xs
xsm
sm
md
lg

จิตกับธรรม : จิตตนคร (ตอนที่ ๓๒) อโยนิโสมนสิการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑

พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน

อโยนิโสมนสิการ
ได้กล่าวไว้ว่า สมุทัยชอบใจที่เห็นจิตตนครมีอารมณ์และอาการต่างๆ ดูเป็นที่สับสนอลหม่าน เดี๋ยวก็อย่างนั้น เดี๋ยวก็อย่างนี้ และสมุทัยกลัวธรรมบางข้อคือ โยนิโสมนสิการ ได้แก่ ความทำไว้ในใจโดยแยบคาย ถ้าธรรมนี้เข้าไปสู่จิตตนครแล้ว อารมณ์ทั้งปวงก็หมดอำนาจ จิตตนครจะเป็นเมืองสุขสงบขึ้นทันที ฉะนั้น สมุทัยจึงพยายามใส่อโยนิโสมนสิการ ได้แก่ ความทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย เข้าไปในอารมณ์ทุกอย่าง ดูเหมือนยังแสดงหน้าตาของอโยนิโสมนสิการสมุนสำคัญของสมุทัยอีกผู้หนึ่งไว้ไม่ชัดนัก ดังนั้น จะได้แนะนำอีกสักหน่อย

คำนี้ตามศัพท์แปลว่า ความทำไว้ในใจโดยทางมิใช่ต้นเหตุ คำว่า “ความทำไว้ในใจ” ตรงกับคำที่พูดกันง่ายๆว่า “ใส่ใจ” หมายถึง เอาใจใส่คิดพินิจพิจารณาก็ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นทุกๆอย่างจะต้องมีต้นเหตุซึ่งให้เกิดผลทีแรก ที่น่าจะเรียกว่าต้นผลเช่นเดียวกัน ผลทีแรกนั้นก็จะเป็นเหตุให้เกิดผลต่อไปอีก และผลนั้นก็จะเป็นเหตุให้เกิดผลสืบไปอีก กว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นให้ตาเห็น หูได้ยิน ดังที่เรียกกันว่าปรากฏการณ์ ก็จะมีเหตุผลสืบกันมาหลายชั้น

คำว่า “โดยทางมิใช่ต้นเหตุ” หมายความว่า เหตุผลของสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นไปโดยทางหนึ่ง แต่ใส่ใจคิดไปเสียอีกทางหนึ่ง

ยกตัวอย่างปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ เช่น ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า มีเหตุผลว่าทำไมฟ้าจึงแลบ ฟ้าจึงผ่า ที่สัมพันธ์กันไปหลายอย่างดังที่นักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ก็ต่างจากเหตุผลที่คิดเห็นกันในสมัยโบราณ เช่นดังที่คิดเห็นว่า นางเมขลาล่อแก้ว รามสูรเขวี้ยงขวาน จันทรคราสสุริยคราส ในครั้งโบราณเข้าใจกันว่า ยักษ์ใหญ่ที่ชื่อว่าราหู อมจันทร์อมอาทิตย์ แต่ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์แสดงเหตุผลดังที่ทราบกันอยู่ทั่วไป และได้คำนวณจับเวลา กับทั้งสถานที่ที่จะมองเห็นด้วยตาได้แน่ชัดถูกต้อง

แม้สิ่งที่ปรากฏอย่างอื่น ก็ย่อมมีเหตุผลของแต่ละสิ่งเช่นเดียวกัน ตลอดถึงสิ่งที่ปรากฏของสัตว์ บุคคล เช่นมีเรื่องเล่าถึงนักบวชในลัทธิอย่างหนึ่งผู้หนึ่ง เดินทางไปพบวัวดุตัวหนึ่งเข้า วัวดุตัวนั้นก็ตั้งท่าก้มศีรษะลง นักบวชผู้นั้นคิดว่าแม้วัวตัวนี้ช่างรู้คุณของเรา ก้มศีรษะลงเพื่อคำนับนอบน้อมต่อเรา ดีกว่าคนเป็นอันมากที่ไม่รู้คุณของเรา ฝ่ายวัวดุนั้นก็ตรงเข้าขวิดนักบวชผู้แปลผิดนั้นถึงแก่สิ้นชีวิต ตัวอย่างนี้แสดงว่า กิริยาที่วัวก้มศีรษะลงนั้น มีต้นเหตุในทางหนึ่ง คือต้องการจะเตรียมขวิด แต่นักบวชผู้นั้นเอาใจคิดไปเสียอีกทางหนึ่ง ว่าเขาจะคำนับเรา จึงตั้งท่ารับคำนับเต็มที่ วัวจึงขวิดได้อย่างถนัดถนี่ นี่เป็นตัวอย่างของอโยนิโสมนสิการ

อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าจะยกขึ้นคือ ความเดือดร้อนของประชาชน เกี่ยวกับการครองชีพ เป็นต้น ซึ่งต้นเหตุถ้าจะมาจากธรรมชาติดินฟ้าอากาศและจากกรรมของคน ถ้าจับต้นเหตุถูกก็น่าจะแก้ได้ เช่นสร้างเขื่อนกั้นระบายนํ้า สร้างอ่างเก็บนํ้า ทำฝนเทียม เป็นต้น และแก้ที่กรรมของคน คือทั้งฝ่ายผู้ปกครอง ทั้งฝ่ายผู้อยู่ในปกครอง ตั้งอยู่ในสุจริตต่อกัน คือผลนั้นเกิดจากเหตุอันใด ก็แก้ที่เหตุอันนั้น

เมื่อแก้ไปทีละเปลาะๆ จนถึงต้นเหตุโดยพร้อมเพรียงกันและโดยฉับพลัน ก็จะเกิดผลดีขึ้นฉับพลันทันตาเห็นเช่นเดียวกัน แต่ถ้าแก้โดยอโยนิโสมนสิการแล้ว ก็จะเกิดผลเหมือนดังที่นักบวชผู้นั้นได้รับ นี้เป็นตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งของอโยนิโสมนสิการ

อโยนิโสมนสิการมีโทษ แม้เพียงดังตัวอย่างที่ยกมากล่าว ก็เป็นโทษที่ควรระวังมิให้เกิดขึ้นแก่ตน ดังนั้น ทุกคนจึงควรกำจัดอโยนิโสมนสิการให้สิ้นไป ด้วยการทำโยนิโสมนสิการให้มีอยู่เสมอ

โขนโลกโรงใหญ่
สมุทัยใช้อโยนิโสมนสิการนี้แหละ เป็นลูกมือให้ลอบเข้าไปในจิตตนครกับอารมณ์ ทำให้ชาวจิตตนครเคลิบเคลิ้มไป แล้วนิวรณ์ก็วิ่งเข้ามาทันที ดังจะพึงเห็นได้ในบ้านเมืองทั้งหลาย ก็จะต้องมีคนเดินไปเดินมาประกอบธุรกิจต่างๆ จะต้องมีของสิ่งนั้นสิ่งนี้ ทุกคนจะต้องได้เห็นอะไรต่ออะไร ได้ยินอะไรต่ออะไร ได้กลิ่นอะไรต่ออะไร ได้รสอะไรต่ออะไร ได้ถูกต้องอะไรต่ออะไร ได้คิดอะไรต่ออะไร เพราะก็ต่างมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจอยู่ด้วยกัน แม้จะมีประสาท ๕ อันใดอันหนึ่งพิการ เช่น ตาบอด หูหนวก แต่ก็ยังมีใจซึ่งเป็นระบบสื่อสารชั้นใน คิดอะไรต่ออะไรได้อยู่ น่าจะเรียกว่าประสาทชั้นในก็ได้

ทั้งนี้เว้นไว้แต่บางคนที่ประสาทชั้นในดังกล่าวเสีย ดังเช่นเป็นโรคเกี่ยวแก่สมอง กลายเป็นเสียจริตบ้าบอไป ก็กลายเป็นคนมีความคิดเลื่อนเปื้อน เป็นที่สมใจของสมุทัย เพราะเมื่อเป็นบ้าเป็นบอไปเสียแล้ว ก็ตกอยู่ในอำนาจของสมุทัยเต็มที่

ฝ่ายคู่บารมีมีพร้อมทั้งพระบรมครู ไม่อาจช่วยได้ ความเป็นบ้าบอก็เนื่องมาจากอารมณ์อันประกอบด้วยอโยนิโสมนสิการนี้แหละ ที่รุนแรงสักหน่อย ทั้งประกอบด้วยกรรมเก่าบางอย่างด้วย กรรมเก่าหรือกรรมใหม่ทั้งปวง ก็เนื่องมาจากอารมณ์กระตุ้นให้เกิดเจตนาก่อกรรมนั้นๆขึ้น

ฉะนั้น ต้นทางหรือต้นเหตุแห่งกรรมและผลทั้งปวง จึงอยู่ที่อารมณ์กับอโยนิโสมนสิการนี้เอง ดังจะยกตัวอย่างสักข้อหนึ่ง

เหมือนดังที่ได้กล่าวแล้ว ว่าทุกคนมีตาจะต้องมองเห็นรูป อันที่จริงก็สักแต่ว่าเห็นรูปเท่านั้น แต่เมื่อทุกคนรับรูปเข้าไปในใจ มิใช่หมายความว่าใส่รูปไว้ในใจโดยตรง เพราะรูปเป็นวัตถุจะนำใส่เข้าไปไม่ได้ ต้องถอดรูปออกเป็นสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุ เช่นเดียวกับใจซึ่งไม่ใช่วัตถุ คือถอดรูปออกเป็นอารมณ์ ดังที่เรียกในภาษาทั่วไปว่า “เรื่อง”แล้วใส่เข้าไปในใจ เรื่องนี้เองที่ใจรับ เมื่อถอดจากรูปก็เรียกว่า “เรื่องรูป” หรือเรียกตามศัพท์แสงว่า “รูปารมณ์” เมื่อถอดจากเสียงก็เรียกว่า “เรื่องเสียง” หรือ “สัททารมณ์” ดังนี้เป็นต้น

สมุทัยรีบส่งอโยนิโสมนสิการเข้าไปกับอารมณ์ทันที ใจจึงรับเรื่องเข้ามาผิดที่ผิดทาง ผิดเหตุผิดผล เพราะใจมิได้คิดถูกตรงตามเหตุว่าสักแต่ว่าเป็นรูป สักแต่ว่าเป็นเรื่องที่ถอดรูปออกเสียแล้วเท่านั้น แต่คิดเหมือนกับรับรูปที่เป็นเปลือกนอกทั้งรูปเข้าไปไว้ในใจ ทั้งปั้นแต่งให้สวยสดงดงามก็ได้ ปั้นแต่งให้น่าเกลียดน่าชังก็ได้ ให้ดูเป็นกลางๆ ไม่ใช่น่ารักหรือไม่ใช่น่าชังก็ได้

อโยนิโสมนสิการนี้แหละเป็นผู้ปั้นแต่ง น่าจะคล้ายๆกับผู้แต่งตัวโขนละคร ที่หลังฉากนั้นก็ไม่มีพระ นาง ยักษ์ ลิง อะไรที่ไหน แต่มีผู้แต่งตัวให้เป็นพระ เป็นนาง เป็นยักษ์ เป็นลิง ออกไปเต้นเป็นพระ เป็นนาง เป็นยักษ์ เป็นลิง ไปตามบทบาท กลับเข้าหลังฉากก็เลิกกัน

อโยนิโสมนสิการก็เหมือนผู้แต่งตัวโขนละครนี้แหละ คือ แต่งอารมณ์ให้เป็นพระ เป็นนาง กามฉันท์ก็วิ่งเข้าทันที ชาวจิตตนครซึ่งเป็นเหมือนผู้ดูก็ชอบใจรักใคร่ตัวพระตัวนางยิ่งนัก เมื่อเป็นตัวยักษ์ตัวมาร พยาบาทก็วิ่งเข้าทันทีเหมือนกัน ผู้ดูพากันเกลียดชังตัวยักษ์ตัวมาร อันที่จริงเป็นตัวที่แต่งขึ้นทั้งนั้น ไม่มีสัจจะคือตัวจริงอยู่เลย

ผู้มาบริหารจิตทั้งหลาย ควรได้มีสติแลเห็นอารมณ์ของตน และควรได้อบรมให้โยนิโสมนสิการเกิดขึ้นทันเวลา คือสามารถเข้าใจได้ถ่องแท้พอสมควรว่าอารมณ์นั้นๆ เกิดเพราะอโยนิโสมนสิการปั้นแต่งขึ้น ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นว่าเป็นจริงเป็นจัง เมื่อโยนิโสมนสิการเกิดทัน อโยนิโสมนสิการก็จะหลีกหนีไป กามฉันท์ก็ตาม พยาบาทก็ตาม ก็จะไม่เกิดขึ้น ขณะที่ใจปราศจากกามฉันท์ ปราศจากพยาบาท ใจก็ย่อมมีความสงบเย็นเป็นอย่างยิ่ง

จิตตภาวนา
ฝ่ายคู่บารมีของนครสามีก็มิใช่ว่าจะเฉยเมยทอดธุระ ปล่อยให้สมุทัยทำเอาข้างเดียว ได้พิจารณาว่าจะแก้ไขอย่างไรดี แม้จะมีพรรคพวกฝ่ายบารมี มีศีล หิริโอตตัปปะ เป็นต้น เข้ามาช่วยในจิตตนครบ้างแล้ว ก็ยังวางใจมิได้ เพราะนครสามียังรับไว้ใช้ทั้งสองฝ่าย บางทีก็แบ่งเขตกันในระหว่างหัวโจกสำคัญของสมุทัยคือโลโภ โทโส โมโห กับศีล หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น

ก็ดูเหมือนกับบ้านเมืองทั่วๆไป ซึ่งวัดวาอารามก็สร้างกัน โรงฆ่าสัตว์ โรงสุรา ตลอดถึงโรงหนังโรงละคร และสถานอบายมุขต่างๆ ก็สร้างกัน ศีลก็อยู่แต่ในวัด ออกนอกวัดก็เป็นถิ่นของโลโภ โทโส โมโห นักเลงหัวไม้ ถ้าไม่รีบปราบปรามสมุนสำคัญของสมุทัย ที่เข้าไปแต่งอารมณ์ในจิตตนคร ก็น่ากลัวว่าวัดเองก็จะถูกพังทำลาย หรือถูกนักเลงหัวไม้เข้ายึด โดยขับไล่ศีลให้ออกไป ถ้าถึงขั้นนั้น ศีลเป็นต้น ก็จะต้องหนีออกไปจากจิตตนคร

ฉะนั้น คู่บารมีจึงเข้าเฝ้ากราบทูลถามพระบรมครูสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมครูเจ้าได้ตรัสแนะนำวิธีแก้ไขด้วยวิธีที่เรียกว่า “จิตตภาวนา” โดยใช้นิมิตเครื่องกำหนดหลายอย่างกับโยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นคู่ปรับอโยนิโสมนสิการ คู่บารมีได้สดับพระบรมพุทโธวาท ก็มีความแช่มชื่น มองเห็นทางชนะ รีบปฏิบัติตามพระโอวาทแห่งพระบรมครูเจ้าทันที

การทำจิตตภาวนา หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าทำกรรมฐานนั้น เป็นทางแก้ไขความวุ่นวายในใจอย่างได้ผลควรแก่การปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมระดับไหน ย่อมจะได้รับผลเป็นความสงบสุขของจิตใจระดับนั้น ผู้ปรารถนาความสงบสุขในจิตใจ จึงควรได้รู้จักการทำจิตตภาวนา หรือทำกรรมฐานโดยทั่วกัน เพราะเป็นทางที่จะนำไปสู่ความสุขได้จริง

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 183 มีนาคม 2559 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น