดเรื่องนี้นั้น นายพรเพชรเห็นว่ามาตรา 5 จะใช้เพื่อตีความกฎหมายเท่านั้น เช่น ตีความว่า สนช. ทำหน้าที่แทน ส.ว.ได้หรือไม่ แต่เรื่องการถอดถอนยังไม่เห็นอำนาจว่าจะใช้มาตรา 5 ได้ แต่เรื่องดังกล่าวก็อาจนำเข้าสู่ที่ประชุมให้สมาชิก สนช.ชี้ขาดว่าถอดถอนได้หรือไม่ โดยการที่ประธานฯ นำเข้าที่ประชุมแล้ว หากสมาชิก สนช.ไม่เห็นชอบก็เสนอญัตติได้
ต่อมาเมื่อเวลา 12.00 น. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ขณะนี้ตนยังไม่เห็นรายงานการตรวจสอบของ ป.ป.ช.ที่จะส่งกลับมายัง สนช. ซึ่งหากมีการส่งเรื่องกลับมาต้องพิจารณาอีกครั้งว่า ป.ป.ช.อ้างกฎหมายหรือบทบัญญัติใด ส่วนกรณีที่ข่าวระบุว่า ป.ป.ช.ได้อ้างถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่ยกเลิกไปแล้วนั้น ตนไม่แน่ใจต้องขอพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง แต่ยืนยันว่าการพิจารณา และการดำเนินการจะยึดตามหลักกฎหมาย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่ว่า ป.ป.ช.จะยืนยันบนฐานความผิดของกฎหมายใด โดยไม่จำเป็นต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากหน่วยงานอื่นมาช่วยพิจารณา เพราะเรื่องดังกล่าวไม่ใช่ประเด็นข้อกฎหมายที่มีความยุ่งยาก สภาสามารถพิจารณาได้เอง เพียงแต่จะทำอย่างให้ 2 หน่วยงานมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่หากยังพบปัญหาสามารถนำเรื่องเข้าที่ประชุม สนช.ให้ร่วมพิจารณาได้ ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 5 ที่ระบุว่าเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใดให้กระทำการนั้น หรือวินิจฉัยไปตามประเพณีปกครองของประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยในกรณีที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยในวงงาน สนช. ให้ สนช.เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ส่วนจะบรรจุเรื่องดังกล่าวให้ที่ประชุมพิจารณาในวันที่ 2 ต.ค.นี้ได้หรือไม่นั้น เป็นดุลพินิจของนายพรเพชรพิจารณา