xs
xsm
sm
md
lg

เยาวชนร้อยละ 67.70 ติดตามข่าวสารก่อนรวมกลุ่มอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม่โจ้โพลล์ เผยผลสำรวจเยาวชนต่อการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พบเยาวชนส่วนใหญ่ ร้อยละกว่า 67 ติดตามข่าวสาร ขณะที่ร้อยละ 47 แนะเร่งพัฒนาทักษะภาษา

​ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) สำรวจความคิดเห็นเยาวชนระดับมัธยมศึกษา ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และในระดับอุดมศึกษา (ภาคเหนือ ร้อยละ 18.90 ภาคกลาง ร้อยละ 48.30 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ร้อยละ 32.80) จำนวนทั้งสิ้น 1,299 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15 – 26 ธันวาคม 2558 ในหัวข้อ “โค้งสุดท้ายเข้าอาเซียน...กับความพร้อมของเด็กไทยในวันนี้”มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจ 1. ความพร้อมของเยาวชนไทยกับการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2. ความรู้ความเข้าใจของการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 3. ข้อเสนอแนะของเด็กไทยต่อการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

​จากการสอบถามการติดตามข่าวสาร ประเด็น สถานการณ์เกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พบว่า ร้อยละ 67.70 มีการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และร้อยละ 32.30 ไม่ได้ติดตาม เมื่อสอบถามการให้ความรู้และประชาสัมพันธ์ของสถานศึกษา พบว่า ร้อยละ 86.20 สถานศึกษามีการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เป็นอย่างดี มีเพียงร้อยละ 13.80 เท่านั้น ที่มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้น้อยและไม่มีเลย

​ด้านการสอบถามการเตรียมความพร้อมก่อนการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน​พบว่า ร้อยละ 65.50 มีการเตรียมความพร้อมบ้างแล้ว ได้แก่ การฝึกทักษะทางด้านภาษา การรับข้อมูลของประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น อีกร้อยละ 36.50 ยังไม่มีการเตรียมความพร้อม

ด้านผลกระทบของการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะส่งผลแก่ตนเองนั้นพบว่า ร้อยละ61.90 จะมีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ด้านการศึกษาเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันมากยิ่งขึ้นเห็นว่าจะมีการแข่งขันกันในตลาดแรงงานมากขึ้น รองลงมาร้อยละ 38.10 เห็นว่าจะมีการแข่งขันในตลาดแรงงานเพิ่มมากยิ่งขึ้น เมื่อรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

​จากการสอบถามเยาวชนพบว่า ร้อยละ 50.40 เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมในการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และร้อยละ 49.40 เห็นว่าประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมในครั้งนี้ และข้อเสนอต่อการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พบว่า ร้อยละ 47.00 เห็นว่า คนไทยมีทักษะด้านภาษาที่น้อย ควรมีการพัฒนาทักษะทางด้านภาษาอย่างเร่งด่วน รองลงมา ร้อยละ 32.10 ควรมีการพัฒนาระบบการศึกษาโดยรวมให้ทัดเทียมกับประเทศต่างๆในอาเซียนและร้อยละ 20.90 เห็นว่าประเทศไทยปัญหาทางด้านการเมืองที่เป็นอุปสรรคต่อการรวมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ในปี 2558 ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศไทย, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, กัมพูชา, สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม, เมียนมาร์, มาเลเซีย, สิงคโปร์, บรูไน, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย จะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ ASEAN Economic Community (AEC) อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และ วัฒนธรรม

โดยมีเป้าหมายร่วมกันว่าการเปิดประตูสู่ "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" (AEC) จะส่งผลให้ภูมิภาคอาเซียนกลายเป็นกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่มีฐานการผลิตรวมกัน มีการเคลื่อนย้ายปัจจัยทางการผลิตอย่างเสรี เกิดความเป็นปึกแผ่น และสร้างอำนาจต่อรองทางด้านการค้า/เศรษฐกิจ ในเวทีการค้าโลกได้อย่างเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกอาเซียน จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อรับมือกับการก้าวเข้าสู่การเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ด้วยเช่นกัน

การเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะส่งผลไปทั่วทุกภาคส่วนของประเทศ และก่อให้เกิดพันธกรณีแก่ประเทศไทยที่จะต้องเข้าร่วมเจรจากับสมาชิกอาเซียน เพื่อเปิดเสรีสินค้าและบริการ รวมทั้งการลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการเปิดเสรีการค้าบริการอาเซียน โดยมีเป้าหมาย หรือหลักเกณฑ์การเปิดตลาดอยู่ที่ "การลด" หรือ "เลิกกฎระเบียบ" หรือมาตรการต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการและการลงทุน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการเปิดตลาดใน 10 สาขาบริการหลัก อาทิ บริการด้านธุรกิจ บริการวิชาชีพ บริการด้านสื่อสาร บริการโทรคมนาคม บริการด้านการท่องเที่ยว ตัวแทนนำเที่ยว

ดังนั้น ไม่ว่าเกษตรกร ผู้ประกอบการ หรือหน่วยงานภาครัฐ จะต้องเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพราะจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงาน การจัดตั้งบริษัท รวมไปถึงการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และการออกกฎหมาย มาตรฐานต่างๆ ร่วมกัน เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น