xs
xsm
sm
md
lg

ลดอำนาจศาลรธน.ผ่าทางตัน เบรกส.ว.โหวตนายกฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (8มี.ค.) นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงว่า ที่ประชุมกรธ.ได้มีการปรับแก้ไข ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นการวินิจฉัยกรณีไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบังคับแก่กรณีใด (มาตรา 5/1) หรือ มาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งในร่างแรกของกรธ.ได้ให้หน่วยงานที่มีปัญหา ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่ง กรธ.ได้ทบทวนอีกครั้ง และเห็นสมควรปรับแก้โดยให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ จัดให้มีการประชุมร่วมกับประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสูด ประธาน องค์กรอิสระ เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด กรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ และมติที่ได้นั้นจะมีผลผูกพันกับทุกองค์กร
โดยประเด็นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจหยิบยกเรื่องขึ้นมาพิจารณาเองได้ ซึ่งตามขั้นตอน เมื่อมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เห็นว่ากรณีใดที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องส่งเรื่องมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในขั้นตอนแรกศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า เรื่องที่เสนอมามีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากเห็นว่าไม่มี ก็จะเรียกประชุมร่วมทันที เพื่อหาแนวทางจัดการปัญหาดังกล่าวต่อไป
"สาเหตุที่ กรธ.ลดอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีการวิจารณ์ว่าศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจมากเกินไป ตรงนี้กรธ.ต้องการลดความกดดันดังกล่าวลง จึงได้คิดแนวทางนี้ขึ้นมาใหม่" โฆษกกรธ. กล่าว
นอกจากนี้ กรธ.ได้ปรับเปลี่ยนเรื่องการวินิจฉัย กรณีมีการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ตามมาตรา 231 ซึ่งจากเดิมป.ป.ช.จะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณานั้นกรธ.ได้มีการปรับแก้ให้ ป.ป.ช. ส่งเรื่องไปให้ศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย แต่ถ้ากรณีที่ป.ป.ช.เป็นผู้ฝ่าฝืนจริยธรรมเอง ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ตั้งคณะกรรมการไต่สวนอิสระขึ้นมาตรวจสอบ จากนั้นก็ส่งเรื่องให้ศาลฎีกา เป็นผู้วินิจฉัย
นายอุดม กล่าวว่า กรธ.ยังได้ปรับเปลี่ยนการพิจาณาคดีของนักการเมือง ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากเดิม ที่พิจารณาอุทธรณ์ได้เฉพาะข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานใหม่ โดยปรับเปลี่ยนเป็นสามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน ในประเด็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง พร้อมปรับเปลี่ยนองค์คณะศาลฎีกาในชั้นต้น จากเดิม 9 คน เป็นไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 9 คน ขณะที่องค์คณะของศาลฎีกาในชั้นอุทธรณ์ มีจำนวน 9 คน มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกมาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา จากผู้ที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหัวหน้าคณะในศาลฎีกาหรือผู้ พิพากษาอาวุโส ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

**ให้มีส.ว.สรรหาแต่ไม่ให้เลือกนายกฯ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวการประชุมร่วมแม่น้ำ 4 สาย โดยไม่มีกรธ. เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า ได้มีการหารือประเด็นที่มา ส.ว. ถ้ามาจากการสรรหาทั้งหมดจะเป็นอย่างไร ถ้าผสมจะเป็นอย่างไร คัดสรร จะเป็นอย่างไร ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ไม่ได้เห็นด้วยกับการให้ ส.ว.มาเลือกนายกฯ แต่น่าจะเป็นกลไกของสภามากกว่า
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯ เห็นด้วยที่จะส.ว.มาจากการสรรหา แต่ไม่เห็นด้วยในเรื่องมีอำนาจเลือกนายกฯ ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ย้อนถามว่า สื่อเห็นด้วยหรือไม่ ความเห็นของตนคือ ทุกคนต้องช่วยหาทางออกให้กับประเทศว่าจะทำอย่างไรแล้วดูด้วยว่า ส.ว.เดิมที่เลือกตั้งกันมา มีปัญหาอะไรบ้าง แล้วจะแก้ปัญหา หรือยอมรับได้หรือไม่ว่าจะไม่ทำให้เกิดปัญหาเดิมขึ้นมาอีก ในสองสภา มันไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะคนคือคน ต่อให้เลือกมา ก็เป็นคน เป็นมนุษย์หากเราสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดได้ เรื่องเหล่านี้ก็คงไม่เกิด ไม่ต้องมาคัดสรรอะไรทั้งสิ้น ทุกคนมีจิตสำนึก มีอุดมการณ์ที่จะ ทำให้ประเทศปลอดภัยเท่านั้นคือหลักของตน
"ฉะนั้นการที่จะมีอะไรในบทเฉพาะกาล ผมเห็นด้วยเพราะ ผมเป็นคนถืออำนาจอยู่ และผมไม่ได้มุ่งหวังจะถืออำนาจตลอดชาติ ผมต้องการให้อำนาจเหล่านี้มาจากประชาชนโดยตรง คือการเลือก ส.ส.ถ้าท่านเลือก ส.ส.-ส.ว.ได้ดี ถ้าท่านมีความพร้อม ผมก็พร้อมให้ แล้วคิดว่าพร้อมหรือยังที่จะไม่กลับมาที่เดิม พร้อมไหมใครยืนยันกับผมสักคน แม้กระทั่งนักการเมืองในวันนี้ ผมขอร้องออกมาพูดในทางที่สร้างสรรค์บ้าง เช่นเห็นด้วยหรือไม่ แต่ถ้ามาย้อนว่าถอยหลังเข้าคลอง แล้วที่ผ่านมาแบบเดิมถอยหลังไปเท่าไหร่แล้ว วันนี้ผมหยุดถอยหลัง และเดินหน้ามาได้บ้าง แค่นี้ยังไม่ยอมกันเลย แล้วท่านจะคาดหวังอะไรจากเขาได้ ผมขอถามสิ และความเห็นส่วนตัวของผม ส.ว.ก็ไม่ควรจะยุ่งกับการเลือกตั้งนายกฯ เดิมเขาว่าอย่างไร ใครเป็นคนเลือกก็ว่าอย่างนั้น อะไรที่ไม่ขัดแย้งมากผมก็ไม่ยุ่งอยู่แล้ว" นายกฯ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น