“ยะใส” มองข้อเสนอ ส.ว.สรรหาช่วงเปลี่ยนผ่านของ คสช. เป็นเรื่องยากที่จะไม่ถูกมองสืบทอดอำนาจ ชี้โยนหินถามทางจนเกิดความสับสน ย้อนอ้างปฏิรูปไม่รู้จบเพื่อปั้นแต่งกลไกพิเศษอกกมาเรื่อยๆ ดักอย่าสุกเอาเผากิน หวั่นวงแตกแบบตอน “บวรศักดิ์” หวัง กรธ.เขียน รธน.เพื่อชาติ ไม่ตอบสนองกลุ่มใด
วันนี้ (6 มี.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) แสดงความเห็นถึงข้อเสนอของคณะรักษาความสงบห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี และมีอำนาจพิเศษหลายอย่างนั้น คงหนีไม่พ้นที่จะถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งก็เป็นเรื่องยากที่ คสช.จะแก้ตัว และข้อกล่าวหาจากฝ่ายตรงข้าม คสช.ในเรื่องนี้จะมีน้ำหนักมากขึ้น ถ้าตรวจสอบวิธีคิดของ คสช.ตอนนี้จะเห็นว่าค่อนข้างมีความกังวลสูงในช่วงเปลี่ยนผ่านหรือหลังเลือกตั้ง จึงเห็นการส่งสัญญาณหรือโยนหินถามทางมาเป็นระยะๆ จนทำให้สับคมสับสนและเชื่อว่า กรธ.เองก็คงสับสนไม่แพ้กันกับจุดยืน คสช.ต่อการร่างรัฐธรรมนูญที่ดูเหมือนคิดไม่สุดแต่เสนอออกมาเป็นท่อนๆ จนดูค่อนข้างสเปะสปะ
นายสุริยะใสระบุต่อว่า ที่สำคัญเวลา คสช.จะอ้างภารกิจปฏิรูปในช่วงเปลี่ยนผ่านซึ่งกำหนดเวลาไว้ 5 ปีนั้น ก็มีคำถามเหมือนกันว่า คสช.จะปฏิรูปอะไร ที่ผ่านมาทำไมไม่ทำ และเวลาที่เหลืออยู่ตั้งปีครึ่งไม่เพียงพอหรืออย่างไร และ 5 ปีหลังเลือกตั้งจะปฏิรูปอะไรก็ไม่มีใครรู้ จนรู้สึกได้ว่าการปฏิรูปถูกจับเป็นตัวประกัน หรือเป็นข้ออ้างไม่รู้จบเพื่อเสกสรรค์ปั้นแต่งกลไกพิเศษไม่รู้จบออกมาเรื่อยๆ แบบนี้
นายสุริยะใสระบุอีกว่า อยากให้ คสช.ตั้งหลักคิดให้สุดว่าทำไมต้อง 5 ปี จะเปลี่ยนผ่านอะไรไปสู่อะไร และที่บอกเพื่อความต่อเนื่องของการปฏิรูปหรือการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาตินั้นก็ยังไม่เห็นภารกิจที่ชัดเจนแต่อย่างใด ถ้าคิดยังไม่สุดแล้วโยนประเด็นออกมาเรื่อยๆ แบบนี้การเขียนรัฐธรรมนูญในโค้งสุดท้ายก็จะสุกเอาเผากิน คล้ายกับการยกร่างในสมัยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่มาวงแตกตอนข้อเสนอให้มี คปป.จนทำให้ทุกอย่างพลิกไปพลิกและคนก็เริ่มแคลงใจว่ามีคนออกแบบและได้ประโยชน์จากการเล่นเกมแบบนี้ หวังว่า กรธ.จะหนักแน่นและเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อหาทางออกให้ประเทศ ไม่ใช่เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อหาทางลงหรือสนองความต้องการคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น