รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต จวก กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปิดห้องเขียน รธน. ถอยกลับไปเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ ต่างจากสมัยที่ผ่านมา ห่วงสังคมไม่ผ่านประชามติให้ หวั่นไม่มีกลไกทำงานเชื่อมกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรป ทำปฏิรูปเกิดปัญหา ไม่รู้ฟังใครดี จี้ที่ประชุมแม่น้ำ 5 สาย หาข้อยุติเรื่องเร่งด่วน และการออกแบบการมีส่วนร่วม
วันนี้ (25 ต.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า ตนเห็นว่าในขณะนี้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. กำลังปิดห้องเขียนรัฐธรรมนูญ โดยไม่ได้สอบถามความเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ หรือไม่ได้เปิดเวทีให้สังคมมีส่วนร่วมอย่างที่เคยประกาศไว้ ทำให้การเขียนรัฐธรรมนูญครั้งนี้ถอยกลับไปเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเมื่อเทียบกับบรรยากาศ และการมีส่วนร่วมในการเขียนรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือในกระบวนการของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่อยู่ในช่วงรัฐบาลรัฐประหารเหมือนกันยังดูมีบรรยากาศ และผู้คนมีส่วนร่วมมากกว่านี้ กรธ. ต้องไม่ลืมว่าประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ อาจไม่ใช่ปัจจัยเรื่องเนื้อหาอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องความรู้สึกเป็นเจ้าของด้วย
นายสุริยะใส กล่าวว่า แม้จะเป็นเพียงร่างแรกก็ตาม แต่บทเรียนที่ผ่านมาผู้ร่างรัฐธรรมนูญมักจะถือเอาร่างแรกเป็นหลัก เพราะมาจากความคิดและความต้องการของตนเอง จะไม่ค่อยมีการปรับแก้ใด ๆ ภายหลังจากไปรับฟังความเห็นมาแล้วก็ตาม ทำให้น่าเป็นห่วงว่าอารมณ์ร่วมของสังคมที่มีต่อการร่างรัฐธรรมนูญจะลดน้อยถอยลงจนส่งผลให้ไม่ผ่านประชามติ หรือคนไม่ไปลงประชามติก็เป็นไปได้ เว้นเสียแต่ว่า กรธ. ไม่อยากให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และที่น่าเป็นห่วงอีกหาก กรธ. และ สปท. ไม่มีกลไกทำงานเชื่อมโยงกันอาจทำให้กระบวนการปฏิรูปเกิดปัญหา สังคมสับสนไม่รู้จะฟังใครดี ฉะนั้น มีความจำเป็นเร่งด่วนในการประชุมแม่น้ำ 5 สาย วันที่ 28 ตุลาคมนี้ จะต้องหาข้อยุติอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ การกำหนดประเด็นปฏิรูปเร่งด่วนที่ไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญ การสร้างกลไกขับเคลื่อนร่วมกัน และการออกแบบการมีส่วนร่วมของประชาชน