โรงสี เผยชาวนาอ่วม ภัยแล้งทำข้าวไร้คุณภาพ ราคาตก ทั้งๆ ที่ปีนี้ผลผลิตเสียหายจากภัยแล้ง ราคาควรขึ้นสูง แต่ยังไม่หยุดซื้อข้าวจากชาวนา ด้านผู้ส่งออก ชี้วงการค้าข้าวซบเซา ชะลอซื้อจากพิษเศรษฐกิจตกต่ำ หนำซ้ำยังเบี้ยวชำระเงิน ด้านอคส. เล็งเนรมิตคลังสินค้า 2 แห่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็น “เอเชียทีค” แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ หวังสร้างรายได้เลี้ยงตัวเอง ไม่ต้องง้อโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรของรัฐ ถ้ารัฐไฟเขียว เดินหน้าได้ทันที พร้อมล้างหนี้ค้างชำระกับเซอร์เวเยอร์-โรงสี
นายมานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์การค้าข้าวในขณะนี้ว่า ผลผลิตของชาวนาที่ออกมาส่วนใหญ่มีคุณภาพไม่ดี เช่น เมล็ดลีบ เมล็ดไม่เต็ม เมล็ดหัก ซึ่งเป็นผลจากสภาพอากาศที่แปรปรวน และบางช่วงขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกความชื้น 15% ที่โรงสีรับซื้อขณะนี้อยู่ที่ตันละ 8,000-8,200 บาทเท่านั้น ทั้งๆที่ปริมาณข้าวปีนี้น้อยกว่าปีที่ผ่านมามาก ราคาน่าจะสูงกว่า แต่ราคาปีก่อนกลับสูงกว่าที่ตันละ 8,500 บาท
ขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกยังประสบปัญหาการชะลอตัวของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ และบางครั้งเมื่อส่งสินค้าไปแล้ว ผู้นำเข้าชำระเงินล่าช้า เพราะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลก ส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อเนื่อง มาถึงผู้ประกอบการโรงสี แต่สถานการณ์นี้ยังไม่ถึงขั้นต้องชะลอการรับซื้อผลผลิตจากชาวนา ขณะนี้ยังซื้อตามปกติแต่ต้องจับตามองต่อไปว่าการชะลอการรับซื้อจะเกิดขึ้นหรือไม่
“ชัดเจนว่า ปีนี้ผลผลิตข้าวไทยและทั่วโลกน้อยลง เพราะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ภัยธรรมชาติ ทำให้ราคาน่าจะสูงขึ้นกว่าปีก่อน เพราะทั่วโลกรู้ว่าผลผลิตข้าวน้อย ต้องแย่งกันซื้อ แต่ขณะนี้ราคาก็ยังไม่กระเตื้องขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น ขณะเดียวกัน ผลผลิตที่ออกมากลับคุณภาพไม่ดี โรงสีก็ต้องรับซื้อตามเกณฑ์คุณภาพ”
สำหรับสิ่งที่ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยเหลือคือ การหาตลาดเพื่อการระบายข้าวใหม่ๆ และขอความร่วมมือผู้นำเข้าเพิ่มการนำเข้า รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโรงสีเป็นผู้ส่งออกข้าว จะทำให้การค้าข้าวครบวงจรมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา สมาคมความร่วมมือซื้อข้าวจากชาวนามาโดยตลอด และให้ราคาตามคุณภาพ แต่ยอมรับว่ามีความหนักใจ เพราะผู้นำเข้าลดการนำเข้าจากไทย และประเทศมีปัญหาชำระเงินให้กับผู้ส่งออก ซึ่งในอนาคตอาจมีผลต่อสถานการณ์ข้าวไทยโดยรวม
ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การส่งออกข้าวในช่วง 2 เดือนแรกของไทยชะลอตัว โดยในเดือนม.ค.ส่งออกไปได้ 1.2 ล้านตัน เพราะมีการเร่งส่งมอบข้าวที่ซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ต่อเนื่อง แต่ในเดือนก.พ. ปริมาณส่งออกลดลงเหลือ 700,000 ตัน เพราะการส่งมอบข้าวจีทูจีเริ่มหมด
ขณะที่ประเทศที่เคยนำเข้าข้าวไทยมากๆ อย่างฟิลิปปินส์ ยังไม่เริ่มนำเข้า ทั้งๆ ที่ผลิตข้าวไม่พอกับการบริโภค คาดว่า สถานการณ์การค้าข้าวโลกจะซบเซาต่อจนถึงไตรมาส 2 แต่จะเริ่มดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะส่งออกได้เดือนละ 800,000-900,000 ตัน เพราะสต็อกข้าวในแต่ละประเทศเริ่มลดลง
ขณะที่อินเดีย ผู้ส่งออกรายใหญ่ ผลผลิตลดลงจากภัยแล้ง จนอาจหยุดส่งออก คาดว่า ปีนี้อินเดียน่าจะส่งออกได้ 8-8.5 ล้านตัน ส่วนจีนได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเช่นกัน และอาจจะนำเข้าถึง 5 ล้านตัน จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะส่งออกได้ โดยทั้งปีนี้มั่นใจว่า ไทยจะส่งออกได้ราว 9 ล้านตัน แต่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายที่ 9.5 ล้านตัน
“นอกจากคำสั่งซื้อชะลอตัว เพราะผู้ซื้อรอดูสถานการณ์ ขณะนี้ผู้ส่งออกยังประสบปัญหาผู้นำเข้าชำระเงินล่าช้า และเบี้ยวชำระเงิน อาจเป็นเพราะเศรษฐกิจตกต่ำ โดยเฉพาะประเทศในแอฟริกา สำหรับราคาข้าวในประเทศขณะนี้ ข้าวขาวความชื้น 5% ตันละ 12,000 บาท ส่วนราคาส่งออก ณ ท่าเรือ (เอฟโอบี) ตันละ 370 เหรียญสหรัฐ ใกล้เคียงอินเดียและเวียดนามที่เฉลี่ยตันละ 360 เหรียญฯ ส่วนปากีสถานต่ำมากที่ตันละ 335 เหรียญฯ”
อคส.เนรมิต2คลังสินค้าเป็นเอเชียธีค
พล.ต.ต.ไกรบุญ ทรวดทรง ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า(อคส.) เปิดเผยถึงแผนการหารายได้ของอคส.ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา อคส.ได้เชิญสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มาหารือถึงแผนการหารายได้เพื่อเลี้ยงองค์กร โดยอคส.จะนำคลังสินค้า 2 แห่งคือ คลังสินค้าธนบุรี ใกล้สะพานกรุงเทพ และคลังสินค้าราษฎร์บูรณะใกล้กับธนาคารกสิกรไทยสำนักงานใหญ่ ซึ่งทั้ง 2 แห่งติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา และไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร มาปรับปรุงใหม่ โดยจะหาเอกชนเข้ามาร่วมทุน หากแผนดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล น่าจะเริ่มดำเนินการได้ทันที และน่าจะทำให้อคส.มีรายได้เลี้ยงตัวเอง จากที่ผ่านมา มีรายได้จากการดำเนินการรับจำนำสินค้าเกษตรของรัฐบาลและเป็นผู้จัดหาอาหารสดให้กับกรมราชทัณฑ์
สำหรับแผนการปรับปรุงคลังสินค้าทั้ง 2 แห่งนั้น จะจัดสรรพื้นที่ในแต่ละคลังเป็น 3 ส่วน โดยส่วนแรกจะทำเป็นแปลงสาธิตเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร ตามแนวพระราชดำริ ส่วนที่ 2 ทำเป็นตลาดกลางสินค้าเกษตร โดยให้เกษตรกรนำผลผลิตมาขายเช่นเดียวกับตลาดองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และส่วนที่ 3 เป็นพื้นที่ธุรกิจให้เอกชนบริหารจัดการซึ่งจะทำให้เป็นเอเชียทีคแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ
”ถ้าแผนการปรับปรุงคลังสินค้าทั้ง 2 แห่งได้รับความเห็นชอบ และเริ่มดำเนินการได้ น่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทย และต่างประเทศเข้ามาเที่ยวชม และใช้จ่ายเงินซื้อสินค้า ถ้าได้รับความนิยม รัฐบาลจะให้ขยายไปทำในพื้นที่อื่นอีก เช่น ที่ราชพัสดุ และน่าจะเป็นแหล่งรายได้หลักของอคส.ได้ในอนาคต”
นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการอคส. (บอร์ดอคส.) เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้อนุมัติงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์ทางการเกษตรแล้วนำไปให้เกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ได้ใช้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว
เกิดขึ้นหลังจากที่ตนได้ลงไปในพื้นที่หลายจังหวัด เช่น นครราชสีมา นครสวรรค์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ เป็นต้น เพื่อสอบถามความต้องการของเกษตรกร ซึ่งส่วนใหญ่บอกว่า ต้องการรถเกี่ยวนวดข้าว ลานตากข้าว เป็นต้น
พล.ต.ต.ไกรบุญ กล่าวต่อถึงการแก้ปัญหาหนี้ที่อคส.ค้างชำระให้แก่บริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) ว่า ก่อนหน้านี้ อคส.ได้ค้างชำระหนี้ให้กับเซอร์เวเยอร์ 27 ราย ที่เข้าร่วมการดูแลรักษาคุณภาพข้าวในโกดังของรัฐบาล ซึ่งเมื่อโครงการสิ้นสุดแล้ว บางรายยังไม่สามารถเบิกเงินค่าจ้างจากอคส.ได้ เพราะติดปัญหาเอกสารไม่ครบ
และเมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้เชิญทั้ง 27 รายมาแก้ปัญหาแล้ว สามารถคืนเงินให้เซอร์เวเยอร์ได้แล้ว 1,079 ล้านบาท จากที่อคส.ค้างชำระทั้งหมด 2,078 ล้านบาท แต่ยังมีบางรายที่ถูกขึ้นบัญชีดำ ที่อคส.ยังไม่ได้จ่ายให้อีก 394 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ คาดว่า อคส.จะจ่ายหนี้ได้หมดในเร็วๆ นี้ ส่วนโรงสีกว่า 1,000 รายที่เข้าร่วมโครงการฝากเก็บข้าวในสต๊อกของรัฐบาล และอคส.ยังไม่ได้ชำระเงินให้นั้น ราวเดือนเม.ย.นี้ จะเชิญมาหารือ และเร่งรัดการเงินคืนให้เช่นกัน
สำหรับกรณีที่รัฐบาลได้ประมูลข้าวในสต๊อกรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา แต่ผู้ชนะการประมูลไม่สามารถรับมอบข้าวได้ โดยอ้างว่า คุณภาพไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันนั้น ล่าสุด อคส.ได้เชิญเจ้าของโกดังเก็บข้าว 27 ราย ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูล 10 ราย และเซอร์เวเยอร์ ที่รับผิดชอบดูแลรักษาคุณภาพข้าวมาหารือ
และลงไปตรวจสอบข้าวในโกดังที่มีปัญหา โดยในเบื้องต้นดูสภาพข้าวด้วยตาเปล่า หากโกดังใดข้าวเสื่อมสภาพจริง จะให้เซอร์เวเยอร์ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้รัฐบาล ซึ่งหลังจากไปตรวจสอบสภาพข้าวแล้ว เซอร์เวเยอร์ส่วนใหญ่ยอมรับผิด และจ่ายค่าเสียหายให้รัฐ รวมถึงซื้อข้าวในโกดังที่มีปัญหาไปแทนแล้ว
”อยากเคลียร์ปัญหานี้ให้จบโดยเร็ว เพราะถ้าผู้ซื้อไม่ยอมรับมอบข้าว รัฐก็ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บอีกจำนวนมาก แต่ดีที่เซอร์เวเยอร์ยอมรับว่าข้าวเสื่อมจริง และยอมซื้อข้าวคืนไป ตอนนี้ยังเหลืออีก 5-6 โกดังที่ยังเคลียร์กันไม่ได้ คิดเป็นปริมาณข้าวสารกว่า 81,000 ตัน มูลค่าราว1,506 ล้านบาท”