MGR Online - “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ขึ้นศาลฎีกาฯ ฟังไต่สวนพยานโจทก์คดีโครงการรับจำนำข้าว ฝากสื่อถึง คสช.อยากเห็นโรดแมป คืนอำนาจโดยเร็วเพื่อรอเลือกตั้ง
วันนี้ (26 ก.พ.) เมื่อเวลา 09.00 น.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถนนแจ้งวัฒนะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยทีมทนายความ ได้เดินทางมาที่ศาลฎีกาฯ ตามนัดไต่สวนพยานโจทก์นัดที่ 3 คดีโครงการรับจำนำข้าว ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท
โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าห้องพิจารณาคดีว่า ตอนนี้คนไทยอยากเห็นการเลือกตั้ง การคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว ถ้าทำได้ก็จะทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจกลับคืนมา ตนไม่อยากเห็นสภาพบ้านเมืองถูกควบคุมแบบนี้ อยากให้สิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทยกลับคืนมา อยากเห็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และเป็นของประชาชนตามหลักสากล ถ้าเราไม่เดินตามกลไกประชาธิปไตยก็ไม่สามารถทำให้นักลงทุนต่างประเทศเชื่อมั่นได้ซึ่งเป็นปัญหาที่น่าห่วง
ขณะเดียวกัน ตนก็เข้าใจข้อจำกัดของรัฐบาล คสช.ที่ต้องดูแลความสงบเรียบร้อยของประเทศ อยากฝากว่ามีวิธีใดหรือไม่ที่จะทำให้ประชาธิปไตยกลับคืนมา คิดว่าทุกคนจะให้ความร่วมมือเพราะอยากเห็นประเทศไทยเดินไปข้างหน้าด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยากจะให้ คสช.ทำตามโรดแมปอย่างเคร่งครัดและทำให้เต็มที่จะได้ประกาศการเลือกตั้งโดยเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนเฝ้ารอคอย
โดยวันนี้ อัยการ โจทก์ นำ นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย พยานให้ศาลไต่สวนปากแรก สรุปว่า พยานมีประสบการณ์การส่งออกข้าวมานานเกือบ 40 ปี ได้เป็นนายกสมาคมผู้ส่งออก ฯ ติดต่อ 2 สมัย 4 ปี ก่อนที่จะมาเป็นนายกกิตติมศักดิ์ ตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน โดยพยานเคยให้การในชั้น ป.ป.ช.2 ครั้งในปี 2556 และ 2557 สำหรับโครงการจำนำข้าวที่มีการวางกรอบซื้อ-ขายข้าวแบบจีทูจี ( รัฐต่อรัฐ) ไม่ใช่การขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐอย่างแท้จริง เพราะมีการส่งข้าวที่ขายให้ผู้แทนไทยที่หน้าโกดังในประเทศไทย ไม่ใช่การส่งออกไปตลาดต่างประเทศ จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่ผิดปกติไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ทำให้เกิดช่องโหว่ นำข้าวนั้นมาหมุนเวียนขายในประเทศได้ ซึ่งการขายแบบจีทูจีที่ดำเนินการช่วงปลายของรัฐบาลจำเลย ที่พยานเห็นว่าดำเนินการจริงน่าจะมีเพียง 1 ล้านตันเท่านั้น ที่บริษัทคอฟโก้รัฐวิสาหกิจจีน ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง เดินทางมากับรัฐบาลจีนแล้วทำสัญญารับซื้อข้าวที่เป็นข้าวใหม่ ส่วนสัญญาฉบับอื่นในช่วงแรกที่มีการซื้อข้าว 2 ล้านตันนั้นเป็นข้าวเก่าทั้งหมด ทั้งที่ปกติจีนจะซื้อข้าวใหม่เท่านั้นเพราะประชาชนจีนไม่นิยมบริโภคข้าวเก่า ขณะที่ประเทศจีนมีโควตารับซื้อข้าวต่างประเทศเพียง 5.3 ล้านตัน แต่มีระบุว่ามีการทำสัญญาซื้อขายจีทูจี 14 ล้านตัน พยานจึงไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ เพราะข้าวนั้นเป็นข้าวเก่าที่เก็บในโกดังด้วย อีกทั้งบริษัทเอกชนที่เป็นตัวแทนของประเทศจีนที่ได้สิทธิ์ซื้อข้าว ต้องเป็นบริษัทคอฟโก้บริษัทเดียวตามพันธะที่ประเทศจีนแจ้งไว้กับ WTO ส่วนบริษัท ไห่หนาน เกรน แอนด์ ออยล์ อินดัสเทรียล เทรดดิ้ง ซึ่งรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์อ้างว่าได้ทำสัญญาซื้อขายข้าวด้วยนั้น จะมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจของจีนหรือไม่ ไม่สำคัญ แต่ไม่มีสิทธิ์ที่จะเป็นตัวแทนจีนในการทำการค้าแทนได้ โดยภายหลังการยึดอำนาจมีการนำโควต้ามาให้สมาคมจัดสรรกับบริษัทผู้ส่งออก ซึ่งมีความถูกต้องและเป็นธรรมที่สุด
นายวิชัย เบิกความอีกว่า แม้มติ ครม.ปี 2554 อนุมัติให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้เจรจาซื้อขายข้าวแบบจีทูจีกับต่างประเทศ แต่ในมติก็ระบุชัดเจนว่าเมื่อเจรจาถึงขั้นสุดท้ายแล้วให้สรุปรายงานถึง รมว.พาณิชย์ หากเห็นด้วยให้เซ็นสัญญาได้ ซึ่งการพิจารณาดังกล่าวทำตามกรอบซื้อขายที่ กนข.วางไว้ ขณะที่ปกติประเทศไทยจะผลิตข้าวได้ปีละ 20 ล้านตัน แบ่งเป็นบริโภคในประเทศ 10 ล้านตัน ส่วนที่เหลือจะเป็นการส่งออก แต่เมื่อมีการแทรกแซงตลาด ด้วยราคารับจำนำ 15,000 บาทที่สูงกว่าราคาตลาดทั่วไป โดยข้าวไปอยู่ในมือรัฐบาลถึง 13 ล้านตัน ขณะที่ไม่มีข้าวเหลือพอให้เอกชนส่งออกนั้นก็เป็นเหมือนการผูกขาด แต่ที่เอกชนยังส่งออกได้ถึง 7 ล้านตัน เพราะมีข้าวหมุนเวียนขณะที่รัฐบาลไม่ได้ระบายข้าวจีทูจีที่แท้จริง จึงทำให้มีการข้าวรั่วไหลมาถึงเอกชน
พยานยังเห็นว่า แม้รัฐบาลจะรับซื้อข้าวแพง แต่กลับไปขายได้ราคาถูก เพราะคุณภาพข้าวลดลงเมื่อถูกเก็บในโกดังหลายปี ซึ่งปกติข้าวหอมมะลิควรที่จะต้องขายขณะสดใหม่ โดยราคาข้าวในท้องตลาดระหว่างข้าวหอมมะลิ กับข้าวขาวที่ค้างเก่าจะมีราคาต่างกันถึงครึ่งหนึ่ง ขณะที่สมาคมฯ เคยทำหนังสือท้วงติงถึงรัฐบาล 8 ครั้ง และการขอเข้าพบนายนิวัฒน์ ธำรงบุญทรงไพศาล รมว.พาณิชย์ เพื่อให้ข้อเสนอแนะว่า ให้มีการจำกัดจำนวนข้าวที่รับจำนำ เพราะในช่วงแรกของโครงการรัฐบาลประกาศรับจำนำข้าวทุกเม็ด กระทั่งงบประมาณเริ่มจะไม่เพียงพอ รัฐบาลจึงจำกัดจำนวนรับซื้อเหลือรายละ 350,000 บาท และขอให้มีการประกาศขายข้าวตามมาตรฐานกระทรวงพาณิชย์ที่จะกำหนดคุณภาพและลักษณะเม็ดข้าวแต่ละประเภทไว้ชัดเจน ไม่ใช่การขายข้าวตามสภาพที่อยู่ในโกดังที่มีข้าวเก็บไว้จำนวนมากเป็นหมื่นตัน อาจมีการนำข้าวด้อยคุณภาพปะปน เมื่อไม่มีผู้แทนคลังสินค้ารับผิดชอบการตรวจสอบคุณภาพข้าวเมื่อซื้อแล้วต้องยอมรับข้าวทั้งหมดไม่อาจฟ้องกลับรัฐบาลได้หากพบข้าวไม่ได้มาตรฐานหรือผิดประเภท ดังนั้นถ้าจะขายข้าวตามสภาพเอกชนก็ต้องเสี่ยง เว้นแต่เอกชนจะรู้จักกับโกดังนั้นแล้วทราบสภาพข้าวที่แท้จริง แต่สมาคมฯ ไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาลเรื่องดังกล่าว
ขณะที่ทนายความของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ พยายามซักถามพยานถึงการกำหนดราคารับจำนำข้าวที่สูงจะช่วยเกษตรกร นายวิชัย ตอบว่า การกำหนดราคาข้าวไม่ควรจะสูงเกินไปจนขายข้าวไม่ได้ ซึ่งผลกระทบไม่ได้อยู่เพียงแค่ข้าวเหลือเก็บโกดังที่จะเน่า แต่ข้าวที่รับจำนำไปอยู่ในมือของรัฐบาลทั้งหมดทำให้เอกชนไม่เหลือข้าวส่งออก ซึ่งผู้ค้า-ผู้ส่งออกมีหน้าที่ระบายข้าวแต่ละปีไม่ให้เหลือโดยเอกชนจะปรับราคาตามกลไกตลาด ไม่ใช่การตั้งราคาสูงราคาเดียวติดต่อยาวนาน 3 ปีเหมือนรัฐบาลทำ เพราะถ้าราคาสูงตลาดโลกรับซื้อไม่ได้ข้าวจะเหลือค้าง เช่น ปี 2551 ราคาข้าวในตลาดเคยสูงสุดถึง 13,000 บาทต่อตัน แต่ข้าวสามารถขายได้และได้กำไรเพราะข้าวดีมีคุณภาพไม่มีข้าวเหลือ แต่ช่วงรัฐบาลจำเลย รับจำนำราคาสูง 15,000 บาทต่อตัน แล้วนำมาขายได้เพียงราคา 6,000 บาทต่อตัน เพราะเป็นข้าวเก่าที่เก็บไว้นาน แสดงว่าการแทรกแซงราคาข้าวของรัฐบาล ไม่สัมพันธ์กับราคาตลาด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการไต่สวน ทนายความจำเลยพยายามซักถามพยานว่า ข้อมูลสถิติตัวเลข เป็นเรื่องความเห็นของพยานเองใช่หรือไม่ ขณะที่นายวิชัย พยานได้ส่งสรุปข้อมูลตัวเลขการค้าข้าวเสนอศาลเป็นหลักฐาน พร้อมระบุว่าสถิติได้รวบรวมข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์
ขณะที่พยานปากที่ 2 นายระวี รุ่งเรือง เครือข่ายแกนนำชาวนา เบิกความว่า ภาพรวมโครงการจำนำข้าว เป็นโครงการที่ดี มีระบบจัดการ แต่เรื่องการตรวจสอบให้โครงการมีประสิทธิภาพไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ และไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าว ความชื้นข้าว การตรวจสอบคุณภาพข้าว ขณะที่การสวมสิทธิ์ข้าวของชาวนาโดยโรงสี มีจริง แต่ตรวจสอบหาหลักฐานได้ยาก เพราะลักษณะเป็นสมยอมกันระหว่างชาวนากับโรงสีที่ได้ประโยชน์ ซึ่งการสวมสิทธิ์นั้นทางโรงสีจะซื้อใบประทวนจากชาวนา ที่ได้ปลูกข่าวได้จำนวนต่ำกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ โดยจะสวมสิทธิ์ส่วนที่เหลือ โดยให้ค่าตอบแทน 1,000 – 3,000 บาทต่อใบประทวน แล้วเมื่อหน่วยงานรัฐลงมาตรวจสอบโรงสีจะนำข้าวอื่นที่ไม่ได้คุณภาพมาใส่แค่ให้ครบจำนวนตรวจสอบตามใบประทวน ดังนั้นจึงหาหลักฐานได้ยากคล้ายกับการซื้อสิทธิขายเสียงเลือกตั้งที่ไม่มีหลักฐานเป็นเอกสารลายลักษณ์อักษร แต่เป็นการรับรู้ทั่วกัน โดยสามารถจับกุมดำเนินคดีทั่วประเทศ 270 คดี ซึ่งเทียบกับสัดส่วนชาวนาที่ร่วมโครงการถือว่าน้อยมาก ขณะที่การดำเนินคดีก็ไม่ใช่โรงสีรายใหญ่
ทั้งนี้นายระวี ยังเบิกความตอบ ที่ทนายความจำเลยซักถามว่า ร่วมชุมนุม กปปส.ปิด ธกส. เพื่อไม่ให้รัฐบาลนำเงินมาจ่ายชาวนาด้วยว่า ตั้งแต่ ต.ค.56 รัฐบาลไม่มีเงินจ่ายค่าจำนำข้าวให้ชาวนา เนื่องจากเป็นรัฐบาลรักษาการที่ไม่มีสิทธิ์กู้เงินจากสถาบันการเงิน จึงร่วมกับมวลชนเพื่อให้รัฐบาลที่มีอำนาจแท้จริงมาผลักดันกู้เงินจากสถาบันการเงิน เพื่อจ่ายค่าจำนำข้าวให้ชาวนา
เมื่อศาลไต่สวนพยานทั้ง 2 ปากเสร็จสิ้น ศาลได้นัดไต่สวนพยานโจทก์ปากต่อไปวันที่ 4 มี.ค.นี้ เวลา 09.30 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ ทนายความจำเลย ได้แถลงต่อศาล ให้ดำเนินการกับกรณีที่พยานของอัยการโจทก์ นายระวี รุ่งเรือง เครือข่ายชาวนาไทย ที่จะเข้าไต่สวนวันนี้ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนลักษณะโฟนอิน ประเด็นที่จะนำสืบวันนี้ก่อนนั้นว่าไม่เหมาะสมถูกต้อง ภายหลังจากศาลเคยสั่งห้ามคู่ความ 2 ฝ่ายให้สัมภาษณ์ที่จะชี้นำกระทบต่อคดี
นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน จึงแจ้งคู่ความว่า ศาลได้ติดตามและเตรียมที่จะแจ้งให้คู่ความทราบอยู่แล้วว่า มอบให้สำนักงานศาลยุติธรรม แถลงข่าวต่อสาธารณะที่จะไม่ให้บุคคลอื่น นอกเหนือจากคู่ความ สัมภาษณ์กระทบต่อคดี ที่จะเป็นการละเมิดศาลตามกฎหมาย โดยศาลกำชับให้ฝ่ายอัยการ ดูแลพยานด้วย
โดยวันนี้ นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม จึงได้ออกคำแถลงเป็นหนังสือต่อสื่อมวลชน ระบุว่า ขณะนี้ได้มีการนำคำให้การพยานในคดี ไปวิเคราะห์ในสื่อสิ่งพิมพ์หรือเผยแพร่ออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง อันมีลักษณะที่เป็นการชี้นำหรือบิดเบือนให้ผิดไปจากข้อเท็จจริง นอกจากนี้ยังมีพยานบางปาก ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อในรูปแบบต่าง ๆ เกี่ยวกับคดีระหว่างที่ดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลฎีกาฯ ซึ่งยังไม่เสร็จสิ้น
สำนักงานศาลยุติธรรม ขอเรียนว่า การเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความคืบหน้าในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ อย่างไรก็ตาม บรรดาข้อความหรือความเห็นที่อาจก่อให้เกิดอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน หรือเหนือคู่ความหรือเหนือพยานในคดี หรืออาจทำให้สาธารณชนเข้าใจว่าข้อความหรือความเห็นนั้น มีอิทธิพลต่อการพิจารณาคดีของศาล ซึ่งอาจทำให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป โดยเฉพาะข้อมูลที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงแห่งคดี การรายงานหรือการย่อเรื่องหรือ การวิพากษ์เกี่ยวกับกระบวนพิจารณาอย่างไม่เป็นกลาง ไม่ถูกต้อง หรือโดยไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการดำเนินคดีของคู่ความ หรือคำพยานหลักฐาน รวมทั้งการแถลงข้อความที่ทำให้เสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของคู่ความหรือพยาน แม้ว่าข้อความเหล่านั้นอาจเป็นความจริงหรือการชักจูงให้เกิดมีคำพยานเท็จ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถกระทำได้และอาจเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 32 (2)
“ ขอความร่วมมือผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย งดการวิเคราะห์หรือให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่าง ๆ อันอาจมีผลกระทบต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลและอาจทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงที่ถูกต้องในคดีดังกล่าว