xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แก้ รธน.เปิดทางประชามติ เพิ่มบทบาท สปท.การันตีโรดแมป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชี้แจงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เมื่อวันที่ 10 มีนาคม
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ผ่านไปอย่างราบรื่น สำหรับการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 เพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำประชามติ สอบถามประชาชนว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)กำลังพิจารณาอยู่นี้ โดยที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 16/2559 เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา ได้ลงมติเห็นชอบ 3 วาระรวด

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุม สนช.ก่อนการลงมติ ว่าเป็นการแก้ไขส่วนของการลงประชามติ เหตุผลเนื่องจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2557 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับแรกปี พ.ศ. 2558 นั้น อาจจะมีบทบัญญัติเหมาะสมสำหรับการทำประชามติในช่วงเวลานั้น แต่ปรากฏว่าไม่เกิดขึ้นเนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญ(ฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่าง) ถูกตีตกในชั้นของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งถ้าใช้บทบัญญัติเดิมมาใช้สำหรับการทำประชามติ ก็จะไม่สอดคล้องสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงต้องมีการแก้เป็นครั้งที่สอง ซึ่งในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะแก้เพียงมาตรา 39/1 เพียงมาตราเดียว แต่เป็นการยกเลิกของเก่า และเพิ่มวรรคใหม่จำนวน 9 วรรค เพื่อทำให้มีความละเอียดชัดเจน จนสามารถทำประชามติได้ราบรื่น

ประเด็นที่มีการแก้ใขมีหลายประเด็น เช่น การยึดคะแนนเสียงข้างมากของผู้ใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติเป็นเกณฑ์ว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน การกำหนดอายุของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติต้องไม่ต่ำกว่า 18 ปี การแจกจ่ายและเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนโดยวิธีการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด

นอกจากนี้ ยังให้ สนช.สามารถกำหนดประเด็นคำถามให้ประชาชนตัดสินใจพร้อมกับการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และให้ ครม.เสนอกฎหมายเกี่ยวกับการทำประชามติ โดยให้ทาง สนช.เป็นผู้พิจารณา ซึ่งคาดว่าจะมีทั้งหมด 60 มาตรา โดยจะมีการเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในวันอังคารที่ 15 มีนาคมนี้ ก่อนที่จะเสนอให้ สนช.พิจารณาต่อไป

หลังจากสมาชิกได้อภิปรายอย่างกว้างขวางแล้ว ที่ประชุมได้ลงคะแนนตามลำดับและ มีมติเอกฉันท์ 194 เสียงรับหลักการวาระแรก และ งดออกเสียง 3 เสียง จากนั้นได้มีการพิจารณาวาระ 2 โดยมีการตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภาพิจารณาตามรายมาตรา และมีการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 4 โดย ครม. และ คสช. ขอปรับแก้ไขเพิ่มเติมจำนวน 3 วรรค คือ ในวรรคเจ็ด การจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยต้องกระทำในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ในการนี้ สนช. จะมีมติเสนอประเด็นอื่นใด ไม่เกิน 1 ประเด็น ที่สมควรให้ กกต.จัดให้มีการออกเสียงประชามติเพิ่มเติมว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบพร้อมไปในคราวเดียวกันด้วยก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องเสนอภายใน 10 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับแจ้งจาก กรธ.ตามวรรคสาม เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ให้ สนช. รับฟังความเห็นของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)ประกอบการพิจารณาด้วย

นอกจากนั้น วรรคเก้า ให้แก้เป็น "ถ้าผลการออกเสียงประชามติมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ มากกว่าคะแนนเสียงไม่เห็นชอบ ให้นายกรัฐมนตรี นำร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ และเมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”

และในวรรคสิบสอง ให้นำมาตรา 39 มาใช้บังคับแก่การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญด้วย โดยอนุโลม และในกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เสนอประเด็นเพิ่มเติม ให้นำมาตรา 37/1 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากระหว่างคะแนนเสียงเห็นชอบกับไม่เห็นชอบเป็นเกณฑ์ และไม่ต้องให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ โดยให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของ กรธ. ซึ่งสมาชิกได้ลงมติเห็นชอบตามที่ คสช. และ ครม. เสนอ

หลังจากนั้น ได้มีการลงมติในวาระ 3 เห็นชอบด้วยคะแนนเอกฉันท์ 192 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ซึ่งหลังจากนี้ภายใน 15 วันนายกรัฐมนตรีจะนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เพื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อใช้บังคับต่อไป

ภายหลังการประชุม นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. แถลงว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ทำให้เห็นว่ารัฐบาลมีเจตนาที่จะเดินหน้าตามโรดแมปเลือกตั้งกลางปี 2560 ทำให้ประเด็นการทำประชามติมีความชัดเจนขึ้น ไม่ให้เกิดปัญหาโต้แย้งเกี่ยวกับการนับคะแนน ส่วนรายละเอียดอื่นๆ จะใส่ไว้ในกฎหมายลูก ซึ่ง สนช. ขอให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รีบส่งมา เพราะ สนช.ได้เตรียมผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ เพื่อพิจารณาในชั้นกรรมาธิการแล้ว

ส่วนการตั้งคำถามเพื่อให้ประชาชนลงประชามติ ที่เพิ่มให้ สปท.ร่วมเสนอประเด็นได้นั้น เนื่องจากเห็นว่า สปท.มีความคิดและทำงานควบคู่กับการทำงานของ สนช. ดังนั้น ครม.และ คสช.จึงเห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อให้ สปท. เข้ามามีส่วนร่วมในการตั้งคำถามด้วย เหตุที่ ครม.และ คสช.ไม่กำหนดให้ สปท.เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่แรก เพราะ สปท.ไม่มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญเหมือนสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แต่ตอนนี้มีการทำงานมากขึ้น ผ่านคณะกรรมการประสานงานระหว่าง สนช. และ สปท. ดังนั้นจึงเห็นว่าควรเปิดโอกาสให้ สปท. เข้ามีส่วนร่วมในการตั้งคำถาม ซึ่งเรื่องนึ้ คสช.และ ครม.หารือเรื่องมาก่อนแล้วว่าเห็นด้วย

นายพรเพชร ยังบอกอีกว่า มั่นใจในระดับหนึ่งว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติ ไม่เช่นนั้นจะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวเช่นนี้ทำไม แต่หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ เชื่อว่า คสช. และ ครม.มีทางออกไว้อยู่แล้ว แต่คงยังไม่บอกตอนนี้ เพราะนายกรัฐมนตรีก็บอกว่าเดินตามโรดแมป

ความเชื่อมั่นของนายพรเพชรที่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติ สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนของกรุงเทพโพลล์ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา โดยในประเด็นคำถามที่ว่า หากมีการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะเห็นชอบหรือไม่นั้น ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 45.1 ตอบว่าเห็นชอบ ขณะที่ร้อยละ 16.0 ตอบว่าไม่เห็นชอบ และร้อยละ 27.9 งดออกเสียง ส่วนที่เหลือร้อยละ 11.0 ไม่แน่ใจ

อย่างไรก็ตามในประเด็นคำถามว่า คสช.ให้สิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญมากน้อยเพียงใด ปรากฏว่า เสียงออกมาก้ำกึ่งกัน โดยร้อยละ 44.9 เห็นว่า ให้สิทธิเสรีภาพค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 44.7 เห็นว่าให้สิทธิเสรีภาพค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด และเมื่อถามว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ร้อยละ 45.8 เห็นว่า มีความเป็นประชาธิปไตย ขณะที่ร้อยละ 36.1 เห็นว่าไม่ค่อยมีความเป็นประชาธิปไตย และร้อยละ 18.1 ไม่แน่ใจ

นั่นก็สะท้อนให้เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่น่าจะผ่านประชามติได้ไม่ยาก แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งหลังจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ แล้วได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยที่ คสช.หมดอำนาจไปแล้ว แต่มีนักการเมืองจากการเลือกตั้งเข้ามาใช้อำนาจแทน เนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนี่เองจะเป็นอันตรายต่อประเทศชาติยิ่งกว่าในยุคที่ คสช.มีอำนาจด้วยซ้ำ



กำลังโหลดความคิดเห็น