ผ่าประเด็นร้อน
จะเรียกว่าลุ้นระทึกแบบเข้าใกล้ความจริงแบบจวนตัวเข้ามาทุกทีก็ว่าได้สำหรับมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งเรื่องถอดถอน สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และ นิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ที่ใช้อำนาจหน้าที่มิชอบ จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา และที่ผ่านมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ลงมติส่งเรื่องให้วุฒิสภาถอดถอน แต่เกิดการยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ยุบวุฒิสภา ทำให้การถอดถอนหยุดชะงักลง อย่างไรก็ดี เมื่อมี สนช. มีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2557 ที่ระบุให้ สนช. ทำหน้าที่ ส.ส. และ ส.ว. และมีการร่างข้อบังคับการประชุมสภาใหม่ มีการรื้อฟื้นพิจารณาเรื่องดังกล่าวกันใหม่
อย่างไรก็ดี เพื่อความชัดเจน ประธาน สนช. พรเพชร วิชิตชลชัย ได้ตีกลับเรื่องการถอดถอนบุคคลดังกล่าวคือ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และ นิคม ไวยรัชพานิช ไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปพิจารณาลงมติแล้งส่งกลับมาใหม่ ด้วยเหตุผลประมาณว่าเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมีสภาใหม่แล้ว เพื่อความชัวร์ก็ให้ ป.ป.ช. ลงมติตัดสินใจใหม่ว่าจะยังยื่นเรื่องถอดถอนหรือไม่ ซึ่ง ป.ป.ช. ก็ลงมติด้วยเสียงข้างมากภายในวันเดียว ส่งยื่นถอดถอนใหม่ทันที
นอกจากนี้ จากการแถลงของเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สรรเสริญ พลเจียก ยังกล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติเป็นหลักการเกี่ยวกับกรณีถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น กรณีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และกรณีถอดถอนอดีต ส.ว. จำนวน 39 ราย รวมทั้งการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ ด้วยว่า หากเป็นการกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นตามมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ก็อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะดำเนินการไต่สวนต่อไป จึงให้พนักงานเจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลในเรื่องดังกล่าวแล้วเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
ได้ยินแบบนี้มันก็ต้องหนาวแน่ เพราะนั่นหมายความว่าคิวต่อไปก็ต้องเป็น ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว แม้ในขั้นตอนนั้นเธออาจยังไม่โดนข้อหาทุจริต แต่ความผิดที่ ป.ป.ช. ชี้มูลมาแล้วในเรื่องการ “ปล่อยปละละเลย” จนมีการทุจริตกันทุกขั้นตอนแบบนี้ มันก็ต้องนั่งไม่ติด เพราะคำพูดของเลขาธิการ ป.ป.ช. ก็ระบุชัดเจนแล้ว ขณะบรรดา 39 อดีต ส.ว. คนพวกนี้ก็ต้องโดนแบบเดียวกับที่ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และ นิคม ไวยรัชพานิช โดน เพราะร่วมกันกระทำผิดในเรื่องเดียวกัน
สำหรับความเป็นได้ในเรื่องการลงมติในสภานิติบัญญัติเรื่องถอดถอน แม้ว่ากว่าจะไปถึงการลงมติดังกล่าวยังต้องฝ่าด่านมีขั้นตอนอีกนาน นั่นคือต้องมีการนำมาพิจารณากันก่อนว่าสมควรจะถอดถอนหรือไม่ จากนั้นค่อยเข้าสู่กระบวนการลงมติซึ่งก็ต้องใช้เสียงมากพอสมควร แต่สำหรับสภานิติบัญญัติฯในยุค คสช. ที่สมาชิกส่วนใหญ่มาจากข้าราชการทหาร ข้าราชการประจำ บุคคลภายนอกที่คุ้นเคย ทุกอย่างสามารถ “ไปในทางเดียวกัน” ได้ไม่ยาก ไม่ว่าขวาหรือซ้าย ควบคุมเสียงกันได้ ดังนั้น หากเข้าสู่โหมดถอดถอนเมื่อไหร่รับรองว่าไม่ว่าใครก็ต้อง “หนาว” แน่นอน
ดังนั้น หากพูดเรื่องการลงมติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดย สนช. ยุคปัจจุบันถือว่าเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้มีโอกาสเท่าๆ กัน ต่างกับสภาเลือกตั้งของนักการเมืองที่เรื่องการลงมติถอดถอนพวกเดียวกันแทบเป็นไปไม่ได้เลย
สิ่งที่ต้องพิจารณากันต่อมาก็คือจะมีรายการ “ต่อรอง” ตามมาโดยฝ่าย “อำนาจ” หรือไม่ เหมือนกับถือไพ่เหนืออีกฝ่ายว่า “อย่าขยับล้ำเส้น” อะไรประมาณนี้ ให้ยืนระยะ “ปรองดอง” ไปเรื่อยๆ หรือไม่ เพราะหากทำยึกยักหรือไม่ฟังก็จะไฟเขียวจัดการหรือเปล่า อะไรมันก็เกิดขึ้นได้
นั่นคือกรณีที่อาจเกิดขึ้นกับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทายาทคนสำคัญของ กลุ่มอำนาจเก่าที่รอจังหวะกลับมาอีกครั้งหลังการเลือกตั้งปีหน้า อย่างไรก็ดี หากเกิดมีรายการลงมติถอดถอนดังกล่าวเกิดขึ้นจริงนั่นก็เท่ากับว่าทุกอย่างจบเห่
เพราะเมื่อพิจารณาต่อเนื่องจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ในมาตรา 8(4) ที่ระบุคุณสมบัติต้องห้าม “เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” นั่นก็หมายถึงโยงไปถึงลักษณะต้องห้ามของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี การลงสมัคร ส.ส. และ ส.ว. ในอนาคตอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีมาตรา 35 กำหนดกรอบบังคับการออกแบบรัฐธรรมนูญถาวรเอาไว้ในมาตรา 35 ที่เรียกกันว่าบัญญัติ 10 ประการ The Ten Commandments เพราะมีอยู่ 10 อนุมาตรา ในมาตรา 35(4) ระบุไว้ว่ารัฐธรรมนูญถาวรจะต้องมี “กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคําพิพากษาหรือคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทําการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทําการอันทําให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดํารงตําแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด”
สำหรับกรอบตามมาตรา 35(4) ตรงคำว่า “คำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย...” หากรวมถึงคำวินิจฉัยชี้มูลความผิดขององค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. และ กกต. ด้วยแล้ว ยังจะตัดสิทธินักการเมืองไปได้อีกนับร้อยคนโดยในจำนวนก็มี ทักษิณ ชินวัตร และพวกบ้านเลขที่ 111 และบ้านเลขที่ 109 ที่ต้องตายยกเข่ง รวมทั้ง สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา รวมทั้ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ต้องจบชีวิตทางการเมืองตั้งแต่ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดไปตั้งแต่ต้นแล้ว
ดังนั้น เมื่อเริ่มเข้าสู่โหมดการลงมติถอดถอน และการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำลังเริ่มขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าต้องไปตามโรปแมปหรือกรอบบัญญัติ 10 ประการในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในมาตรา 35(4) ว่าด้วยการตัดสิทธิ์ตลอดชีวิตกับนักการเมืองที่เคยถูกตัดสินว่ากระทำผิด และที่ผ่านมา บวรศักดิ์ อุวรรณโณ คนที่เป็นตัวเต็งที่จะมานั่งตำแหน่งประธานคณะกรรมาธการยกร่างรัฐธรรมูญเคยชี้ให้จับตามาตราดังกล่าวมาแล้ว ทำให้เชื่อว่าเส้นทางเดินข้างหน้าต้องเป็นแบบนี้แน่
หากเส้นทางต้องเดินตามกรอบที่ว่าจะไม่ให้ “หนาว” ได้อย่างไร !!