อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สาขาวิชาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
รูปหนึ่งรูปแทนคำนับพันคำ สุภาษิตจีนว่าไว้เช่นนั้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาการทำ infographic โดยอาศัยรูปและกราฟฟิคเชิงสถิติในการเล่าเรื่องยากๆ ให้เข้าใจได้ง่ายเป็นที่นิยมมากเหลือเกิน เพราะเป็นการย่อยเรื่องให้สนุกสนานเข้าใจได้ง่าย เหมือนดูการ์ตูน เรื่องนี้ผมมีความเห็นส่วนตัวว่าญี่ปุ่นทำได้ดีกว่าชาติอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม infographic ก็อาจจะนำไปสู่การสื่อสารที่ผิดพลาดได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้าง infographic โดยไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลให้ดีเพียงพอ และหลายครั้งการสร้าง infographic อาจจะนำไปสู่การโกหกด้วยรูปและสถิติโดยไม่ได้ตั้งใจได้หากคนสร้างมีอคติหรือมีวาระซ่อนเร้นมากกว่าที่จะดูที่ข้อมูลเพียงอย่างเดียว
โปรดดูที่รูปด้านล่างนี้ ซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างร้อนแรงบนโลกออนไลน์
Jessada Denduangboripant หรือ รองศาสตราจารย์ ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ไปแสดงความเห็นบน Facebook page ของ TDRI ในรูปดังกล่าวว่า
“TDRI มั่วมากๆๆ เรื่องทุน พสวท. ครับ ตามคลิปที่ อ.สมเกียรติไปพูดในไทยพีบีเอส หัวข้อการหนีทุนการศึกษา https://www.youtube.com/watch?v=Fp8h2dXw5AE นาทีที่ 3:31 กล่าวหาว่าทุน พสวท. มีปัญหา เพราะคนเรียนจบมาแค่พันกว่าคน แต่รับทุนไปสามพันคน หายไปไหนตั้งเกือบสองพันคน ... ก็เค้ายังเรียนไม่จบกันน่ะสิครับ ทุนนี้มันให้ทุนกันเด็กนักเรียนตั้งแต่ ม. ปลาย ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ยันโพสต์ด็อกเลย กว่าจะเรียนจบกันมาได้ทีละรุ่นๆ เนี่ย เลือดตากระเด็น แถมเรียนไม่ไหวหลุดทุนไปก็เยอะ ... ถ้า TDRI จะกล่าวหากัน ก็ระบุมาให้ชัดๆ ว่าหนีทุนไปกี่คน จะได้เห็นว่าเทียบกับทุนอื่นแล้วมันน้อยหรือมากกว่าเท่าไร และถ้าให้แฟร์จริง ก็ควรจะวิเคราะห์เทียบกับทุนวิทย์อื่นๆ ที่ไม่ต้องทำงานใช้ทุนให้ประเทศหลังเรียนจบด้วย ... แถมมาบอกว่าทุนนี้ไม่ดีที่ไม่มีสังกัดล่วงหน้าในการทำงานใช้ทุน ผู้รับทุนไม่รู้ล่วงหน้าในการบรรจุ ... ขอโทษครับ ทุนนี้เค้าให้อิสรภาพแก่ผู้รับทุนที่จะเรียนในสาขาที่ตนเองชอบ และไปสมัครเข้าสังกัดในหน่วยงานที่เหมาะสมกับสิ่งที่ตนเองเรียนมา ไม่ใช่รับทุนไปเรียนแล้วกลับมาทรมานกับงานหรือสาขาที่จริงๆ ไม่อยากทำ ... เอาเป็นว่า TDRI ควรจะศึกษาธรรมชาติของแต่ละทุนให้ดีก่อน ก่อนจะเอามาเป็นประเด็นแบบนี้ (ปล. ช่วงนี้วุ่นกับการเตรียมข้อสอบ เลยไม่ค่อยได้โพสต์เฟซ แต่ผมเป็นอดีตนายกสมาคมนักเรียนทุนฯ หลายสมัย เลยทนไม่ไหวที่กล่าวหากันแบบนี้ .... ผมเข้าใจอะไรผิด ก็บอกล่ะกัน)”
เช่นเดียวกันกับที่ Day Chainarong ซึ่งเป็นอาจารย์ทางคณิตศาสตร์และสถิติที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้โพสต์Facebook Status เอาไว้ว่า
“บางทีเราก็ไม่ควรเชื่อข้อมูลประเภท infographic มากนัก เพราะมันถูกบีบพื้นที่ให้นำเสนอข้อมูลได้น้อย การนำเสนอจึงต้องรอบคอบมากๆ
นี่เป็นตัวอย่างของ infographic ที่โง่เขลาและขาดความรับผิดชอบอันนึง
1. ทำไมยังเรียนไม่จบ?
- ข้อมูลก็บอกอยู่แล้วว่ารับทุน ม.ปลาย ถึง ป.เอก ซึ่งมันต้องใช้เวลาเรียนยาวนาน 12 - 16 ปี ใครเรียนจบก่อนอายุ 30 ได้ก็เก่งแล้ว เป็นคำถามที่ไม่แสดงถึงสติปัญญา
2. จบมา 36% ที่เหลือ 64% ทำอะไรอยู่?
- ส่วนใหญ่ก็ยังเรียนอยู่นั่นไง ถามอะไรไม่เข้าเรื่อง ถ้านับถึงปี 2556 ก็มีนักเรียนทุนจบมาเพียง 14-17 รุ่น แถมจำนวนทุนรุ่นแรกๆก็มีน้อยกว่ารุ่นหลังมาก ไม่แปลกที่ พสวท. 14 รุ่นจะมีคนจบมา 1,110 คน
3. ผู้รับทุนไม่รู้ล่วงหน้าว่าจะบรรจุที่ไหน
- อันนี้คือข้อดีของทุน พสวท. เพราะมีช่วงเวลารับทุนยาวนานมาก จึงให้โอกาสตัดสินใจเลือกที่บรรจุหลังเรียนจบ ชีวิตคนเรามีตัวแปรมากมาย หากเราต้องเลือกที่บรรจุตั้งแต่อายุ 16 ป่านนี้คงลำบากใจน่าดู
เสียชื่อ TDRI
ตัว R นี้ท่านได้แต่ใดมา จะว่าเป็น Research ก็ไม่ใช่”
และมีนักวิชาการท่านหนึ่งได้ไปค้นคว้าข้อมูลและบอกแหล่งที่มาของข้อมูลพร้อมสร้าง infographic ใหม่ซึ่งเล่าเรื่องและสื่อสารได้แม่นยำกว่าดังรูปข้างล่างนี้
Dr.Noom MathLover
การนำเสนอข้อมูล Infographic ให้เหมาะสม : กรณีทุน พสวท. ที่เป็นข่าว
การนำเสนอข้อมูล Infograhic เราเน้นนำเสนอด้วยภาพและข้อความสั้นๆ ที่กระชับ เข้าใจง่าย แต่หากนำเสนอไม่ดีก็อาจสร้างความเข้าใจผิดต่อสังคมได้ วันนี้ผมมีตัวอย่างจริงมาให้ดู ซึ่งให้แง่คิดแก่สังคมหลายประการ
ทั้งนี้ข้อมูลที่ผมจะนำเสนอในบทความนี้จะเป็นความคิดเห็นส่วนตัวทั้งหมดครับ
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่สร้างผลงานวิจัยที่มีคุณค่าต่อประเทศมากมาย และเป็นหน่วยงานที่ผมชื่นชอบมากหน่วยงานหนึ่ง ในวันที่ 1 มีนาคม 59 ได้มีการลงภาพ infographic เกี่ยวกับทุนการศึกษาของโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) (ดูได้จากภาพเล็ก)
ทุน พสวท. เป็นทุนการศึกษาเพื่อส่งเสริมให้มีการสร้างกำลังคนที่มีคุณภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยให้ทุนการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายไปจนถึงระดับปริญญาเอก
ในข้อมูลของ TDRI นั้นได้ให้ข้อมูลผ่าน infographic ว่า จำนวนนักศึกษาทุน พสวท. พ.ศ. 2527-2556 มีผู้รับทุน 3,088 คน โดยในแผนภาพอธิบายอีกว่า "ผู้เรียนจบ 1,110 คน 36%" และ "ที่เหลือ 1,978 คน ทำอะไรอยู่? 64%" โดยเขียนด้านบนว่า "ทำไมยังเรียนไม่จบ?"
ในช่วงเดียวกันนี้ ประธานสถาบัน TDRI ยังได้นำข้อมูลนี้ไปนำเสนอในรายการโทรทัศน์ของ Thai PBS อีกด้วย
ท่านอ่านแล้วคิดอย่างไรบ้าง? ท่านคิดว่าการนำเสนอแบบนั้นเหมาะสมหรือไม่? ลองหยุดคิดสักนิดนะครับ
สำหรับคนทั่วไปอ่านแล้วอาจจะคิดว่า โครงการ พสวท. ในระยะเวลา 30 ปี มีคนจบแค่ 36% ที่เหลือ 64% ทำอะไรอยู่? คนอาจคิดว่าโครงการล้มเหลว
แต่แน่นอนในอีกด้านอาจมีคำถามว่า ทำไมนักวิจัยถึงไม่หาข้อมูลผู้รับทุน 64% ว่าหายไปไหน เพราะถือว่าเป็นคนมากกว่าครึ่งของผู้ได้รับทุนทั้งหมด และข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นข้อมูลจากหน่วยงานวิจัยระดับชาติด้วย
** การนำเสนอ infographic ที่แตกต่าง
บทความนี้อาจจะออกไปเชิงวิจารณ์ ผมขอติเพื่อก่อนะครับ ผมเองไม่เคยมีอคติกับ TDRI เลย ในทางตรงกันข้ามผมกลับชื่นชมมากด้วยซ้ำ วันนี้อยากพูดในเชิงวิชาการเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมจริงๆ
พอดี TDRI เผยแพร่ข้อมูลนี้ผ่านสื่อสารมวลชนวงกว้าง ผมคิดว่าจำเป็นที่ให้ข้อมูลที่แตกต่างเพื่อให้มีการพัฒนาการนำเสนอข้อมูลสู่ประชาชนที่ดียิ่งขึ้น
ข้อมูลที่ TDRI ได้นำเสนอนั้น เป็นข้อมูลที่มาจากนักวิจัยของ TDRI ที่ทำวิจัยเรื่องทุนการศึกษาของประเทศ ซึ่งเข้าใจว่าใช้เวลานานในการศึกษาค้นคว้าและสรุปผลการวิจัย
สำหรับตัวผมเอง ผมใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงหาข้อมูลและทำ infographic โดยนำเสนอดังภาพ และมีประเด็นสำคัญดังนี้
(1) มีแหล่งที่มาของข้อมูลชัดเจน โดยมาจากหน่วยงานที่ดูแลนักเรียนทุน พสวท. โดยตรง
(2) ข้อมูลนี้มีจำนวนนักเรียนทุนมากกว่าของ TDRI (นี่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญนัก เพราะแค่เปรียบเทียบว่าข้อมูลใครใหม่กว่ากันเท่านั้น แต่ผมเห็นว่าการนำเสนอในสื่อมวลชนปี 2559 ถ้าเป็นไปได้ควรใช้ข้อมูลที่ใหม่ที่สุด ซึ่งในกรณีนี้เป็นข้อมูลที่หาได้ง่ายมาก)
(3) ผมอธิบายชัดเจนว่า ผู้เรียนจบมี 32% และคนที่เหลือไปอยู่ที่ไหน ซึ่งแบ่งเป็น คนที่กำลังศึกษาต่อมากถึง 49% คนที่พ้นสภาพการรับทุน 13% และคนที่ลาออกจากทุน 6% ในกรณีจะเห็นว่าชัดเจนกว่าการบอกว่า “ที่เหลือ 1,978 คน ทำอะไรอยู่? 64%”
การนำเสนอโดยให้ข้อมูลสำคัญครบถ้วนเช่นนี้น่ามีประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าไหมครับ สังคมจะไม่ต้องเดาไปต่างๆ นาๆ และนำข้อมูลไปใช้ต่อได้ถูกต้องและเหมาะสมยิ่งขึ้น
** การนำเสนองานวิจัยผ่าน infograhpic ควรทำอย่างไร
(1) การทำวิจัยต้องหาข้อมูลมาให้ดี ครบถ้วน ชัดเจน ไม่พลาดประเด็นหรือข้อมูลสำคัญ โดยเฉพาะตัวเลขต่างๆ ในกรณีนี้เห็นได้ชัดเลยว่า จำนวนคนเรียนต่อมีมากกว่าผู้เรียนจบแล้วเสียอีก ข้อมูลนี้ไม่ควรหายไปจากการนำเสนอ
(2) คนทำ infograhic กับนักวิจัยต้องมีการตรวจสอบข้อมูลก่อนเผยแพร่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่นำเสนอไม่ผิดจากผลการวิจัย
(3) การนำเสนอผ่านสื่อมวลชน ต้องตรวจสอบข้อมูลมากกว่าปกติ เพราะจะมีผลกระทบในวงกว้าง ในกรณีที่ผู้บริหารนำเสนอเองต้องระวังมากขึ้นไปอีกเพราะอาจทำให้ชื่อเสียงตนเองและองค์กรเสียหายได้
(4) หากพบว่าการวิจัยผิดพลาด หรือการสื่อสารข้อมูลผิดพลาดผ่านสื่อมวลชน ก็ควรยอมรับและแก้ไขข้อมูลที่เผยแพร่ไปแล้วให้ถูกต้องโดยเร็วที่สุด เช่น ลบภาพที่นำเสนอผิดพลาดจากเว็บไซต์ของหน่วยงานทันที และแก้ข่าวในสื่อที่ได้เผยแพร่ออกไป
ผมคิดว่าสังคมไทยเราควรเปิดกว้างให้คนที่นำเสนอข้อมูลผิดพลาดได้แก้ตัว หากเขากล้ารับผิด
แต่หากนำเสนอผิดพลาดแล้วไม่แก้ไข ก็จะทำให้องค์กรเสียหายมาก ความน่าเชื่อถือหรือศรัทธานั้นสร้างยากแต่ทำลายง่าย
ผมหวังว่านักวิจัยทั่วประเทศจะให้ความรอบคอบในการนำเสนอข้อมูลมากยิ่งขึ้นครับ
ถ้าทาง TDRI มีข้อมูลชี้แจงให้ผมทราบเพิ่มเติม ผมก็ยินดีมากครับ ทั้งนี้หากสามารถอธิบายทางวิชาการให้ผมยอมรับได้ ผมยินดีเป็นกระบอกเสียงอธิบายข้อมูลนี้ให้สังคมเข้าใจเพิ่มเติมด้วยครับ
ขอเป็นกำลังใจให้กับคนทำงานที่ TDRI และหน่วยงานด้านการวิจัยทั่วประเทศ ในการสร้างสรรค์ผลงานที่ดีและมีคุณภาพยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อช่วยกันเป็นแสงสว่างให้แก่สังคมไทย
ท่านคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ก็แลกเปลี่ยนกันได้นะครับ
Dr.Noom MathLover
ดร.อติชาต เกตตะพันธุ์ (อ.หนุ่ม)
อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
*** เอกสารอ้างอิง
http://dpst.ipst.ac.th/index.php/component/dpst/…
หากสังคมไทยได้เรียนรู้กันแบบนี้มากๆ ก็เป็นเรื่องดี ในฐานะคนสอนสถิติผมเองก็หวั่นไหวไปกับคำซึ่งรัฐบุรุษชาวอังกฤษคือ Benjamin Disraeli อดีตนายกรัฐมนตรีชาวอังกฤษได้เคยกล่าวไว้ว่า "There are three kinds of lies: lies, damned lies and statistics." ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า มีการโกหกอยู่สามประเภท คือ การโกหก โคตรโกหก และ สถิติ ดังนั้นนักวิจัยที่ดีต้องใช้สถิติอย่างมีจริยธรรม กล้านำเสนอความจริง และตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจน โดยเฉพาะข้อมูลที่ส่งผลต่อชีวิตประชาชนและประเทศชาติ
Infographic นั้นมีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์หากใช้มันผิดๆ