ประธาน กมธ.ปฏิรูปกฎหมาย สวน “นิพิฏฐ์” ฟังไม่ได้ศัพท์ อวดฉลาดคิดแบบวิธีเก่า แจงเสนอยกเลิกญัตติซักฟอก เหตุระบบถ่วงดุลเดิมใช้ไม่ได้ผล แก้ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างฝ่ายบริหาร-ฝ่ายนิติฯ เปิดทางยื่นถอดถอน-ฟ้องศาลอาญาได้หากพบทุจริต
วันนี้ (13 ธ.ค.) นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปท. กล่าวถึงกรณีที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นคัดค้านข้อเสนอของตนที่ให้ยกเลิกการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า เป็นการฟังมาครึ่งๆ กลางๆ แบบฟังไม่ได้ศัพท์จับเอามากระเดียด ออกมากล่าวหา เข้าใจว่า ส.ส.รุ่นเก่าไม่ต้องการวิธีนี้ เพราะทำให้ขาดโอกาส ขาดผลประโยชน์ โดยเฉพาะการให้ฝ่ายรัฐบาลมาคอยดูแลหาผลประโยชน์ให้ ส.ส. และหาเงินเข้าพรรคการเมืองเพื่อเป็นทุนในการเลือกตั้งคราวต่อไป ซึ่งข้อเสนอจากการที่เสนอให้แยกอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารออกจากกัน เนื่องจากที่ผ่านมาฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารใช้กระบวนการเกื้อกูล ดูแล หาผลประโยชน์ให้แก่กัน อันกลายเป็นการทุจริตคอร์รัปชันทั้งระบบ โดยให้ได้เสียงในสภาผู้แทนราษฎรให้มากที่สุด เพื่อค้ำจุนฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล ก่อให้เกิดระบบโควตา ใครมี ส.ส.10 คน ได้รัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง หรือคนที่จะตั้งรัฐบาลก็จะต้องไปรวบรวมเสียงในสภาให้ได้เกินกว่ากึ่งหนึ่ง และใช้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อตั้งรัฐบาล และเพื่อรองรับให้รัฐบาลอยู่ได้ก็ต้องหาผลประโยชน์ดูแล ส.ส.ในสภา รวมถึงหาเงินเพื่อเตรียมการไปซื้อเสียงเลือกตั้งในคราวต่อไป ที่ผ่านมานักการเมืองจำนวนมากก็ใช้ระบบวิธีการนี้หาผลประโยชน์เข้าส่วนตน พวกพ้อง และเข้าพรรคการเมือง เพื่อการเลือกตั้งคราวต่อไปดังกล่าว อันเป็นบ่อเกิดใหญ่ของการทุจริตคอร์รัปชันอย่างมโหฬาร
นายเสรีกล่าวว่า “ระบบการถ่วงดุล” เดิม ที่ใช้วิธีการ “ให้ ส.ส.เปิดอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล” และ “ให้นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎร” เป็นวิธีการที่ไม่ได้ผล ทำให้การเมืองขาดเสถียรภาพ และมีหลายครั้งที่รัฐบาลอยู่ไม่ได้ แต่กลับใช้วิธียุบสภาผู้แทนราษฎร ทั้งๆ ที่สภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ทำอะไรผิด เนื่องจากเราสร้างระบบให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ต่างฝ่ายต่างช่วยกันทำมาหากิน หาผลประโยชน์อันก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันไปทั้งระบบ ใครๆ ก็ทราบกระบวนการนี้โดยทั่วไป ข้อเสนอแนวคิดที่เห็นว่าควรแยกอำนาจหน้าที่ โดย “ส.ส.ไม่ควรใช้กระบวนการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี” และ “นายกรัฐมนตรีก็ไม่ควรมีอำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎร” ให้ต่างฝ่ายต่างทำงานในหน้าที่ของตัวเองไปให้ครบวาระ แต่หากคนใดกระทำความผิด ให้ใช้การอภิปรายแสดงพยานหลักฐาน เพื่อเข้าสู่กระบวนการ “ถอดถอน” ออกจากตำแหน่ง หรือให้ดำเนินคดีอาญาต่อคนทุจริต หรือกับคนที่ทำหน้าที่แล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.หรือเป็นรัฐบาล
“ขอให้เข้าใจว่า “การอภิปราย” ในสภาก็ยังคงมีอยู่ต่อไป การขุดคุ้ยหาพยานหลักฐานนำมาแสดงก็ยังคงมีอยู่ต่อไป แต่เป็นการตรวจสอบหรือเสนอหลักฐาน เพื่อการถอดถอน หรือเพื่อการดำเนินคดีอาญาต่อทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ที่กระทำความผิดหรือบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมือง ดังนั้น การแยกอำนาจข้างต้นจะทำให้ ส.ส.และรัฐบาลอยู่ครบวาระ หากใครทำผิดให้ถอดถอนหรือลงโทษเป็นรายบุคคล ก็จะทำให้การเมืองไทยมีเสถียรภาพ แต่หากนายกรัฐมนตรีกระทำความผิดต้องถูกถอดถอนหรือพ้นจากตำแหน่ง ครม.ทั้งคณะก็จะพ้นจากตำแหน่งไปด้วย เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารแยกอำนาจหน้าที่กันแล้ว รัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องไปเลี้ยงดูหรือหาผลประโยชน์ไปให้ ส.ส. เพื่อให้ได้คะแนนเสียง ส.ส.มาค้ำจุนรัฐบาล แต่ ส.ส.ทั้งสภานั่นแหละคือคนที่มีหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายรัฐบาล โดยไม่ต้องมี ส.ส.ในสภาอีกส่วนหนึ่งมาคอยช่วยเหลือรัฐบาล ก็จะทำให้การตรวจสอบรัฐบาลมีประสิทธิภาพมากเพิ่มขึ้น อยากให้นายนิพิฏฐ์เข้าใจ แล้วเลิกโวยวาย เลิกอวดฉลาด เลิกวิธีคิดเก่าๆ และเลิกกล่าวหาคนอื่นให้เสียหาย” นายเสรีกล่าว