ยาวไป..ไม่อ่าน, ซับซ้อนไป..ไม่เอา, เข้าใจยาก..ไม่เก็ต ฯลฯ อุปสรรคดาหน้าเข้ามาเต็มไปหมด จะนำเสนอข้อมูลดีๆ ให้คนได้อ่านทั้งที อะไรมันจะยากเย็นขนาดนั้น!!
แต่ปัญหาทั้งหมดนี้ไม่ได้มีไว้สำหรับพวกเขา ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตอินโฟกราฟิกอันดับหนึ่งของไทย ผู้จุดกระแสให้เรื่องยากย่อยง่ายด้วยภาพ กลายเป็นเทรนด์ในสื่อต่างๆ มาจนถึงทุกวันนี้ ลองพิมพ์ชื่อ “Infographic Thailand” ลงในช่องค้นหาข้อมูลบนเฟซบุ๊กดูสักที ถ้าไม่ปรากฏว่าเคยกดไลค์แฟนเพจนี้เอาไว้ นั่นอาจหมายความว่าคุณตกยุคแห่งข้อมูลข่าวสารมาได้สักพักใหญ่ๆ แล้ว!!
หอพักเล็กๆ แหล่งฟักตัวของ “ยอดนักคิด”
[เดียร์-ธนโชติ(ซ้าย) และ วิน-โอชวิน(ขวา) คู่หูผู้ก่อตั้งทีมอินโฟกราฟิกอันดับหนึ่งของไทย!]
“เราค่อนข้างมั่นใจและกล้าพูดได้เต็มปากว่า เราเป็นคนสร้างกระแสอินโฟกราฟิกในไทยขึ้นมาเองครับ”
“จนตอนนี้ อินโฟกราฟิกมันกลายเป็นสื่อ mainstream ไปแล้ว เหมือนที่มีวิทยุ ทีวี หนังสือพิมพ์ แต่ยุคนี้ ต้องมีอินโฟกราฟิกเพิ่มเข้าไปด้วย”
2 หนุ่มวัย 26 ผู้ก่อตั้งบริษัท Like Me Co., Ltd. เจ้าของแบรนด์ดังบนโลกออนไลน์อย่าง “Infographic Thailand” ต้นตำรับอินโฟกราฟิกมืออาชีพในไทย ซึ่งมีผู้กดติดตามหลักแสน และ “Aom-Money” เว็บไซต์ให้ความรู้ด้านการบริหารเงินยอดนิยม มีผู้เข้าชมกว่า 600,000 คนต่อเดือน บรรยายสรรพคุณพร้อมแนบประกายไฟในดวงตากลับมาเป็นของแถม มองปราดเดียวก็รู้ว่าคู่หูคู่นี้ยังมีแรงอีกเหลือเฟือที่พร้อมจะสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยใช้มันสมองที่ไม่เคยหยุดนิ่งของพวกเขาเป็นจุดหมุน!
“คนเลือกอ่านบทความ Infographic มากกว่า บทความตัวหนังสือถึง 30 เท่า!” และ “บทความที่ใช้ Infographic เพิ่มยอดคนเข้าชม มากกว่าที่ไม่ใช้ถึง 12 เปอร์เซ็น!”
[ขอบคุณภาพ: เว็บไซต์ "Infographic Thailand”]
ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้หนุ่มนักทดลองด้านเทคโนโลยีทั้งสองนาย ตัดสินใจหันมาเล่นกับตลาดแห่งข้อมูลข่าวสารแบบเต็มตัว! เปลี่ยนจากจุดตั้งต้นที่เคยวางเอาไว้ว่าจะพัฒนาซอฟต์แวร์ร่วมกันในฐานะ Startup (บริษัทเกิดใหม่ที่เกิดจากการรวมตัวของคนเพียงหยิบมือ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีบนโลกออนไลน์ให้มีคนใช้แพร่หลาย เช่นเดียวกับโมเดลของ Facebook และ Google) หลังเดินหน้าโปรโมตแอปฯ ที่ตัวเองสร้างขึ้นมาไปแล้วเป็นเวลา 1 ปี
“พอช่วงปี 3 ปี 4 ก็เริ่มคุยกับเพื่อนแล้วครับว่าเราจะเปิดบริษัทด้วยกัน ก็เลยตัดสินใจมาเช่าหออยู่ด้วยกัน ตอนนั้นมีกันอยู่ 4 คน พอเรียนจบปุ๊บ (บัณฑิตคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หลักสูตรอินเตอร์ จากรั้วมหาวิทยาลัยมหิดล) เราก็ไม่สมัครงานที่ไหนเลย นั่งคิดโปรเจกต์กันอยู่ที่หอนั่นแหละ (ยิ้ม) ทำแบบนั้นเป็นปี ระหว่างนั้นก็มีเข้าแข่งรายการ Startup อีกเป็นสิบๆ แห่ง จนมาได้รางวัลชนะเลิศ “AIS Startup Weekend” ที่เป็นจุดเปลี่ยนจริงๆ
หลังจากนั้นก็เริ่มเดินหน้าแบบตั้งบริษัทจริงๆ ไปขอทุนจากเพื่อนของคุณพ่อเพื่อน แล้วก็เริ่มทำแอปฯ ที่ชื่อ “LikeMe” ขึ้นมาครับ เป็นแอปฯ ที่รวมเอาคนที่มีไลฟ์สไตล์คล้ายๆ กัน มาไว้ที่เดียวกันเพื่อเสนอโปรโมชันให้เขา หลังๆ เริ่มใช้อินโฟกราฟิกเข้ามาโปรโมตแอปฯ แต่กลายเป็นว่าคนไม่ค่อยรู้จักแอปฯ เราเท่าที่ควร มีคนใช้แค่หลักหมื่น แต่กลับรู้จักอินโฟกราฟิกของเรามากกว่า วินเลยเสนอขึ้นมาว่าให้ลองเปิด “Infographic Thailand” ขึ้นมาเลยอีกเพจนึง แล้วผลตอบรับมันก็ดีมาก”
[อินโฟกราฟิกเวอร์ชันแรกๆ ปิ๊งไอเดียจากการโปรโมตแอปฯ/ ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "Infographic Thailand”]
เดียร์-ธนโชติ วิสุทธิสมาน Chief Executive Officer หนุ่มแว่นหน้าตี๋ถ่ายโอนความดีความชอบให้แก่เจ้าของไอเดียที่นั่งอยู่ข้างๆ ทันที ก่อนเปิดโอกาสให้ วิน-โอชวิน จิรโสตติกุล Chief Marketing Officer ร่วมนั่ง Time Machine ไปพร้อมๆ กัน
“เราต้องคอยเฝ้าสังเกตฟีดแบกดีๆ ครับ ต้องคอยตามข่าวสาร เพราะถ้าไม่ตาม คงเป็น Startup ไม่ได้ ต้องหูไวตาไว อันนี้เป็น the must เลย” ชายหนุ่มร่างโปร่งเจ้าของไอเดียผู้เบิกทางตลาดอินโฟกราฟิกอย่างจริงจัง หวนพูดถึงทริกเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้เขามองเห็นช่องทางทำเงินที่ซ่อนอยู่
เพราะเริ่มเร็วและกล้าลุย จึงทำให้พวกเขากลายมาเป็นผู้ครองตลาดอินโฟกราฟิกภายในเวลาไม่กี่ปี ย้อนกลับไปก่อนหน้า เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว คำว่าอินโฟกราฟิกในประเทศไทยยังมีแค่ภาพน้องหมา-น้องแมวในอิริยาบถต่างๆ อยู่เลย มาตอนนี้ เข้าสู่ปีที่ 3 ของการเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ พูดได้เต็มปากว่าไม่มีแบรนด์ไหนเคยผลิตอินโฟกราฟิกได้มากและมีประสบการณ์เท่าทีมนี้อีกแล้ว!
[กำเนิดเทรนด์อินโฟกราฟิกบูมในไทย จากการสังเกตตลาดที่เฉียบขาดของทีม/ ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "Infographic Thailand"]
“ปีแรก เราผลิตได้ 700 ชิ้น พอปีที่ 2 เราผลิตได้มากกว่า 2,000 ชิ้น ทำงานกับแบรนด์ทั้งหมดประมาณ 200 กว่าแบรนด์ ตอนนี้ เราเป็น Channel อันดับ 1 ด้านอินโฟกราฟิก คนตามอยู่แสนกว่าราย ซึ่งยุคนี้ ถ้าใครจะมาทำเพจอินโฟกราฟิกให้ได้ถึงแสน ผมบอกเลยว่ายาก ถ้าไม่ใช้เงินในการซื้อไลค์เลยแม้แต่บาทเดียว ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปีครับกว่าจะทำได้
และพอทำถึงจุดหนึ่งเราจะรู้ว่าประสบการณ์ที่มากขึ้นของเรา มันทำให้งานที่เราทำออกไปมันแตกต่างนะ เราจะรู้เลยว่าอินโฟกราฟิกไม่ใช่งานที่ใครก็ทำได้ แต่มันต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญทำ และยังมีทางใหม่ๆ ให้ไปต่อได้อีกไกลเลยครับ ซึ่งเราก็พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา” ปล่อยให้เดียร์เป็นคนเดินเรื่องก่อนเช่นเคย วินจึงเข้ามาเติมด้วยน้ำเสียงสุขุม
“ถึงใครจะทำได้เหมือนเรา แต่ถึงตอนนั้น เราก็ทำได้มากกว่าเขาไปแล้วครับ เพราะเราพยายามทำสิ่งใหม่ พยายามเซตเทรนด์ขึ้นมาใหม่อยู่ตลอด”
เทรนด์ที่วินหมายถึง หนึ่งในนั้นคือ "อินโฟกราฟิกเวอร์ชันความยาวบนหน้ากระดาษไม่จำกัด” ซึ่งสร้างความฮือฮาอยู่ไม่น้อยในช่วงแรกที่ปล่อยออกมา เปลี่ยนจากความเคยชินเดิมๆ ที่ส่วนใหญ่จะเห็นอินโฟกราฟิกในบ้านเราเป็นภาพขนาดไม่เกิน A4 บีบย่อทั้งภาพและตัวอักษรให้จบในหน้าเดียว ปรับมาเป็นความยาวแบบ unlimit อยู่บนหน้าเว็บ อยากเห็นต้องคลิก อยากแชร์ต้องแปะไปเป็นลิงก์!
[อินโฟกราฟิกขนาดไม่จำกัดความยาว เทรนด์ใหม่ที่พวกเขาเซตขึ้น/ ขอบคุณภาพ: (คลิกที่นี่!! เพื่อไปยังหน้าลิงก์ต้นฉบับ)]
“ตอนแรกที่ต้องทำขนาด letter size เพราะต้องการให้แปะภาพอินโฟกราฟิกบนเฟซบุ๊กแล้วคนแชร์ได้ง่ายๆ ครับ แต่ตอนหลัง เฟซบุ๊กเขา support เว็บมากขึ้น จากสมัยก่อน เวลาใครแชร์ลิงก์ จะขึ้นรูปสี่เหลี่ยมเล็กๆ เป็นภาพเปิด แต่ตอนหลัง ภาพกลายเป็นสี่เหลี่ยมใหญ่ๆ แทน เราเลยไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องทำอินโฟกราฟิกขนาดเล็กๆ อีกแล้ว มันเลยช่วยทลายข้อจำกัดเดิมๆ ไอ้เรื่องความยาว ไม่ใช่เรื่องที่กังวลอีกแล้ว โจทย์สำคัญคือมันเป็นเนื้อหาที่ดีหรือเปล่า ถ้ามันดี ถึงต้องใช้เนื้อที่เยอะหรือยาวแค่ไหนก็ต้องทำครับ”
ล้มมาตลอดทาง.... ล้มเหลว-ล้มเลิก
[เดียร์ Chief Executive Officer ผู้ยอมแบกหนี้หลักล้านเพื่อเดินตามความฝัน!]
“ตอนตั้งบริษัทเพื่อจะทำแอปฯ ตอนนั้นมีนายทุนตัดสินใจมาลงเงินให้ล้านนึง และสามารถให้กู้เงินเขาได้อีก 4 ล้าน ผลปรากฏว่าหลังจากทำไป 6 เดือน ไม่มีรายได้เข้ามาเลยสักบาทเดียว แต่ใช้เงินไปประมาณล้านกว่าบาทแล้ว!!” เดียร์ยิ้มปลงๆ ให้กับรอยอดีต บอกเลยว่ากว่าจะเดินมาถึงจุดนี้ได้ มันไม่ง่ายแม้แต่นิดเดียว โดยเฉพาะช่วงเวลาที่พีกที่สุดของชีวิตช่วงนั้น
“ตอนนั้นมันโคตรเครียดเลยนะ คิดดูว่าเด็กจบใหม่ ไม่เคยใช้เงินลงทุนเลย แต่ใช้ไปล้านกว่าบาทแล้วและไม่มีรายได้เลย ที่น่าหนักใจกว่าเรื่องรายได้คือ แอปฯ ที่เราทำไปคนก็เข้ามาใช้น้อย ประมาณหมื่นกว่าๆ จากเป้าที่ตั้งไว้หลายแสน ด้วยหลักคนใช้เท่านั้นมันทำอะไรไม่ได้เลย แปลว่าแอปฯ มันไม่เวิร์ก ไหนต้องจ่ายค่าเช่าออฟฟิศ ค่าพนักงานอีกประมาณ 5-6 คนด้วย เครียดมาก (เน้นเสียง)
ยังดีที่เริ่มมีคนติดต่อเข้ามาให้ทำอินโฟกราฟิกให้ครับ พอลูกค้าติดต่อมาเยอะขึ้น เราเลยมองว่าในเมื่อเราไปสาย Startup ไม่ได้แล้ว เราก็ต้องรับผิดชอบเงินล้านกว่าบาทที่เราใช้ไป เลยเข้าไปคุยกับนายทุนว่าจะขอซื้อหุ้นคืนทั้งหมด เขาก็บอกโอเค แต่ให้เอาเงินล้านสอง มาคืนเขาภายใน 4 วัน!!
แต่จังหวะนั้นเป็นจังหวะที่ดีที่สุดแล้วครับ เพราะเงินล้านกว่าบาท คิดว่ายังพอหาได้ ยังอยู่ในสเกลที่สามารถหยิบยืมได้ แต่ถ้าปล่อยให้นานกว่านี้ กลายเป็น 2 ล้านขึ้นไป อาจจะไม่ได้แล้ว พอดีที่บ้านมีร้านทองเล็กๆ ผมเลยไปคุยกับพ่อ เขาก็อนุญาตให้เอาทองที่บ้านไปจำนำกับญาติ แล้วก็เอาไปซื้อหุ้นคืน เสร็จก็ดึงทุกอย่างกลับมาบริหารเลย
ถามว่าเสี่ยงไหม ก็ถือว่าเสี่ยงมากครับ เพราะเรายังมีเงินเดือนที่ต้องจ่าย เดือนละแสน แต่รายได้ก็มีแสนบ้าง, 8 หมื่นบ้าง แล้วตอนนั้น Infographic Thailand ก็เพิ่งเริ่มไปได้ 2-3 เดือน แถมเรายังเป็นคนสร้างกระแสนี้ในไทยขึ้นมาเอง เราเลยไม่รู้ว่ากระแสมันจะอยู่ไปได้อีกนานแค่ไหน มันเลยเสี่ยงมาก แต่มองอีกมุม อย่างน้อยเราก็จบ programming มา ถ้าโชคร้ายที่สุด เราก็ยังทำซอฟต์แวร์แบบ outsource ให้เขาได้ ก็คงจะได้เงินพอมาใช้จ่าย ก็เลยคิดว่า... โอเค งั้นเรามาเสี่ยงกัน!”
[หยิบเอาข้อมูลเชิงลึกมากลั่นกรอง แล้วเล่าเรื่องด้วยภาพ/ ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "Infographic Thailand”]
ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ครั้งที่การตัดสินใจของเขา เดินมาถูกทางและถูกจังหวะเวลา ทุกวันนี้ เดียร์และวิน ร่วมบริหารบริษัทจนสามารถใช้เงินหลักล้านก้อนนั้น คืนญาติผู้ใหญ่ที่หยิบยืมมาได้เกือบหมดแล้ว เหลืออีกนิดหน่อยเท่านั้นเอง เมื่อเทียบเส้นทางขรุขระที่พวกเรากอดคอฝันเดินร่วมกันมา มันคือประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่ทำลายสถิติแห่งการล้มเหลวและล้มเลิกตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ได้ทดลองลุยในแบบของตัวเอง
“ก่อนหน้านั้นเราทำแอปฯ ออกมาเยอะมากครับ มีตัวนึงชื่อว่า “So Flow” เป็นแอปฯ ที่ถูกสร้างมาเพื่อ drop-shipping เป็นตัวกลางที่จับคนจาก 2 กลุ่มมาติดต่อกัน กลุ่มหนึ่งคือผู้เชี่ยวชาญด้านการทำ marketing บนอินเทอร์เน็ตแต่ไม่มีของขาย กับอีกกลุ่ม เป็นกลุ่มที่มีสินค้าของตัวเองแต่ไม่มีความรู้เรื่องตลาดออนไลน์ แต่แล้วโปรเจกต์นี้มันก็ใหญ่เกินไป แถมยังมีเรื่องการจ่ายเงินออนไลน์มาเกี่ยวข้อง ซึ่งสมัยนั้นระบบยังไม่ดีเท่าตอนนี้ ค่าซอฟต์แวร์ที่จำเป็นต้องใช้ก็สูงมาก บวกกับเว็บ www.ensogo.co.th เพิ่งบูม เราเลยต้องล้มเลิกโปรเจกต์นี้ไปหลังจากดีไซน์เว็บไปได้ 30 เปอร์เซ็นต์แล้ว
จากนั้นเอาไอเดียมาพัฒนาต่อ ทำแอปฯ ชื่อ “A Week Tuesday” เป็นเหมือนจตุจักรที่อยู่บนโลกออนไลน์ ที่เปิดเฉพาะวันอังคารเท่านั้นครับ มันเกิดจากการพลิกไอเดีย จากปกติ ทำการค้าบนอินเทอร์เน็ต คนจะคิดว่าข้อดีคือการเปิดตลอด 24 ชั่วโมง แต่เรามาทำใหม่ กำหนดเวลาให้มัน มารวมเหล่าร้านค้าให้มาขายแค่วันอังคาร เพราะคิดว่าร้านค้ามา standby แค่วันเดียว มันจะทำให้ต้นทุนของถูกลง
แต่สุดท้ายทำไปแล้วก็ไม่เวิร์กเท่าไหร่ครับ เพราะเรายังไม่เข้าใจอะไรหลายๆ อย่าง โมเดลเรายังไม่ดีพอ มีคนเข้ามาใช้ประมาณหลักหมื่นได้ แต่เราไม่สามารถสรุปยอดขายได้เลยว่า ที่เกิดขึ้นจากเว็บไซต์เรามีประมาณเท่าไหร่ ก็เลยล้มไปอีกโปรเจกต์ คิดต่อมาเรื่อยๆ จนได้มาเป็น Infographic Thailand”
[วิน Chief Marketing Officer ประจำทีม]
จุดไหนจะบอกกับเราได้ว่า ควรไปต่อหรือถึงเวลาล้มเลิกได้แล้ว? เมื่อคำถามนี้ถูกโยนออกไป ชายหนุ่มผู้เป็นนักฟังมาเกือบทั้งบทสนทนาอย่างวิน ก็เริ่มแชร์ไอเดียในแบบของเขา
“อันนี้แล้วแต่สไตล์เลยครับ หมายถึงว่ามันก็มีหนทางประสบความสำเร็จได้ทั้งคู่นะ จะเปลี่ยนเร็ว ล้มเลิกเร็ว แล้วไปลองอย่างอื่น หรือจะลองทำอย่างเดิม แต่เราก็ต้องเรียนรู้ให้เร็วเพื่อเอามาปรับให้มันดีขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ ครับ
ถ้าเป็นสมัยก่อน เราจะใช้ feeling เป็นตัวตัดสินล้วนๆ feeling เท่านั้นที่จะบอกเราได้ แต่ปัจจุบันมันเปลี่ยนไปแล้วครับ ถ้าเราจะล้มเลิกอะไรสักอย่าง จะต้องมีเหตุผลเพิ่มขึ้นมาเยอะมาก เช่น เราประเมินขนาดของตลาดแล้วว่าไม่น่าลงทุน เพราะถึงทำแล้วจะสำเร็จแน่นอน แต่ลงทุนแล้วไม่คุ้มเหนื่อย ไม่สมกับที่พยายามลงแรงไป อย่างมากมันคงโตได้แค่ระดับนึง เราก็จะตัดสินเลยว่าไม่ทำดีกว่า
พอเวลาผ่านไป พอเราทำโปรเจกต์ที่ล้มเหลวมามากพอแล้ว มันก็จะทำให้เรารู้เองว่า เราควรจะยอมแพ้เมื่อไหร่ ทำให้เราประเมินตัวเองด้วยเหตุผลมากขึ้น จากเมื่อก่อน เราก็ประเมินด้วยอารมณ์เป็นหลัก”
3 เดือน... เดียร์วางเกณฑ์ด้วยระยะเวลาเอาไว้ “หลังๆ เราจะมีระยะเวลากำหนดด้วยครับ ระบุไปเลยว่าโปรเจกต์นี้ เราจะให้เวลากับมัน 3 เดือนนะ ถ้าเวิร์กก็ทำต่อ ถ้าไม่เวิร์กก็ทิ้งไป”
“เหมือนตอนจบมาใหม่ๆ แล้วเลือกจะตั้งบริษัทเองเลย เราก็ให้เวลาตัวเองเหมือนกันว่า ลองทำดูปีนึง ถ้าไม่เวิร์ก ยังไงเราก็ต้องไปหางานออฟฟิศทำแล้วล่ะ” วินยิ้มบางๆ ตบท้าย
ไม่ใช่แค่ “รู้” แต่ต้องให้ “อิน”
[ขอบคุณภาพ: เว็บไซต์ "Infographic Thailand”]
“ส่วนผสมของการสื่อสารผ่านภาพและตัวอักษร ที่ถูกออกแบบให้น่าอ่านและย่อยง่าย” คือคำจำกัดความที่น่าจะเหมาะที่สุดแล้วสำหรับคำว่า “Infographic” แต่ถ้าให้ขยายความผ่านมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านนี้แล้ว แน่นอนว่ามันต้องลึกยิ่งกว่านั้น เพราะทีมงาน “Infographic Thailand” ไม่ได้ต้องการแค่บอกเล่าเรื่องราวหรือให้ข้อมูลข่าวสาร แต่ต้องการให้ภาพและตัวอักษรในงานชิ้นนั้นๆ มีพลังเพียงพอที่จะทำให้คนอ่านเกิดอาการ “อิน” และอยากลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงร่วมกัน!
“ละครไทย ทำไมต้องข่มขืนคาจอ!?” คือ interactive infographic (อินโฟกราฟิกที่ผู้อ่านมีส่วนร่วมตอบโต้ คลิกเลือกคำตอบและให้ฟีดแบ็กได้) ชิ้นที่มีคนแชร์จนกลายเป็น talk of the town อยู่พักใหญ่ๆ บนโลกออนไลน์ ถือเป็นผลงานที่เก๋ที่สุดชิ้นหนึ่งซึ่งเกิดจากไอเดียของทีมงานคุณภาพทีมนี้
[อินโฟกราฟิกแบบ interactive สร้างปรากฏการณ์ แชร์สนั่นเน็ต!: (คลิกที่นี่!! เพื่อไปทดลองเล่นในหน้าจริง)]
เรื่องราวของอินโฟกราฟิกภาคพิเศษตัวนี้ เริ่มต้นขึ้นที่ครอบครัวหนึ่ง พร้อมเพรียงกันหันมาถามด้วยคำถามเดียวกันเอาไว้ว่า “ทำแบบนี้พระเอกตรงไหน?” เมื่อผู้ชมกดปุ่ม “Start” ที่โชว์ไว้ หน้าเว็บก็จะพาไปหาคำตอบว่า ที่ผ่านมาหลายทศวรรษ มี “ความหื่น” ของพระเอก กับฉาก “ข่มขืน” อยู่ในละครไทยซ้ำแล้วซ้ำเล่า กี่เรื่องต่อกี่เรื่อง โดยเริ่มจากละครอมตะอย่าง “คู่กรรม” (2533), ดาวพระศุกร์ (2537), สวรรค์เบี่ยง (2553), สามีตีตรา (2555) ฯลฯ ให้ข้อมูลที่ควรรู้เอาไว้ต่างๆ นานา แล้วตบท้ายด้วยคำถามที่ว่า “ละครไทยควรมีฉากข่มขืนหรือไม่?”
[อินโฟกราฟิกแบบ interactive สร้างปรากฏการณ์ แชร์สนั่นเน็ต!: (คลิกที่นี่!! เพื่อไปทดลองเล่นในหน้าจริง)]
“ให้เลือกว่าจะ Yes หรือ No อินโฟกราฟิกตัวนี้ มันไม่ใช่แค่ให้เขาดูแล้วก็ปิดไป แต่เขาสามารถแสดงความคิดเห็นได้ด้วย ถ้าเกิดเขากด No หมายความว่าไม่คิดว่าควรจะยกเลิกฉากข่มขืนในละคร มันก็จะลิงก์ไปยังหน้าให้ความรู้เขาเพิ่มเติมว่า การข่มขืนมันแย่ยังไง และมันส่งผลต่ออะไรบ้าง แต่ถ้าเขากด Yes คือคิดว่าควรจะเปลี่ยนแปลงนะ ไม่ควรให้มีฉากข่มขืนในละครไทยอีกต่อไปแล้ว มันก็จะลิงก์ไปยังหน้าเว็บไซต์ของ Change.org ที่รณรงค์เรื่องนี้อยู่ ("เลิกเผยแพร่คติการล่อลวงข่มขืนว่าเป็นสิ่งปกติ") และเขาสามารถลงชื่อสนับสนุนตรงนั้นได้เลย”
[ด้วย Interactive Infographic ตัวเดียวกันนี้เอง ที่โยงไปยัง change.org: (คลิกที่นี่!! เพื่อไปยังหน้ารณรงค์)]
“infographic.in.th/actinglikethismeanshero” ใครยังไม่เคยเห็น ลองคลิกเข้าไปดูอินโฟกราฟิกเจ๋งๆ ตัวนี้กันดูได้ อดชมเชยไม่ได้ว่าช่างเป็นชิ้นงานที่สร้างสรรค์ ถือเป็นก้าวใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีทีมอินโฟกราฟิกทีมไหนทำมาก่อน ผู้คุมโปรเจกต์ทั้งสองจึงยิ้มรับ ก่อนเสริมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้ได้รู้ว่า มันคือโปรเจกต์พิเศษที่ไม่ได้มีได้บ่อยๆ
“เป็นโปรเจกต์ในบริษัทครับ (ยิ้มแววตาสดใส) เรามีการแบ่งทีมกันในบริษัท เหมือนเป็นเกมให้ทำโปรเจกต์แข่งกัน 2 ทีม คือให้เขาคิดอะไรก็ได้ ที่สามารถหยิบเอา infographic มาสร้างเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ พอดีช่วงนั้นมีกระแสเรื่องละครไทย คนทำเขาอิน เขาก็เลยหยิบเรื่องนี้มาทำแล้วก็กลายเป็นที่ฮือฮา ทาง Change.org ถึงกับขอเอาไปโพสต์แปะไว้ในแฟนเพจกับในเว็บไซต์ที่รณรงค์เรื่องนี้เลยครับ เราก็ดีใจที่มันสามารถสร้าง interactive กับคนอ่านได้จริงๆ” หนุ่มแว่นเริ่มเล่า ก่อนปล่อยคิวให้คู่ซี้ช่วยเสริมตามเคย
“ต้องบอกว่า infographic แบบ interactive มันไม่ค่อยบูมเท่าไหร่ครับ เพราะมันทำยาก โปรเจกต์สเกลใหญ่ ต้องประสานกันหลายฝ่าย ต้นทุนเยอะ เลยไม่ค่อยมีใครอยากทำ เราเลยไม่ค่อยได้เห็นงานประเภทนี้ในไทย แต่ทางเราก็ยังมีความคิดอยากจะทำออกมาอีกเรื่อยๆ นะครับถ้ามีโอกาส
เหมือนในหลายๆ งานที่เราทำ เราก็ตั้งใจให้มัน educate สังคมได้ เราอาจจะไม่เคยออกตัวว่าเป็น social enterprise แต่เราทำเสมอและเราก็ภูมิใจตรงจุดนั้นครับ (ยิ้มเย็นๆ)”
“สิ่งที่เราโฟกัสอยู่เสมอคืองานทุกชิ้นต้องมีประโยชน์ครับ มันควรจะสร้างคุณค่าอะไรขึ้นมา หรือทำให้คนเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้ ถ้าดูที่บอร์ดจะเห็นครับ เราเขียนเอาไว้เลยว่า “Information solves real human problems” มันคือ vision ใหม่ที่เราตั้งไว้ เราตั้งใจให้ visual design กับ information ที่เราออกแบบในงาน ช่วยเข้าไปแก้ปัญหาสังคม”
อายุ 26 ปี เป็นเจ้าของบริษัท ประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้ คิดว่าตัวเองเดินมาได้ไวกว่าคนอื่นไหม? หนุ่มนักทดลองทั้งสองส่ายหน้าพร้อมๆ กัน
“มันยังมีอะไรให้ลองอีกเยอะเลยครับ ยังมีสิ่งที่เรายังทำไม่ได้อย่างที่คิดอีกหลายอย่าง” วินตอบไปยิ้มไป ก่อนปล่อยให้เพื่อนซี้คู่บริหารตบท้าย
“มันยังมีเด็กที่เปลี่ยนแปลงโลกได้เยอะกว่านี้อีกเยอะเลยครับ ผมว่าที่เราทำ มันนิดเดียวเท่านั้นเอง”
สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Lite
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: ปัญญาพัฒน์ เข็มราช
ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "Infographic Thailand" และ infographic.in.th
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754