ใครไม่ติดต่อชำระหนี้กับทาง กยศ. ตามสัญญา หรือพยายามชักดาบเงินกู้ คิดว่าไม่จ่ายก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น อ่านข่าวนี้แล้วคิดใหม่ เพราะทาง กยศ.ได้ปรับยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการศึกษาให้มีอำนาจเข้าถึงฐานข้อมูลของผู้กู้ และสามารถสั่งให้นายจ้างหักเงินเดือนของบุคลากรในหน่วยงาน หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ นั่นหมายความว่า จะสามารถบังคับให้การชำระหนี้ กยศ.ได้สะดวกมากขึ้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ได้พยายามติดตามทวงหนี้ผู้ค้างชำระมาโดยตลอด ทั้งมาตรการส่งใบแจ้งหนี้, ส่งหนังสือติดตามหนี้ และจ้างบริษัทติดตามหนี้ ซึ่งการดำเนินการติดตามหนี้จะเป็นไปตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยทั้งหมด เพื่อป้องกันความเสี่ยงของผู้กู้ ให้ชำระหนี้ก่อนที่จะถูกดำเนินการฟ้อง
ด้านมาตรการยึดทรัพย์ของผู้กู้นั้น หลายฝ่ายมองว่า เป็นกรณีตัวอย่างที่ดีให้แก่รุ่นน้องที่กำลังละเลยต่อการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงไว้กับทาง กยศ. โดยในปีที่ผ่านมาได้มีการส่งเรื่องให้ทางกรมบังคับคดีเป็นผู้ดำเนินการยึดทรัพย์มาแล้วหลายรายด้วยกัน ประเดิมยึดทรัพย์ผู้กู้ยืมรุ่นปีการศึกษา 2547 ไปแล้วเกือบ 800 ราย และเตรียมยึดทรัพย์ผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้อีกกว่า 4,000 ราย
นอกจากนั้น ตามข่าวการให้สัมภาษณ์ของ "น.ส.ฑิตติมา วิชัยรัตน์" ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ยังระบุด้วยว่า ทาง กยศ. เดินหน้าสร้างความเข้าใจ และเชิญชวนองค์กรนายจ้างมาทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ กยศ. เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา โดยที่ผ่านมาได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวร บริษัท บาธรูมดีไซน์ จำกัด ในการหักเงินเดือนข้าราชการ พนักงานที่เป็นหนี้ค้างชำระกองทุน กยศ.แล้ว รวมไปถึงกระทรวงศึกษาธิการก็ขานรับการหักเงินเดือนคนค้างหนี้ทั้ง กยศ. และกรอ.ด้วยเช่นกัน
ในส่วนของ ศธ. นั้น ตามรายงานข่าวระบุว่า ทุกหน่วยงานเห็นชอบที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยทาง รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ผุดโปรโมชัน เพื่อจูงใจให้บุคลากรมาชำระหนี้คืนมากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนลดมอบให้ 3 เดือน จากเดิม 12 เดือน ก็จ่ายเพียง 9 เดือนเท่านั้น หากหน่วยงานใดสนใจเข้าร่วมเป็นเครือข่ายส่งเสริมความรับผิดชอบทางการเงินและความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อลดการค้างชำระหนี้กองทุน กยศ. สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ฝ่ายเครือข่ายสัมพันธ์ กยศ.โทร.0-2610-4862
เมื่อลงลึงไปถึง "มาตรการจูงใจบุคลากรในสังกัดองค์กรนายจ้างที่ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกองทุนฯ" เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา ทั้งการชำระหนี้แบบปิดบัญชี หรือการประนอมหนี้ โดยหลักๆ คือ นายจ้างหักเงินเดือนนำส่ง กยศ. ภายใต้การยินยอมของลูกหนี้ ตามรายละเอียดดังนี้
1. กรณีบุคลากรที่เป็นผู้กู้ยืมเงินยินยอมให้หักเงินเดือน
กลุ่มลูกหนี้ทั่วไป
- กลุ่มไม่ค้างชําระ หากยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนชําระหนี้กองทุน เมื่อชําระเสร็จสิ้นแล้ว กองทุนจะให้เงินตอบแทนเป็นรางวัล คิดเป็นจํานวนร้อยละ 1 ของเงินต้นคงเหลือ ณ วันที่เริ่มให้หักเงินเดือน หรือได้รับการลดหย่อนหนี้เป็นจำนวนเท่ากับเงินชำระหนี้ 3 เดือนสุดท้าย
- กลุ่มผู้ค้างชําระ แบ่งได้เป็น 2 กรณีคือ 1. มาชําระหนี้เป็นปกติ และยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนชําระหนี้กองทุนจะได้รับการลดเบี้ยปรับ 100 % 2. กรณีไม่สามารถชําระหนี้ให้เป็นปกติได้ กองทุนจะปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ให้แก่ผู้กู้ยืม เมื่อผู้กู้ให้ความยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนชําระหนี้กองทุน จะได้รับการลดเบี้ยปรับ 50% และมีระยะเวลาผ่อนชําระหนี้ตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามสัญญา
กลุ่มลูกหนี้ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง
- กลุ่มไม่ค้างชําระ หากยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนชําระหนี้กองทุน เมื่อชําระเสร็จสิ้นแล้ว กองทุนจะให้เงินตอบแทนเป็นรางวัล คิดเป็นจํานวนร้อยละ 1 ของเงินต้นคงเหลือ ณ วันที่เริ่มให้หักเงินเดือน หรือได้รับการลดหย่อนหนี้เป็นจำนวนเท่ากับเงินชำระหนี้ 3 เดือนสุดท้าย
- กลุ่มผู้ค้างชําระ เมื่อผู้กู้ยืมเงินมาชําระหนี้เป็นปกติ และให้ความยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนชําระหนี้กองทุนจะได้รับการลดเบี้ยปรับ 100%
กลุ่มลูกหนี้ที่ถูกดําเนินคดี
- กรณีพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยให้ผ่อนชําระเป็นรายเดือน และไม่ค้างชําระหนี้ เมื่อผู้กู้ยืมเงินให้ความยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนชําระหนี้กองทุน เมื่อชําระเสร็จสิ้นแล้ว กองทุนจะให้เงินตอบแทนเป็นรางวัล คิดเป็นจํานวนร้อยละ 1 ของเงินต้นคงเหลือ ณ วันที่เริ่มให้หักเงินเดือน หรือได้รับการลดหย่อนหนี้เป็นจำนวนเท่ากับเงินชำระหนี้ 3 เดือนสุดท้าย
- กรณีพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยให้ผ่อนชําระเป็นรายเดือน และค้างชําระหนี้ เมื่อผู้กู้ยืมเงินมาชําระหนี้เป็นปกติและให้ความยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนชําระหนี้กองทุน จะได้รับการลดเบี้ยปรับ 100 %
- กรณีพิพากษาให้ชําระหนี้ทั้งจํานวน เมื่อผู้กู้ยืมเงินเข้าทําบันทึกข้อตกลงในการเจรจาไกล่เกลี่ยชั้นบังคับคดีตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาว่าด้วยการไกล่เกลี่ยลูกหนี้ตามคําพิพากษาชั้นบังคับคดี พ.ศ.2557 และให้ความยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนชําระหนี้กองทุน เมื่อชําระเสร็จสิ้นแล้ว กองทุนจะให้เงินตอบแทนเป็นรางวัล คิดเป็นจํานวนร้อยละ 1 ของเงินต้นคงเหลือ ณ วันที่เริ่มให้หักเงินเดือน หรือได้รับการลดหย่อนหนี้เป็นจำนวนเท่ากับเงินชำระหนี้ 3 เดือนสุดท้าย
2. กรณีบุคลากรที่เป็นผู้กู้ยืมเงินปิดบัญชี
กลุ่มลูกหนี้ทั่วไป
- กลุ่มไม่ค้างชําระ กองทุนจะให้เงินตอบแทนเป็นรางวัล คิดเป็นจํานวนร้อยละ 3 ของเงินต้นคงเหลือ ณ วันที่ปิดบัญชี หรือได้รับส่วนลดเงินต้น 3%
- กลุ่มผู้ค้างชําระ ลดเบี้ยปรับ 100 %
กลุ่มลูกหนี้ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง
- กลุ่มไม่ค้างชําระ กองทุนจะให้เงินตอบแทนเป็นรางวัล คิดเป็นจํานวนร้อยละ 3 ของเงินต้นคงเหลือ ณ วันที่ปิดบัญชี หรือได้รับส่วนลดเงินต้น 3%
- กลุ่มผู้ค้างชําระ ลดเบี้ยปรับ 100 %
กลุ่มลูกหนี้ที่ถูกดําเนินคดี
- กรณีพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยให้ผ่อนชําระเป็นรายเดือน และไม่ค้างชําระหนี้ กองทุนจะให้เงินตอบแทนเป็นรางวัล คิดเป็นจํานวนร้อยละ 3 ของเงินต้นคงเหลือ ณ วันที่ปิดบัญชี หรือได้รับส่วนลดเงินต้น 3%
- กรณีพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยให้ผ่อนชําระเป็นรายเดือน และค้างชําระหนี้ ลดเบี้ยปรับ 100 %
- กรณีพิพากษาให้ชําระหนี้ทั้งจํานวน ลดเบี้ยปรับ 100 %
อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 ทางกยศ. มีนโยบายนำบัญชีของผู้กู้ทั้งหมดเข้าเป็นสมาชิกของเครดิตบูโร ซึ่งจะแสดงสถานะบัญชีของผู้กู้ ทางกองทุนฯ จึงขอความร่วมมือผู้กู้ที่ค้างชำระหนี้ให้เร่งดำเนินการติดต่อมายังกยศ. เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ต่อไป
มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...
Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754