xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ยาแรง เบี้ยวหนี้ “กยศ.” เปิดช่องนายจ้างหักเงินเดือน ดึง “ข้าราชการ” นำร่องจ่ายหนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -วันก่อนที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นอชบออกกฎหมายเพื่อเป็น “ยาแรง” แก้ปัญหา นักเรียนนักศึกษา “ชักดาบ” เงินกู้เพื่อการเล่าเรียน โดยมีมติเห็นชอบ “ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการศึกษา พ.ศ. ...” ความสำคัญของ กฎหมายฉบับใหม่ สั้น ๆก็คือ ให้จัดตั้ง “กองทุนเพื่อการศึกษา” โดยควบรวม “กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)” และ “กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต(กรอ.)” มาอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียว

ย้อนกลับไปดู “กยศ.” ก่อน

กยศ.จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2538 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2539 ช่วงเดียวกับรัฐบาลชุด นายบรรหาร ศิลปอาชา เริ่มดำเนินการกองทุนในลักษณะเงินทุนหมุนเวียน ต่อมารัฐบาลได้พิจารณาเห็นความสำคัญของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามากขึ้น จึงได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2541ช่วงรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มีผลให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียน หรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา

เริ่มจ่ายเงินก้อนแรก ตั้งแต่ปีการศึกษา 2539 โดยให้เงินกู้ยืมแก่นักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (สายสามัญและสายอาชีพ) จนถึงระดับปริญญาตรี กองทุนนับเป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนการขยายโอกาสและพัฒนาการศึกษาของประเทศ เพื่อให้เยาวชนไทยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียมกัน

ส่วน “กองทุน กรอ.” จากนโยบายปฏิรูประบบการเงินเพื่ออุดมศึกษาเมื่อปี 2547 ช่วงรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร ได้ส่งผลให้เกิดระบบกู้ยืมเพื่อการศึกษาแบบใหม่ที่เรียกว่า กองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เพื่อให้สิทธิ์ประชาชนสามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันในระดับอุดมศึกษา และอนุปริญญาโดยให้ผู้เรียนรับภาระค่าใช่จ่ายตามความเหมาะสมและชำระเงินคืน เมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนดผ่านระบบการจัดเก็บภาษีของกรมสรรรพกร ซึ่งระบบการกู้ยืมเงินแบบ กรอ. จะทำให้สถานศึกษาของรัฐและเอกชนดำเนินการจัดการศึกษาในเงื่อนไขที่มีความเท่าเทียมกัน มีความเป็นอิสระในการดำเนินงานและแข่งขันกันพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาสู่การผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาการต่างๆ ที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ

ขณะที่รัฐบาลจากฝ่ายการเมือง ต่อๆ มาก็มีการแก้ไข เปลี่ยนแปลงระเบียบ ตามนโยบายการศึกษาของพรรคการเมือง ทั้ง กยศ. และ กรอ. หลายครั้ง

ทีนี้ มาดูรายละเอียด ของกฎหมายฉบับนี้ ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กระทรวงการคลัง เป็นผู้เสนอและเพิ่งเห็นชอบ และต่อไปนี้ก็จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณา และขอรับความเห็นของสำนักงานศาลปกครอง และฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม รวมถึง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย ก่อน คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะพิจารณา เพื่อเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)พิจารณาร่างกฎหมาย ก่อนประกาศใช้ในเร็ว ๆนี้

“นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รมว.คลัง ให้ความเห็นต่อกฎหมายฉบับนี้ว่า เพื่อบังคับให้องค์กรนายจ้างทุกแห่งทั้งภาครัฐและเอกชน หักเงินลูกจ้าง พนักงานราชการที่เป็นลูกหนี้ กยศ. นำส่งคืนกองทุน กยศ. พร้อมกับเงินหักภาษี ณ ที่จ่ายของกรมสรรพากร เพื่อให้กรมสรรพากรนำส่งกองทุน กยศ.

ขณะที่ “นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ” รมช.คลัง ระบุว่า การแก้ไขกฎหมายได้รวมกองทุน กยศ. และกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และเมื่อสรรพากรหักเงินนำส่งคืนให้ กยศ.จะทำให้กยศ. มีเงินสำหรับปล่อยกู้ให้กับรุ่นน้องต่อไป โดยร่างกฎหมายใหม่กำหนดให้ยินยอมเปิดเผยข้อมูลและการหักเงินนำส่งคืนเพื่อชำระหนี้ตามสัดส่วนรายได้ที่เหมาะสม

กระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายว่า หลังจาก ปี 2558 มียอดชำระหนี้คืน 17,000 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายปี 2559 มียอดชำระ 19,000 ล้านบาท กยศ. จึงได้ส่งหนังสือถึงองค์กรนายจ้างทั้งส่วนงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อทยอยลงนามร่วมกับ กยศ. เพื่อหักเงินเดือนจากข้าราชการจำนวน 60,000 คนที่กู้ยืมจาก กยศ.

ขณะที่ “พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่า กองทุนดังกล่าวยังคงมีเป้าหมายให้เงิน กู้ยืมแก่นักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือเรียนดีเพื่อศึกษาในสาขาวิชาที่จำเป็นหรือขาดแคลนทุนทรัพย์หรือเรียนดีเพื่อศึกษาในสาขาวิชาที่จำเป็นหรือขาดแคลน โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้กู้มีหน้าที่ต้องชาระเงินกู้ทั้งหมดคืนให้กับกองทุน และต้องยินยอมให้กองทุนเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล หรือเปิดเผยข้อมูลเงินกู้ยืมและการชาระเงินคืนกองทุน

ร่างกฎหมายยังกำหนดว่าเมื่อผู้กู้ยืมเงินเข้าทำงานในหน่วยงานรัฐและเอกชน ให้บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคล ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ส่งข้อมูลบุคลากรในสังกัดให้กองทุนตรวจสอบว่าเป็นผู้กู้ยืมเงินหรือไม่ และมีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเหมือนกับหนี้ค่าภาษี

“เพื่อปิดช่องโหว่กองทุนเพื่อการศึกษาทั้งสองกองทุน กฎหมายกำหนดให้ทุกบริษัทหรือทุกหน่วยงานที่รับผู้ที่กู้เงินจากกองทุนนี้เข้าทำงาน มีหน้าที่ต้องรายงานที่อยู่ รายได้ของผู้กู้ให้กับกองทุนทราบ และมีหน้าที่หักเงินจากเงินเดือนของผู้กู้ไปให้กองทุนเหมือนกับการหักภาษี แต่ต้องไม่กระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้กู้”

นอกจากนี้ หน่วยงานต่างๆ ได้เสนอให้กองทุนออกแบบระบบให้ผู้ที่ค้างชาระหนี้เงินกู้ กยศ.และ กรอ.กว่า 2 ล้านราย หนี้คงค้าง 2 แสนล้านบาท แสดงตนและยืนยันสถานภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

สอดคล้องกับสัปดาห์ก่อน “นายสมชัย สัจจพงษ์” ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการกองทุน กยศ. ได้ลงนามร่วมกับทุกกระทรวงเพื่อให้ข้าราชการที่ผิดสัญญาชำระเงินกู้กับ กยศ. ทั้งประเทศกว่า 66,000 ราย มาเข้ารับการปรับโครงสร้างหนี้

พบว่า จากข้อมูลปัจจุบัน กยศ. มีข้าราชการที่เป็นลูกหนี้ กยศ. และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กรอ.) ที่ค้างชำระเงินกู้ยืมเมื่อสิ้นเดือน ธ.ค. 58 ประมาณ 173,000 ราย และในจำนวนนี้ได้ปิดบัญชี 36,000 ราย, ไม่ค้างชำระหนี้ 71,000 ราย ส่วนอีก 66,000 ราย ยังค้างชำระอยู่หรือคิดเป็น 38% ทางกองทุนฯ ได้ส่งข้อมูลของผู้กู้ยืมให้แต่ละกระทรวงเพื่อจูงใจและกระตุ้นให้ข้าราชการสามารถใช้หนี้คืนได้ง่าย สาเหตุที่ข้าราชการผิดชำระเงินกู้เนื่องจากเข้าใจผิดว่าเป็นเงินที่ให้เปล่า โดยจำนวนนี้มีข้าราชการของกระทรวงการคลังกว่า 1,000 ราย ระดับซี 8, ซี 9 กระจายอยู่ในกรมสรรพากรมากที่สุด

ดังนั้น จะเปิดให้ข้าราชการเข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้ถึง 30 ก.ย.นี้ หากพ้นกำหนดแล้วจะดำเนินคดีตามกฎหมาย ถือเป็นการดำเนินการตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการให้หน่วยงานราชการปลอดการทุจริตคอร์รัปชั่น

ตัวเลข กยศ. ปัจจุบัน พบว่าปล่อยกู้ไปแล้ว 4.5 ล้านราย เป็นเงิน 400,000 ล้านบาท มีค้างชำระ 2 ล้านราย เป็นเงิน 56,000 ล้านบาท, ค้างทั่วไปมีการชำระบ้างไม่ชำระบ้าง 1.2 ล้านราย 13,000 ล้านบาท, การค้างชำระที่อยู่ระหว่างไกล่เกลี่ย 100,000 ราย 7,000 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการฟ้องร้อง 700,000 ราย 35,000 ล้านบาท ส่วนแผนในปี 59 นั้นตั้งเป้าปล่อยกู้ให้เด็กกว่า 670,000 ราย คิดเป็นวงเงินปล่อยกู้ 27,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ในปี 59 กยศ. ยังได้ปรับเกณฑ์ปล่อยกู้ต้องมีผลการเรียนขั้นต่ำ 2.0 และทำการบำเพ็ญประโยชน์ 36 ชั่วโมง เป็นไปตามนโยบายของ คสช. ที่ต้องการให้การปล่อยกู้มีความเข้มงวดเพื่อคัดกรองเด็กที่มีคุณภาพไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต เชื่อว่ายังมีเด็กยากจนแต่เรียนดีจำนวนมากและเกรดเฉลี่ยที่กำหนดไม่ถือว่ามากเกินไป กรณีที่เด็กเกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.0 สามารถเปลี่ยนไปเรียนสายอาชีพได้อีกช่องทางหนึ่ง อย่างไรก็ตามการติดตามการชำระคืนเงินกู้ กยศ. ในปี 59 ตั้งเป้าหมายทำให้ได้ขั้นต่ำ 19,000 ล้านบาท จากปี 58 ชำระคืน 17,000 ล้านบาท จากการออกมาตรการส่งเสริมการชำระหนี้คืน

มีความเห็นจาก ครม.บางท่านว่า ที่เปิดช่องนายจ้าง ให้หักเงินเดือนของผู้กู้ ให้จ่ายหนี้คืนกองทุน เป็นการดัดหลัง กลุ่มที่คิดจะเบี้ยว กยศ. แถมอีกนิด ครม.ยังรับทราบด้วยว่า ปัจจุบันมีรุ่นพี่บางรายถึงกับเสี้ยมรุ่นน้อง ไม่ต้องคืนทุน กยศ.!!! แต่ ถ้ายาแรงถึงขั้น “หักเงินเดือน” ไม่เวิร์ก ต่อไปคงมีกระบวนท่าไม้ตาย ส่งชื่อคนเบี้ยวหนี้เข้าสู่ระบบเครดิตบูโร เห็นว่า กยศ. ชงเรื่องนี้ ให้กระทรวงการคลังไว้แล้ว



กำลังโหลดความคิดเห็น