xs
xsm
sm
md
lg

ห่วง"มีชัย"เขียนรธน.สุดโต่ง ปม250ส.ว.ลากตั้งจะทำพัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณี คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะมีการพิจารณาข้อเสนอของ คสช. ใน 3 ประเด็นเกี่ยวกับบทเฉพาะกาล ในวันที่ 21 มี.ค.นี้ ว่า คงสร้างความหนักใจให้กับ กรธ. เพราะมีทั้งเสียงที่เห็นด้วย และคัดค้าน จึงไม่ใช่เรื่องง่าย อยากให้กำลังใจกรธ. มีจิตใจมั่นคง คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าของคนใดคนหนึ่ง จะพิจารณาได้ว่าข้อเสนอของ คสช. มีความเหมาะสมแค่ไหน สมควรจะบัญญัติไว้แค่ไหน อย่างไร
ทั้งนี้ มีกรธ.ท่านหนึ่งขอให้สังคมให้กำลังใจ และเชื่อว่าจะมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น แต่ตนไม่คิดว่าปาฏิหาริย์จะมีจริง อยู่ที่มันสมองและสองมือของกรธ. จึงขอเรียกร้องให้นำข้อเสนอของ คสช. มาพิจารณาอย่างรอบคอบ และรอบด้าน เพื่อให้บทเฉพาะกาลได้รับการยอมรับจากประชาชน โดยเห็นว่าเนื้อหา 3 ประเด็น ที่คสช.ต้องการให้บรรจุในร่างรัฐธรรมนูญ ควรมีการปรับเปลี่ยน ดังนี้
1. กรณีนายกรัฐมนตรี ควรเป็น ส.ส. แต่กรณีที่จะให้มาจากคนนอกได้ ควรเข้ามาในสภาวะวิกฤติตามแนวทางเดิมของคสช. ทั้งนี้ยังเห็นว่า นายกฯคนนอก ควรได้เสียงสนับสนุนจากสภาผู้แทนราษฎร มีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่ง โดยให้ กรธ.ใช้ดุลพินิจพิจารณาเอง
2. ที่มาของ ส.ว.สรรหา ควรมาจากกลุ่มสาขาอาชีพที่หลากหลาย ให้ประชาชนมีส่วนร่วมพิจารณาด้วย ที่สำคัญคือ ไม่ควรมี 6 ตำแหน่งทางทหารและตำรวจ เข้ามาเป็นส.ว.สรรหา โดยตำแหน่ง
3. อำนาจหน้าที่ของส.ว.สรรหา ไม่ควรเกี่ยวข้องกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล หากจะเกี่ยวข้อง ต้องมีเงื่อนไขพิเศษเฉพาะที่ไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจส.ส.
ส่วนระบบเลือกตั้งในระยะเปลี่ยนผ่านนั้น ไม่ควรมีผลกระทบต่อการพัฒนาทางการเมือง จึงหวังว่าจะมีการปรับแก้ให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ถ้าหยิบเอาข้อเสนอทั้งหมดมาบรรจุในร่าง รธน. เชื่อว่าการผ่านประชามติจะลำบากมากขึ้น และเป็นระเบิดเวลาผูกติดรัฐธรรมนูญอีกนาน ไม่เป็นผลดีต่อการทำให้บ้านเมืองเดินหน้า เพราะระบบเขตใหญ่ แต่ให้เลือกคนเดียวนั้นจะทำให้เกิดผลข้างเคียง กระทบต่อการพัฒนาการเมืองและพรรคการเมือง เนื่องจากจะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ อีกทั้งไม่สามารถตอบโจทย์ที่จะทำให้บ้านเมืองช่วงเปลี่ยนผ่านไม่เกิดปัญหาได้ และการซื้อเสียง จะมีมากขึ้นด้วย
สำหรับท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ จะรับหรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญนั้น ต้องดูร่างสุดท้ายที่จะออกมา ว่ามีการปรับแก้อย่างไร โดยเฉพาะในบทเฉพาะกาล ว่า จะมีการบรรจุเนื้อหาตามที่คสช.เสนอมาหรือไม่
นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต สปช. และแกนนำ 40 ส.ว. กล่าวข้อเสนอของคสช.เรื่องที่มาส.ว.และอำนาจหน้าที่นั้น เป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างหลักการ กับหลักความจำเป็น ถ้ายึดถือหลักการประชาธิปไตยตะวันตก ต้องมีสูตรว่าส.ส.หรือ ส.ว.ต้องยึดโยงประชาชน โดยผ่านการเลือกตั้ง แต่ถ้าพิจารณาจากหลักความจำเป็นในระยะเปลี่ยนผ่าน ก็ต้องพิจารณาอีกมุมหนึ่ง
สังคมไทยติดหล่มว่า สัญลักษณ์ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งเท่านั้น เพราะใช้ประชาธิปไตยตะวันตกเป็นมาตรวัด ความจริงแล้วในประเทศตะวันตกส่วนใหญ่ การเลือกตั้งของเขากับผลประโยชน์รวมของประเทศเดินไปในทิศทางเดียวกัน แต่ของประเทศไทยไม่ใช่ การเลือกตั้งในเมืองไทยมีฐานจากระบบอุปถัมภ์ บวกกับการซื้อเสียง จึงเป็นการเลือกตั้งที่สะท้อนความต้องการของเถ้าแก่ เช่น เถ้าแก่ภาคเหนือ ภาคอีสาน เถ้าแก่สุพรรณบุรี เถ้าแก่โคราช เถ้าแก่บุรีรัมย์ ทำให้เจตน์จำนงของเถ้าแก่ยิ่งใหญ่กว่าเจตน์จำนงของประเทศชาติ เถ้าแก่จึงสั่งการได้หมด ทั้งเรื่องนิรโทษกรรมสุดซอย จำนำข้าว กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท สร้างรถไฟความเร็วสูง
นอกจากนี้ สังคมไทยยังพิสูจน์แล้วว่า ส.ส.และ ส.ว. มาจากฐานเสียงเดียวกัน ตามพื้นที่อิทธิพลของเถ้าแก่ ดังนั้น เมื่อ ส.ส.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ส.ว.จึงควรมาจากฐานที่ต่างกัน ต่อข้อเสนอของ คสช. ตนเห็นว่า หากให้ ส.ว.มาจากการสรรหาทั้งหมด ควรมีเงื่อนไขดังนี้
1. เพิ่มกรรมการสรรหาจาก 8-10 คน เป็น 15 คน เพื่อให้การล็อบบี้ทำได้ยากขึ้น และให้ผู้สมัครเข้ามาตามกลุ่มความชำนาญ หรือกลุ่มอาชีพที่หลากหลาย โดยไม่ควรกำหนดให้ผู้นำเหล่าทัพ และ ผบ.ตร. เป็น ส.ว.โดยอัตโนมัติ เพราะรัฐธรรมนูญควรมีหลักเปิดกว้างทั่วไป ไม่ใช่ชี้เฉพาะเจาะจง หากบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านั้นจะเป็น ส.ว. ก็ควรเข้าสู่กระบวนการสรรหาที่วางไว้
2. เมื่อมาจากการสรรหา หากให้ ส.ว. มีบทบาทอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ก็ไม่ควรมีสิทธิลงมติไม่ไว้วางใจการลงมติดังกล่าว ควรให้เป็นสิทธิเฉพาะของ ส.ส.
3. กรรมการร่างรัฐธรรมนูญควรใช้โอกาสนี้ บัญญัติแนวทางและมาตรการ ที่จะเป็นบทบาทอันสำคัญของ ส.ว.ว่าจะทำให้การปฏิรูปประเทศไทยเกิดผลที่เป็นจริงได้ในเวลา 5 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น