xs
xsm
sm
md
lg

การปฏิรูปปัญญาและอารมณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต


ความล้มเหลวอย่างหนึ่งของระบบการศึกษาในประเทศไทยคือความไร้สมรรถนะในการปลูกฝังความคิดอย่างมีเหตุมีผลลงในจิตสำนึกของคนไทย และอีกอย่างคือการไม่สามารถอบรมบ่มเพาะให้คนไทยรู้จักยั้งคิด บริหารจัดการอารมณ์อย่างมีประสิทธิผลหรือการมีวุฒิภาวะทางอารมณ์นั่นเอง

ความเชื่อต่อสิ่งเหนือธรรมชาติจึงกลายเป็นพลังหลักในการควบคุมความคิดของผู้คนจำนวนมาก การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายเป็นธุรกิจระดับหมื่นล้าน แพร่ระบาดไปทั่วทุกอาณาบริเวณของสังคม ลัทธิพิธีกรรมนานาชนิดโผล่ผุดขึ้นมาดังดอกเห็ดต้นฤดูฝน ดึงดูดผู้คนให้เข้าร่วมดังแมงเม่าบินเข้าเล่นแสงไฟ

จิตใจที่เปราะบางย่อมอ่อนไหวต่อความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ เพราะว่าจิตลักษณะนั้นมิอาจต้านทานแรงเหนี่ยวนำของพลังอันลึกลับที่เข้ามาเกาะจับในห้วงของจิตใต้สำนึกได้ เมื่อคนเหล่านั้นได้ยินคำบอกเล่าว่ามีสิ่งเหนือธรรมชาติในหลากหลายนาม ราหูบ้าง ปีชงบ้าง เทพเทวะบ้าง มารปีศาจบ้าง นักบุญบ้าง พญานาคบ้าง มังกรบ้างส่งอิทธิพลต่อการดำรงชีวิต พวกเขาก็พร้อมน้อมตัวเข้าไปบูชาตามคำบอกเล่าของ “ตัวแทน” บรรดาสรรพเทพ สรรพมาร สรรพดาว เหล่านั้น

จะเป็นเทวะสถานหรือมารสถานก็แล้วแต่จึงเนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่เดินทางเข้าไปสักการะบูชา ด้วยหวังว่าการกราบไหว้และให้สินบนเหล่าทวยเทพจะทำให้ตนเองหลุดพ้นจากเคราะห์ร้าย พ้นจากความทุกข์โศก และประสบแต่สิ่งที่พวกตนปรารถนา ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่พ้นความร่ำรวย มั่งคั่งทางวัตถุนั่นเอง

บรรดา “ตัวแทน” เจ้าของสถานที่ และเครือข่ายธุรกิจความเชื่อต่างก็รับทรัพย์ ร่ำรวยไปตามกัน ส่วนสาวกของความเชื่อ ก็ได้ “กาวพิเศษ” มาทาจิตอันเปราะบางและใกล้แตกสลายของตนเอง ให้เกาะติดเข้ากันชั่วคราว แต่ในไม่ช้า “กาวพิเศษ” ดังว่าก็เริ่มเสื่อมสภาพไป จิตก็เริ่มปริแยกอีกครั้ง และนั่นก็ได้เวลาไปเสาะหากาวเดิมกลับมาทาทับอีกที หรือไม่ก็ไปแสวงหา “กาวความเชื่อ” ชนิดใหม่มาลองติดดู

บางทีความซับซ้อนของสังคมสมัยใหม่เป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งต่อการขยายความเชื่อต่อสิ่งเหนือธรรมชาติให้แพร่หลายออกไป เพราะว่ายิ่งสังคมซับซ้อนมากเท่าไร การวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งต่างๆก็ยิ่งยากมากขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือความสามารถทางปัญญาของปัจเจกชน คนหนึ่งๆ ตามไม่ทันความซับซ้อนเชิงองค์ประกอบและเชิงปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาร่วมกัน

รูปลักษณ์ของสรรพสิ่งและรูปแบบของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างรูปลักษณ์ที่มนุษย์แห่งยุคสมัยร่วมกันสร้างมีจำนวนเหลือคณานับ จนกระทั่งบรรดาผู้สร้างเองก็มิอาจเข้าใจในภาพรวมได้ทั้งหมด จึงมิต้องกล่าวถึงผู้ที่มิได้มีส่วนร่วมในการสร้างว่าจะเข้าใจหรือไม่ เมื่อผู้คนไม่เข้าใจ ไม่อาจอธิบายได้ว่ามีสิ่งใดบ้างที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของตนเองในปัจจุบัน และมีกลไกอย่างไรในการสร้างผลกระทบ ตลอดจนไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าเส้นทางชีวิตในอนาคตของตนเองเป็นอย่างไร จิตอันเปราะบางของพวกเขาจึงมีความโน้มเอียงหันไปหาอำนาจลึกลับมาเป็นแหล่งพึ่งพิง

นอกจากความซับซ้อนของสังคมแล้ว มนุษย์ในสมัยปัจจุบันและอนาคตยังเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนสูงยิ่ง การเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและบ่อยครั้งเสียจนไม่สามารถเข้าใจแบบแผนของการเปลี่ยนแปลงและคาดการณ์เปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้อย่างใกล้เคียงกับความเป็นจริงอีกต่อไป สภาพเช่นนี้ย่อมสร้างความหวั่นไหวขึ้นใจจิตใจของผู้คน เมื่อไม่อาจใช้ปัญญาวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงได้อย่างกระจ่าง และสติไม่หนักแน่นพอที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลง คนจำนวนมากก็เลือกปิดกั้นปัญญาละทิ้งเหตุผล และบั่นทอนสติของตนเองหันไปไขว่คว้าความเชื่อลึกลับมาเป็นที่พึ่งแทน

ระบบการศึกษาสมัยใหม่ของไทยซึ่งคาดหวังว่าจะสามารถอบรมสั่งสอนผู้คนให้พัฒนาระบบคิดและวิธีการแสวงหาเหตุผล จนเกิดปัญญาเพียงพอที่จะใช้ทำความเข้าใจกับความซับซ้อนและความไม่แน่นอนของสังคม รวมทั้งเป็นแหล่งบ่มเพาะความมีสติ ความยั้งคิด และการควบคุมอารมณ์ ตลอดจนระงับความปรารถนาให้มีความพอเหมาะพอควรก็มีสมรรถนะและศักยภาพต่ำเกินไปจนน่าใจหาย

ผมคิดว่าบรรดาผู้คนในระบบการศึกษาที่ยังหลับใหลและจมอยู่ในห้วงฝัน ถึงเวลาที่ต้องลุกตื่นขึ้นมาเสียที ปัญหาความอ่อนแอทางปัญญาและอารมณ์ของสังคมขยายตัวออกไปจนเข้าสู่ภาวะวิกฤติแล้ว หากยังละเลยเพิกเฉยไม่ใส่ใจกับปัญหาเหล่านี้ สังคมไทยในอนาคตอาจจมลงในทะเลแห่งความมืดมิดและเข้าสู่ภาวะ”สังคมอนาถา” อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

สิ่งที่ควรทำก็คือการออกมายืนหยัดสนับสนุน “ปัญญาและเหตุผล” อย่างต่อเนื่อง นั่นหมายถึงว่าจะต้องวิพากษ์ความเชื่อที่งมงาย เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนได้เกิดความคิดและการใช้เหตุผลให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็สนับสนุนการพัฒนาอารมณ์เชิงบวก ความยั้งคิด และความมีสติ เพื่อวางรากฐานของการสร้างสังคมที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ให้หนักแน่นมั่นคง

บรรดาผู้คนในระบบการศึกษา ผมหมายรวมตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการ คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ผู้บริหารสถานการศึกษาทุกระดับ อาจารย์มหาวิทยาลัย ข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการ ครูทุกระดับ พระหรือนักบวชผู้ทรงศีลและปัญญาในศาสนา ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมสั่งสอนผู้คนในภาคส่วนต่างๆ บรรดาผู้คนที่กล่าวมาข้างต้นจะต้องคิดและกระทำเป็นแบบอย่างแก่ผู้คนในสังคม แต่หากบรรดาผู้คนเหล่านี้ยังมีแบบแผนความเชื่อและอารมณ์แบบเดียวกับผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม ความหวังที่จะนำสังคมฝ่าฟันข้ามวิกฤติปัญญาและอารมณ์ก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้

นั่นแหละเป็นสิ่งที่น่ากังวล ดังนั้นในขั้นเริ่มต้นเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปปัญญาและอารมณ์ของคนในสังคม ก็ควรเริ่มจากบรรดาบุคคลในระบบการศึกษาและศาสนาเสียก่อน ซึ่งจะต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนทั้งในด้านเนื้อหาและกระบวนการขับเคลื่อน

ผมคิดว่าแกนกลางของการปฏิรูปทั้งมวล ที่เชื่อมโยงและผลักดันการปฏิรูปมิติอื่นๆก็คือการปฏิรูปปัญญาและอารมณ์ของผู้คนในสังคมนี่แหละครับ เป้าหมายก็คือการสร้างสังคมที่ผู้คนมีปัญญาเพียงพอในการวิเคราะห์ทำความเข้าใจกับความซับซ้อนและความไม่แน่นนอนของสังคมให้กระจ่าง มีปัญญาเพียงพอในการจำแนกว่าสิ่งใดถูกและสิ่งใดผิด มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ และมีสติยั้งคิดว่าเมื่อเราเป็นมนุษย์ และในฐานะที่ดำรงความเป็นมนุษย์สิ่งใดควรทำและสิ่งใดไม่ควรทำ

การปฏิรูปปัญญาและอารมณ์จึงเป็นเรื่องที่เราจะต้องคิดและทำกันอย่างจริงจังเสียทีครับ ก่อนที่ความเชื่องมงายและความไร้สติจะแพร่ระบาดไปมากกว่านี้


กำลังโหลดความคิดเห็น