แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. แนะ คสช. เพิ่มเงื่อนไข 250 ส.ว. ในบทเฉพาะกาล เพิ่มกรรมการสรรหาเป็น 15 คน ไม่ควรกำหนดให้ผู้นำเหล่าทัพ และ ผบ.ตร. เป็น ส.ว. โดยอัตโนมัติ และไม่ควรมีสิทธิลงมติไม่ไว้วางใจ รวมทั้งบัญญัติมาตรกรให้การปฏิรูปเกิดขึ้นจริงใน 5 ปี
วันนี้ (20 มี.ค.) นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า เรื่องข้อเสนอของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน มาจากการสรรหาทั้งหมด ให้ผู้นำเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง ให้ ส.ว. มีบทบาทอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญและดูแลการปฏิรูปประเทศ โดยให้มีระยะการทำงาน 5 ปี และให้บรรจุไว้ในบทเฉพาะกาล ว่า นี่เป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างหลักการกับหลักความจำเป็น ถ้ายึดถือหลักการประชาธิปไตยตะวันตกต้องมีสูตรว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือ ส.ว. ต้องยึดโยงประชาชนโดยผ่านการเลือกตั้ง แต่ถ้าพิจารณาจากหลักความจำเป็นในระยะเปลี่ยนผ่านก็ต้องพิจารณาอีกมุมหนึ่ง
ทั้งนี้ สังคมไทยติดหล่มว่าสัญลักษณ์ประชาธิปไตย คือ การเลือกตั้งเท่านั้น เพราะใช้ประชาธิปไตยตะวันตกเป็นมาตรวัด ความจริงแล้วในเยอรมนี และประเทศตะวันตกส่วนใหญ่ การเลือกตั้งของเขากับผลประโยชน์รวมของประเทศเดินไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ การเลือกตั้งของเขาสะท้อนความต้องการของประชาชน ว่า ต้องการให้ประเทศชาติเดินไปในทิศทางไหน แต่ของประเทศไทยไม่ใช่เช่นนั้น การเลือกตั้งในเมืองไทยมีฐานจากระบบอุปถัมภ์บวกกับการซื้อเสียง จึงเป็นการเลือกตั้งที่สะท้อนความต้องการของเถ้าแก่ เช่น เถ้าแก่ภาคเหนือ ภาคอีสาน เถ้าแก่สุพรรณบุรี เถ้าแก่โคราช เถ้าแก่บุรีรัมย์ เถ้าแก่ชลบุรี หรือเถ้าแก่สระแก้ว ทำให้เจตจำนงของเถ้าแก่ยิ่งใหญ่กว่าเจตจำนงของประเทศชาติ เถ้าแก่จึงสั่งการได้หมดทั้งเรื่องนิรโทษกรรมสุดซอย จำนำข้าว กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท สร้างรถไฟความเร็วสูง
นอกจากนี้ สังคมไทยยังพิสูจน์แล้วว่า ส.ส. และ ส.ว. มาจากฐานเสียงเดียวกันตามพื้นที่อิทธิพลของเถ้าแก่ ดังนั้น เมื่อ ส.ส. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ส.ว. จึงควรมาจากฐานที่ต่างกันต่อข้อเสนอของ คสช. ตนเห็นว่า หากให้ ส.ว. มาจากการสรรหาทั้งหมด ควรมีเงื่อนไขดังนี้ 1. เพิ่มกรรมการสรรหาจาก 8 - 10 คน เป็น 15 คน เพื่อให้การล็อบบีทำได้ยากขึ้น และให้ผู้สมัครเข้ามาตามกลุ่มความชำนาญ หรือกลุ่มอาชีพที่หลากหลาย โดยไม่ควรกำหนดให้ผู้นำเหล่าทัพและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็น ส.ว. โดยอัตโนมัติ เพราะรัฐธรรมนูญควรมีหลักเปิดกว้างทั่วไป ไม่ใช่ชี้เฉพาะเจาะจง หากบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านั้นจะเป็น ส.ว. ก็ควรเข้าสู่กระบวนการสรรหาที่วางไว้
2. เมื่อมาจากการสรรหา หากให้ ส.ว. มีบทบาทอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ก็ไม่ควรมีสิทธิลงมติไม่ไว้วางใจการลงมติดังกล่าว ควรให้เป็นสิทธิเฉพาะของ ส.ส. ที่เป็นผู้ลงมติตั้งรัฐบาลตั้งแต่แรกเริ่ม และ 3. กรรมการร่างรัฐธรรมนูญควรใช้โอกาสนี้ บัญญัติแนวทางและมาตรการที่จะเป็นบทบาทอันสำคัญของ ส.ว. ว่าจะทำให้การปฏิรูปประเทศไทยเกิดผลที่เป็นจริงได้ในเวลา 5 ปี