อดีต ปธ.กมธ.ยกร่างฯ แนะ ประชามติถามไปเลยจะเอาร่างฉบับไหน คสช. ไม่ต้องแอ่นอกรับ เกิดการถกเถียงเนื้อหา รับโดนใบสั่งให้แก้ปัญหาวิกฤตช่วงเปลี่ยนผ่านสั่งทางวาจาไม่ได้เสนอโจ๋งครึ่มแบบตอนนี้ รับเสียใจร่างตัวเองตีตก ก่อนคิดได้ว่าเขาอยากอยู่ยาว เผยให้ผ่านร่างมีชัยผ่าน ชมคุณสมบัติต้องห้ามเขียนดี แต่นิติธรรม ปรับโครงสร้าง ศก. กลไกปฏิรูป เบาไป แนะเขียนสิทธิ ปชช. ตามเดิม หวั่นเข้าทางนักร้องป่วน
วันนี้ (19 ก.พ.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน กมธ.ยกร่าง รธน. ตอบข้อถามผู้สื่อข่าวที่ว่าควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อรองรับว่า หากร่าง รธน. ฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ไม่ผ่านประชามติอย่างไรนั้น ว่า ควรให้การออกเสียงประชามติโดยการตั้งคำถามว่าจะเลือกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใด ระหว่างร่างนายมีชัย ร่างที่ตนร่าง หรือนำร่างปี 2540 ร่างปี 2550 มาปรับปรุงใหม่
“ถามไปเลย 3 - 4 คำถามว่าจะเอาร่างฉบับ อ.มีชัย ร่างที่ผมร่าง หรือร่างขึ้นใหม่โดยถามว่าจะยึดรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 หรือปี 50 เป็นหลักแล้วปรับเอา ประชาชนจะได้ไปดูเนื้อหาแทนที่จะออกมาทะเลาะกัน แปลว่า ที่ทำมาทุกอย่างไม่เสียเปล่า และที่สำคัญ คสช. ไม่ต้องแอ่นอกรับหอกแต่เพียงผู้เดียว เพราะถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คสช. จะตอบว่ายังไง ดีกว่าแค่ถามว่าเอาหรือไม่เอา เพราะจะมีพวกหนึ่งค้าน อีกพวกจะเชียร์ แต่ถ้าถามเอาร่างไหน ประเด็นด่าหรือเชียร์จะกลายเป็นการเอาร่างต่าง ๆ มาเทียบกัน การถกเถียงจะลงไปในเนื้อหาสาระมากกว่าการโจมตีกัน และดีเบตได้โดยไม่เดือดร้อนใคร” นายบวรศักดิ์เสนอ
ต่อข้อถามถึงข้อเสนอของ ครม. ที่มีต่อ กรธ. ในข้อที่ 16 ที่ให้ยืดอำนาจพิเศษนั้น นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า นี่คือ สิ่งที่ตนเรียกว่าประชาธิปไตยช่วงเปลี่ยนผ่าน และเรื่องนี้มีการเสนอมาตั้งแต่ยุคที่ตนร่างรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการเสนอมาด้วยวาจา ไม่เปิดเผยเป็นหนังสือ
“ตอนนั้นไม่ได้ทำมาเป็นหนังสือโจ๋งครึ่มแบบนี้ อันนี้คือสิ่งที่ผมเรียกว่าช่วงเปลี่ยนผ่าน แล้วสื่อก็ด่าผมใหญ่โตว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ เรื่องนี้ต้องไปถามคนเซ็นข้อเสนอของ ครม. ฉบับนั้น ใช่ท่าน พล.อ.ประวิตร (วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ) เซ็นไปไม่ใช่หรือ ก็ไปถามท่าน ตอนนั้นผมโดนมาหนักมาก อยากให้เมตตาต่อท่านมีชัย เพราะท่านทำด้วยความปรารถนาดีต่อบ้านเมือง และถ้าให้ผมลงประชามติตอนนี้ผมก็จะลงว่าให้ผ่าน” นายบวรศักดิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามย้ำความรู้สึกในวันที่ร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ. ยกร่างฯ ฉบับนายบวรศักดิ์ตกไป นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ทำมาตั้งนานก็ต้องเสียใจเป็นธรรมดา แต่เสียใจแค่วันเดียว พอวันอาทิตย์กลับไปบ้านคิดได้ว่า “อ้อ เพราะเขาอยากอยู่ยาว” ก็ไม่เป็นไร ตนก็กลับไปเลี้ยงหลานตามปกติ และทุกวันนี้กำลังเห่อหลาน
นอกจากนี้ นายบวรศักดิ์ ยังได้กล่าวถึงระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ว่า ไม่เห็นด้วยกับการกาหนึ่งบัตรให้มีผลทั้ง ส.ส. แบบเขต และบัญชีรายชื่อ เพราะจะมีผลทำให้พรรคเล็กเกิดยาก อธิบายประชาชนได้ลำบาก และทำให้รู้สึกว่าเป็นการลิดรอนสิทธิ์จากที่เคยเลือกได้สองอย่าง ซึ่งวิธีนี้ใช้เพียงรัฐเดียวในเยอรมัน ส่วนที่อื่นยกเลิกหมดแล้ว
ทั้งนี้ นายบวรศักดิ์ ได้ให้สัมภาษณ์ดังกล่าวในงานแถลงข่าวหัวข้อ “ความเห็นของ นธป. 4 ที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญ” ที่จัดโดยนักศึกษาหลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ 4 ของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นรุ่นที่มีนายบวรศักดิ์เป็นประธานรุ่น
ทั้งนี้ ผู้นำเสนอข้อวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย โดย นายบรรเจิด สิงคเนติ อดีต กมธ. ยกร่างฯ แถลงในนามนักศึกษารุ่น นธป. 4 ว่า ทางรุ่นเห็นว่าควรจะปรับวิธีการเลือกตั้ง ส.ส. ให้มีการลงคะแนนสองใบ ใบหนึ่งให้เขตจังหวัดเป็นเขตใหญ่มีผู้สมัครได้หลายคน (เขตใหญ่เรียงเบอร์) แต่ให้ประชาชนเลือกผู้สมัครได้คนเดียว ซึ่งจะทำให้มีโอกาสได้ผู้สมัครหลากหลายพรรค ส่วนอีกใบให้เลือกบัญชีรายชื่อแบบรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งจะทำให้ภาคประชาชนมีโอกาสตั้งพรรคและได้รับการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม นายบวรศักดิ์ แถลงด้วยว่า การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญขอให้ดูในภาพรวม ต้องดูทั้งหมด รธน. อ.มีชัย ก็มีข้อดีที่ควรได้รับการพิจารณา ซึ่งหากให้ลงประชามติวันนี้ตนก็โหวดให้ผ่าน อย่าฟังแต่ความเห็นนักการเมืองซึ่งพูดแต่ข้อเสีย เพราะจะให้ถูกใจต้องเอานักการเมืองมาร่างเอง เหมือนผู้รับเหมามาเขียนสเป๊ก จึงขอให้ดูทั้งฉบับ ทั้งจุดเด่น จุดควรปรับปรุง จุดเด่นจะเรียกว่าฉบับปราบโกงนั้นผมเห็นด้วย
“คุณสมบัติลักษณะต้องห้ามเขียนได้ดีจริง ๆ ต่อไปในคนสุจริตอย่างเดียวที่เข้ามาได้ คนเคยทุจริตถูกห้ามตลอดชีวิต ค้ายา นายบ่อน ค้ามนุษย์เข้ามาไม่ได้ มันสะใจดี ฉบับก่อน ๆ ถูกจำคุกต้องพ้นแล้ว 5 ปี ก็เพิ่มเป็น 10 ปี เรื่องเอางบประมาณหลวงไปให้ ส.ส. ใช้ รู้กันทั้งบ้านทั้งเมือง ฝ่ายค้านรัฐบาลล้วนได้ประโยชน์เลยเงียบเป็นเป่าสาก รธน. 40 50 ห้ามไม่ได้ผล แต่ร่างของ อ.มีชัย มันสยดสยอง ท่าจะได้ผลดี มาตรา 139 หากว่า ส.ส. หรือ ส.ว. เข้าไปแปรญัตติมีส่วนได้ประโยชน์อาจถูกเพิกถอนสิทธิ์รับเลือกตั้งตลอดชีวิต ครม. รู้ไม่ยับยั้งก็เพิกถอน เรื่องการมีมาตรฐานจริยธรรมทุกองค์กรที่เสนอต้องใช้มาตรฐานเดียวกัน และทุกองค์กรก็มีกลไกในการถูกตรวจสอบ” นายบวรศักดิ์ กล่าว
นายบวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่น่าสนใจมาก คือ ให้แสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งศาลและองค์กรอิสระเปิดเผยต่อสาธารณะ และบังคับให้ตรวจสอบทุกคน ไม่ใช่รอให้มีเรื่องร้องเรียน
อย่างไรก็ตาม นายบวรศักดิ์ เสนอว่า ควรจะเพิ่มศาลวินัยงบประมาณและการคลัง ถ้าจะปราบทุจริตจริง ๆ ต้องให้มีศาลนี้ เพราะ รธน. นี้มีข้อบัญญัติให้องค์กรอิสระทักท้วง แต่ไม่รู้ว่าทักท้วงแล้วถ้าไม่ทำอะไรจะเกิดขึ้น ถ้ามีศาลทักท้วงแล้วไม่ทำก็ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น ส่วนตัวขอเสนอ 5 ประเด็นหลักให้รัฐธรรมนูญนี้สมบูรณ์ขึ้น
“มี 3 เรื่องที่เบาบางมาก ควรทำให้เข้มข้นขึ้น ไม่อย่างนั้นอาจถูกวิจารณ์ เรื่องแรก หลักนิติธรรม ในร่าง นายมีชัยมีหลายที่แต่อ่อนไป เหมือนพูดผ่าน ๆ ไป และเกิดปัญหาคือถ้ากฎหมายขัดหลักนิติธรรมแล้วทำยังไง ต่างจาก รธน. ปี 50 กำหนดว่า การปฏิบัติหน้าที่ของทุกองค์กรต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ไม่ใช่แค่คำนึงถึงหลักนิติธรรม ต้องมีองค์กรส่งเสริมหลักนิติธรรม และทำให้กฎหมายเกิดความศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริง เรื่องที่สอง ขอเสนอให้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมให้เกิดความเป็นธรรม ยังไม่ชัดเจน ประการที่สาม กลไกผลักดันการปฏิรูปที่สำคัญให้สมบูรณ์ มาดูในร่างมี ครม. กับสภาขับเคลื่อนในบทเฉพาะกาลเท่านั้น และมีฐานะเพียงที่ปรึกษาของคณะรัฐมนตรี เรื่องที่สาม ควรเขียนกลีบไปให้เป็นสิทธิเสรีภาพแทนหน้าที่ของรัฐ “การประสงค์ดีเขียนให้สั้น จะถูกตีความโดยความไม่หวังดี ว่าลิดรอนทวงคืนสิทธิเสรีภาพ” นายบวรศักดิ์ กล่าว
อดีตประธาน กมธ. ยกร่างฯ กล่าวด้วยว่า นายมีชัย หวังดีว่า เขียนให้เป็นหน้าที่ของรัฐต้องทำ เป็นความประสงค์ดีมาก แต่ก่อปัญหาสองข้อใหญ่ คือ 1. ใครเป็นคนไปทวงให้รัฐทำหน้าที่ ถ้าเขียนว่าเป็นสิทธิ์ผู้มีสิทธิ์สามารถทวงผู้มีหน้าที่ของรัฐ แต่พอเขียนเป็นหน้าที่ ใครจะทวง ? และที่น่ากังวลกว่าคือเมื่อเขียนแล้วรัฐต้องทำ ถ้าไม่ทำจะนำไปสู่เรื่องที่อยู่ในอำนาจ ป.ป.ช. ทันทีว่า ครม. ส.ส. ส.ว. จงใจใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเล่นงานเพิกถอนตำแหน่ง ซึ่งแปลว่า ถ้ารัฐอ้างว่าทำแล้ว เอ็นจีโอ ชาวบ้านแห่ไปร้อง ป.ป.ช. วันเว้นวัน ว่ารัฐไม่ทำจะเป็นเรื่องใหญ่ การบริหารราชการแผ่นดินคงปั่นป่วน จึงขอเสนอให้กลับไปเขียนเป็นสิทธิ์ของประชาชนตามเดิม เพื่อไม่เป็นเครื่องมือของนักร้องทั้งหลายที่จะสร้างความปั่นป่วนของบ้านเมือง