xs
xsm
sm
md
lg

ฮือฮา! รัฐสภาเกาหลีใต้ออก กม.เก็บภาษี “พระ-นักบวช” เริ่มใช้ปี 2018

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชาวคริสต์คาทอลิกในเกาหลีใต้ร่วมพิธีสวดมิสซาที่โป๊ปฟรานซิสทรงเป็นองค์ประธาน เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2014 (แฟ้มภาพ)
เอเอฟพี - รัฐสภาเกาหลีใต้ผ่านร่างกฎหมายใหม่ซึ่งกำหนดให้พระและนักบวชในศาสนาต่างๆ ต้อง “เสียภาษี” เช่นเดียวกับพลเมืองทั่วไป ซึ่งเป็นการยุติประเด็นถกเถียงที่มีการพูดถึงในสังคมเกาหลีใต้มานานกว่า 40 ปี

กฎหมายว่าด้วยการเก็บภาษีนักบวชได้รับการโหวตเห็นชอบ 195 เสียง คัดค้าน 20 เสียง โดยมี ส.ส.50 คนที่งดออกเสียง

ความพยายามที่จะดึงพระสงฆ์ บาทหลวง และศาสนาจารย์ทั้งหลายเข้าสู่ระบบจัดเก็บภาษีถูกต่อต้านมาโดยตลอดจากองค์กรศาสนาในเกาหลีใต้ ขณะที่ฝ่ายการเมืองก็เก้อเขินที่จะผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนถึงความละเอียดอ่อนของประเด็นนี้ก็คือ กฎหมายใหม่ได้กำหนดช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านไว้นานพอสมควร โดยจะเริ่มบังคับใช้จริงช่วงต้นปี 2018

กัง ซ็อก-ฮุน ส.ส.จากพรรครัฐบาลแซนูรี ชี้ว่า รัฐบาลจะใช้ช่วงเวลาผ่อนผัน 2 ปีทำความเข้าใจกับองค์กรศาสนา “เพื่อให้นโยบายนี้ปฏิบัติได้จริงโดยไม่เกิดความวุ่นวายขึ้น”

เกาหลีใต้มีนักบวชและพระสงฆ์อยู่ประมาณ 360,000 รูป ซึ่งตามกฎหมายใหม่เงินรายได้ของนักบวชจะถูกจัดไว้ในหมวด “รายได้ทางศาสนา” (religious income) แทนที่จะเป็น “เงินสมนาคุณ” (honorarium) อย่างในปัจจุบัน

นักบวชที่มีรายได้ไม่เกิน 40 ล้านวอนต่อปี (ราว 1,230,000 บาท) จะถูกนำเงินได้เพียงร้อยละ 20 มาคิดภาษี ส่วนพวกที่มีรายได้ตั้งแต่ 150 ล้านวอน (ราว 4,620,000 บาท) ต่อปีขึ้นไป จะต้องนำเงินรายได้มาคิดคำนวณภาษีถึงร้อยละ 80

ผลสำรวจพบว่า ชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีจากองค์กรศาสนา ซึ่งบางแห่งพยายามปกปิดการบริหารจัดการเงินไว้เป็นความลับสุดยอด

“ศาสนาจารย์ที่ได้รับผลประโยชน์หรือของขวัญนอกเหนือจากเงินรายได้ต่อเดือน แต่ไม่จ่ายภาษี อาจถูกมองว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่พลเมือง” คิม ไอ-ฮี เลขาธิการกลุ่มพันธมิตรคริสเตียนเพื่อการปฏิรูปโบสถ์แห่งเกาหลีใต้ ระบุ

สำมะโนประชากรที่จัดทำล่าสุดเมื่อปี 2005 ซึ่งมีการสำรวจความเชื่อทางศาสนาด้วย พบว่าชาวเกาหลีใต้เกือบร้อยละ 30 นับถือศาสนาคริสต์ และอีกร้อยละ 23 เป็นชาวพุทธ

นักบวชคาทอลิกในเกาหลีใต้ “อาสา” จ่ายภาษีให้รัฐมาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1990 ส่วนกลุ่มที่ต่อต้านรุนแรงเป็นพิเศษคือชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า และมีอิทธิพลทางการเมืองค่อนข้างสูง

โบสถ์โปรเตสแตนต์บางแห่งมีทั้งสัปปุรุษและทรัพย์สินจำนวนมหาศาล มีการบริหารจัดการคล้ายกับระบบศักดินาย่อมๆ (mini-fiefdom) โดยศาสนาจารย์จะถ่ายโอนอำนาจปกครองโบสถ์และธุรกิจต่างๆ ให้ลูกหลานของตนเป็นผู้สืบทอด

เมื่อปีที่แล้ว ศาสนาจารย์แห่งโบสถ์ โยอิโด ฟูลล์ กอสเปล ในกรุงโซล ซึ่งเป็นโบสถ์ใหญ่ที่มีสัปปุรุษมากกว่า 830,000 คน (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย ปี 2007) ถูกศาลตัดสินจำคุก 3 ปีรอลงรออาญาในคดียักยอกทรัพย์สินมูลค่าหลายล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ดี กลุ่มที่คัดค้านการเก็บภาษีนักบวชก็อ้างว่าพวกเขายึด “หลักการ” มากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว

“ถ้ารัฐเก็บภาษีจากผู้ปฏิบัติธรรม ก็เท่ากับเอากิจกรรมทางศาสนาไปเทียบกับกิจกรรมการค้า” คณะกรรมการโบสถ์แห่งเกาหลีใต้ซึ่งเป็นกลุ่มโปรเตสแตนต์สายอนุรักษ์นิยม แถลง

ชอย กวี-ซู โฆษกคณะกรรมการ ชี้ว่า ศาสนาจารย์นิกายโปรเตสแตนต์ส่วนใหญ่แต่งงานมีครอบครัว จึงเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดหากมีการเรียกเก็บภาษี

“ศาสนาจารย์เหล่านี้ไม่เหมือนพระสงฆ์หรือบาทหลวงคาทอลิกที่มีรายได้น้อยก็อยู่ได้ รัฐบาลควรคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย” ชอย ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี

กำลังโหลดความคิดเห็น