xs
xsm
sm
md
lg

จับชุดใหญ่คดีโกงหุ้น

เผยแพร่:   โดย: สุนันท์ ศรีจันทรา

เมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ประกาศลงโทษปรับและกล่าวโทษผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนรวม 10 คน ในพฤติกรรมความผิดต่างๆ โดยถือเป็นการเชือดกลุ่มคนที่กระทำความผิดในตลาดหุ้นครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี

ปลายเดือนเมษายน 2536 ยุคนายเอกกมล คีรีวัฒน์ เป็นเลขาธิการฯ ก.ล.ต. ตลาดหุ้นเคยสะเทือนมาแล้ว เพราะการประกาศกล่าวโทษ 4 หุ้นปั่น ประกอบด้วย หุ้นธนาคารนครหลวงไทย หุ้นบริษัท กฤษดามหานคร

หุ้นบริษัทเงินทุน เฟิสท์ ซิตี้ อินเวสเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ฉายาหุ้น “ฟ้าใส” และหุ้นบริษัท รัตนการเคหะ จำกัด ที่มีคุณหญิงพัชรี ว่องไพฑูรย์ (รัตตกุล) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยมีผู้ถูกกล่าวโทษรวมทั้งสิ้น 30 คน คนดังๆ เช่น คนในตระกูลกาญจนพาสน์ คุณหญิงพัชรีพร้อมสามี นายวิชัย กฤษดาธานนท์ และเสี่ยสอง หรือนายสอง วัชรศรีโรจน์ ซึ่งถูกตัดสินว่ามีความผิด แต่ไม่ติดคุก เพราะคดีถูกปล่อยให้หมดอายุความ

หลังจากปี 2536 แม้จะมีการกล่าวโทษหรือลงโทษผู้กระทำผิดในตลาดหุ้นเป็นระยะๆ แต่นานๆ ก.ล.ต.จะประกาศสักคดี

เพิ่งจะมีครั้งล่าสุดเท่านั้นที่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนถูกเล่นงานกันเป็นพรวน รวมทั้งนายชัย โสภณพนิช ประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด(มหาชน) และผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนอื่นอีกรวม 5 บริษัท

การดำเนินคดีผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน 5 แห่ง อาจเป็นการเปิดตัวว่า ก.ล.ต.ยุคใหม่ไม่ใช่เสือกระดาษอีกต่อไป และคงมีการดำเนินคดีความผิดต่างๆ ในตลาดหุ้นตามมาอย่างต่อเนื่อง ไม่นับอีกหลายคดีที่ส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับลูกสอบสวนความผิดไปแล้ว

ประชาชนตั้งความหวังเล็กๆ กันได้หรือไม่ว่า พฤติกรรมโกงหรือการเอารัดเอาเปรียบนักลงทุนในตลาดหุ้น อาจจางหายลงไปบ้าง หลังจาก ก.ล.ต.เอาจริง ฟันไม่เลี้ยง แม้จะเป็นผู้บริหารจดทะเบียนที่มีชื่อเสียงก็ตาม

ขั้นตอนการลงโทษและกล่าวโทษคดีความผิดของผู้บริหารจดทะเบียนครั้งล่าสุด ถือว่ามีพัฒนาการขึ้น เพราะระยะเวลาการดำเนินคดีสั้นลง โดยคดีก่อนหน้า ก.ล.ต.ต้องใช้เวลายาวนานในการกล่าวโทษหรือลงโทษ หลายคดีใช้เวลานานนับสิบปี ทำให้อาชญากรในตลาดหุ้นไม่เกรงกลัว

แต่คดีที่เพิ่งลงโทษไปหมาดๆ ใช้เวลาสอบสวนรวบรวมหลักฐานเพียง 4 ปี และหลายคดีใช้เวลาเพียง 2 ปีก็ปิดคดีได้ ซึ่งจะปราบอาชญากรในตลาดหุ้นไม่ให้ก่อคดีได้

เพราะหากริทำความผิด ไม่นานก็ติดคุก หรือไม่นานจะถูก ก.ล.ต.จับประจาน ให้อับอายขายขี้หน้าเหมือน 10 ผู้บริหารจาก 5 บริษัทจดทะเบียนที่เพิ่งลงโทษกัน

อีกประเด็นที่ทำให้การลงโทษผู้กระทำผิดในตลาดหุ้นชุดใหญ่ครั้งนี้มีความน่า สนใจเป็นพิเศษคือ ข้อหาในการกระทำความผิดมีความหลากหลาย หรือเรียกได้ว่า แทบจะครบเครื่องเรื่องโกง ไม่ว่าการใช้ข้อมูลภายในแสวงหาประโยชน์ในการซื้อขายหุ้น (อินไซเดอร์ เทรดดิ้ง) การปล่อยข่าวชี้นำราคา การปั่นหุ้น และการสร้างข้อมูลเท็จผ่านสื่อ

การเปิดโปงกลุ่มผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่เอาเปรียบนักลงทุนในสารพัดรูป แบบ จะช่วยย้ำเตือนให้นักลงทุนในตลาดหุ้นจำนวนนับล้านคน เกิดความตระหนักว่า ในตลาดหุ้นยังเต็มไปด้วยอาชญากรใส่สูทกลุ่มต่างๆ เป็นจำนวนมาก

ไม่เฉพาะผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนเท่านั้น บริษัทโบรกเกอร์ก็มี บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินบางแห่ง ที่แต่งตัวบริษัทเข้ามาโกยเงินในตลาดหุ้นก็ใช่ ยังไม่นับนักลงทุน “ขาใหญ่” หรืออาจจะรวมสื่อที่หิวกระหายในผลประโยชน์ ร่วมขบวนการสร้างข่าว ปล่อยข่าวและชี้นำราคาหุ้นด้วย

ดังนั้น ใครที่คิดจะลงทุนในตลาดหุ้น ต้องไตร่ตรองให้รอบคอบ ใครที่คิดจะเก็งกำไรในตลาดหุ้น ต้องระวังให้หนัก เพราะอาจตกเป็นเหยื่อของกระบวนการโกงในตลาดหุ้น

ผู้บริหารจดทะเบียนนับสิบรายที่ ก.ล.ต.ฟันครั้งนี้ อาจทำให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกว่า ขบวนการโกงคงถูกถอนรากถอนโคนจนสิ้นซากแล้ว แต่นักลงทุนในตลาดหุ้นรู้ดีว่า คดีที่นำมาตีแผ่ ความผิดที่นำมาเปิดโปง เป็นเพียงส่วนน้อยนิดเท่านั้น เมื่อเทียบกับพฤติกรรมความผิดอีกมากมายในตลาดหุ้น ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และก.ล.ต.ยังจับไม่ได้ ไล่ไม่ทัน

แก๊งต้มตุ๋น ขบวนการปั่นหุ้น อาชญากรหุ้นจำนวนมากยังลอยนวล และรอคอยโอกาสสูบเลือดกินเนื้อนักลงทุนรายย่อยในตลาดหุ้นต่อไป โดยไม่มีใครปกป้องคุ้มครองนักลงทุนได้

แต่การลงโทษผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนครั้งล่าสุด อาจเป็นจุดเปลี่ยนของ ก.ล.ต.และอาจเป็นจุดเริ่มต้นการกวาดล้างอาชญากรรมในตลาดหุ้นอย่างจริงจัง

ยังมีอาชญากรรมอีกมากมายที่ ก.ล.ต.ต้องกำจัดให้พ้นตลาดหุ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น