xs
xsm
sm
md
lg

ยอดธรรมะจากพระดี : พรชีวิตปีใหม่ 2559

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เบิกบานทางกายในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่แพรวพรายด้วยสีสันแห่งชีวิต ยังไม่ลืมความเบิกบานทางความคิดและจิตวิญญาณ...เราคัดสรรพระธรรมคำสอนจากพระเถระผู้ดีงามด้วยปฏิปทา เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต น้อมนำใส่ดวงจิตเป็นเข็มทิศชี้ทางสำหรับการดำเนินชีวิตในปีที่จะถึง หรือปีต่อๆ ไป

        พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี



“ระยะเวลานี้ มีคนแสวงบุญกันมาก แต่ว่าไม่เคยเห็นญาติโยมที่แสวงหาการละบาป มีแต่แสวงบุญเรื่อยไป ไม่รู้จะเอาบุญไปไว้ตรงไหน ผ้าสกปรกไม่ฟอก แต่อยากจะรับน้ำย้อมนะ มันเป็นอย่างนั้น

ธรรมดาของเรานะ เวลาจะย้อมผ้า ก็จะต้องทำผ้าของเราให้สะอาดเสียก่อน อันนี้ไม่อย่างนั้นสิ เราไปเที่ยวตลาด เห็นสีมันสวยๆ ก็นึกว่าสีนั้นสวยดี เราจะย้อมผ้าละ ไม่ดูผ้าของเรา จับสีขึ้นมา เห็นสีสวยๆ ก็จะเอามาย้อมผ้าอย่างนั้นแหละ เอามาถึงก็เอามาย้อมเลย ผ้าของเรายังไม่ได้ฟอก ไม่สะอาด มันก็ยิ่งขี้เหร่ไปกว่าเก่าเสียแล้ว

บางทีก็พากันไปแสวงหาบุญกัน ไปรถบัสคันใหญ่ๆ สองคันสามคัน พากันไป ไปกัน บางทีทะเลาะกันเสียบนรถก็มี บางทีกินเหล้า เมากันบนรถก็มี ถามว่าไปทำไม ไปแสวงบุญกัน ไปแสวงหาบุญ ไปเอาบุญ แต่ไม่ละบาป ก็ไม่เจอบุญกันสักที

ให้มองดูใกล้ๆ มองดูตัวเรา พระพุทธเจ้าท่านให้มองดูตัวเรา ให้สติสัมปชัญญะอยู่รอบๆ ตัวเรา ท่านสอนอย่างนี้ บาปกรรมทำชั่วทั้งหลายมันเกิดขึ้นทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ บ่อเกิดของบาปบุญ คุณโทษก็คือกาย วาจา ใจ เราเอากาย วาจาใจ มาด้วยหรือเปล่าวัน หรือเอาไว้ที่บ้าน นี่ต้องดูอย่างนี้ ดูใกล้ๆ อย่าไปดูไกล เราดูกายของ เรานี่ ดูวาจาดูใจของเรา ดูว่าศีลของเราบกพร่องหรือไม่

โยมผู้หญิงเราก็เหมือนกันแหละ ล้างจานแล้วก็บ่นหน้าบูด หน้าเบี้ยวอยู่นั่นแหละ มัวไปล้างแต่จานให้มันสะอาด แต่ใจเราไม่สะอาด นี่มันไม่รู้เรื่อง เห็นไหม ไปมองดูแต่จาน มองดูไกลเกินไปใช่ไหม สะอาดแต่จานเท่านั้นแหละ แต่ใจเราไม่สะอาด นี่มันก็ไม่ดี เรียกว่าเรามองข้ามตัวเอง ไม่มองดูตัวเอง ไปมองดูแต่อย่างอื่น จะทำความชั่วทั้งหลาย ก็ไม่เห็นตัวของเรา ไม่เห็นใจของเรา ภรรยาก็ดี สามีก็ดี ลูกหลานก็ดี จะทำความชั่วแต่ละอย่างก็ต้องมองโน้นมอง นี้ แม่จะเห็นหรือเปล่า ลูกจะเห็นหรือเปล่า สามีจะเห็นหรือเปล่า ภรรยาจะเห็นหรือเปล่า อะไรอย่างนี้ ถ้าไม่มีใครเห็นแล้วก็ทำ อันนี้มันดูถูกตัวเองว่าคนไม่เห็นก็ทำดีกว่า รีบทำเร็วๆ เดี๋ยวคนจะมาเห็น แล้วตัวเราที่ทำนี่ มันไม่ใช่คนหรือ เห็นไหม นี่มันมองข้ามกันไปเสีย อย่างนี้ จึงไม่พบของดี ไม่พบธรรมะ ถ้าเรามองดูตัวของเรา เราก็จะเห็นตัวเรา จะทำชั่วเราก็รู้จัก ก็จะได้ห้ามเสียทันที จะทำความดีก็ให้ด ที่ใจ เพราะเราก็มองเห็นตัวของเราอยู่แล้ว ก็จะรู้จักบาป รู้จักบุญ รู้จักคุณ รู้จักโทษ รู้จักผิด รู้จักถูก อย่างนี้ก็ต้องรู้สึกสิ

การละความชั่ว ประพฤติความดี นี่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา “สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง” การไม่ทำบาปทั้งทางกาย วาจา ใจ นั่นแหละถูกแล้ว เป็นคำสอนของพระ ถูกแล้วสะอาดแล้วล่ะทีนี้ ต่อนั้นไปก็ “กุสะละสูปะสัมปะทา” คือ ทำใจให้เป็นบุญเป็นกุศล คงรู้จักแล้ว เมื่อจิตเป็นบุญ จิตเป็นกุศลแล้วเราก็ไม่ต้องนั่งรถไป แสวงหาบุญที่ไหนใช่ไหม นั่งอยู่ที่บ้าน เราก็จับบุญเอา จับเอา ก็เรารู้จักแล้ว อันนี้ไปแสวงหาบุญกันทั่วประเทศ แต่ไม่ละบาป กลับไปบ้าน ก็กลับไปเปล่าๆ ไปทำหน้าบูดหน้าเบี้ยวอย่างเก่าอยู่นั่นแหละ ไปล้างจานหน้าบูดอยู่นั่นแหละ ไปดูแต่จานให้มันสะอาด แต่ใจเราไม่สะอาด ไม่ค่อยจะดูกัน นี่คนเรามันพ้นจากความดีไปเสียอย่างนี้ คน เราน่ะมันรู้ แต่ว่ามันรู้ไม่ถึง เพราะรู้ไม่ถึงใจของเรา ฉะนั้น หัวใจของพระศาสนาจึงไม่ผ่านเข้าหัวใจของเรา ใช่ไหม

เมื่อจิตของเราเป็นบุญเป็นกุศลแล้วมันก็จะสบาย นั่งยิ้มอยู่ในใจของเรานั้นแหละ แต่นี่หาเวลายิ้มได้ยากใช่ไหมนี่ เวลาที่เราชอบ ใจถึงยิ้มได้ใช่ไหม เวลาไม่ชอบใจละก็ยิ้มไม่ได้ จะทำยังไง ไม่สบายหรือสบายแล้ว คนเราต้องมีอะไรชอบใจเราแล้วจึงจะสบาย ต้องให้คนในโลกทุกคนพูดทุกคำให้ถูกใจเราหมด แล้วจึงจะสบายอย่างนั้นหรือ ถ้าเป็นอย่างนั้น เราจะสบายได้เมื่อไร มีไหมใครจะพูดถูกใจเราทุกคน มีไหมนี่ แล้วเราจะเอาสบายได้เมื่อไร

เราต้องอาศัยธรรมะ ถูกก็ช่างไม่ถูกก็ช่างเถอะ เราอย่าไปหมายมั่นมัน จับดูแล้วก็วางเสีย เมื่อใจสบายแล้ว ก็ยิ้มอยู่อย่าง นันแหละ อะไรที่ว่ามันไม่ดี ไม่พอใจของเราเป็นบาป มันก็หมดไป มี อะไรดี มันก็คงต้องเป็นไปของมันอย่างนั้น “สะจิตตะปะริโยทะปะนัง” เมื่อชำระบาปแล้วมันก็หมดกังวล ใจก็สงบ ใจเป็นบุญเป็นกุศล เมื่อใจเป็นบุญ เมื่อใจเป็นกุศลแล้ว ใจก็สบาย สว่าง เมื่อจิตใจมันสว่างแล้ว ก็ละบาป ใจสว่างใจผ่องใส จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน มันก็สบาย เมื่อสบายสงบแล้วนั่นแหละ คือคุณสมบัติของมนุษย์ที่แท้เต็มที่” (ข้อมูล : www.watkoh.com / ภาพ : www.dhammajak.net)


        พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)
วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี



“สิ่งที่แก้ตัวไม่ได้ในปัจจุบันได้แก่การเกิด คือการเกิดมาแล้วจะเป็นสัตว์หรือเป็นมนุษย์ย่อมแก้ไขไม่ได้ ในชาติหนึ่งๆ เหมือนสอบไล่ชั้นนั้นๆ เมื่อสอบตกในขณะนั้นแล้ว จะขอสอบแก้ตัวใหม่ย่อมไม่ได้ ต้องเรียนต่อไปอีกจนมีภูมิความรู้ควรจะสอบและโอกาสอำนวยแล้ว จึงจะสอบได้อีก ถ้าสอบได้ก็เลื่อนชั้นขึ้นไป

เราเกิดมาเป็นมนุษย์และสัตว์ จะถูกหรือผิดก็เกิดมาแล้ว เป็นสัตว์ประเภทใดก็เป็นเต็มที่ เป็นคนชั้นไหนก็เป็นคนเต็มที่ เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่ให้ประมาทในคุณค่าแห่งการเกิดของตน กำเนิดที่ต่ำเช่นสัตว์มีมากเหลือประมาณ ไปที่ไหนเจอแต่สัตว์ ในน้ำก็มี บนบกก็มี บนต้นไม้ ชายเขา ใต้ดิน บนอากาศ มีเกลื่อนไปหมด เพราะกำเนิดต่ำ สัตว์เกิดได้ง่าย แต่มนุษย์เราเกิดยากกว่าสัตว์ ฉะนั้น ความเป็นมนุษย์จึงเป็นลาภอันสูงสุดในชาตินี้

ด้วยเหตุนี้ ความเป็นมนุษย์จึงอยู่ในความนิยมของโลกว่าเป็นภพชาติที่สูงและเป็นที่รวมแห่งความดีทั้งปวงไว้ด้วย เช่น พระศาสนา เครื่องหล่อหลอมมนุษย์ให้เป็นคนดีก็รวมอยู่ที่นี่ แม้พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาที่เยี่ยมด้วยเหตุผลก็มีอยู่กับมนุษย์เรา พระพุทธเจ้าก็มาตรัสรู้ในแดนแห่งมนุษย์เรานี้ พระสาวกเกิดเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์แล้ว จึงสามารถปฏิบัติธรรมจนได้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า ฉะนั้น ความเป็นมนุษย์จึงเป็นผู้มีภาชนะอันดีสำหรับรับรอง ทั้งกองสมบัติเงินทองของมีค่าในโลก ทั้งโลกุตรภูมิสมบัติ จึงควรภาคภูมิใจในบุญวาสนาของตน จึงควรเห็นคุณค่าในตัวเราและชีวิตจิตใจซึ่งครองตัวอยู่ขณะนี้

เราทุกท่านต่างก็เป็นนายช่างผู้ฝึกฝนอบรมตน อย่างไรจะเป็นที่มั่นใจ โปรดกระทำลงไปจนสุดความสามารถในขณะมีชีวิตอยู่ ถ้าชีวิตหาไม่แล้วจะสุดวิสัย เพราะร่างกายแตกสลาย ต้องหมดทางเดินทันทีที่ชีวิตสิ้นสุดลง

เราจึงไม่ควรเห็นสิ่งใดว่าเป็นของมีคุณค่ายิ่งกว่าใจ ซึ่งกำลังรับผิดชอบในสมบัติทุกสิ่งอยู่เวลานี้ แม้เราจะเสาะแสวงหาสิ่งใดมาเพื่อบำบัดร่างกายและจิตใจให้มีความสุขเท่าที่ควรจะเป็นได้ แต่เราอย่าลืมตัวถึงกับได้ผิดพลาดไปกับสิ่งนั้นๆ จนถอนตัวไม่ขึ้น เพราะอำนาจความอยากเป็นเจ้าของเรือนใจ ถ้าได้รับการอบรมอยู่เสมอ อย่างไรก็ไม่ตกต่ำและถอยหลังมาสู่ความทุกข์และความต่ำทรามต่างๆ ที่ไม่พึงปรารถนา จะก้าวไปทีละเล็กละน้อย และก้าวไปเสมอจนถึงจุดประสงค์จนได้

ผู้มีความเจริญรุ่งเรืองทั้งทรัพย์ภายนอกและทรัพย์ภายใน คือคุณสมบัติของใจ ท่านเจริญรุ่งเรืองได้เพราะการฝึกฝนดัดแปลง อย่าเข้าใจว่าเป็นไปจากเหตุอื่นใดทั้งสิ้น เพราะกายวาจาใจเป็นสิ่งอบรมดัดแปลงได้ด้วยกัน ไม่เช่นนั้น จะหาคนดีคนฉลาดไม่ได้ในโลกมนุษย์เรา และจะไม่ผิดอะไรกับสัตว์ที่มิได้ฝึกหัดดัดแปลงเลย สิ่งที่จะทำให้คนดีคนชั่วได้ จึงขึ้นอยู่กับการฝึกหัดดัดแปลงตัวเอง ตามใจชอบ ผลก็กลายเป็นคนดีคนชั่ว และสุขทุกข์ขึ้นมาเป็นเงาตามตัว

ฉะนั้น การไม่ปล่อยตัว คือให้อยู่ในกรอบของการสังเกตสอดรู้ของตัวเสมอ นั่นแลเป็นทางเจริญก้าวหน้า ผู้ชอบความเจริญก้าวหน้าจงเป็นผู้สงวนตน

อนึ่ง ธรรมเครื่องขัดเกลามนุษย์และสัตว์ให้เป็นคนดีและสัตว์ดีตามฐานะของตนนั้น มีอยู่กับทุกคน ไม่ว่านักบวชและฆราวาสหญิงชาย ขึ้นอยู่กับความขยันหมั่นเพียร ความอดทน ความดีความชั่วขึ้นอยู่กับตัวผู้ชอบทำ ทำที่ไหนก็ได้ ไม่นิยมว่าในบ้านนอกบ้าน ในวัดนอกวัด ในน้ำ บนบก เพราะต้นเหตุความดีและชั่ว มันอยู่กับตัวของผู้ทำ ไม่ได้อยู่ที่อื่นใดทั้งนั้น” (ข้อมูล : www.watkoh.com / ภาพ : www.luangta.com)


        พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)
วัดญาณเวศกวัน อ.สามพราน จ.นครปฐม



“พระพุทธเจ้าตรัสว่า มนุษย์สามารถหาความสุขที่ประณีตกว่าการบำเรอตา หู จมูก ลิ้น กาย ความสุขแบบนั้น ท่านเรียกว่า เป็นความสุขที่ประณีตขึ้น ซึ่งมีลักษณะสำคัญ คือเป็นอิสระ มนุษย์มีความสุขได้ โดยลำพังตัวเองในใจ และไม่ต้องขึ้นต่อวัตถุภายนอก ซึ่งหมายความว่า แม้วัตถุภายนอกนั้นไม่มีอยู่ เราก็มีความสุขได้ ข้อสำคัญก็คือ มันเป็นความสุขพื้นฐาน ที่จะทำให้การแสวงหา หรือการเสพความสุขภายนอก เป็นไปอย่างพอดี อยู่ในขอบเขตที่สมดุล ทำให้มีความสุขแท้จริง และไม่เบียดเบียนกันในทางสังคม

ถ้าคนมีความสุขประเภทนี้ เป็นรากฐานอยู่ภายในตนเองแล้ว การหาความสุขทางวัตถุ มาบำเรอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จะมีขอบเขต ท่านเรียกว่า รู้จักประมาณ ถ้าเรามีความสุขข้างในแล้ว ความสุขที่ได้ข้างนอก ก็เป็นความสุขที่เติมเข้ามา เป็นของแถม หรือกำไรพิเศษ และอิ่มอยู่เสมอ แต่ถ้าเราไม่มีความสุขในจิตใจ มีใจเร่าร้อน กระวนกระวาย หรือมีความเบื่อ มีความเครียด มีปัญหาอยู่ภายในใจของตนเองแล้ว พอหาวัตถุมาบำเรอตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จะต้องมีปัญหาต่อไปอีก คือ

๑.ไม่สามารถมีความสุขได้เต็มที่
๒.เมื่อทำโดยมีปมปัญหาในใจ ก็ทำอย่างไม่พอดี ทั้งทำให้เกิดปัญหาวุ่นวาย และตัวเองก็ไม่ได้ความสุขจากภายนอกเต็มที่ด้วย และประการสำคัญก็คือ พอทำอะไรออกมา เพื่อหาความสุขเหล่านั้น ก็ทำให้เกิดการปะทะ กระทบซึ่งกันและกัน ก็เลยกลายเป็นปัญหาสังคมขยายบานปลายออกไป

ถ้าความสุขนั้น ยังต้องขึ้นอยู่กับสิ่งอื่น มันก็ผันแปรได้ และตัวเราก็ไม่เป็นอิสระ เพราะสิ่ง นั้นตกอยู่ใต้กฎธรรมชาติ เป็นไปตามอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันสามารถกลับย้อน มาทำพิษแก่เราได้ สิ่งภายนอกที่เราอาศัยนั้น มันไม่ได้อยู่กับตัวข้างในเรา ไม่เป็นของเราแท้จริง เมื่อเราฝากความสุขไว้กับมัน ถ้ามันมีอันเป็นอะไรไป เราก็ทุกข์

ความดีก็เหมือนกัน เมื่อเรามีความสุข เพราะอาศัยมัน ถ้าความดีนั้น เราทำไปแล้ว คนอื่นไม่เห็น หรือไม่ชื่นชม บางทีใจเราก็หม่นหมองไปด้วย จึงเรียกว่า เป็นความสุขที่ยังอิงอาศัยอยู่ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องก้าวต่อไปสู่การมีปัญญา รู้ความจริงของสิ่งทั้งหลาย รู้ว่าธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย ก็เป็นอย่างนี้ ไม่ว่าอะไรที่เป็นสังขาร จะเป็นรูปธรรม หรือนามธรรม เป็นความชั่ว หรือความดี เป็นวัตถุ หรือเป็นเรื่องของจิตใจ มันก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งนั้น

เมื่อรู้ความจริงแล้ว ก็จะเข้าถึงกระแสของธรรมชาติ เรียกว่ากระแสแห่งเหตุปัจจัย ปัญญา ของเราก็เข้าไปรู้ทันกระแสแห่งเหตุปัจจัยนี้ พอปัญญารู้เท่าทันมันแล้ว เราก็วางใจได้ รู้สึกเบา สบาย เราก็รู้แต่เพียงความเป็นจริงว่า เวลานี้ สิ่งนี้เป็นอย่างนี้ มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เมื่อรู้ทันแล้ว สิ่งนั้นก็ไม่ย้อนมาทำพิษแก่จิตใจของเรา จิตใจของเราก็เป็นอิสระ

สิ่งทั้งหลายที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีความเปลี่ยนแปลงเป็นไปต่างๆ มันก็ต้องเป็นอย่างนั้นเป็นธรรมดา เพราะมันอยู่ในกฎธรรมชาติอย่างนั้น ไม่มีใครไปแก้ไขได้ แต่ที่มันเป็นปัญหาก็เพราะว่าในเวลาที่มันแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปตามกฎธรรมชาตินั้น มันพลอยมาเบียดเบียนจิตใจของเราด้วย เพราะอะไร? ก็เพราะเรายื่นแหย่ใจของเราเข้าไปใต้อิทธิพลความผันผวนปรวนแปรของธรรมชาตินั้นด้วย

ดังนั้น เมื่อสิ่งเหล่านั้นปรวนแปรไปอย่างไร ใจของเราก็พลอยปรวนแปรไปอย่างนั้นด้วย เมื่อมันมีอันเป็นไป ใจของเราก็ถูกบีบคั้น ไม่สบาย แต่พอเรารู้เท่าทัน ถึงหลักธรรมชาติแล้ว กฎธรรมชาติ ก็เป็นกฎธรรมชาติ สิ่งทั้งหลายที่เป็นธรรมชาติ ก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ทำไมเราจะต้องเอาใจของเราไปให้กฎธรรมชาติบีบคั้นด้วย เราก็วางใจของเราได้

ความทุกข์ที่มีในธรรมชาติ ก็เป็นของธรรมชาติไป ใจของเราไม่ต้องเป็นทุกข์ไปด้วย ตอนนี้แหละที่ท่านเรียกว่ามีจิตใจเป็นอิสระ จนกระทั่งว่าแม้แต่ทุกข์ที่มีในกฎของธรรมชาติ ก็ไม่สามารถมาเบียดเบียนบีบคั้นใจเราได้ เป็นอิสรภาพแท้จริง ที่ท่านเรียกว่า วิมุตติ ความสุขจากความเป็นอิสระ ถึงวิมุตติ ที่มีปัญญารู้เท่าทันพร้อมอยู่นี้ เป็นความสุขที่สำคัญพอถึงสุขขั้นนี้แล้ว เราก็ไม่ต้องไปพึ่งอาศัยสิ่งอื่นอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม หรือนามธรรม มันจะกลายเป็นความสุขที่เต็มอยู่ในใจของเราเลย และเป็นสุขที่มีปหระจำอยู่ตลอดเวลา เป็นปัจจุบัน” (ข้อมูล : www.dhammathai.org / ภาพ : www.watnyanaves.net)


กำลังโหลดความคิดเห็น