รองหัวหน้า ปชป.มองข้อเสนอ ส.ว.สรรหาทั้งหมดย้อนยุค เชื่อลากตั้งถูกครหาทำให้สังคมข้องใจทำไมต้องเลือกแต่คนรัฐ มองเลือก ส.ว.ที่ผ่านมายังไม่ตอบโจทย์ แนะปรับแก้ร่างแรกให้ ปชช.มีส่วนร่วมจะเกิดประโยชน์กว่า ฝาก กรธ.อย่าคิดเฉพาะหน้า ยึดหลักถูกต้องอย่าเป็นไม้หลักปักเลน ดักร่าง รธน.เลอะเทอะโอกาสรับร่างน้อย
วันนี้ (6 มี.ค.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ รัฐบาลจะให้มี ส.ว.สรรหา 200 คนในระยะเปลี่ยนผ่านว่า เป็นข้อเสนอที่ย้อนยุคมากเกินไป แม้จะใช้คำว่าสรรหาแต่เมื่อดูในทางปฏิบัติแล้วก็คงหนีไม่พ้นการแต่งตั้ง ที่ คสช.และรัฐบาลเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องไม่ทางตรงก็ทางอ้อมซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ลากตั้ง” และถ้าการแต่งตั้งมีคนมาจาก คสช. ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็จะหนีไม่พ้นที่จะถูกครหานินทาว่าร้ายอยู่ดี ถึงแม้ คสช.และรัฐบาลจะมีเจตนาดีต่อบ้านเมือง อยากให้มี ส.ว.มาช่วยสานงานต่อด้านปฏิรูป แต่คนอื่นในสังคมก็อาจจะคิดได้เช่นกันว่าทำไมต้องมีเฉพาะพวกที่ได้ รับแต่งตั้งจาก คสช.และรัฐบาลเท่านั้น จึงจะทำการปฏิรูประยะเปลี่ยนผ่านได้
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า เมื่อพิจารณาซึ่งการได้มาของ ส.ว.ก็จะเห็นว่าประเทศไทยเคยกำหนดวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว.มาแล้วหลายรูปแบบ มีทั้งแบบแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจ ก็ถูกตำหนิว่าทำงานรับใช้ผู้มีอำนาจอย่างเดียว ประชาชนไม่มีส่วนร่วม แต่พอมาใช้วิธีเลือกตั้ง ส.ว.โดยตรงจากประชาชนก็ถูกสื่อมวลชนประจำรัฐสภาตั้งฉายาว่า “สภาทาส” จึงเปลี่ยนมาเป็นเลือกตั้งครึ่งหนึ่งและสรรหาครึ่งหนึ่ง ก็ยังไม่ตอบโจทย์ของสังคมได้
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จึงเสนอการได้มาซึ่ง ส.ว.ในร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกให้เป็นแบบเลือกทางอ้อม เลือกไขว้จากกลุ่มสาขาอาชีพ ซึ่งก็เป็นรูปแบบใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าจะตอบโจทย์ของสังคมได้หรือไม่ อย่างไรก็ดี ถ้าต้องเลือกระหว่าง ส.ว.สรรหา หรือ ส.ว.แต่งตั้ง กับรูปแบบการได้มาซึ่ง ส.ว.ตามร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกของ กรธ. ควรนำรูปแบบตามร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกมาปรับแก้ไขให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้นน่าจะเกิดประโยน์มากกว่า
“อยากจะฝากไปถึง กรธ.ว่า ขณะนี้อนาคตของประเทศอยู่ในกำมือแล้ว ท่านจะทำให้ประเทศเดินหน้าหรือถอยหลังจะทำให้มีปัญหาเพิ่มขึ้น หรือปัญหาลดลง อยากให้คิดให้ไกลแล้วไปให้ถึง ไม่ใช่คิดแค่เฉพาะหน้า เฉพาะกิจ เฉพาะกาล ซึ่งจะไม่ทำให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปได้ด้วยดี กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญควรคิดถึงหลักที่ถูกต้อง ไม่ใช่เป็นไม้หลักปักเลน โอนเอนไปตามแรงกดดัน เชื่อว่ากรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญก็คงมุ่งหวังอยากให้รัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ที่จะออกมาผ่านการทำประชามติ เพราะฉะนั้นจึงควรเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด เราทราบดีว่าคงไม่มีใครร่างรัฐธรรมนูญให้ถูกใจทุกคนได้ แต่อะไรที่เป็นหลักก็ควรยึดไว้ ให้ประชาชนพอรับได้ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป เอาแบบพอดีๆ แต่ถ้าร่างรัฐธรรมนูญออกมาแล้วหลักถูกทำให้เลอะเทอะ โอกาสที่คนจะรับร่างรัฐธรรมนูญก็จะลดน้อยถอยลง” นายองอาจกล่าว