xs
xsm
sm
md
lg

นักพัฒนาเกมกับ AEC เราพร้อมหรือยัง?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วันที่ 1 มกราคม 2559 ที่ผ่านมาถือเป็นวันสำคัญที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC อย่างเต็มตัว ซึ่งจะเกิดผลกระทบเป็นวงกว้างต่อทุกอุตสาหกรรมรวมไปถึงอุตสาหกรรมเกมด้วย เช่นนั้นแล้วนักพัฒนาเกมไทยจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง? ผศ.ดร. อาษา ตั้งจิตสมคิด ผู้พัฒนาเกม "Saros" ได้แสดงความคิดเห็นเอาไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

*หมายเหตุ บทความนี้เป็นความคิดเห็นของ ผศ.ดร. อาษา ตั้งจิตสมคิด มิใช่ทีมงานผู้จัดการเกม
ผศ.ดร. อาษา ตั้งจิตสมคิด
"AEC ได้ยินคำนี้มาจนติดหูในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งรายการวิทยุ โทรทัศน์ รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ แต่ถ้าจะถามความนัยถึงคำๆนี้ว่าคืออะไร ชาวบ้านทั่วไปก็อาจจะทำคิ้วขมวดเข้าหากันเนื่องจากยังไม่แน่ใจว่าแท้จริงแล้วความหมายของ AEC คืออะไรกันแน่ ทราบแต่เพียงว่า คนพม่าจะแต่งกายแบบใด คำว่าสวัสดีในภาษาเวียดนามพูดว่าอย่างไร หรือทราบข้อมูลที่ว่าจะมีแรงงานจากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงเดินทางเข้ามาทำมาหากินในบ้านเรา โดยก่อนอื่นเราจะมาเริ่มต้นจากคำว่า AEC กันก่อน คำเต็มมาจาก ASEAN Economic Community หรือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คือ 1 ใน 3 เสาหลักที่จัดตั้งขึ้นมาโดยประชาคมอาเซียน (ASEAN Community, AC) โดยมี 2 เสาหลักที่เหลือคือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community, ASC) และประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community, ASCC) ตามลำดับโดย AEC นั้นจะเน้นการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับคู่ค้าและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจระดับโลก รวมถึงมีการยกเว้นภาษีสินค้าบางชนิดให้กับประเทศสมาชิก ส่งเสริมให้ภูมิภาคมีความเจริญมั่งคั่ง มั่นคง ประชาชนอยู่ดีกินดี โดยมีสมาชิกเริ่มต้น 5 ประเทศจากการลงนามปฏิญญากรุงเทพ (The Bangkok Declaration) เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2510 ได้แก่ อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย หลังจากนั้นก็มีสมาชิกเพิ่มเข้ามาคือบรูไน เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชาตามลำดับ รวมเป็น 10 ประเทศมีประชากรรวมกันเกือบ 500 ล้านคนแต่ในอนาคตข้างหน้าอาจมีอาเซียน +3 (จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้) หรืออาเซียน +6 (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย และนิวซีแลนด์) เพื่อการถ่วงดุลอิทธิพลทางการค้ากับภูมิภาคอื่น แต่การดำเนินงานก็ยังคงอยู่ในระหว่างการประชุม เพราะ ฉะนั้นในปัจจุบันจะเริ่มเปิดศักราช AEC อย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 โดยจะมีทั้งหมด 10 ประเทศดังกล่าว"

"จะเกิดผลกระทบอย่างไรเมื่อมีการเปิด AEC อย่างเป็นทางการ โดยในขั้นต้นจะมีสินค้าและบริการนำร่องก่อน 12 สาขาและหนึ่งในนั้นคือเทคโนโลยีสารสนเทศ มีประเทศสิงคโปร์รับผิดชอบหน้าที่ดังกล่าว โดยคาดการไว้ว่าสิ่งที่จะเกิดผลกระทบเด่นชัดที่สุดคือ การเคลื่อนย้ายแรงงานทางด้าน IT จากประเทศสมาชิกเข้ามาสู่อุตสาหกรรมในเมืองไทย ประเทศที่มีโนว์ฮาวหรือเทคโนโลยีของตัวเองก็จะมีอำนาจการต่อรองมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลคอนเทนท์ นักพัฒนาเกมก็รวมอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ด้วย นอกเหนือจากความแกร่งทางด้านเทคโนโลยีแล้ว เรื่องของการสื่อสารเรายังคงได้เปรียบน้อยไปนิดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสมาชิกอื่นเพราะแรงงานไทยส่วนใหญ่อ่อนด้านภาษาอังกฤษ ซึ่งภาษานี้ได้ถูกกำหนดให้เป็นภาษากลางในการสื่อสารสำหรับประชาคมอาเซียน โดยตัวอย่างจากประเทศฟิลิปปินส์ถือได้ว่าใช้จุดแข็งของตนเองในด้านแรงงานที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีมาผลักดันธุรกิจ Business Process Outsourcing ซึ่งนอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหาการว่างงานแล้ว ยังเป็นการสร้างจุดเด่นให้กับประเทศในฐานะเป็นแหล่ง Outsourcer ในอาเซียนอีกด้วย รวมถึงเพดานภาษีที่ถูกกว่าอินเดียและยกเว้นภาษีเงินได้ 4-6 ปี พร้อมกับเสียภาษีเพียง 5% จากกำไรขั้นต้นหลังจากช่วงยกเว้นภาษีเงินได้ และยกเว้นภาษีท้องถิ่น สาเหตุดังกล่าวอาจเกิดเหตุการณ์สมองไหลจากประเทศไทยออกไปสู่เพื่อนบ้านของเรา แทนที่จะได้ประโยชน์กลับต้องแบกรับภาระแรงงานที่ไม่สามารถแข่งขันในตลาดอาเซียนเองได้ กลายเป็นผู้ตามไปโดยปริยาย แต่ทางภาครัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ สั่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพในสาขาต่างๆเพื่อสร้างเป็นการการันตีว่าแรงงานของบ้านเรามีระดับฝีมือที่จะสู้กับที่อื่นได้ ถึงจะมาช้ายังดีกว่าไม่มาเลยเสียทีเดียว แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การสร้างมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพเพียงอย่างเดียว อาจมาอยู่ภาคอุตสาหกรรมที่จะยอมรับกับมาตรฐานนี้หรือไม่ หากยอมรับแล้วเหล่าสมาชิกในอาเซียนจะยอมรับเหมือนกับเราไหม เพราะในแต่ละประเทศก็มีการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพของตนเองเช่นเดียวกัน ซึ่งกูรูหลายสำนักได้ทำนายไว้ว่าในช่วงแรกของการเปิดประชาคม แรงงานในสาขาอาชีพต่างๆอาจจะยังไม่ลงตัวมากนัก คงต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งเพื่อเป็นการปรับตัวเข้าหากัน โดยเฉพาะอาชีพนักพัฒนาเกม"

"เมื่อ AEC เปิดอย่างเป็นทางการ แรงงานในด้านที่เกี่ยวกับการพัฒนาเกมจะมีการเคลื่อนไหวเข้าและออกเพื่อไปประกอบอาชีพในภูมิภาคอาเซียน และจะคึกคักเป็นพิเศษสำหรับตลาด Smart Phone แรงงานดังกล่าวจะประกอบไปด้วย นักบริหารโครงการเกม ผู้กำกับเกม นักเขียนโปรแกรมเกม นักศิลปะเกม นักออกแบบเกม นักสร้างเสียงในเกม และนักทดสอบเกม โดยจะเห็นบริษัท Start-up หน้าใหม่ผุดขึ้นอย่างมากมายราวดอกเห็ดบนสนามหญ้าหลังฝนพรำ มีการรับสมัครแรงงานในด้านต่างๆที่กล่าวไป พร้อมทั้งกำหนดคุณสมบัติการรับสมัครแรงงาน ที่อาจสอดคล้องเป็นไปตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพก็ดีหรือไม่สอดคล้องก็ดี ตัวแรงงานเองจะต้องมีการต้องเตรียมความพร้อมทั้งในด้านเทคโนโนโลยีและด้านภาษาอังกฤษอยู่เสมอ หากอ่านบทความมาถึงตรงนี้ ก็คงเห็นภาพต่างๆได้ชัดมากขึ้นว่า AEC กับนักพัฒนาเกมต้องเตรียมพร้อมและเจอกับสิ่งใดในการเปิดรับ AEC"

"หากจะวิเคราะห์แรงงานนักพัฒนาเกมของไทยจากบริษัทที่เป็นของคนไทย หรือมีต่างชาติมาร่วมลงทุนส่วนใหญ่โดยรวมจะมุ่งเน้นไปที่ตลาด Smart Phone เกือบร้อยละ 90 เป็นแนวเกมแคชชวล เล่นง่าย มีกลุ่มเป้าหมายคือผู้ใช้ทั่วไป ไม่ใช่กลุ่มผู้เล่นฮาร์ดคอร์ รูปแบบการพัฒนาเกมของบริษัทเหล่านี้คือการพัฒนาเกมที่เลือกสร้างสรรค์แต่ตัวเนื้อเกมเท่านั้น ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การสร้างโนว์ฮาวหรือเทคโนโลยีของตัวเอง เลือกใช้แต่เครื่องมือสำเร็จรูปเป็นส่วนใหญ่ เสาะแสวงหาเครื่องมือที่มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่ากันว่าใช้งานง่ายที่สุด ยิ่งถ้ากดเมาส์คลิ๊กเดียวแล้วเสร็จออกมาเป็นตัวเกมเลยยิ่งดี เหตุผลหลักอาจมาจากแผนการตลาดที่ต้องการให้เกมสร้างเสร็จโดยเร็ว ประหยัดเงินลงทุนให้มากที่สุด เพราะหากมัวแต่ลงทุนอยู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองหรือ In-house Game Engine Technology อาจทำให้โครงการทั้งหมดสะดุดลงได้ เนื่องจากขาดสภาพคล่อง เม็ดเงินลงทุนมีไม่เพียงพอ แล้วเมื่อทำจนเกมเสร็จออกวางจำหน่าย ขายได้ตามยอดที่ตั้งไว้ สร้างเป็นแบรนด์ได้ เป็นที่ยอมรับของกลุ่มเป้าหมาย มีการต่อยอดธุรกิจสำเร็จจึงถือว่าเกมนี้ผ่าน แต่หากเกมไม่ประสบความสำเร็จกระบวนการก็จะหยุดลงและจบไปแบบโครงการต่อโครงการ แรงงานนักพัฒนาจะถูกโยกย้ายไปทำงานเกมอื่นๆต่อไปวนเวียนเป็นวัฏจักรอยู่บนเทคโนโลยีสำเร็จรูป ผู้เขียนขอเปรียบเทียบแรงงานประเภทนี้ว่า นักพัฒนาเกมกึ่งสำเร็จรูป มีหน้าที่เพียงแกะซอง เติมน้ำร้อน ปิดฝาและรอ 2 นาที รับประทานได้ ทำให้ฝีมือแรงงานทางด้านเทคโนโลยีไม่ได้ถูกขัดเกลาให้แหลมคม เมื่อถูกเปรียบเทียบกับหลายๆประเทศที่เจริญทางด้านเทคโนโลยีกว่าบ้านเราอย่างเพื่อนบ้านในอาเซียนหรือแม้แต่ภูมิภาคอื่น ซึ่งสอดคล้องกับหลายๆบริษัทที่พบปัญหาของแรงงานทางด้านเทคโนโลยีคือ ความเชี่ยวชาญของแรงงานจบใหม่ยังไม่ตรงความต้องการของตลาดและรู้ไม่ลึก เช่น ความรู้เกี่ยวกับภาษาคอมพิวเตอร์บางอย่าง เช่น ซีพลัสพลัส นอกจากนี้บริษัทต่างๆยังพบว่าผู้สมัครงานเกี่ยวกับไอทีจำนวนมากไม่ได้จบสาขาที่ตลาดต้องการอย่างแท้จริง แต่ใช้วิธีครูพักลักจำ หรือเรียนรู้เอง ซึ่งยังไม่เพียงพอสำหรับงานเกี่ยวกับซอฟต์แวร์หลายอย่างโดยเฉพาะงานพัฒนาเกม"

"หากจะเจาะไปในรายละเอียดทางด้านเทคโนโลยีของนักพัฒนาเกม คำถามคือจะขัดเกลาแรงงานนักพัฒนาเกมกึ่งสำเร็จรูปเหล่านี้ให้แหลมคมได้อย่างไร ก็ต้องวิเคราะห์ลึกลงไปในงานแต่ละส่วนว่ามีขั้นตอนมาตรฐานของตัวมันเองเป็นที่แน่นอนอยู่แล้ว งานหลักจะเหมือนกันหมดไม่ว่าจะพัฒนาเกมจากภูมิภาคใด ต่างกันเพียงแค่เครื่องมือเครื่องใช้ที่นำมาประยุกต์เท่านั้น บางบริษัทอาจยอมรับและใช้งานเครื่องมือสำเร็จรูป บางบริษัทอาจมีการเขียนเครื่องมือของตัวเองมาใหม่ ซึ่งสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะบอกกับแรงงานนักพัฒนาเกมทั้งกึ่งสำเร็จรูปและไม่กึ่งสำเร็จรูปคือ ความเข้าใจในเนื้อแท้ของงานพัฒนาเกม แก่นกลางของกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ หากเข้าใจแล้วไม่ว่าจะต้องแข่งขันกันกับอีกกี่สิบประเทศ กี่ร้อยภูมิภาค ก็ไม่ต้องกังวลว่าตัวเราจะเป็นแรงงานที่ตลาดไม่ต้องการ อย่ารอเวลาจนให้เพื่อนบ้านชนะเลิศการเขียนคัดไทยดังที่ปรากฎมาแล้ว สวัสดีครับ"

ผู้เขียนบทความ ผู้ช่วยศาสตารจารย์ ดร.อาษา ตั้งจิตสมคิ ที่ปรึกษาแผนกวิจัยและพัฒนาเกม ARSA Productions. arsa@sarosworld.com

จากบทความของ ผศ.ดร. อาษา สิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบันสำหรับนักพัฒนาเกมไทยก็คือความรู้ความสามารถของแรงงานที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด และความมักง่ายในการสร้างเกมที่เน้นเอาเร็วเข้าว่า ทำให้เกมขาดความสนุกหรือไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร และประเด็นหนึ่งที่สำคัญมากคือกำแพงภาษาที่ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษยังด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอยู่มาก ปัญหาเหล่านี้คือสิ่งที่นักพัฒนาเกมไทยต้องปรับตัวเพื่อให้แข่งขันกับต่างชาติได้

*ทีมงานผู้จัดการเกม เรียนเชิญผู้อ่านทุกท่านร่วมเป็นแฟนเพจ ManagerGame ทางเฟซบุ๊กเพื่อเพิ่มช่องทางการรับรู้ข่าวสารวงการเกมครับ*


กำลังโหลดความคิดเห็น