“จริงๆ เรื่องเงินมันไม่ยากหรอก แต่แค่คนที่คิดว่าตัวเองไม่เก่ง มันเป็นเพราะเขาไม่เคยศรัทธาในตัวเองเลยมากกว่า ว่าเขาจะสามารถฉลาดได้ในเรื่องนี้ เขาเลยต้องรอให้มีคนมาคอย push อยู่ตลอด เหมือนต้องให้มีศาสดามาคอยชี้นำ แต่ผมก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นศาสดาทางด้านนี้หรอกนะครับ (ยิ้ม) ผมก็แค่คนที่อยู่ในแวดวงนี้ที่อยากเป็นเหมือนประตูแรก ที่ช่วยเปิดให้เขาไปต่อยอดในเรื่องที่จำเป็นต้องรู้เท่านั้นเอง”
และนี่คือบทสนทนาที่จะทำให้ “เรื่องเงิน” กลายเป็น “เรื่องง่าย” กว่าที่หลายคนเคยเข้าใจมาทั้งชีวิต จากมุมมองของกูรูด้านภาษีและการเงิน บล็อกเกอร์สุดฮอตผู้มีคนกดไลค์เพจเพื่อตามติดภาษากวนๆ อยู่เกือบ 2 แสน เพราะติดใจวิธีจัดการเรื่องชวนหัวหมุนให้กลายเป็นเหมือนปอกกล้วย ด้วยนามปากกาติดดินๆ ที่ใช้ชื่อว่า “TAXBugnoms บล็อกภาษีข้างถนน”
ต้องการใช่ไหม? “ศาสดาทางการเงิน”
[ขอบคุณภาพ: tax.bugnoms.com]
“บล็อกเกอร์ผู้รวมเรื่องราวและประสบการณ์ที่สั่งสมจากการทำงานในแวดวงภาษี บัญชี การเงิน การลงทุน และเรื่องราววุ่นๆ ในการใช้ชีวิต”
นี่แหละคือนิยามที่ “ถนอม เกตุเอม” หรือ “กูรูหนอม” อธิบายความเป็นตัวเองเอาไว้ในแฟนเพจ “TaxBugnoms” ซึ่งตั้งมาได้กว่า 5 ปีแล้ว แต่กว่าจะมาถึงวันที่มีคนกดไลค์เป็นแสนๆ กว่าจะมีคนติดตามในฐานะกูรู กว่าจะถูกชวนไปออกพ็อกเกตบุ๊กกับสำนักพิมพ์มีชื่อ และกว่าจะถูกเชิญไปพูดสร้างแรงบันดาลใจตามที่ต่างๆ อย่างทุกวันนี้ บอกเลยว่ามัน “ไม่ง่าย” แต่ก็ “ไม่ยาก” จนเกินไปนักหรอก มันก็คล้ายๆ กับเรื่องเงินนั่นแหละที่เขายืนยันเอาไว้หนักแน่น แถมด้วยหน้าเปื้อนยิ้มว่า “ทุกอย่างมันหาวิธีได้หมดแหละ ไม่มีใครโง่เรื่องอะไรหรอกครับ ถ้าพยายามเรียนรู้มันจริงๆ”
“คำถามที่เจอบ่อยมากๆ จะออกแนวประมาณว่า “มีเงินอยู่หมื่นเดียว จะเอาไปฝากยังไงให้รวยดี?” คำตอบก็คือ... มีเงินแค่หมื่นเดียว มันจะไปฝากแล้วรวยได้ยังไงกันวะ (ยิ้มมุมปาก) อันนี้จริงๆ นะ พูดกันตรงๆ สมมติว่าเอาเงินจำนวนนี้ไปฝากประจำ ได้ดอกเบี้ย 5 เปอร์เซ็นต์ ปีนึงก็จะได้กลับมาแค่ 500 เองนะ ซึ่งมันไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้นเลย
แล้วถามว่าจะทำยังไงเงินที่มีอยู่หมื่นนึงเนี่ย มันงอกเงยให้ได้มากที่สุด คำตอบของผมก็คือ... เก็บไว้เฉยๆ ครับ (ยิ้ม) อ้าว..จริงๆ! (ย้ำอีกครั้งเมื่อเห็นคู่สนทนาเบิ่งตากว้างด้วยความสงสัย) เก็บมันไว้อย่างนั้นแหละเงินก้อนนั่นน่ะ แล้วก็ไปหาวิธีสร้างรายได้ให้มันมากกว่าหมื่นนึงให้ได้ การจะลงทุนให้ตัวเองมีอิสรภาพทางการเงินขึ้นมาได้ คือมันต้องมีสักล้านนึงขึ้นไปนะแล้วค่อยมาคุยเรื่องลงทุนกัน (ยิ้ม) เพราะถ้ามีต่ำกว่านี้ ลงทุนไปก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น-รวยขึ้น โดยที่ไม่ต้องทำอะไรอีกต่อไปแล้ว”
กวนๆ ฮาๆ ว่ากันตรงๆ เอาล่ะ... พอจะเข้าใจแล้วว่า อะไรทำให้หนุ่มนักเขียนวัย 33 คนนี้มีคนตามติด-ตามอ่านเรื่องราวผ่านตัวอักษรของเขาอยู่จำนวนไม่น้อย เป็นเพราะเขารู้จักเอาลูกเล่นแบบเดียวกันนี้ใส่เข้าไปในงานเขียนของตัวเองด้วยนั่นเอง ลองให้ช่วยวิเคราะห์เล่นๆ ว่าอะไรทำให้คนส่วนใหญ่ยังคง “อ่อนหัด” ในเรื่องการเงินกันอยู่ หนอมกวาดตาคิดแว่บหนึ่งแล้วให้คำตอบว่า “มันคงมาจากการที่เราไม่ศรัทธาตัวเอง”
“มันจะมีคำพูดที่คนชอบพูดกันว่า “มีเงิน แต่ไม่มีความสุข” เลยคิดกันไปว่าแล้วจะไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเงินมากมายไปทำไม กลายเป็นตีกรอบให้ตัวเองโดยเอา “ความทุกข์” ไปเกี่ยวกับ “เรื่องเงิน” ซึ่งจริงๆ มันไม่เกี่ยวกันเลย บางคนก็ชอบตีกรอบไปก่อนว่า “เรื่องเงิน” คือ “เรื่องยาก” มันเหมือนกับคนทุกวันนี้มองความสุขในปัจจุบันกันมากขึ้น อะไรที่ดูแล้วมันยาก ทำให้ตัวเองลำบาก เขาจะรู้สึกไม่อยากทำ เขาต้องการอะไรที่ย่อยง่ายๆ บอกมาเลยว่าต้องให้ทำยังไง
อย่างถ้ามีคนแนะว่าให้เอาเงินที่มีอยู่พันนึงไปซื้อกองทุนนี้นะ แล้วจะได้ผลตอบแทน 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เชื่อไหมว่าคนทำตามกันเยอะเลย โดยที่ไม่ไตร่ตรองก่อนด้วยซ้ำว่ามันจริงหรือเปล่า พอคนไม่เชื่อว่าจะสามารถฉลาดได้ในเรื่องนี้ เขาเลยต้องรอให้มีคนมาคอย push อยู่ตลอด เหมือนต้องให้มีศาสดามาคอยชี้นำ
แต่ผมก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นศาสดาอะไรทางด้านนี้หรอกนะครับ (ยิ้ม) ไม่ได้คิดว่าใครต้องมาเชื่อตามเรา ผมก็แค่คนที่อยู่ในแวดวงนี้ที่อยากเป็นเหมือนประตูแรก ที่ช่วยเปิดให้เขาไปต่อยอดในเรื่องที่จำเป็นต้องรู้ และผมเองก็ไม่ได้เก่งอะไรมากมายด้วย แต่ถ้าเราให้ความรู้ในระดับที่ให้ได้และมันไม่ลำบากกับเรา เราก็เขียนไป อันไหนมีประโยชน์ เดี๋ยวคนเขาก็เอาไปต่อยอดกับชีวิตเขาได้เอง”
[ขอบคุณภาพ: aommoney.com/taxbugnoms]
มีบ้าน มีรถ หรือ มีเงินล้าน? ลองให้หยิบมาตัวเลือกเดียว กูรูการเงินคนนี้บอกเลยว่าขอเลือกมองที่ “เงินเก็บ” เอาไว้ก่อน แต่ไม่จำเป็นต้องถึงล้านก็ได้ แค่เก็บตามอัตรา “ค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ 6 เดือน” ให้ได้ก่อน แค่นี้ก็หรูแล้ว!
“ถ้ารู้ว่าทุกวันนี้ใช้ขั้นต่ำเดือนละ 20,000 เราก็ควรจะมีเงินเก็บเอาไว้สัก 120,000-150,000 บาทครับ อันนี้คิดเผื่อไว้ว่าวันนึงต้องออกจากงานหรือไม่มีรายได้แบบปุบปับ เราจะได้มีเงินฉุกเฉินเก็บเอาไว้ หรือถ้าใครอยากเซฟมากๆ ก็เก็บให้ได้ตามจำนวน “ค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ 1 ปี” ไปเลย ถ้าคิดจากเงินเดือน 20,000 ก็คือต้องเก็บให้ได้อย่างน้อย 240,000 ส่วนจะเอาเงินจำนวนนี้ไปลงทุนอะไรต่อไหม ก็ค่อยๆ ดูไปว่าเราจะรับความเสี่ยงได้แค่ไหน แต่ส่วนมากแล้วจะไม่ค่อยมีใครมีเงินเก็บก้อนนี้กันหรอก (ยิ้มบางๆ) เห็นพอเริ่มมีเงินก้อนเมื่อไหร่ก็เอามาลงทุนกันหมดเลย พอถึงวันนึงที่ต้องใช้เงินฉุกเฉินดันไม่มีเงินเก็บ สุดท้ายมันก็เลยล่มตั้งแต่เริ่ม
[ขอบคุณภาพ: aommoney.com/taxbugnoms]
ต้องถามว่าความสุขของคุณคืออะไร? ถ้าต้องการเห็นเงินพอกพูน คุณก็ต้องกล้าลงทุนในสิ่งที่มันเสี่ยง แต่ถ้าไม่อยากเครียดก็เอาเงินไปลงกองทุนครับ ลองเก็บเดือนละพัน เอาไปลงในกองทุนดีๆ สักที่ บางทีผลตอบแทนมันดีกว่าคนที่เก็บทีละเยอะๆ ด้วยซ้ำไป แต่ขอให้ตัดไปลงกองทุนเรื่อยๆ ทุกเดือนนะ ห้ามหยุด!
อย่างผม ตัดเข้ากองทุนมาได้ประมาณ 4-5 ปีแล้ว เริ่มเก็บจากเดือนละพัน 2 พัน ตั้งแต่ตอนที่ยังไม่ค่อยมีรายได้อะไรเท่าไหร่ พอเริ่มมีมากขึ้นก็ตัดไปลงกองทุนเดือนละ 5,000 แล้วให้กองทุนมันทำหน้าที่ของมันไป ส่วนเราไม่ต้องไปมองมัน แล้วอีกสัก 5 ปี 10 ปี ค่อยกลับมาดูอีกที คุณจะตกใจเลยว่าเงินมันเยอะขนาดนี้แล้วเหรอ!!? แต่ประเด็นคือไม่ค่อยมีใครมีวินัยไงครับ คือเพิ่งเอาเงินเข้าไปพันนึงวันนี้ แต่คาดหวังว่าจะได้ 1,200 ภายในพรุ่งนี้ ต่อให้เก่งแค่ไหน ใครก็เล่นให้ไม่ได้”
“บักหนอม” คนเดียวกัน... กูรู/ กู(ไม่)รู้!!
ถูกยกให้เป็นผู้รู้เฉพาะทางขนาดนี้ มีบ้างไหม ช่วงเวลาที่ “กูรู” กลายเป็น “กูไม่รู้”? คนถูกถามหัวเราะเบาๆ ให้กับคำถามก่อนพยักหน้ารับหงึกหงักแบบไม่อาย แล้วส่งเสียงสะท้อนกลับมาว่า “บางเรื่องที่เขาถามมา เราก็ไม่รู้ เราก็ต้องยอมรับความจริงแล้วบอกไปตรงๆ ว่า ไม่รู้ครับ”
“เรื่องที่คนถามมาแล้วตอบไม่ได้เลยจริงๆ ก็มีครับ ถึงกับต้องมานั่งเปิดหาดูเลยก็มี อย่างเรื่อง “อนุสัญญาภาษีซ้อน” หรือเคสลึกๆ ที่ไม่มีในไทย เรื่องภาษีต่างประเทศก็มีคนเคยถาม ซึ่งส่วนใหญ่ ถ้าไม่เกินความสามารถจริงๆ ผมก็จะไปหาคำตอบมาให้ครับ แต่จะบอกเขาว่าเราไม่ได้แน่ใจกับข้อมูลตรงนี้มากนะเพราะเราไม่ใช่เรื่องที่เราถนัด แต่ช่วยหาคำตอบมาให้เพราะเห็นมาถาม ให้เขาลองเช็กอีกที แต่ถ้าเคสไหนที่ไม่รู้แน่ๆ แล้วก็หาข้อมูลไม่เจอด้วย ก็จะบอกไปตรงๆ เลยครับว่าไม่รู้ เพราะผมไม่ได้อายกับการเป็นคนไม่รู้นะ (ยิ้มกว้าง)
ไม่กลัวเลยครับที่จะถูกมองแบบนั้น เพราะเราก็ไม่ได้มองว่าเราเป็นกูรูอยู่แล้ว แต่คนอื่นอาจจะมองแบบนั้น ผมว่าดีซะอีกที่ไม่รู้เสียบ้าง มันทำให้เรารู้ว่าเราขาดอะไร เราก็ไม่ได้มองว่าเขาถามยากหรอก แต่มองว่าเรายังต้องไปเติม ทุกวันนี้ก็ยังต้องลงเรียนเรื่องภาษีเพิ่มอยู่เลยครับ ผมว่ามันยิ่งทำให้เราต้องยอมรับความจริง เพราะถ้าเกิดไปโกหกว่ารู้ทั้งๆ ที่ไม่รู้นี่ มันเละเลยนะ เหมือนทำผิดก็ต้องยอมรับผิดนั่นแหละครับ ไม่รู้ก็บอกไม่รู้ เพราะมันก็ต้องมีความรู้บางอย่างที่เรายังไปไม่ถึงแน่ๆ แต่หลังจากวันที่ถูกถาม เราก็จะพยายามไปรู้มันให้มากขึ้น”
“เรียนรู้” และ “พัฒนา” คือสิ่งที่หนอมพยายามทำมันอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะทักษะด้านการเขียน ถึงแม้ทุกวันนี้เขาจะกลายเป็นคอลัมนิสต์ทางการเงิน มีพ็อกเกตบุ๊กเป็นของตัวเองออกมาหลายเล่มแล้ว แต่เชื่อไหมว่าหนอมกลับไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็น “นักเขียน” แล้วจริงๆ เพราะดูเหมือนเส้นทางนี้จะไม่เคยอยู่ในความฝันของเขามาก่อนเลย “บัณฑิตหนุ่มคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จากรั้วจามจุรี” บอกเอาไว้อย่างนั้น จนกระทั่ง...
“มันมีจุดพลิกผัน ช่วงทำ audit firms (ตรวจสอบบัญชี) ครับ ตอนนั้นถือว่าได้เงินเดือนเยอะมากนะสำหรับคนอายุ 20 ต้นๆ ประมาณ 30,000-40,000 แต่จู่ๆ ก็เปลี่ยนมารับราชการ ดูแลเกี่ยวกับด้านภาษี เลือกรับเงินเดือนแค่ 8,000 เพราะกะจะเรียนโทไปด้วยทำงานไปด้วย แล้วก็ว่าจะออกมาช่วยงานที่บ้านไปด้วย พอทำไปเรื่อยๆ เงินเก็บเราก็เหลือนิดเดียว เราเลยต้องหาทางดิ้นรนทำหลายๆ อย่าง
ตอนแรกไม่ได้เริ่มจากงานเขียนด้วยนะ เริ่มทำพวกขายตรงก่อน (ยิ้ม) แล้วก็เปลี่ยนมาโปรโมตเว็บไซต์ต่างประเทศ ชวนให้คนสมัครต่อไปๆ เรื่อยๆ แล้วจะได้ค่าคอมฯ (commission) แต่พอทำไปสักพักก็ไม่ไหว มันเหนื่อยมาก รู้สึกว่าเราเองก็ไม่ได้มีเงินอะไรมากมาย แต่ต้องไปชวนคนอื่นมาทำแล้วบอกว่าเงินมันดีนะ เลยเลิกทำไป พูดง่ายๆ มีอะไรก็ลองหมด (หัวเราะ) จนมาเจอทางนี้ครับ ทุกวันนี้เลยยังไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นนักเขียนเลย”
[ขอบคุณภาพ: aommoney.com/taxbugnoms]
จุดเริ่มต้นของการเบนเข็มเริ่มมาเขียนจริงๆ จังๆ มาจาก “เทปเสียงวิชาภาษี” ในชั้นเรียนที่หนอมอัดเอาไว้ฟังเพื่อทบทวนความรู้ช่วงเรียนต่อปริญญาโทที่เดิม คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ บวกกับงานด้านตรวจสอบภาษีที่ทำควบไปด้วยขณะนั้นทำให้เขาต้องเจอกับคำถามชวนสงสัยจากคนวงนอกในลักษณะซ้ำๆ เดิม เขาจึงตัดสินใจเริ่มเขียนอธิบายลงไปในบล็อกและเปิดแฟนเพจของตัวเองเสียเลย
“ถึงกับจดโดเมนเป็นของตัวเองเลยนะ ตั้งชื่อบล็อกไว้อย่างเท่เลย ชื่อ “ภาษีข้างถนน” ให้มันดูอินดี้หน่อยๆ ตอนนั้นคิดว่าหล่อสุดๆ แล้ว (ยิ้มขี้เล่น) ความรู้ที่ได้มาก็ไปเอาจากอาจารย์มา แล้วเราก็มาสรุปตามความเข้าใจเราเอง ถึงอาจจะไม่ใช่คนที่มีพื้นความรู้แน่นมาตั้งแต่แรก แต่เราก็มองตัวเองในฐานะคนที่พอมีความรู้ อยากจะเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เราก็ไม่ได้เก่ง ก็ง่อยๆ เหมือนกันนี่แหละ แต่จะพยายามอธิบายให้ “ภาษาภาษี” กลายเป็น “ภาษาคน” ให้มากที่สุด
[ขอบคุณภาพ: tax.bugnoms.com]
ไม่ได้คิดเลยจริงๆ ครับว่ามันจะมาถึงวันนี้ ช่วงปี 2 ปีแรก ไลค์เพจก็ไม่ได้เพิ่มอะไรมากเลยครับ น่าจะสัก 700-800 ไลค์ได้ แรกๆ ก็อาศัย invite เพื่อนให้มาไลค์เพจเอา (ยิ้ม) เพื่อนมันก็มีมาแซวๆ ว่าจะให้กดไลค์ทำไปทำไม เดี๋ยวถ้าสงสัยอะไร กูก็มาถามมึงเอาก็ได้ หรือเวลาเขียนบทความออกมา ส่งให้เพื่อนลองอ่าน เพื่อนก็จะบอกมึงสรุปมาเลย กูขี้เกียจอ่าน (หัวเราะ) แต่ท้ายสุด เว็บมันก็ไปติดในอันดับ google พอคนเสิร์ชเจอก็ทยอยมากดไลค์เรื่อยๆ จนช่วงที่เขียนเรื่อง “วางแผนมนุษย์เงินเดือน” ปรากฏคนแชร์ไปเพียบเลย สักพักก็มีคนอีเมลมาหา บอกว่าผมตามบล็อกมานานแล้ว สนใจออกหนังสือไหม ผมก็ตอบตกลงไปทันทีเลย”
พอไฟเริ่มจุดติด พลังงานของหนอมก็มาแบบลุยไม่หยุด-ฉุดไม่อยู่ เขาเกิดปิ๊งไอเดียทำ e-book แจกฟรี แปะลิงก์ให้ดาวน์โหลดในบล็อกอย่างดี จนทำให้ “บล็อกภาษีข้างถนน” ของเขาโด่งดัง ได้รับรางวัล Popular Vote และรางวัลชนะเลิศ Thailand Blog Award 2012 ในหมวด Education Blog มาครองในที่สุด!
[ขอบคุณภาพ: tax.bugnoms.com]
[ทำ e-book ให้ดาวน์โหลดฟรีตั้งแต่ช่วงแรกของการโปรโมตบล็อก/ ขอบคุณภาพ: tax.bugnoms.com]
“ผมว่าอย่างอื่นที่ได้มาทุกวันนี้มันคือผลพลอยได้หมดเลย จุดเริ่มแรกที่เขียนก็เพราะเราอยากทบทวนตัวเอง ไม่ได้คิดเลยว่าจะต้องทำให้มันยิ่งใหญ่ ไม่งั้นในแฟนเพจ ผมคงไม่ตั้งชื่อ “TaxBugnoms” หรอกครับ คงตั้งชื่อหล่อๆ อย่างอื่นไปแล้ว (หัวเราะ)
สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ เราต้องไม่ลืมว่าเรามาจากไหน วันแรกที่เราทำ เราแค่อยากให้มีคนอ่าน แค่วันละร้อยกว่าคน เราก็ดีใจแล้ว แต่วันนี้มีคนเข้ามาดูเป็นหมื่นคน เรายิ่งต้องทำให้คนแฮบปี้ ยิ่งต้องตอบแทนสิ่งที่เขาให้เรามา ทุกวันนี้ผมก็ยังพยายามตอบคำถามทุกๆ คำถามที่ส่งเข้ามาขอคำปรึกษาทางหลังไมค์อยู่นะครับ อาจจะมีเหนื่อยบ้าง ตอบช้าบ้าง เพราะคนเข้ามาหลายทางเหลือเกิน ทั้ง add friend ทางเฟซบุ๊ก ทั้งไลน์ ไหนจะเพื่อนโทร.มาปรึกษาอีก ฯลฯ
แต่วันไหนเหนื่อยมากๆ ก็จะพยายามกลับไปคิดถึงวันแรกที่เราอยากให้มีใครสักคนส่งมาถามเราเรื่องนี้จึง เราล่ะโคตรอยากตอบเลย ขอให้มีแค่หนึ่ง message ส่งเข้ามาในแฟนเพจ เราก็ดีใจแล้ว หรือแค่มีคนมาบอกว่าติดตามนะคะ อย่าหยุดทำ แค่นี้เราก็ดีใจมากแล้ว เราเลยพยายามจำความรู้สึกในวันนั้นมาใช้จนถึงวันนี้ ต่อให้ตอนนี้ผมอาจจะตอบช้าลงไปหน่อย แต่ผมจะพยายามตอบให้ครบทุกคำถามเท่าที่เป็นไปได้ครับ”
ไม่ต้องฝันใหญ่ ไม่เดือดร้อนใครก็พอแล้ว!
เป็นกูรู แนะนำเรื่องเงินๆ ทองๆ แต่ทำไมไม่เห็นรวยเลย? เคยถูกถากถางด้วยความคิดแนวนี้บ้างไหม ผู้สัมภาษณ์ยิงคำถามออกไปด้วยความสงสัย นักการเงินผู้คร่ำหวอดด้านภาษีได้แต่ยิ้มรับแบบเย็นๆ แล้วให้คำตอบในแบบของเขาเอาไว้ว่า...
“อย่าลืมว่าผมสอนเรื่องภาษี สอนแบบให้ความรู้ ส่วนเรื่องการเงิน ผมก็ไม่ได้สอนว่าทำแล้วต้องรวยร้อยล้าน เราแค่แนะแนวทางไปตามทฤษฎี ถามว่าเป็นนักเขียน มาสอนเรื่องการเงินแล้วไม่รวยนี่ผิดไหม คำถามก็คือว่าเราสอนอะไรเขา สอนให้คนมีไฟลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อจะรวย หรือสอนให้เขารู้ทฤษฎีที่ถูกต้อง ซึ่งของผมเป็นอย่างหลังครับ มันจะต่างจากคนที่สอนเรื่องการปฏิบัติที่มันต้องเป็นสิ่งที่คนสอนทำได้แล้ว prove มาแล้วว่าทำแล้วรวยจริงอะไรแบบนั้น
แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ผมออกมาบอกว่า คุณต้องทำตามนี้แล้วคุณจะประสบความสำเร็จ ทั้งๆ ที่คนพูดก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่บอกว่าถ้าคุณจ่ายให้ผม แล้วคุณจะประสบความสำเร็จ และผมก็จะสำเร็จด้วยเพราะผมได้เงิน (ยิ้มกวนๆ) มันก็จะออกมาเป็นอีกรูปแบบนึง หรืออย่างนักวางแผนการเงินก็ไม่ได้รวยกันทุกคนนะครับ และคนรวยบางคนก็ยังบริหารการเงินไม่เป็นเลยด้วยซ้ำ มันไม่ได้เกี่ยวกัน มันเกี่ยวกับว่าคุณสอนอะไรเขาอยู่”
[ขอบคุณภาพ: aommoney.com/taxbugnoms]
“อยากมีเงิน 10 ล้านภายใน 5 ปี” ไม่ใช่ลิสต์ที่อยู่ในความฝันของเขาเลย หนอมไม่เคยเห็นความจำเป็นว่าต้องไปเร่งเร้าทางการเงินของตัวเองอะไรขนาดนั้น แค่ทุกวันนี้ดูแลตัวเองและคนที่รักได้ มีเงินสำรองเผื่อไว้สำหรับอนาคตได้ แค่นั้นก็เพียงพอแล้วสำหรับคำว่า “การบริหารเงินและชีวิต”
“ผมเป็นคนไม่เคยมานั่งนิยามความสำเร็จอะไรมากมายอยู่แล้ว ก็แค่ทำมันไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปฝันใหญ่อะไรมากมาย แต่ทุกวันนี้เวลาใครออกมาพูดอะไรจะเป็นแนวนั้นตลอด จะต้อง Big Dream ซึ่งเราไม่ได้คิดแบบนั้น (ยิ้มบางๆ) เราคิดแค่ว่าตราบใดที่ยังทำงาน ยังมีกิน พ่อแม่ป่วยแล้วพาไปหาหมอได้ มีเงินจ่ายนู่นนี่ได้โดยที่ไม่ได้ลำบาก ไม่ไปเบียดเบียนใคร แค่นี้ก็แฮบปี้แล้ว
ถ้ายิ่งเก็บเงินให้มีพอหลังจากเลิกทำงานได้เมื่อไหร่ ผมว่ามันก็พอแล้ว เอาเท่านี้ก่อน ไม่ต้องวาดฝันไกลไปถึงว่าอยากจะมีเงิน 10 ล้านภายใน 5 ปีหรอก ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะรีบมีไปทำไม จะรีบเอาเงินไปทำอะไรถามหน่อย (ยิ้ม) หรือบางคนโหมงานจนต้องนอนโรงพยาบาล สุดท้ายก็ไม่มีประโยชน์ ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ อาจจะดีกว่า
[ขอบคุณภาพ: aommoney.com/taxbugnoms]
ส่วนคนอื่นจะเลือกแบบไหน จะจัดการเรื่องการเงินของตัวเองยังไงก็แล้วแต่เลยครับ แค่สุดท้ายต้องไม่ลำบากคนอื่นเท่านั้นแหละ คิดดูว่าถ้าไม่มีเงินเก็บเลย ไม่คิดวางแผนอะไรไว้เลย แล้วเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา เกิดเลี้ยงดูตัวเองไม่ได้ ต้องกลายเป็นภาระให้พ่อแม่ คุณจะยังโอเคหรือเปล่า? คือถ้าจบตรงที่ถ้าลำบากแล้วไม่พึ่งใคร คุณมีเงินใช้ชีวิตของคุณเองได้ แบบนั้นก็ตามสบาย ไม่ว่าคุณจะ Slow Life จะ Fast Life แบบไหนก็เรื่องของคุณ เอาให้เต็มที่เลย
ปัญหาคือหลายๆ คนจะมีปัญหาเรื่อง “การคัดกรอง” ของตัวเอง แยก “ความฝัน” “ความหวัง” กับ “ความจริง” ไม่ออก คือฝันว่าอยากมีแบบนี้ๆ นะ แล้วก็ทำๆ ไป แบบหวังว่าจะได้ สุดท้ายความจริงเราไม่มีทางได้ บางทีสละเรืออาจจะไปได้ดีกว่าก็ได้ เอาเวลาไปทำอย่างอื่น ผมไม่ค่อยเชื่อนะว่าการ “ไม่ยอมแพ้” คือทางออกที่ดีที่สุดเสมอไป จุดสำคัญมันอยู่ที่พอเห็นว่าอันไหนดูจะไปต่อไม่ได้แล้ว ผมว่าให้รีบๆ แพ้แล้วเอาเวลาไปทำอย่างอื่นจะดีกว่า (ยิ้ม) คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต มันไม่ได้เกี่ยวว่าเขาได้ทำตามความฝันนานแค่ไหนนะ แต่มันอยู่ที่เขาตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นได้มากกว่า ไม่จำเป็นต้องทำทุกสิ่ง แต่ตัดสิ่งที่มันไม่ใช่ แล้วกลับไปโฟกัสกับสิ่งที่มันจำเป็น
ส่วนใครที่มีความฝัน อยากจะทำอะไรสักอย่างของตัวเองขึ้นมา ผมมีวิธีทดสอบง่ายๆ ถ้าทำสิ่งนั้นต่อไปแล้วไม่มีเงินสัก 5 ปี คุณจะยังทนได้ไหม ถ้าทนได้ นั่นแหละคือสิ่งที่คุณต้องการจริงๆ บางคนบอกอยากเป็นบล็อกเกอร์เครื่องสำอาง ถามว่าคุณทนได้ไหมที่ต้องซื้อของมารีวิวเองทุกอย่าง และไม่มีใครสนใจคุณเลย
[ขอบคุณภาพ: tax.bugnoms.com]
หรืออยากเป็นนักเขียนชื่อดัง คุณทนได้ไหมที่จะต้องเขียนเรื่องเกี่ยวกับ passion แล้วคนเหยียดหยามว่าคุณไม่มี passion อะไรเลย ยังทำอะไรไม่สำเร็จเลย แล้วจะมาเขียนเรื่องนี้ให้อ่านได้ยังไง คุณทนได้ไหมกับคำพวกนี้ คุณทนกับการทำตามความฝันและรู้เลยว่าแม่งมันไม่ง่าย คุณทนได้ไหม ทนกับสิ่งที่จะตามมาหลังจากตัดสินใจได้หรือเปล่า คือโลกมันไม่ได้สวยแล้วก็ไม่ได้โหดร้ายหรอกนะ แต่ว่าคุณน่ะยอมรับโลกได้หรือเปล่าถ้ามันไม่เป็นอย่างที่คุณคิด ถ้ายอมรับได้ คุณก็ทำมันต่อไป”
สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Lite
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: ปัญญพัฒน์ เข็มราช
ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ “TaxBugnoms”, tax.bugnoms.com และ aommoney.com/taxbugnoms
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754