xs
xsm
sm
md
lg

เอสซีจี-บ้านปู ฟันธง CG ดันผู้บริหารยุคใหม่มีธรรมาภิบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมกรรมการบริษัทไทย พร้อมด้วย ชนินท์ ว่องกุศลกิจ กรรมการบริษัท บมจ. บ้านปู และ เชาวลิต เอกบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การเงินและการลงทุน บมจ. ปูนซีเมนต์ไทย  งาน CG Forum 1/2016 “จริยธรรม: จิตสำนึกหลักบรรษัทภิบาล”
สองผู้บริหารตลาดทุน ประสานเสียงผู้บริหารองค์กรยุคใหม่ต้องมีจิตวิญญาณการสร้างธรรมาภิบาลและจริยธรรม บ้านปู แนะหากพบผู้บริหารมีการใช้ข้อมูลอินไซเดอร์ ต้องออกจากหน้าที่ ขณะที่เอสซีจี ชี้กลไกการควบคุมและตรวจสอบต้องได้รับการตรวจสอบทั้งภายนอก และภายใน เพื่อให้แนวทางปฎิบัติองค์กรไปในทิศทางเดียวกัน
ในการสัมมนา “จริยธรรม จิตสำนึกหลักบรรษัทภิบาล” จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หัวข้อ “จริยธรรมในการดำเนินงานและการประพฤติตนของกรรมการและผู้บริหาร” ที่มี ชนินท์ ว่องกุศลกิจ กรรมการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และ เชาวลิต เอกบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เป็นวิทยากร และมีผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนมากกว่า 150 บริษัทเข้าร่วม เมื่อเร็วๆ นี้
ได้ให้ข้อแนะนำถึงคุณสมบัติของผู้นำองค์กรที่ดี จะต้องมี CG (Corporate Governance) หรือ การมีธรรมาภิบาล ทั้งนี้ ผู้นำองค์กรจำเป็นต้องมีทั้งความรู้ความสามารถ ความซื่อตรง และใช้หลักจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้เป็นต้นแบบของสังคมและสร้างความเคารพให้แก่พนักงาน ทำให้องค์กรได้ยึดมั่น และต้องรับผิดชอบต่อสังคม
ชนินท์ ว่องกุศลกิจ
ชนินท์ ว่องกุศลกิจ กรรมการบริษัท บ้านปู จำกัด ( มหาชน) กล่าวว่า บ้านปู ให้ความสำคัญทางด้านการจัดการธรรมาภิบาลและจริยธรรมเป็นอย่างมาก และในข้อกำหนดของบริษัท หากพบว่ามีคณะกรรมการบริษัท หรือพนักงานใช้ข้อมูลภายในเพื่อแสวงหาประโยชน์ในการทำธุรกิจ รวมถึงการซื้อขายหุ้นซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับบริษัท ต้องให้ออกในทันที ซึ่งเป็นไปตามจริยธรรมที่กำหนดไว้ไม่ให้มีการใช้ข้อมูลอินไซเดอร์ไปหาผลประโยชน์
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลภายใน หรือการแสวงหาประโยชน์จากข้อมูลบริษัทนั้น แต่เดิมจะมีเฉพาะฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง ที่อาจเกิดความรั่วไหล และบริษัทก็อาจจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับคณะกรรมการบริษัทมากนัก แต่ระยะหลังเริ่มเห็นกรณีต่างๆ เกิดขึ้น ทำให้เริ่มตระหนักว่าการใช้ข้อมูลภายในของกรรมการ ส่วนรับผิดชอบในหน้าที่ต่างๆ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้นการเก็บเป็นความลับถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญที่สุด
“บ้านปู มีการจัดทำคู่มือจริยธรรม โดยใช้ชื่อว่า “บ้านปูสปิริต” แจกจ่ายให้กับพนักงานทุกคนและผู้บริหารได้รับทราบ รวมถึงด้านธรรมาภิบาลการขยายธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ยากนัก เพราะทุกประเทศมีหลักการที่คล้ายๆกัน แต่อาจต้องปรับให้สอดคล้องกันมากขึ้น โดยจะใช้การอบรมสัมมนาของผู้บริหารระดับสูงระหว่างประเทศในการสร้างการตระหนักในธรรมาภิบาล”
ชนินท์ ย้ำความมีจริยธรรมนั้นเป็นภารกิจหลักของบริษัท ว่าตั้งแต่ปี 2536 ได้จัดทำคู่มือนโยบายบรรษัทภิบาล และ คู่มือจริยธรรมการทำธุรกิจ เพื่อให้เกิดมาตรฐานระดับสูงของการมีความซื่อสัตย์ จริยธรรรมในการทำธุรกิจ และใช้คู่มือดังกล่าวนี้มากลั่นกรองในการรับพนักงานของบริษัทด้วย นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการสรรหาบอร์ด และให้น้ำหนักกับการมีวินัยในการเก็บรักษาข้อมูลภายใน ไม่ให้มีการใช้ข้อมูลอินไซเดอร์ไปหาผลประโยชน์
เชาวลิต เอกบุตร
ด้าน เชาวลิต เอกบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การเงินและการลงทุน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ( มหาชน) หรือ เอสซีจี กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการรับพนักงาน ต้องมีการปรับทัศนคติในการทำงานให้ตรงกัน มีการปลูกฝังจิตสำนึก การส่งเสริมระบบการทำงาน โดยอาศัยข้อแนะนำตามคู่มือจรรยาบรรณของบริษัท และสิ่งที่สำคัญ คือมีกลไกการควบคุมและตรวจสอบทั้งการตรวจสอบภายนอก และตรวจสอบภายใน เพื่อให้มั่นใจว่าค่านิยมที่ปลูกฝัง และ แนวทางปฎิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งองค์กร
นอกจากนี้ เอสซีจี ยังมีการตรวจสอบเรื่องการกระทำผิดตามจรรยาบรรณแม้ว่าไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่เป็นการกระทำผิดทางวินัย โดยมีบทลงโทษตั้งแต่ขั้นตักเตือน ตัดเงินเดือน โบนัส รวมทั้งการให้ออกจากตำแหน่งหน้าที่
เชาวลิต กล่าวย้ำว่าด้านธรรมาภิบาลกับข้อพิสูจน์ หากบริษัทใดพบปัญหาด้านดังกล่าวมักต้องประสบกับค่าใช้จ่ายที่แพงมากจากผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งกระแสสังคมที่เข้าพุ่งชนมายังบริษัท อีกทั้งความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อย่างเช่นคู่ค้า ที่อาจจะปรับความเชื่อถือของเราลดลงซึ่งส่งผลกระทบทางธุรกิจ ดังนั้น การที่ผู้บริหารองค์กรมีธรรมาภิบาล จะสามารถช่วยป้องกันปัญหาดังกล่าวได้
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ขณะเดียวกัน ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (ไอโอดี) กล่าวเสริมว่า ผู้บริหาร และ กรรมการบริษัท ต้องตระหนักเรื่องธรรมาภิบาล และต้องมีจริยธรรม เพราะเป็นความเสี่ยงต่อภาพลักษณ์ขององค์กร ดังนั้น องค์กรยุคนี้ต้องให้น้ำหนักและความสำคัญ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดต้องขึ้นกับจิตวิญญาณของผู้บริหาร ที่ไม่ใช่มุ่งหวังแต่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว กรรมการและผู้บริหาร ต้องเป็นผู้นำในการปกป้องชื่อเสียงขององค์กร และ เป็นผู้แสดงบทบาทในกรณีที่บริษัทเกิดปัญหา
นอกจากนี้ ผู้นำจะต้องเป็นตัวอย่างให้ลูกน้อง และ ผลักดันให้มีการสร้างวัฒนธรรมองค์กร และหลักปฎิบัติ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องจริยธรรม จิตสำนึก เนื่องจากปัจจุบันเรื่องนี้ในต่างประเทศเขาให้ความสำคัญมาก ซึ่งที่ผ่านมาภาพลักษณ์บริษัทจดทะเบียนไทยถือเป็นตัวอย่างที่ดี ในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ดังนั้นขอให้ตระหนักและรักษาคุณภาพไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น