ต้อนรับปีวอกพร้อมการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community - AEC) ซึ่งที่ผ่านมาทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของไทยมีการเตรียมความพร้อมกันมาระยะหนึ่งแล้ว รวมถึงธุรกิจประกันชีวิตและวินาศภัยเองก็เช่นกัน โดยบางบริษัทใช้กลยุทธ์การเปิดเกมรุกไปในแถบประเทศเพื่อนบ้าน และบางบริษัทพยายามพัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อรองรับการแข่งขันจากต่างประเทศ
ปีนี้จึงเป็นปีที่สำคัญมากที่สุดสำหรับธุรกิจประกันฯ ซึ่งนอกจากจะต้องแข่งขันกันในประเทศแล้วยังต้องแข่งขันกับต่างประเทศรวมถึงขยายธุรกิจออกไปอีกด้วย
ส่วนภาพรวมในปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าตัวเลขของธุรกิจประกันฯ ค่อนข้างชะลอตัว โดยเฉพาะด้านประกันวินาศภัยที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และมาตรการรถคันแรกที่หมดลง รวมถึงโครงการใหญ่ของภาครัฐที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามกำหนด
ทั้งนี้ ธุรกิจประกันภัยรอบ 9 เดือน (มกราคม-กันยายน 2558) พบว่ามีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 538,761 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.56 ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ เป็นผลให้เศรษฐกิจไทยด้านการส่งออกบริการ และการลงทุนภาครัฐขยายตัวอย่างโดดเด่น รวมถึงการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาครัฐขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
สำหรับธุรกิจประกันชีวิต มีเบี้ยรับรวมทั้งระบบจำนวนทั้งสิ้น 387,110 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.34 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีเบี้ยประกันภัยรับสูงสุด ได้แก่ การประกันชีวิตประเภทสามัญ จำนวน 333,008 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.71 รองลงมาเป็นประเภทกลุ่มจำนวน 44,338 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.76 ตามด้วยประเภทอุตสาหกรรม จำนวน 5,411 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 6.84 และประเภทอุบัติเหตุ จำนวน 4,353 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ธุรกิจประกันวินาศภัยมีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 151,651 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 1.60 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีเบี้ยประกันภัยรับสูงสุด ได้แก่ การประกันภัยรถจำนวน 88,776 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.63 ซึ่งแบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยจากการประกันภัยรถภาคบังคับ จำนวน 12,376 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.39 และจากการประกันภัยรถภาคสมัครใจ 76,400 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 0.25 รองลงมาคือ การประกันภัยเบ็ดเตล็ด จำนวน 51,008 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.50 ตามด้วยการประกันอัคคีภัย จำนวน 7,815 ล้านบาท หดตัวลดลงร้อยละ 5.15 และการประกันภัยทางทะเลและขนส่ง จำนวน 4,054 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.61
ประกันชีวิตพร้อมรุกAEC
นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่า การลงทุนในต่างประเทศนั้นต้องมองหลายมิติ โดยเฉพาะเรื่องกฎเกณฑ์ ปัจจุบันมีหลายประเทศที่กฎหมายอนุญาตให้บริษัทจากต่างชาติเข้าไปลงทุนได้แล้ว แต่เราต้องดูความพร้อมของตลาด พิจารณาทุกโมเดลที่จะเข้าไปทำได้ ซึ่งเมืองไทยประกันชีวิตแล้ว เรามองว่าการร่วมทุนกับธุรกิจในประเทศนั้นๆ เป็นโมเดลที่ลงตัว และเราค่อนข้างเชื่อมั่นในโมเดลนี้ ประกอบกับนโยบายของเมืองไทยประกันชีวิตจะยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง หรือ Customer Centricity เราจะต้องรู้จักและเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง ซึ่งพันธมิตรธุรกิจของเราจะช่วยตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ด้วย
ขณะที่ตลาดประเทศไทยเองก็จะน่าสนใจมากยิ่งขึ้นจากการเปิด AEC เช่นกัน ด้วยปัจจัยหลายด้าน ทั้งผู้บริโภคที่มีความเข้าใจเรื่องประกันชีวิตมากขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว ทำเลที่ตั้งเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค เป็นเส้นทางลอจิสติกส์ที่สำคัญ ทั้งมีปัจจัยเกื้อหนุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก อย่างสถานพยาบาลและบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับ สำหรับเมืองไทยประกันชีวิตเองก็เป็นบริษัทที่ได้รับการยอมรับทั้งในด้านความเข้มแข็งทางด้านการเงินและความเชี่ยวชาญทางด้านประกันชีวิต (Expertise)
“ธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทยก็น่าจะมีการแข่งขันกันมากขึ้นด้วย ยิ่งการเปิด AEC คนที่มีข้อมูล มีองค์ความรู้จะยิ่งได้เปรียบ ฉะนั้นต้องเตรียมความพร้อม ซึ่งเมืองไทยประกันชีวิตก็ถือว่ามีการเตรียมความพร้อมในด้านนี้เช่นกัน จะเห็นได้จากการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต บริการ สาขาทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดที่ติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน บุคลากร ภาษาที่ใช้ ทั้งภาษาสากลและภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน เทคโนโลยีที่เตรียมพร้อมรองรับทั้งลูกค้าในประเทศได้เป็นอย่างดี และลูกค้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ตลอดจนมิติเรื่องดิจิตอลที่เตรียมพร้อมทั้งในแง่บริการและการประสานงานกับพันธมิตรธุรกิจต่างๆ ด้วยเช่นกัน เวลานี้เราถือว่าพร้อมเต็มที่”นายสาระกล่าว
วินาศภัยรายเล็กควบรวม
นายชัย โสภณพนิช ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI เปิดเผยว่า แนวโน้มการแข่งขันในตลาดประกันภัยปีหน้าเชื่อว่ายังไม่ขยายตัวมาก ทำให้การแข่งตัดราคายังรุนแรง แต่เชื่อว่าไม่เกิน 2 ปีบริษัทที่ลงไปแข่งจะเผชิญปัญหาขาดทุนแน่นอน ขณะที่บริษัทซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ไม่มีนโยบายลงไปแข่งขันอยู่แล้ว เพราะได้เปรียบในเรื่องของแบรนด์และฐานลูกค้าเดิม
ทั้งนี้ มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากปัจจุบันตลาดประกันภัยในไทยมีจำนวนมากเกินไป จำเป็นต้องลดจำนวนลงครึ่งหนึ่งเหลือประมาณ 30 บริษัทจากปัจจุบันที่ 60 กว่าบริษัท ด้วยการทยอยเพิ่มระดับเงินกองทุนเป็น 300 ล้านบาทภายใน 5 ปีจากปัจจุบันรายเล็กมีระดับเงินกองทุนที่ 30 ล้านบาท และใช้วิธีควบรวมดีที่สุด จะช่วยยกระดับธุรกิจประกันภัยให้มีความแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับตลาดสิงคโปร์และมาเลเซียที่ปัจจุบันเพิ่มเงินกองทุนสูงสุดถึง 1,000 ล้านบาท แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของฝ่ายนโยบาย
ส่วนบริษัทเองในปี 2559 ตั้งเป้ามีเบี้ยประกันภัยเติบโต 7.4% คิดเป็นมูลค่า 18,000 ล้านบาท จากปีนี้เติบโต 3% เป็นมูลค่า 16,000 กว่าล้านบาท สำหรับการเติบโตในปีหน้าสัดส่วนเบี้ย 3-4% จะมาจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐประมาณ 70-80 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4-5% ของเบี้ยใหม่ปีหน้าจากการรับประกันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ 400-500 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะมาจากบริษัทพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันรายย่อยใหม่ ทั้งประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล และประกันที่อยู่อาศัย ขณะที่ประกันภัยรถยนต์ขยายประเภทการรับประกันให้หลากหลายมากขึ้นตามพฤติกรรมผู้ขับขี่จากปีนี้ได้นำเทคโนโลยีเทเลเมติกส์มาใช้ติดตามตัวรถลูกค้าเพื่อวัดผลพฤติกรรมผู้ขับขี่
ทั้งหมดเป็นภาพรวมและแนวโน้มของธุรกิจประกันภัยในปีหน้า ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นอีกปีที่มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้นทั้งด้านคุณภาพและบริการ เพราะช่วงที่ผ่านมามีการควบคุมดูแลและให้ความสำคัญมากขึ้นจากภาครัฐและผู้ประกอบการ ส่วนปีนี้ลาก่อนทิ้งความผิดพลาดและเริ่มต้นใหม่กันปีหน้า...สวัสดีปีใหม่