“สหวิริยาสตีลอินดัสตรี” หยุดการผลิตธุรกิจโรงถลุงเหล็ก “SSI UK” พร้อมปรับปรุงโครงสร้างการเงินผ่านศาลฟื้นฟูกิจการหลังร่วมหารือกับกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่ เพื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อนที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้
นายวิน วิริยประไพกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) (SSI ) เปิดเผยว่า ตามที่บริษัทฯ ได้ประกาศหยุดผลิตเหล็กแท่งแบนชั่วคราวที่โรงงานเอสเอสไอทีไซด์ของธุรกิจโรงถลุงเหล็ก ที่ดำเนินงานโดยบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี ยูเค จำกัด (SSI UK) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมา ระหว่างรอผลการหารือกับรัฐบาลอังกฤษ และผู้มีส่วนได้เสียในการให้ความร่วมมือลดต้นทุนการผลิต และหยุดผลขาดทุนของธุรกิจโรงถลุงเหล็ก จากการประเมินสถานการณ์การหารือ ล่าสุด SSI UK มีความจำเป็นต้องหยุดการผลิตในส่วนของโรงถลุงเหล็กเอาไว้ ซึ่งจะส่งผลให้ต้องมีการลดการจ้างพนักงานลงจำนวนประมาณ 1,700 คน จากทั้งหมดประมาณ 2,000 คน
แต่บริษัท ยืนยันว่า การหยุดการผลิตของธุรกิจโรงถลุงเหล็กไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนของบริษัทฯ เนื่องจากยังมีวัตถุดิบเหล็กแท่งแบนสำรองอยู่ และสามารถจัดซื้อวัตถุดิบเหล็กแท่งแบนราคาถูกในตลาดได้
อย่างไรก็ตาม SSI UK ได้ถูกกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่เรียกให้ชำระหนี้ที่ค้างอยู่ตามเงื่อนไขการกู้ยืมเงิน และส่งผลให้หนี้เงินกู้ยืมจากกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่ถึงกำหนดชำระทั้งหมดในทันที และกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่ได้เรียกให้บริษัทฯ เป็นผู้ชำระหนี้ของ SSI UK ในฐานะผู้ค้ำประกัน ทำให้บริษัทฯ ต้องรับรู้หนี้เงินกู้ยืมทั้งจำนวนของ SSI UK ด้วย ซึ่งบริษัทฯ ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ ต่อมา กลุ่มธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่ได้ตัดสินใจเรียกให้บริษัทฯ ชำระหนี้ที่ค้างอยู่ตามเงื่อนไขการกู้ยืมเงิน เพิ่มเติมจากกรณีของ SSI UK เนื่องจากบริษัทฯ อยู่ในภาวะที่มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน และกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่จะใช้สิทธิในการเรียกภาระค้ำประกันจาก SSI UK ในฐานะผู้ค้ำประกันของบริษัทฯ อีกด้วย เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่
“สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินของบริษัทฯ โดยตรง บริษัทฯ และกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่ 3 รายจึงได้หารือเพื่อหาแนวทางในการรักษาธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อนของบริษัทฯ ให้สามารถดำเนินการได้ตามปกติ และรักษามูลค่าทางธุรกิจของบริษัทฯ ไว้ รวมถึงคงไว้ซึ่งระดับความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของบริษัทฯ ให้มีอยู่ เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดต่อพนักงาน ลูกค้า และคู่ค้าของบริษัทฯ ทำให้คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มติเห็นชอบให้บริษัทฯ ปรับปรุงโครงสร้างทางการเงินโดยยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลในวันที่ 1 ตุลาคม 2558 และอนุมัติให้บริษัทฯ เป็นผู้ทำแผนการฟื้นฟูกิจการ โดยในกรณีนี้ อำนาจ หน้าที่ และความรับผิดในฐานะผู้ทำแผนการฟื้นฟูกิจการตกเป็นของกรรมการของบริษัทฯ ที่มีชื่อตามหนังสือรับรอง โดยอนุมัติมอบอำนาจให้ นายวิน วิริยประไพกิจ หรือนายณรงค์ฤทธิ์ โชตินุชิตตระกูล ในฐานะผู้บริหารของลูกหนี้ เป็นผู้ทำแผน”
ในการนี้ กลุ่มธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่จะสนับสนุนให้บริษัทฯ บริหารงานต่อไป โดยจะพิจารณาให้การสนับสนุนวงเงินหมุนเวียนเพิ่มเติมตามสมควรเพื่อให้บริษัทฯ มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ โดยให้ที่ปรึกษาทางการเงินทำหน้าที่ควบคุมเงินสด (Cash Monitoring) ของบริษัทฯ และกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่จะให้ความร่วมมือสร้างความเชื่อมั่นกับคู่ค้าของบริษัทฯ ในการดำเนินธุรกิจต่อไป
นายวิน กล่าวอีกว่า กลุ่มธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่ และบริษัทฯ ร่วมกันพิจารณาแล้วเห็นว่าการเข้าสู่ศาลฟื้นฟูกิจการ จะทำให้บริษัทฯ ได้รับการปรับปรุงเเก้ไขสภาพคล่องทางการเงินให้ดีขึ้น เพียงพอต่อการสนับสนุนให้ธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อนในประเทศไทย ดำเนินต่อไปได้อย่างมีเสถียรภาพ เนื่องจากราคาเหล็กแท่งแบนที่ลดลงมามาก ทำให้ธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อนมีความสามารถในการแข่งขันสูง และสามารถทำกำไรได้ดีโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มพิเศษ (Premium Value Products) ที่มีส่วนต่างราคาสูง รวมทั้งโอกาสในการขยายตลาดเพิ่มมากขึ้นจากการเจริญเติบโตของภูมิภาคอาเซียนที่มีปริมาณการบริโภคเหล็ก 60 ล้านตันต่อปีในปัจจุบัน และจะเติบโตไปเป็น 80 ล้านตันต่อปีภายใน 3 ปีข้างหน้า จากปริมาณความต้องการใช้เหล็กในประเทศที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันปริมาณการบริโภคเหล็กเฉลี่ยในไทยยังสูงอยู่ที่ 17 ล้านตันต่อปี
อนึ่ง หนี้เงินกู้ยืมระหว่างบริษัทฯ กับกลุ่มเจ้าหนี้เงินกู้ทั้ง 3 ธนาคาร รวมวงเงิน 23,900 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินกู้ระยะยาว 11,900 ล้านบาท และวงเงินกู้ยืมหมุนเวียน 12,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ได้แบ่งชำระยอดหนี้คงค้างของวงเงินกู้ยืมระยะยาว 11,900 ล้านบาท เป็นรายไตรมาส ดังนี้ ปี 58 ชำระร้อยละ 19, ปี 59 ชำระร้อยละ 13, ปี 60 ชำระร้อยละ 14, ปี 61 ชำระร้อยละ 15, ปี 62 ชำระร้อยละ 16, ปี 63 ชำระร้อยละ 18 และปี 64 ชำระร้อยละ 5 โดยใช้อัตราดอกเบี้ยอ้งอิงกับ MLR
โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 กลุ่มธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่จะใช้สิทธิเรียกให้ชำระหนี้ หลังจากบริษัทผิดนัดชำระหนี้โดยมูลหนี้ตามหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ เป็นมูลหนี้ภายใต้สัญญาเงินกู้ 23,900 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าร้อยละ 5 ของสินทรัพย์รวมของบริษัที่ปรากฏในงบการเงินของบริษัท ฉบับสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2558