xs
xsm
sm
md
lg

“อี.เทค” นำร่องหักเงินเดือน จนท.คืนหนี้ กยศ. หวังเป็นสถานศึกษาอาชีวะต้นแบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - “อี.เทค” ทำ MOU ร่วมกองทุนเงินให้กู้ยืมทางการศึกษา ดำเนินโครงการ “กยศ.กรอ.เพื่อชาติ” ด้วยการหักเงินเดือนบุคลากรซึ่งเป็นผู้กู้ยืมเงินนำส่งกองทุน ด้าน ผจก.กองทุนเผยมีผู้ผิดนัดชำระ 2 ล้านราย ถูกดำเนินคดีแล้ว 8 แสนราย โทษสูงสุดถึงยึดทรัพย์



เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการ “กยศ.กรอ.เพื่อชาติ” กับกองทุนเงินให้กู้ยืมทางการศึกษา เพื่อเป็นสถานศึกษาระบบอาชีวศึกษาต้นแบบที่ดี ด้วยการดำเนินการหักเงินเดือนบุคลากรที่เป็นผู้กู้ยืมเงินนำส่งกองทุนเงิน ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ อี.เทค โดยมี ดร.ประเสริฐ กลิ่นชู ผู้อำนวยการวิทยาลัย อาจารย์อัมพร อุนทสูรย์ รองผู้อำนวยการ ดร.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุน และนางสุดาพร ปรีดานันท์ ผู้บริหารกองทุน ร่วมลงนาม

ดร.ประเสริฐ เผยว่า จุดประสงค์ของการเข้าร่วมโครงการก็เพื่อให้ผู้ที่กู้ยืมเงิน กยศ.ซึ่งเป็นบุคลากรของวิทยาลัยได้มีการวางแผนผ่อนชำระเงินคืนกองทุนอย่างเป็นระบบ และเป็นตัวอย่างแก่นักศึกษาในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งทางวิทยาลัยต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ จึงส่งรายชื่อครูเจ้าหน้าที่ทั้งหมดไปยังกองทุน ทั้งนี้ วิทยาลัยมีครูเจ้าหน้าที่กว่า 400 คน พบว่า มีผู้กู้ กยศ.กว่า 100 คน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนครูเจ้าหน้าที่ทั้งหมด

“ที่ผ่านมา เป็นสิทธิของเขาว่าจะส่งคืนหรือไม่ แต่เราคิดว่าเราจะเป็นสถานศึกษาระดับอาชีวะต้นแบบเป็นแห่งแรกของประเทศ ที่ร่วมมือกับกองทุนให้แก่วิทยาลัยต่างๆ ได้ดำเนินตาม ซึ่งเราจะหักเงินเดือนเจ้าหน้าที่เข้าสู่ระบบ อาจเป็นรายเดือน รายปี หรือจะปิดหนี้ทั้งหมด โดยคิดว่าจะดำเนินการได้ครบทุกคน”

ขณะที่ ดร.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุน กล่าวว่า กยศ.ต้องประสบปัญหาเรื่องที่ผู้กู้มีอัตราชำระคืนในจำนวนที่น้อย โดยขณะนี้มีผู้ที่ครบกำหนดชำระคืนเงินกู้ กยศ. 3 ล้านราย แต่ผิดนัดชำระถึง 2 ล้านราย จึงเป็นปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อทั้งตัวผู้กู้ และรุ่นน้องที่จะได้รับโอกาสต่อไป ซึ่งในส่วนตัวผู้กู้หากไม่ชำระเงินในระยะเวลา 4 ปี รวม 5 งวด จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ทั้งนี้ปัญหาที่พบ คือ ผู้กู้ไม่บอกที่อยู่ในปัจจุบันให้กองทุนทราบ และคิดเองว่าไม่ต้องชำระหนี้ แต่วันหนึ่งศาลจะดำเนินการพิพากษาฝ่ายเดียว ซึ่งเมื่อศาลมีหมายแจ้งไปแล้วผู้กู้จะผิดนัดไม่ได้

“ฉะนั้นต้องทำความเข้าใจว่า ผู้กู้เมื่อมีปัญหาในการส่งคืนต้องรีบแจ้งให้กองทุนทราบ ไม่ใช่ปล่อยปัญหาถึงวินาทีสุดท้ายจนถูกดำเนินคดี และเมื่อมีคำพิพากษาจากศาลแล้วผู้กู้ยังไม่ชำระก็จะถูกยึดทรัพย์ บังคับคดี ถือเป็นเรื่องที่กองทุนไม่อยากให้เกิดขึ้น วันนี้จึงมีมาตรการต่างๆ ในการรณรงค์ให้ชำระหนี้ เพิ่มช่องทางชำระ และมีการติดตามหนี้ที่เข้มข้นมาก”

ดร.ฑิตติมา เผยว่า ปัจจุบัน กยศ. ดำเนินคดีต่อผู้ที่ผิดนัดชำระแล้วถึง 8 แสนราย จากผู้ผิดนัดชำระ 2 ล้านราย ซึ่งโครงการ “กยศ.กรอ.เพื่อชาติ” คือ มาตรการกระตุ้นการชำระหนี้โดยองค์กรนายจ้าง ด้วยการทำ MOU กับองค์กรนายจ้าง ให้ช่วยทำหน้าที่หักเงินเดือนเข้ากองทุน ซึ่งโครงการนี้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 และคณะกรรมการกองทุนมีนโยบายจูงใจให้แก่ผู้กู้ยืมที่อยู่ในองค์กรนายจ้าง เช่น ผู้กู้ที่ไม่ค้างชำระหนี้ และยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือน จะได้รับเงินรางวัลตอบแทน 1% ของเงินต้นคงเหลือ ขณะที่ในส่วนของผู้ค้างชำระที่สามารถชำระยอดค้างทั้งหมดให้กองทุนได้ และยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนส่วนที่ค้างก็จะได้ลดเบี้ยปรับ 100% แต่หากปิดบัญชีเลยก็จะได้รับเงินรางวัลตอบแทนทันที 3%

ด้านนายจ้างจะได้รับประโยชน์ในแง่ของการช่วยให้บุคลากรไม่ต้องถูกยึดทรัพย์ บังคับคดี และยังเป็นการช่วยเหลือประเทศชาติทางอ้อมในการสร้างวินัยทางการเงินให้แก่บุคลากรอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น