xs
xsm
sm
md
lg

คุณภาพและจำนวนลดลง : ปัญหาสงฆ์ที่ควรแก้ไข

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

เวลานี้ ถ้าท่านเดินทางไปยังท้องที่ห่างไกลในต่างจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้ และต้องการนิมนต์พระสงฆ์เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาจำนวน 9 รูป ท่านอาจต้องไปถึง 3-4 วัดจึงจะได้ภิกษุสามเณรครบตามจำนวน ทั้งนี้เนื่องจากว่าแต่ละวัดมีภิกษุสามเณรเหลืออยู่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นอกฤดูกาลเข้าพรรษาเมื่อเทียบกับอดีต ทั้งนี้เนื่องจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ในอดีตวัดเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ ศิลปะวิทยาการแขนงต่างๆ เช่น ภาษาไทย วิชาช่างสาขาต่างๆ และการแพทย์ เป็นต้น โดยมีพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้สอนควบคู่ไปกับการอบรมทางด้านศีลธรรม จริยธรรม ขนบธรรมเนียม และประเพณีต่างๆ อันเกี่ยวข้องกับศาสนา

ด้วยเหตุนี้ พ่อแม่จะส่งลูกชายในวัยเด็กไปอยู่วัดรับใช้พระสงฆ์ และในขณะเดียวกัน ก็ศึกษาเล่าเรียนวิชาแขนงต่างๆ ตามที่แต่ละคนถนัดควบคู่ไปกับการฝึกอบรมทางด้านจิตใจ ปลูกฝังคุณธรรม

เมื่อเด็กโตขึ้นและมีศรัทธาปรารถนาจะบวชเป็นสามเณร ก็จะได้รับการอนุเคราะห์จากทางวัด และได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่และญาติพี่น้องจึงเกิดเป็นประเพณี ผู้ชายชาวพุทธจะต้องเข้าวัดบวชเรียนเพื่อให้เป็นชายที่สมบูรณ์พร้อมที่จะแต่งงานเป็นหัวหน้าครอบครัวต่อไป

สำหรับการอุปสมบทเป็นภิกษุเกิดขึ้นได้ 2 วิธีคือ

1. ผู้ที่บวชเป็นสามเณรเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ก็จะได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุ

2. สำหรับผู้ที่มิได้บวชเป็นสามเณรมาก่อน เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และต้องการจะอุปสมบทเป็นภิกษุ ตามธรรมเนียมไทยในยุคโบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคใต้จะต้องไปอยู่วัดรับใช้พระสงฆ์ และท่องบทสวดต่างๆ ชั่วระยะหนึ่งอาจเป็น 3-4 เดือนก่อนจะได้รับอนุญาตให้อุปสมบท และในชั่วระยะเวลาที่ว่านี้ ผู้ที่ไปอยู่วัดเรียกว่า นาค

การบวชเป็นสามเณรก่อนแล้วค่อยอุปสมบทเป็นภิกษุก็ดี การเข้าไปอยู่วัดเป็นนาคก่อนอุปสมบทก็ดี อาจเรียกได้ว่าเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนอุปสมบทเป็นภิกษุก็ได้ และการเป็นสามเณรก่อนบวชเป็นภิกษุก็ดี การเข้าวัดก่อนอุปสมบทก็ดี ทำให้พระภิกษุมีความรู้และมีความเข้าใจในเพศและภาวะของความเป็นภิกษุอย่างดี จึงเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของผู้ที่เข้าวัดแสวงหาบุญ

พระภิกษุซึ่งมีที่มาในทำนองนี้ ถ้าอยู่ต่อไปนานๆ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อพระศาสนา ถ้าเบื่อหน่ายเพศและภาวะของความเป็นภิกษุ ลาสิกขาออกไปเป็นผู้ครองเรือนหรือฆราวาส ก็จะเป็นผู้มีคุณธรรมเป็นผู้นำสังคมในด้านคุณธรรม และจริยธรรม ทั้งจะเป็นผู้ประกอบสัมมาชีพเลี้ยงครอบครัวให้เป็นคนดีของสังคมต่อไป

2. แต่ในปัจจุบัน วัดมิได้เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้เฉกเช่นในอดีต ทั้งนี้เนื่องจากว่าศิลปวิทยาการในทางโลกได้ก้าวหน้าไปไกล และบางแขนงวิชาอาจไม่เหมาะสมกับเพศและภาวะของนักบวช ประกอบกับสถานศึกษาได้ออกนอกวัด และมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ภายใต้การจัดการของฝ่ายอาณาจักรจึงทำให้วัดพ้นจากการเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้วิชาการแขนงต่างๆ นอกเหนือจากศีลธรรมและจริยธรรม หรือแม้กระทั่งวิชาปรัชญา และศาสนาเปรียบเทียบก็มีส่วนในสถาบันการศึกษา ภายใต้การดำเนินการของฝ่ายอาณาจักร

ด้วยเหตุนี้ พ่อแม่ก็หมดความจำเป็นในอันที่จะต้องส่งลูกชายไปอยู่วัด เพื่อรับใช้พระและศึกษาเล่าเรียนดังเช่นในอดีต

และนี่เองคือจุดเริ่มต้นให้เด็กห่างวัด เนื่องจากไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพระ

ในการศึกษาเล่าเรียน จึงยังคงเหลือแค่บวชตามประเพณีในฤดูกาลเข้าพรรษา 3 เดือน หรือในบางรายบวชแค่ 7 วัด 10 วันหรือไม่ก็แค่เดือนเดียว และนี่เองน่าจะเป็นที่มาของการจำแนกประเภทของการบวชไว้ 5 ประเภทคือ 1. บวชเล่นบวชลอง 2. บวชครองประเพณี 3. บวชหนีสงสาร (สังสารวัฏ) 4. บวชผลาญข้าวสุก 5. บวชสนุกตามเพื่อน

ใน 5 ประเภทนี้ มีประเภทเดียวที่มีสารประโยชน์คือ บวชหนีสารหมายถึงบวชเพื่อความหลุดพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย อันได้แก่บวชเพื่อความหลุดพ้นนั่นเอง

จากการที่มีผู้บวชน้อยลงหรือบวชไม่น้อยไปกว่าเดิม แต่บวชแล้วไม่อยู่เป็นสงฆ์สาวกสืบทอดพระศาสนา ทั้งลาสิกขาไปแล้วก็มิได้เป็นพุทธมามกะที่ดี เนื่องจากเมื่อบวชก็มิได้ศึกษาให้มีความรอบรู้ และมีความเข้าใจในหลักธรรม จึงทำให้เป็นพุทธบริษัท 4 ที่ด้อยคุณภาพ

ยิ่งกว่านี้ เมื่อจำนวนผู้บวชก็ลดลง และที่บวชแล้วยังคงอยู่เป็นพระก็ไม่ได้คุณภาพ ไม่มีคุณธรรม จึงทำให้ศาสนาพุทธเสื่อมลง

อีกประการหนึ่ง เมื่อมีพระเหลืออยู่น้อยแต่วัดมีจำนวนมาก และมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นใหญ่เกิดขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้วัดขาดผู้ดูแลอย่างทั่วถึง ทำให้มีสภาพไม่ต่างไปจากวัดร้าง เสนาสนะผุพังหญ้าขึ้นรก ขยะกลาดเกลื่อนไม่เป็นที่เจริญหูเจริญตา ไม่อยู่ในสภาวะจะดึงดูดศรัทธาให้เข้ามาทำบุญ และที่ยิ่งกว่านี้ บางวัดมีแค่หลวงตาหรือพระที่บวชเมื่อแก่อยู่เฝ้าวัด ไม่เรียนรู้และไม่ประพฤติธรรม จึงเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้านได้ไม่มาก จะทำได้ก็แค่ประกอบพิธีกรรมรับสังฆทานให้ศีลให้พรพอเป็นพิธี และนี่เองคือเหตุที่ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่นิยมเข้าวัด เนื่องจากเข้าไปแล้วไม่ได้รับคำสอนที่ควรสอนแก่คนรุ่นใหม่ ซึ่งอยู่ในวัยแสวงหาคำตอบให้กับชีวิต ด้วยความอยากรู้อยากเห็น แต่หลวงตาหรือผู้บวชเมื่อแก่น้อยรูปที่จะให้คำตอบเหล่านี้ได้ และที่เป็นเช่นนี้ ผู้เขียนมิได้คิดและคาดการณ์เอาเอง แต่มีพุทธพจน์รองรับในเรื่องนี้ ซึ่งปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ผู้บวชเมื่อแก่ที่ประกอบด้วยธรรม 5 ประการหาได้ยากคือ

1. ผู้บวชเมื่อแก่ที่ว่าง่ายหาได้ยาก

2. ผู้บวชเมื่อแก่รับโอวาทด้วยดีหาได้ยาก

3. ผู้บวชเมื่อแก่รับโอวาทโดยเคารพหาได้ยาก

4. ผู้บวชเมื่อแก่เป็นธรรมศึกหาได้ยาก

5. ผู้บวชเมื่อแก่ เป็นผู้ทรงวินัยหาได้ยาก

จากพุทธพจน์ข้อนี้เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ถ้าวัดใดมีแค่หลวงตาองค์เดียวหรือหลายองค์ แต่เป็นประเภทเดียวกัน ก็ไม่ช่วยให้คนเข้าวัดซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ได้คำตอบที่อยากได้ เนื่องจากว่าผู้บวชเมื่อแก่เป็นผู้มีความรู้หาได้ยาก เมื่อเทียบจำนวนกับคุณภาพ

อีกประการหนึ่ง สามเณรซึ่งถือได้ว่าเป็นเหล่ากอหรือเป็นหน่อ ซึ่งพร้อมที่จะเป็นภิกษุที่ดี และมีความรู้เป็นผู้เข้าถึงธรรมจะเกิดขึ้นได้ ก็จะต้องมีผู้คอยควบคุม และแนะนำพร่ำสอนอบรมบ่มนิสัย จึงจะเติบโตและเป็นพระที่ดีได้

แต่เมื่อวัดมีแต่หลวงตา ถึงแม้จะมีเด็กวัดและสามเณรก็ไม่ช่วยให้มีพระที่ดีสืบทอดศาสนาได้ ดังจะเห็นได้จากบางวัดจัดบวชสามเณรเป็นร้อยแล้วปล่อยให้ซุกซนแบบเด็ก ถึงกำหนดลาสิกขาออกไปเด็กก็กลับบ้านมือเปล่าไม่มีธรรมกลับไป

ด้วยเหตุนี้ ถ้าจะให้พุทธศาสนายั่งยืนและมั่นคง ทั้งยังคงคำสอนอันเป็นแก่นไว้ได้ จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขโดยการเพิ่มจำนวน และคุณภาพของภิกษุสามเณรไปพร้อมๆ กัน การพัฒนาด้านวัตถุคือการสร้างวัดแล้วจะต้องมีการเพิ่มจำนวนผู้เข้ามาบวชที่มีความรู้และมีคุณธรรมเป็นผู้นำทางด้านจริยธรรม เพื่อนำสังคมไปสู่การพัฒนาทางด้านจิตใจไปพร้อมๆ กัน

แต่การจะแก้ปัญหานี้ให้บรรลุผลได้ คงหนีไม่พ้นที่ฝ่ายศาสนจักรต้องร่วมมือกับฝ่ายอาณาจักรหา ไม่แล้วคงได้แค่คิดและพูดเท่านั้น ไม่มีผลอันใดเหมือนกับหลายๆ ปัญหาที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น