xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรอินทรีย์ “SVN Awards” อีกความภูมิใจของ สามพราน ริเวอร์ไซด์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รับรางวัลจาก อานันท์ ปัญญารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี
โรงแรม สามพราน ริเวอร์ไซด์ หนึ่งใน 4 องค์กรที่ได้รับคัดเลือกให้รับรางวัล SVN Awards ประเภทภาคธุรกิจดีเด่น ประจำปี 2557 ด้านการขับเคลื่อนให้มีแหล่งอาหารปลอดภัยของชุมชน โดยไม่หวังผลกำไร ซึ่งสามารถเชื่อมโยงเกษตรกร นักวิชาการ และนักบริหารรุ่นใหม่ด้วยหลักธรรมาภิบาล
อรุษ นวราช
สุชาดา ยุวบูรณ์ ประธานบริหารโรงแรม สามพราน ริเวอร์ไซด์  ร่วมแสดงความยินดี
5 ปี “สามพรานโมเด็ล”
กว่าจะเกิดผลเป็นรูปธรรมที่ทำให้สังคมรับรู้ว่าพื้นที่ของอ.สามพราน จ.นครปฐม กำลังเปลี่ยนไปสู่เกษตรอินทรีย์ก็ต้องใช้เวลายาวนานกว่า 5 ปี จนทุกวันนี้มีเกษตรกร 60 รายที่ปรับตัวเองมาเป็นเกษตรอินทรีย์อย่างสมบูรณ์
“เราดำเนินโครงการโดยการสนับสนุนทุนจาก สสส. สกว.ในการช่วยเสริมสร้างการขับเคลื่อนโครงการ ทำให้เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงที่มองเห็นเป้าหมายจากการร่วมลงมือทำชัดเจนขึ้น ถึงแม้ยังไปไม่สุดทาง หรือจะไม่ได้รับทุน เราก็มีความตั้งใจสร้างธุรกิจการผลิตอาหารอินทรีย์ เนื่องจากเราได้ทีมงานที่ดีซึ่งเชื่อว่าเปลี่ยนแปลงได้ เพราะนี่จะเป็นการสร้างระบบธุรกิจที่เป็นธรรม” อรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการ โรงแรม สามพราน ริเวอร์ไซด์ กล่าว และเล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการ “สามพรานโมเด็ล” เพื่อตอบโจทย์ทั้งกับโรงแรม และเกษตรกร

โรงแรมลุกขึ้นมาผลิตอาหารอินทรีย์ร่วมกับเกษตรกรในอำเภอสามพราน ภายใต้ “โครงการ สามพรานโมเดล” เป็นการสร้างองค์ความรู้เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ โดยนำนักวิชาการมาจัดอบรม เพื่อนำวัตถุดิบมาใช้กับครัวของโรงแรม นอกจากนี้ ยังได้จัดตลาดสุขใจทุกวันเสาร์ - อาทิตย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ของโรงแรม รวมทั้งจัดตลาดสุขใจสัญจรตามพื้นที่ย่านธุรกิจในกรุงเทพมหานคร เพื่อจัดจำหน่ายสินค้าอินทรีย์ อาทิ ข้าว ผัก ผลไม้ นับเป็นโมเดลของการจัดกิจการ เพื่อสังคม ก่อให้เกิดชุมชนเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่รอบๆ โรงแรม และขยายไปยังพื้นที่ใกล้เคียง
การทำเรื่องเกษตรอินทรีย์สามารถตอบโจทย์ของโรงแรมได้ เพราะโรงแรมต้องใช้ ผัก ผลไม้ ข้าว มาปรุงอาหารให้แขกผู้มาพัก ทำให้เราและเกษตรกรสมประโยชน์ด้วยกัน เมื่อเกษตรกรขายผลผลิตได้ โรงแรมก็ได้ใช้วัตถุดิบปลอดภัยมาปรุงอาหาร แต่ที่สำคัญคือได้ร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจเกษตร ทำให้เกษตรกรไม่ต้องขายสินค้าผ่านพ่อค้าคนกลาง เกษตรกรสามารถรวมกลุ่มกันซึ่งมีอำนาจต่อรองมากขึ้น และยิ่งทำให้เกิดความมั่นใจในการปลูกผักผลไม้ที่ไม่ใช้สารเคมี

ตลาดสุขใจสัญจร ที่ธนาคารกรุงไทยสำนักงานใหญ่
สร้างตลาดเอง ทำให้ราคาไม่แพง
ถ้าสินค้าอินทรีย์พึ่งพาการตลาดแบบเก่าก็คงต้องอาศัยพ่อค้าคนกลางซึ่งจะไม่เวิร์กเพราะสินค้ากว่าจะถึงผู้บริโภค ราคาก็จะแพงเกินถึงแม้สินค้าจะดีก็ตาม โจทย์เรื่องราคา เราต้องทำให้ถึงมือผู้บริโภคในราคาที่เป็นธรรม โครงการนี้เราต้องการสร้างความเชื่อมั่น จึงให้ผู้บริโภคกับผู้ผลิตได้มารู้จักกัน มันจะศักดิ์สิทธิ์มากกว่าตราสินค้าเสียอีก เมื่อลูกค้ามาเที่ยวถึงสวนได้มาดูแปลงปลูก สิ่งนี้ถือว่าเป็นการรับรองแบบมีส่วนร่วม
สามพรานโมเดล ปัจจุบันได้ขยายตลาดพืชผักอินทรีย์ไปถึงกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นสำนักงาน ในกรุงเทพฯ ด้วยรูปแบบ “ตลาดสุขใจสัญจร” ประมาณเดือนละครั้ง เช่น การเปิดตลาดที่ธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ ธนาคารกรุงไทยสำนักงานใหญ่ สำนักงาน SCG บางซื่อ โดยนำผลผลิตจากเกษตรกร 60 ราย ที่ได้รับตรารับรองเกษตรอินทรีย์ หรือ IFOAM ไปจำหน่าย ในปีนี้ได้ดำเนินการมา 6 เดือน ปรากฏว่าได้รับผลตอบรับที่ดีมาก และกำลังขยายไปยังพื้นที่ของปตท. และธนาคารแห่งประเทศไทย
ผลิตผลอินทรีย์ถ้าถึงมือผู้บริโภคโดยไม่ผ่านคนกลาง ราคาก็จะไม่แพงจนเกินไป จะเห็นว่าพืชผักประเภทนี้ตามห้าง มีราคาค่อนข้างแพงจึงเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ลูกค้ามองข้าม แต่เราพยายามเชื่อมให้ห่วงโซ่อาหารนี้สั้นลง
วิถีท่องเที่ยวอินทรีย์ที่เชื่อมกับโครงการ
From Farm to Firm
ขยายผ่านระบบสมาชิก
ขณะนี้ โครงการ สามพรานโมเดล กำลังจัดทำระบบสมาชิกเกษตรอินทรีย์ เพื่อเปิดให้ลูกค้าสั่งผลผลิตทางเว็บไซต์ ซึ่งทางเกษตรกรจะแจ้งล่วงหน้าว่าแต่ละสัปดาห์จะมีผลผลิตอินทรีย์ชนิดใดออกมาขายได้บ้าง ทำให้สมาชิกสั่งจองเข้ามาใน 1 สัปดาห์ และมีบริการรถส่งผักผลไม้อินทรีย์ตรงถึงสำนักงาน เราเรียกโครงการนี้ว่า From Farm to Firm โดยจะเริ่มนำร่องที่ออฟฟิศของธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ พร้อมกับมีระบบสะสมแต้ม สำหรับลูกค้าที่มียอดสะสมการซื้อมากที่สุดในวงเงินที่ตั้งไว้จะได้รับโอกาสมาเที่ยวชมสวนของเกษตรกร เพื่อได้มารู้จักกับคนที่ปลูกผัก ผลไม้ ก่อให้เกิดวิถีท่องเที่ยวอินทรีย์ที่เชื่อมกับโครงการด้วย
ในฐานะคนร่วมบุกเบิกเกษตรอินทรีย์ให้ขยายตัว อรุษ กล่าวถึงปัญหาระหว่างการทำงานนี้ว่า หลักๆ เลยก็คือเรื่องคน เกษตรกรที่ไม่พร้อมจะเปลี่ยนเราก็อาศัยความพยายามสร้างความเข้าใจ ต้องทำให้เขาเห็นจริงซึ่งมักไม่มีสูตรตายตัว เรายังมุ่งมั่นจะขับเคลื่อนให้พวกเขาเป็นกลุ่มเกษตรกรต้นแบบ เพื่อเป็นทั้งพี่เลี้ยง และฮีโร่
อย่างไรก็ตาม บางครั้งก็ติดปัญหาจากภาครัฐเสียเองที่มีนโยบายเกษตรอินทรีย์ไม่ชัดเจน ขณะที่ผู้บริโภคส่วนหนึ่งยังไม่เข้าใจ เช่นคิดว่าผักไฮโดรโปรนิกส์คือเกษตรอินทรีย์ และยังไม่ค่อยตระหนักถึงความปลอดภัยจากการบริโภคนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น