“สุริยะใส” ยิงคำถาม กรธ. ริบอำนาจ ปชช. ในการเข้าชื่อถอดถอนด้วยหรือไม่ ห่วงหลักการถ่วงดุลตรวจสอบล้ม ติงเพิ่มอำนาจองค์กรอิสระอาจถูกการเมืองครอบจงพังในระยะยาว แนะเพิ่มหลักการถ่วงดุลตรวจสอบโดยประชาชน
วันนี้ (6 ธ.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) แสดงความเห็นถึงกรณีที่กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตัดอำนาจถอดถอนของวุฒิสภาออกโดยจะให้องค์กรอิสระอื่นทำหน้าที่แทนนั้น มีคำถามต่อ กรธ. ว่า จะตัดสิทธิการเข้าชื่อของประชาชนเพื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกไปด้วยหรือไม่ ถ้ายังคงอยู่จะมีกระบวนการอย่างไร และองค์กรใดจะทำหน้าที่รองรับสิทธิของประชาชนตรงนี้ แต่ถ้าตัดสิทธิส่วนนี้ของประชาชนทิ้งไปก็จะเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนให้จองจำอยู่แค่การเลือกตั้ง สิทธิถอดถอนที่เป็นเรื่องใหม่ และสะท้อนความก้าวหน้าของรัฐธรรมนูญไทยที่มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550 จะจบลง ซึ่งกลไกถอดถอนโดยประชาชนถือเป็นการยกระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนให้ไปไกลกว่าการเลือกตั้ง
นายสุริยะใส ระบุว่า เพราะที่ผ่าน ๆ มา เลือกตั้งแล้วก็แล้วกันไป ทำให้การเมืองยึดโยงกับประชาชนแค่ตอนเลือกตั้งเท่านั้น หลังเลือกตั้งการเมืองก็เลยกลายเป็นเวทีเจรจาผลประโยชน์ของคนส่วนน้อย นอกจากนี้ กลไกถอดถอนโดยประชาชนยังเป็นการสร้างสมดุลในระบบตรวจสอบและถ่วงดุลประกันสิทธิประชาชนตลอดเวลาเมื่อมีสิทธิเลือกผู้แทนได้ก็ย่อมถอดถอนได้ถ้าผู้แทนไม่รักษาสัญญาประชาคม ผมจึงอยากให้ กรธ. คงกลไกส่วนนี้ไว้ รวมทั้งกลไกการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชนด้วย ทั้งกลไกถอดถอนและเสนอกฎหมายโดยประชาชถือเป็นสิทธิริเริ่มเท่านั้น แต่ที่ผ่านมาไม่มีประสิทธิภาพ เพราะไม่มีกฎหมายลูกรองรับ และพอเข้าสู่กระบวนการในสภา มักจะถูกดอง หรือมีความพยายามทำให้เรื่องตกไป ฉะนั้น กรธ. ควรปรับปรุงให้กลไกส่วนนี้ทำงานได้จริงไม่ใช่คิดแต่จะตัดทิ้งท่าเดียว
นายสุริยะใส ระบุอีกว่า การถ่ายโอนอำนาจถ่วงดุลตรวจสอบจากการเมืองไปให้ให้องค์กรอิสระอาจจะดูดีในระยะสั้น แต่ในระยะยาวถ้าองค์กรอิสระไม่อิสระจริงการเมืองเข้าไปครอบงำได้ก็จะล้มเหลวอีกตามเคยเหมือนตอนรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ถ้าเพิ่มหลักการและกลไกถ่วงดุลตรวจสอบที่ยึดโยงกับประชาชนมากขึ้นจะทำให้ระบบการเมืองไทยในระยะยาวเกิดความสมดุลของระบบถ่วงดุลตรวจสอบได้มากกว่า