xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” พร้อมแจงเหตุผลรัฐบาลเสนอใช้ รธน.สองขยัก ปัดแช่ตั้งพระสังฆราช

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ นัดหารือ กรธ.ข้อเสนอใช้ รธน.2 ช่วง ขณะเดียวกันพร้อมแจงเหตุผลประชาชน ระบุเป็นมาตรการรองรับช่วงเปลี่ยนผ่าน หากเกิดสถานการณ์แทรกซ้อนเหมือนช่วงก่อนยึดอำนาจ ส่วนประเด็นที่ถูกท้วงติงในร่าง รธน. หาก กรธ.ถอยไม่ได้ควรใช้เพียงระยะสั้นๆ จนกว่าบ้านเมืองปกติจึงให้แก้ไขได้ เหน็บ “นช.แม้ว” ไม่ควรระแวงคนอื่นเช่นกัน พร้อมปฏิเสธรัฐบาลดึงเรื่องตั้งพระสังฆราช ชี้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯบังคับใช้กับพระด้วย แต่ก็มีข้อยกเว้นบางอย่างไว้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อเสนอแนะต่อร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในข้อ 16 ว่า ถ้าดูคำปรารภในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 จะรู้มีอะไรเกิดขึ้นบ้างก่อนวันที่ 22 พ.ค. 2557 จึงอยากให้เอาปัญหาเหล่านี้มาคลี่ดูหากเหตุการณ์เหล่านั้นกลับมาอีกคิดว่ารัฐธรรมนูญที่ทำอยู่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้หรือไม่ ถ้าแก้ไม่ได้ช่วยคิดวิธีการที่จะแก้ ซึ่ง กรธ.อาจคิดแล้ว แต่ ครม.เห็นว่ายังมีการทักท้วงในหลายประเด็น ทั้งประเด็นที่มา ส.ว. จำนวนบัตรเลือกตั้ง การเสนอชื่อว่าที่นายกฯ นายกฯ คนนอก อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และความยากในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดย ครม.ได้ถามคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หากแก้ได้ก็แก้ไป แต่หากแก้ไม่ได้เพราะเปลี่ยนหลักการสำคัญนั้นมองว่าถึงอย่างไรก็ไม่ควรจะแก้ไม่ได้ตลอดไป มันต้องมีช่วงเวลา เช่น ช่วงเวลาแรก อาจกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลหรือกฎหมายลูก

“บางเรื่องที่ กรธ.บอกว่าถอยไม่ได้ ก็ให้ถอยไม่ได้ในช่วงแรก สั้นๆ กี่ปีก็แล้วแต่ เช่น ส.ว.สรรหา ที่อาจจำเป็นในช่วงต้น เรื่องนายกฯ คนนอก ถ้า กรธ.คิดว่าจำเป็นก็ใช้ในช่วงระยะเวลาแรก ต่อจากนั้นก็เข้าสู่อีกภาวะคือมา จาก ส.ส. เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำยาก อาจจะรักษาไว้ในช่วงแรกจากนั้นให้แก้โดยไม่ยากนัก เมื่อถึงจุดหนึ่งที่สถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงอาจจะอยากแก้ไขก็ได้ ยืนยันไม่มีอะไรไปถึง คปป.”

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขณะนี้ กรธ.ประสานให้ชี้แจงข้อสงสัยในข้อ 16 แล้ว โดยตนพร้อม รวมถึงการชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชน ซึ่งถ้าจะให้ออกโทรทัศน์ก็พร้อม อย่างไรก็ตาม บทเฉพาะกาลเช่นนี้มีมาโดยตลอด อย่างเช่นคุณสมบัติ ส.ส.ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ลักษณะต้องห้ามให้เป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ นั่นคือ การผลัดไปอีกช่วงหนึ่ง หรือจะเขียนให้เต็มไว้และยกเว้นการใช้เป็นการชั่วคราว โดยเขียนข้อกำหนดกำกับไว้ไม่ใช่เว้นไว้เฉยๆ เพราะจะกลายเป็นว่าทำอะไรก็ได้ตามใจ เราไม่อยากให้เกิดสภาวะเช่นนั้น โดยต้องการเอารัฐธรรมนูญมาวางให้คนเห็นทั้งฉบับ ให้รู้ว่า 1-2 ปีแรกเป็นอย่างไร หลังจากนั้นเป็นอย่างไร จะอยู่ปกครองกันอย่างไร หากมีการเลือกตั้งแล้วทุกอย่างสงบก็ไม่มีอะไรต้องพูดกัน

“แต่หากไม่แน่ใจ ยังห่วงเหตุการณ์ว่าจะมีอะไรสะดุดขึ้นมา ซึ่งผมว่าทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่ามีโอกาสเกิด หากเกิดแล้วจะทำอย่างไร ซึ่งที่ กรธ.เขียนไว้ก็แก้ปัญหาได้พอสมควร หาก กรธ.ยืนยันว่าพอแล้วก็ไม่ว่ากัน คุณรับผิดชอบเมื่อถึงเวลาอีกหนึ่งปีข้างหน้าถ้ามีเหตุการณ์รุนแรง เราถึงเตือนให้เอาเหตุการณ์ก่อน 22 พ.ค. 2557 มาพิจารณา”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันจะปรับแก้ทันหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า จะทันหรือไม่ยังมีเวลาอีก 1 เดือน มันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตรุนแรง และที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกมาระบุว่าอย่าระแวงตัวเขานั้น เป็นคำพูดที่ดี ใครต่อใครก็ไม่ควรระแวงใครในประเทศไทยทั้งนั้น เพราะการระแวงเป็นรากฐานของความไม่ไว้วางใจ สุดท้ายจะทำอะไรไม่ได้เลย จึงระวังได้ แต่อย่าระแวง

เมื่อถามว่า ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่อาจใช้เวลาถึง 5 ปีนั้นเพียงพอหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เหลือแหล่ไป แต่มาตรการในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อหากนานมากไปก็ไม่ใช่หัวเลี้ยวหัวต่อ ดังนั้น เป็นเพียงช่วงเวลาหนึ่ง แต่ถึงอย่างไรปัญหาต่างๆ ต้องเรียบร้อย ปัญหาความขัดแย้งถึงวันหนึ่งต้องจบลงให้ได้ เราหวังว่าเมื่อมีรัฐบาลเลือกตั้งจะแก้สิ่งที่เป็นจุดอ่อนในเวลานี้ได้ วันเวลาทำอะไรให้ดีขึ้นได้เพราะบรรยากาศเป็นใจ ความรู้สึกคนก็จะเปลี่ยน

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ในประเด็นประชามติว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาใกล้เสร็จสิ้น และได้รายงานมาให้ตนทราบปลายสัปดาห์ที่แล้ว แก้อยู่ 2-3 มาตรา ซึ่งควรจะเสร็จภายในเดือนมี.ค.ก่อนที่รัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายจะเสร็จ แต่ตรงนี้ไม่เกี่ยวกับบทลงโทษ เพราะตรงนั้นจะอยู่ในกฎหมายลูก โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่างเสร็จและอยู่ที่มือตนแล้ว แต่จะออกเป็นแบบใดยังคิดอยู่ ถ้าออกเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช.คงไม่สู้ดีนัก พ.ร.บ.อาจใช้เวลานาน พ.ร.ก.อาจจะเร็วหากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามั่นใจว่าตรวจดีแล้ว

นายวิษณุยังกล่าวถึงกระแสข่าวเรียกร้องให้แก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ว่า ตนยังไม่ได้ยินเรื่องดังกล่าว ไม่เห็นหนังสือพิมพ์ฉบับใดนำเสนอ จึงไม่ขอตอบในสิ่งที่ยังไม่ทราบ ส่วนกรณีนายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุระหว่างหารือกับสมาคมเปรียญธรรม 9 ประโยค (ป.ธ.9) ว่าหากมีเสียงคัดค้านการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ 1 ล้านคนจะทำอย่างไรนั้น เป็นเพียงการปรารภ พูดเผื่อ อย่างไรก็ตาม วันนี้สิ่งที่รัฐบาลคิดไม่ออกคือวิธีการที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว แต่เดี๋ยวคงรู้ เพราะรับฟังความคิดเห็นจากผู้รู้หลายๆ คน นายสุวพันธุ์ก็เดินสายพูดคุยสมาคมเปรียญธรรม 9 ประโยคมาแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะปล่อยเรื่องเอาไว้อย่างนี้ต่อไปหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้ปล่อยเรื่องไว้เฉยๆ เพราะหากเรียกว่าปล่อยแสดงว่าไม่ได้ทำอะไร แต่ถ้าทำอะไรอยู่จะเรียกว่าปล่อยคงไม่ได้

ส่วนที่พระจะออกมาชุมนุมจะต้องใช้มาตรการทางกฎหมายหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าเข่าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ ที่เขาว่าเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ตนไม่ทราบพฤติกรรมหรือเรื่องราวที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องเป็นผู้ดูแล เมื่อถามย้ำว่า หากไม่บังคับใช้กับพระ แต่บังคับใช้กับประชาชนทั่วไปถือเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่อยากตอบเพราะตอบแล้วจะกลายเป็นเรื่องอย่างอื่น

ต่อข้อถามว่า พระสงฆ์ถือว่าอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ทุกคนต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แต่ไปดูให้ดีมันมีกรรมวิธีในการใช้ คนที่ชุมนุมเป็นเขารู้ว่าควรทำอย่างไร เพราะมันมีข้อยกเว้นอะไรอยู่ว่ากรณีอะไรไม่ถือว่าเป็นการชุมนุมและไม่นำกฎหมายดังกล่าวมาใช้ เช่น การชุมนุมตามวัฒนธรรมประเพณี เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น