xs
xsm
sm
md
lg

“SSI” โร่หาแบงก์บริหารหนี้ ก่อนธุรกิจล้มละลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิน วิริยประไพกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี หรือ SSI
เอสเอสไอ จับมือ 3 ธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่ เดินหน้าปรับปรุงโครงสร้างการเงิน เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้อย่างมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อนที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง

นายวิน วิริยประไพกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) (“SSI” หรือ “บริษัทฯ”) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ประกาศหยุดผลิตเหล็กแท่งแบนชั่วคราวที่โรงงานเอสเอสไอทีไซด์ของธุรกิจโรงถลุงเหล็ก ที่ดำเนินงานโดยบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี ยูเค จำกัด (“SSI UK”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมา ระหว่างรอผลการหารือกับรัฐบาลอังกฤษ และผู้มีส่วนได้เสียในการให้ความร่วมมือลดต้นทุนการผลิต และหยุดผลขาดทุนของธุรกิจโรงถลุงเหล็ก การตัดสินใจดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจโรงถลุงเหล็กเฉพาะส่วนของยอดขายที่จำหน่ายให้กับบุคคลภายนอก (ร้อยละ 52 ของยอดขายรวมในงวด 6 เดือนปี 2558) แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนของบริษัทฯ เนื่องจากยังมีวัตถุดิบเหล็กแท่งแบนสำรองอยู่ และสามารถจัดซื้อวัตถุดิบเหล็กแท่งแบนราคาถูกในตลาดได้


“นับตั้งแต่ธุรกิจโรงถลุงเหล็กเริ่มผลิตเหล็กแท่งแบนในปี 2555 บริษัทฯ ได้ดำเนินการลดต้นทุนมาอย่างต่อเนื่อง และสามารถขยายตลาดไปทั่วโลก แต่ด้วยสภาวะตลาดเหล็กโลกที่กำลังการผลิตล้นความต้องการอย่างรุนแรงตั้งแต่ไตรมาส 4/2557 จากการอุดหนุนการส่งออกเหล็กของรัฐบาลจีน ค่าเงินสกุลรูเบิลของรัสเซียที่ตกต่ำ รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจของจีน และรัสเซีย ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกเหล็กจากทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ราคาเหล็กแท่งแบน ณ ปัจจุบัน ลดลงกว่าร้อยละ 40 จากราคาเฉลี่ยที่สูงกว่า 500 เหรียญสหรัฐต่อตันในปี 2557 ในขณะที่ธุรกิจโรงถลุงเหล็กสามารถลดต้นทุนการผลิตได้เพียงร้อยละ 30 ซึ่งราคาเหล็กแท่งแบนได้ลดลงมากกว่าต้นทุนที่ลดลงได้ EBITDA ของธุรกิจโรงถลุงเหล็กจึงกลับมาเป็นลบในครึ่งปีแรกของปี 2558”

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ SSI UK ประสบปัญหาขาดทุนจากการดำเนินงานจึงต้องหยุดการผลิตลงชั่วคราว เพื่อเจรจากับผู้มีส่วนได้เสียของ SSI UK เช่นรัฐบาลอังกฤษ คู่ค้า และสหภาพแรงงาน ซึ่งจากการเจรจาหารือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โอกาสที่การผลิตเหล็กจะสามารถเปิดดำเนินการได้อีกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการทำความตกลงกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสีย และยังมีความไม่แน่นอนจากหลายปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ที่จะส่งทำให้การเปิดดำเนินการโรงถลุงเหล็กของ SSI UK ยังไม่อาจสรุปได้อย่างชัดเจน ทางกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่ที่ให้เงินกู้แก่ SSI UK ซึ่งประกอบด้วยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) จึงตัดสินใจเรียกให้ SSI UK ชำระหนี้ที่ค้างอยู่ตามเงื่อนไขการกู้เงิน ซึ่งจากฐานะทางการเงินในปัจจุบันของ SSI UK ไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้ กลุ่มธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่ของ SSI UK จึงขอให้ บริษัทฯ ร่วมรับผิดชอบในการชำระหนี้ดังกล่าว ในฐานะผู้ค้ำประกันของ SSI UK สำหรับหนี้วงเงินจำนวนประมาณ 790 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทฯ และกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่จะดำเนินการร่วมกันในการจัดทำแผนการปรับปรุงโครงสร้างทางการเงิน และการบริหารจัดการหนี้ของบริษัทฯ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเสถียรภาพต่อไป โดยคำนึงถึงการรักษามูลค่าทางธุรกิจของบริษัทฯ และการป้องกันมิให้เกิดผลกระทบในทางลบอย่างมีนัยสำคัญใดๆ ต่อพนักงาน ลูกค้า และคู่ค้าของบริษัทฯ


ขณะที่กลุ่มธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่รับทราบถึงความจำเป็นของการหยุดผลิตชั่วคราวของ SSI UK และเชื่อว่าธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อนของ SSI มีความสามารถในการแข่งขันสูง บริษัทฯ จะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ SSI มีส่วนแบ่งการตลาดที่แข็งแกร่ง และเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในตลาดเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนภายในประเทศ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ พลังงาน การขนส่ง และการก่อสร้าง ที่สำคัญ SSI มีความสามารถในการหาวัตถุดิบเหล็กแท่งแบนราคาถูกในตลาดได้ แม้ว่า SSI UK จะหยุดการผลิตเป็นการชั่วคราวแล้วก็ตาม


ทั้งนี้ ยอดหนี้รวมของ SSI ที่มีอยู่กับกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่ 3 ราย มีมูลค่ารวมประมาณ 5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นหนี้ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ธนาคารกรุงไทยประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท และธนาคารทิสโก้ประมาณ 4.4 พันล้านบาท โดยแต่ละธนาคารได้ทำการกันสำรองเงินสินเชื่อที่ให้แก่ SSI จนครบถ้วนเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้แล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น