ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ฉับพลันที่ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดประเด็นเรื่อง “การทำประชามติ” ขอให้ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)” อยู่ในอำนาจต่ออีก 2 ปี เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ดังอื้ออึงไปทั่วทั้งแผ่นดิน
สังคมมิอาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ว่า นี่คือ “การโยนหินถามทาง” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า คสช.และในฐานะนายกรัฐมนตรี เพราะ คสช.คือคนที่ตั้งนายไพบูลย์มากับมือ และถ้าไม่มีสัญญาณพิเศษ มีหรือที่นายไพบูลย์จะโพล่งออกมาเช่นนี้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าจะเกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ได้หารือกับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เพื่อแปรญัตติในบทเฉพาะกาล มาตรา 308 โดยให้บัญญัติเพิ่มเติมว่า หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 90วัน ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จัดทำประชามติว่า เห็นสมควรให้มีการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน เศรษฐกิจและความมั่นคงให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ก่อนมีการเลือกตั้งหรือไม่ หรือเห็นสมควรให้มีการเลือกตั้ง ตามกำหนดในรัฐธรรมนูญทันที อย่างไรก็ตาม หากมีการจัดทำประชามติก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ก็ให้มีการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนต่อประเด็นดังกล่าวในคราวเดียวกันเพื่อสร้างทางเลือกให้กับประชาชนที่ต้องการให้เกิดการปฏิรูป”นายไพบูลย์ให้เหตุผล
แล้วก็เป็นเรื่องบังเอิญอย่างร้ายกาจที่สอดคล้องกับ “นายวันชัย สอนศิริ” สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ที่โพสต์ความเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัวอย่างพอดิบพอดีราวกับมีการประชุมเตรียมการนัดหมายเอาไว้ก่อน ซึ่งความจริงก็น่าจะเป็นเช่นนั้น
ทนายวันชัยโพสต์แสดงความคิดเห็นเอาไว้ว่า “จากการพิจารณาบรรยากาศทางการเมือง สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งความรู้สึกของประชาชน แล้วเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ควรอยู่บริหารประเทศเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่ยังไม่เรียบร้อยต่ออีกสัก 2 ปี ด้วยหลายเหตุผล ทั้งปัญหาของประเทศที่หมักหมามานาน เพราะใช้วิธีการและอำนาจปกติไม่สามารถทำได้”
และในที่สุด ก๊วนโยนหินถามทางกลุ่มนี้ก็ตกผลึกความคิดร่วมกัน โดย นายไพบูลย์ นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา และนายศิระ เจนจาคะ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมกันแถลงข่าวที่รัฐสภา โดยมีเนื้อหาสาระและเหตุผลว่า “เพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 308 โดยเพิ่มข้อความในวาระเริ่มแรก นับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงประชามติภายใน 90 วัน โดยให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 มาใช้บังคับอนุโลม เพื่อให้พลเมืองทั้งประเทศเป็นผู้พิจารณาเห็นควรให้มีการปฏิรูปประเทศและการบริหารราชการแผ่นดินให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศก่อนที่จะจัดการเลือกตั้ง หากพลเมืองออกเสียงประชามติเสียงข้างมากให้ความเห็นชอบ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาสองปี นับจากวันที่มีการออกเสียงประชามติเห็นชอบแล้วจึงจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป”
ความจริง ถ้าจะว่าไปแล้วแนวทางดังกล่าวก็สอดคล้องกับสิ่งที่ “หลวงลุงกำนัน” พระสุเทพ ปภากโร อดีตแกนนำ กปปส.ซึ่งบัดนี้อยู่ใต้ร่มกาสาวพัตร มีความเห็นก่อนหน้านี้เสียด้วยซ้ำไป
พระสุเทพที่ประกาศตัวว่า ไม่ข้องเกี่ยวกับทางโลก เทศน์นอกธรรมาสน์เอาไว้ว่า “ถ้า พล.อ.ประยุทธ์อยู่แล้วแก้ปัญหาประเทศได้ ทำให้ประเทศดีขึ้น ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จะอยู่อีก 3 ปี 5 ปีก็ไม่เห็นน่ารังเกียจอะไรเลย ไม่ใช่เอาแต่ความเท่ เอาแต่ยี่ห้อ แล้วก็กินไม่ได้ แบบนี้ไม่ได้รูปแบบประชาธิปไตย แต่ประชาชนร้องไห้ น้ำตาไหล จะมีความหมายอะไร ตรงนี้ แล้วแต่ใครจะคิด”
เพียงแต่ว่า ณ ขณะนี้ สถานการณ์ดูเหมือนจะยังไม่เอื้ออำนวยต่อการนำเสนอประเด็นต่อสังคม หรือพูดง่ายๆ ก็คือเร็วเกินไป ดังนั้น แนวความคิด “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีก 2 ปี” จึงยังย่ำอยู่กับที่ หรือพุดง่ายๆ ว่า กระสุนด้านนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ถามว่า โอกาสที่ คสช.จะอยู่ในอำนาจต่อมีความเป็นไปได้สูงมากน้อยแค่ไหน
ก็ต้องตอบว่า มีโอกาส เพราะเมื่อพิจารณาบริบททางการเมืองที่ดำเนินอยู่ในเวลานี้แล้วก็จะเห็นว่า หนทางที่จะเป็นไปตาม “โรดแมป” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศไว้เลือนรางไปทุกที ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำ “รัฐธรรมนูญ” ฉบับ “นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ที่มีปัญหารุมเร้าสารพัดสารพัน และเกิดปัญหาความขัดแย้งกับหลายๆ กลุ่ม
แม้กระทั่ง “ศาลยุติธรรม” ก็ทำหนังสือคัดค้านกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถึง 7 ประเด็น 7 มาตราด้วยกัน
ขณะที่การบริหารงานของรัฐบาล คสช.เองในรอบ 1 ปีนับตั้งแต่ทำรัฐประหาร ก็กำลังเผชิญกับปัญหาหนักอกอย่างที่นายไพบูลย์และนายวันชัยกล่าวไว้จริงๆ แม้จะไม่ได้ถึงขนาด “1 ปีแห่งความว่างเปล่า” แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศได้ตามที่ประกาศไว้ การปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ จนบัดนี้ก็ยังไม่มีรูปธรรมให้เห็นชัดเจน เศรษฐกิจของประเทศก็ยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
ซ้ำร้ายนานวันไปยิ่งเกิดรอยร้าวของ “คนกันเอง” ให้เห็นมากขึ้นทุกที ระหว่าง “นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” และ “ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ซึ่งมี “บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ ถือหาง
รอยร้าวของคนกันเองทำให้การผลักดันนโยบายทางด้านเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างที่เห็น และแน่นอนว่า สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับ พล.อ.ประยุทธ์เป็นอย่างมาก แต่ด้วยความที่เกรงใจ “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” จึงยังไม่กล้าแตกหักด้วยการปรับคณะรัฐมนตรี ทำให้การทำคลอดมาตรการต่างๆ ติดขัด ซึ่งส่งผลทำให้ระดับความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศหดหายลงไปทุกวัน
ไหนจะปัญหา “ข้าราชการ” เกียร์ว่าง ที่คอยฉุดรั้งให้รัฐบาล คสช.ไม่สามารถผลักดันนโยบายให้สัมฤทธิผลในทางปฏิบัติได้ เพราะพวกเขารู้อยู่เต็มอกว่า รัฐบาลทหารมาแล้วก็ไป ซึ่งแม้จะออกแรงขู่ก็มิได้ทำให้พวกเขารู้ร้อนรู้หนาวแต่อย่างใด
ผลงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ที่สังคมจำกันได้ก็เป็นจำพวกจัดระเบียบร้านค้าชายหาด การเดินหน้าปราบปรามการบุกรุกป่า การเปิดตลาดน้ำ ขายกล้วยไม้ ขายผลไม้ที่คลองผดุงกรุงเกษม เป็นต้น ไม่มีผลงานใหญ่ให้เป็นที่น่าจดจำ
และผลสัมฤทธิ์หนึ่งเดียวที่ประเทศชาติและประชาชนได้รับจากการทำรัฐประหารก็คือ การป้องกันมิให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในประเทศ
ด้วยเหตุและปัจจัยดังกล่าว ทำให้ คสช.อาจต้องทบทวนระยะเวลาของการอยู่ในอำนาจให้นานขึ้น เพราะถ้าปล่อยให้ประเทศตกอยู่ภายใต้เงื้อมมือของนักการเมือง โดยมีการปฏิรูปและการแก้ไขปัญหาต่างๆ ยังไม่บรรลุ นั่นเท่ากับว่า การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมาสูญเปล่า
อย่างไรก็ดี ปัญหาของเรื่องนี้มีอยู่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ได้กำหนดเงื่อนไขเวลาและโรดแมปเอาไว้ชัดเจน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีวิธีปลดล็อกเอาเสียเลย เพียงแค่ว่า ถ้า คสช.อยากจะอยู่ในอำนาจต่อไปจะต้องลงมือปลดล็อกด้วยตนเอง
นั่นก็คือ คสช.และคณะรัฐมนตรีจะต้องตกผลึกและเห็นพ้องต้องกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เพื่อยืดระยะเวลาในการบริหารประเทศต่อไป เพราะเป็นอำนาจของ คสช.โดยตรงในฐานะองค์รัฏฐาธิปัตย์
จริงอยู่ แม้ สปช.จะโยนหินถามทางออกมา โดยเสนอความเห็นเรื่องการยื่นแปรญัตติเพื่อแก้ไขบทเฉพาะกาล มาตรา 308 แต่ในทางปฏิบัติไม่น่าจะทำได้เพราะเรื่องนี้มีการกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เอาไว้ชัดเจน แต่ คสช.ทำได้ ในฐานะองค์รัฏฐาธิปัตย์
หรืออีกทางหนึ่งคือ ร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังถกเถียงกันหน้าดำคร่ำเครียด อยู่ในขณะนี้ เกิดอุปัทวเหตุในทางการเมือง ไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนต้องกลับไปเริ่มกระบวนการจัดทำเสียใหม่ ซึ่งพิจารณาดูแล้วก็มีโอกาสและความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่จะเป็นเช่นนั้น เพราะก่อให้เกิดความขัดแย้งมากโข รวมถึงการไม่ผ่านประชามติที่ใช่ว่าไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเอาเสียเลย เพราะเป็นที่ชัดเจนว่า หลายมาตราขัดกับผลประโยชน์ของนักการเมือง
และแน่นอนว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็ตระหนักถึงข้อนี้เป็นอย่างดีไม่เช่นนั้นคงไม่ให้สัมภาษณ์ว่า “การจะอยู่หรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ผม แต่อยู่ที่รัฐธรรมนูญว่าจะออกมาได้หรือไม่ ออกไม่ได้ก็ต้องร่างใหม่ ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านได้ ก็ต้องไปว่ากันอีกทีโดยพิจารณาว่าจะต้องจัดทำประชามติหรือไม่ แต่หากผมพูดไปก็จะกลายเป็นว่า ผมอยากอยู่ต่อ 3 เดือน 6 เดือน ซึ่งเป็นเรื่องของกระบวนการไปทำมา เข้าใจหรือยัง อยากไล่กันนักหรืออย่างไร ถามกันจัง เมื่อไรจะไป เมื่อไรจะไป”
กระนั้นก็ดี ไม่ว่าจะเลือกใช้วิธีการใด ทางตรงโดยใช้อำนาจของ คสช. หรือทางอ้อมด้วยการโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หรือรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ สิ่งที่ คสช.ต้องพึงระวังก็คือ “อารมณ์ร่วมของสังคม” ว่าจะเห็นด้วยกับการอยู่ในอำนาจต่อไปของ คสช.หรือไม่ โดยเฉพาะการประเมินผลกระทบจากท่าทีของต่างประเทศซึ่งเฝ้าจับตาดูสถานการณ์ในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด
ถ้าใช้ขั้นตอนของวิธีการที่สองคือ รัฐธรรมนูญถูกตีตก ก็อาจดูเนียนๆ ไป เพราะมีความชัดเจนว่า องค์กรต่างๆ ในสังคมไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก
แต่ถ้าใช้อำนาจของ คสช.เอง ก็จะต้องประเมินกระแสสังคมว่า เห็นด้วยหรือไม่ และถ้าใช้แล้ว ถ้าอยู่ต่อแล้ว คสช.จะสามารถควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองไม่ให้เกิดความวุ่นวายได้หรือไม่ ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว แรงต้านจากประชาชนน่าจะไม่รุนแรงอะไรนัก และเอาเข้าจริงคนไทยส่วนใหญ่ก็น่าจะไม่ต่อต้านเพราะรู้อยู่เต็มอกว่า เลือกตั้งไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะไม่ได้ทำให้บ้านเมืองดีขึ้น
ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่า เมื่อ คสช.อยู่ต่อ และการเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไป องค์กรที่ คสช.แต่งตั้งขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ก็จะอยู่ในอำนาจต่อไปเช่นกัน
งานนี้...จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องควบคุมบรรดา “นักเลือกตั้ง” ที่พร้อมจะก่อหวอดขึ้นมา ซึ่งในเวลานี้ต่างก็ออกอาการ “ฮึ่มฮั่ม” ไม่พอใจให้เห็นชัดขึ้นเป็นลำดับ ทั้ง “ค่ายสีแดง” และ “ค่ายสีฟ้า” ดังจะเห็นได้จากการลองของพอเป็นพิธีของ “บิ๊กจิ๋ว-พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ” นั่นประไร
สุดท้ายของสุดท้ายก็คือ ถ้า คสช.จะอยู่ต่อ คสช.จะต้องเร่งฟื้นเศรษฐกิจของประเทศโดยเร็ว ถ้าปล่อยให้เศรษฐกิจฝืดเคือง การส่งออกถดถอย หนี้สินภาคครัวเรือนทะยานพุ่งอย่างต่อเนื่องเหมือนเช่นในขณะนี้ โอกาสที่ คสช.จะอยู่ต่อก็เป็นไปได้ยาก
ความหวังที่ประชาชนฝากไว้กับ คสช.ก็คือการแก้ปัญหาของแพง ซึ่งแม้กระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้อง จะรับนโยบายไปดำเนินการแล้ว แต่วันนี้ข้าวของก็ยังแพงเหมือนกับว่า ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร แถมสินค้าภาคการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นข้าวเปลือก ยางพารา ปาล์มน้ำมันก็ราคาตกต่ำจนน่าใจหาย
อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ “ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุน” โดยเฉพาะนักลงทุนจากสถาบันต่างประเทศที่ลดลงสู่ระดับซบเซา โดยลดลงมาเหลือแค่ 76.92 จุด ลดลงถึง 10.26 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเติบโตน้อยกว่าที่คาดหวังเอาไว้ ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึง 8 พฤษภาคม 2558 นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นสุทธิไปแล้ว 8,898 ล้านบาท
ไหนจะหนี้สาธารณะของประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย โดยสิ้นเดือนมีนาคม 2558 มีหนี้ 5.7 ล้านล้านบาท หรือ 46.7 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี จนต้องกู้เงินทำงบประมาณแบบขาดดุล เฉลี่ยปีละ 3-4 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยังรายงานยอดการให้บริการบัตรเครดิตทั้งระบบในไตรมาสแรกของปีนี้(มกราคม-มีนาคม 2558)ว่ามีมูลค่าลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลง 45,328 ล้านบาทหรือลดลง 10.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 (ตุลาคม-ธันวาคม 2557) ยอดคงค้างหนี้ที่สูงขึ้น และการระมัดระวังการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย เช่นเดียวกับยอดคงค้างสินเชื่อที่ลดลงต่อเนื่อง พร้อมกับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลขยับเพิ่มขึ้น
ทั้งหลายทั้งปวง แปลไทยเป็นไทยคือ เศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังย่ำแย่
และปัญหาเศรษฐกิจคือ “จุดตาย” ของ คสช.
เหมือนดังที่ “วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” อดีต ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทยเย้ยว่า “บ้านเมืองสงบ แต่ทำให้ชาวบ้านกำลังอดตาย”
เหมือนดังที่ “ลูกหมี-ชุมพล จุลใส” เด็กในคาถาของ “โกเทือก”อดีต ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์และแกนนำ กปปส.บอกว่า “ปัญหาเศรษฐกิจสำคัญมาก หาก พล.อ.ประยุทธ์แก้ปัญหาได้ รัฐบาลจะอยู่ได้ยาว จึงอยากให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) ด้านเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว”
พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร จำต้องตกลงกันให้ดีว่า จะเอาเช่นไร และจะทำอย่างไรถึงจะมีมาตรการกระตุ้นภาคเศรษฐกิจให้โดนใจภาคธุรกิจและภาคประชาชน เพราะนั่นคือการ “คืนความสุข” ให้ประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งหนีไม่พ้น “การปฏิรูปพลังงาน” เนื่องจากเป็นต้นทุนของทุกอย่างของประเทศ
แต่สุดท้ายของสุดท้ายและสุดท้ายอีกทีก็คือ ถ้าอยู่ต่อแล้วยังเป็นแบบเดิมด้วยการแก้ปัญหาแบบ “เยี่ยวไม่สุด” เหมือนช่วงที่ 1 ปีที่ผ่านมา ก็คงต้องทบทวนตัวเองแล้วว่า อยู่ต่อเพื่ออะไร โดยไม่จำเป็นต้องหาเหตุผลทางรัฐศาสตร์มาอธิบายให้เหม็นขี้ฟัน