นายกรัฐมนตรี เผยขึ้นอยู่กับมติ สปช. ชี้ชะตารัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ หลังจากนั้น ต้องไปดูแม่น้ำ 5 สายว่าอย่างไร ชี้หากทำประชามติต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว แถมเสียอีก 3 พันล้าน เปรยแทนที่จะเอาเงินไปสร้างความเข้มแข็ง ไม่เชื่อว่าจะเป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย โวย “บิ๊กจิ๋ว” น่าจะรู้อายุมากแล้ว เคยอยู่ขั้วรัฐบาลเก่าคนละข้างกัน แถมเคยเสนอตัวเป็นนายกฯ ยันทุกขั้วการเมืองลงพื้นที่ทำไม่ได้
วันนี้ (7 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า การประชุม ครม. ในวันนี้ได้คุยกันถึงเรื่องประชาธิปไตยและเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนได้ให้แนวทางไปหมดแล้ว ทุกอย่างต้องใจเย็นๆ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ตอนนี้อยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญอยู่ ฉะนั้น การจะตกลงได้หรือไม่ต้องรอการแก้ไขที่แต่ละส่วนส่งไป โดยในส่วนของ ครม. และ คสช. จะคุยกันในวันที่ 19 พ.ค. หากจะแก้ตรงไหนก็จะเสนอไปที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเช่นกัน อำนาจในการแก้หรือไม่แก้อยู่ที่กรรมาธิการยกร่างฯ ซึ่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนไว้เช่นนั้น
“ผมจะเอามาตรา 44 ไปทับรัฐธรรมนูญอีกทีก็ไม่ได้ ฉะนั้น ต้องเข้าใจด้วย ศักดิ์ศรีมันเท่ากัน ทั้งนี้ หากแก้เสร็จตามระยะเวลาก็เป็นเรื่องของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่จะลงประชามติ จะผ่านหรือไม่ผ่านผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ถ้าไม่ผ่านตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวระบุไว้ว่าต้องตั้งใหม่ และยกร่างฯ กันใหม่ ใช้เวลาตามสูตร ซึ่งผมไม่อยากจะบอกวันนั้นวันนี้ ทุกอย่างถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ผมไม่ได้ไปทำให้มันไปไม่ได้เสียเมื่อไหร่ แต่ถ้ามติของ สปช. ผ่าน ก็ต้องไปถาม 5 สายต้องการอย่างไร ฟังแล้วต้องการทำประชามติหรือไม่ เห็นชอบร่วมกันหรือไม่ ถ้าเห็นชอบร่วมกันว่าต้องทำประชามติ ก็ต้องใช้เวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวก่อนถึงจะทำประชามติได้ ซึ่งการลงประชามติจะผ่าน หรือไม่ผ่านก็ไม่รู้ แต่ต้องใช้เงินประมาณ 3,000 ล้านบาท เหมือนกับการเลือกตั้ง ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 1 - 3 เดือน ในการทำประชามติ แต่หากประชามติผ่านก็จะเป็นรัฐธรรมนูญเข้าสู่การเลือกตั้ง ภายในเวลา 2 - 3 เดือนหรือภายใน 90 วัน ซึ่งมันมีสูตรของมันอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับผมเลย มันเกี่ยวกับ 5 สายทั้งหมด และประชาชนทั้งประเทศจะร่วมมือกันในช่วงไหน ฉะนั้น ผมยืนยันและใช้คำว่าเป็นไปตามโรดแมป รัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนไว้อย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ฉะนั้น ช่วยกันเถอะ พาประเทศชาติไป” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ตนให้ความคิดเห็นไป ซึ่งเป็นความคิดเห็นของตนเอง เห็นว่ารัฐธรรมนูญของเราเปลี่ยนมาหลายรอบแล้วเต็มที เป็นเพราะเราลงรายละเอียดมากเกินไปหรือเปล่า อันนี้เป็นข้อคิดเฉยๆ ที่ตนคิดเอง ลงรายละเอียดมากๆ ก็เอารัฐธรรมนูญมาตีกัน การเขียนรัฐธรรมนูญควรจะเขียนประเด็นหลักๆ ไหม มันควรจะมีสักเท่าไหร่ อะไรทำนองนี้ แต่จะมีเท่าไหร่ตนก็ยังไม่รู้เลย เพราะไม่ใช่นักกฎหมาย เดี๋ยวต้องมาดูกันว่าสิ่งไหนควรอยู่ในรัฐธรรมนูญ หรืออยู่ในกฎหมายลูก อะไรควรจะอยู่ในบทเฉพาะกาล ถ้ามันจะทะเลาะกันก็ทะเลาะกันตรงส่วนล่าง รัฐธรรมนูญจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย และรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะได้สามารถชี้แจงชาวโลกได้ว่ารัฐธรรมนูญไทยไม่ได้ขัดแย้งกับคนอื่นมากนัก แต่หากจะผิดเพี้ยนเพื่อที่เราจะปฏิรูปมันควรจะเขียนไว้ตรงไหน ซึ่งวันนี้เหมือนกับว่าเอาทุกอย่างไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งหมด ก็เลยทำให้ความขัดแย้งสูง สิ่งนี้เป็นความคิดของตนเอง แต่ไม่รู้ว่าจะทำได้แค่ไหน อย่างไร ต้องถามนักกฎหมายอีกที เป็นความเห็นส่วนตัวของตน ซึ่งต้องฟัง คสช. และ ครม. ทั้งคณะอีก ซึ่งในส่วนของ ครม. ตนได้ให้ไปดูในทุกหมวด มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงตรงไหนบ้าง ซึ่งต้องดูว่าใช่หรือไม่ ทำแบบนี้แล้วดีหรือไม่ คำว่าดีไม่ใช่อำนาจอยู่ที่รัฐอย่างเดียว ต้องสมดุล ถ่วงดุลกันให้ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า การประชุมแม่น้ำ 5 สาย จะได้ความชัดเจนในเรื่องการทำประชามติหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวคงจะได้คำตอบบ้าง แต่ในวันที่ 19 พ.ค. เป็นการประชุมร่วมระหว่าง ครม. และ คสช. เพื่อเสนอความเห็นร่างรัฐธรรมนูญไปที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ เมื่อถามว่า จะพิจารณาตามมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวตามที่ สนช. เสนอหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ถ้าจะทำประชามติก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งการดำเนินการมีขั้นตอน และตนก็ได้อธิบายไปแล้ว
เมื่อถามว่า การตัดสินใจทำประชามติหรือไม่นั้น ต้องรอให้ สปช. มีมติออกมาก่อนใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จะต้องถามมติ สปช. ก่อน แต่ สปช. จะมีมติผ่านหรือไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญก็ยังไม่รู้ ซึ่งความเห็นของ สปช. ได้ส่งไปที่กรรมาธิการยกร่างฯ แล้ว ส่วนกรรมาธิการจะแก้หรือไม่แก้ก็ไม่รู้ ถ้าไม่แก้กรรมาธิการยกร่างฯจะส่งกลับไปที่ สปช. ใหม่ เพื่อพิจารณาลงมติ ถ้าลงมติแล้วไม่ผ่านรัฐธรรมนูญชั่วคราวระบุให้ตั้งกรรมาธิการฯ ใหม่ แต่ถ้า สปช. ผ่านร่างรัฐธรรมนูญก็จะนำไปสู่กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อนำทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายขึ้นไป ระหว่างนั้นต้องรอเวลาการทำกฎหมายลูกอีก 1 - 2 เดือน ทั้งนี้ถ้าผ่านทั้งหมดจะทำประชามติหรือไม่ก็ต้องดูสถานการณ์ตรงนั้นอีกที ซึ่งตนไม่อยากพูดในวันนี้ เพราะถ้าพูดวันนี้จะกลายเป็นว่าตนนำไปทั้งหมด หรืออยากอยู่ต่ออะไรอย่างนี้มันไม่ใช่ ตนอยากให้คิดว่าสิ่งที่ตนพูดทั้งหมดมันจะเกิดต่อได้หรือเปล่าต้องไปคิดตรงโน้น ว่าเลือกตั้งมาแล้วจะได้คนมาทำ อาจจะดีมากหรือดีน้อยแต่เขาต้องทำมากกว่าที่ตนทำ ซึ่งตนเข้ามาไม่ได้ทำอะไรเสียหายไปกว่าเดิมเลย ทุกเรื่องขอยืนยัน มีอะไรเสียหายบ้างนอกจากลำบากนิดหน่อยในเรื่องผลประโยชน์ผิดกฎหมาย ตนรื้อกี่เรื่องทั้งไอยูยู การค้ามนุษย์ ลอตเตอรี่ ทุกเรื่องแก้หมด นั่นแหละคือการใช้อำนาจที่มีอยู่ในปัจจุบัน บูรณาการหลายเรื่อง และระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินแต่ละกระทรวงตนบอกหลายครั้งแล้วให้ช่วยกันคิดจะทำอย่างไร ถ้าไปก้าวล่วงหรือบังคับมากๆเขาก็บริหารไม่ได้ วันนี้ตนใช้อำนาจพิเศษถึงทำได้ แต่อย่าลืมถ้าท่านต้องการประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ท่านทำอย่างตนไม่ได้ ซึ่งก็อยู่ที่พวกเราจะทำอย่างไร เพื่อให้เขาทำให้พวกท่าน รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลคน 67 ล้านคน ส.ส. มีหน้าที่ดูแลพื้นที่ แต่ถ้า ครม. และ ส.ส. ดูแลพื้นที่เหมือนกันมันก็จบ เท่ากับไม่ดูแลคน 67 ล้านคน
เมื่อถามย้ำว่าเรื่องการทำประชามติยังต้องเป็นไปตามที่นายกฯเคยพูดหรือไม่ ว่าต้องให้กรรมาธิการฯเสนอความเห็นมา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้ำว่า 5 สายต้องประชุมร่วมกัน ไม่ใช่กรรมาธิการ ตนเคยพูดอย่างนั้นหรอ แต่ก่อนหน้านั้นตนอาจจะพูดผิด ก็ยังงงๆเหมือนกัน แต่การทำประชามติต้องใช้เงิน 3,000 ล้านบาท ขอให้จำตัวเลขไว้ เงิน 3,000 ล้านบาทเก่าอยู่ไหนยังไม่รู้ จะต้องมี 3,000 ล้านบาทใหม่อีกรอบ แล้วถ้าไม่ผ่าน แล้วทำประชามติใหม่อีกรอบหรือไม่ ถ้าทำก็ต้องใช้เงินอีก 3,000 ล้านบาท
เมื่อถามว่า รัฐบาลมีเงินพร้อมทำประชามติหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ถ้าอยากให้ทำประชามติก็ต้องยอมรับสภาพและใช้เงินที่มีอยู่ แทนที่จะนำเงินไปทำอะไรที่สร้างความเข้มแข็ง ไปซื้อวัสดุหรือลดต้นทุนชาวนา แต่ต้องมาหายไป 3,000 ล้านบาท ซึ่งมันจะได้อะไรขึ้นมากับตรงนี้หรือไม่ตนก็ยังไม่รู้ แต่อาจจะได้ก็ได้นะ ตนถามว่าคนจะยอมรับทั้งหมดหรือไม่ มันก็ไม่หมดหรอก เผลอๆ ก็เท่าเก่า ผ่านไม่ผ่านจะยอมรับไปก่อนหรือไม่ นั่นแหละอันตราย ถ้าผ่านก็ต้องผ่านทั้งหมด ไม่ผ่านก็ไม่ผ่านทั้งหมด นั่นแหละถึงจะเลิกทะเลาะกันเสียที แต่อย่าให้ใครมาชี้นำท่าน เพราะอนาคตของท่านและลูกหลานของท่านอยู่ที่ตัวท่านเอง ไม่ได้อยู่ที่ตน ไม่ได้อยู่ที่รัฐบาล ไม่ได้อยู่นักการเมือง อยู่ที่ตัวท่านทุกคน ในเมื่อท่านเป็นประชาชน ท่านบอกว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วม แต่การมีส่วนร่วมของประชาชนก็มีขอบเขตจำกัดว่าอยู่ตรงไหน รัฐบาลมีแค่ไหน เจ้าหน้าที่มีแค่ไหน ประชาชนอยู่ตรงไหน ไม่ใช่ทุกคนลุกขึ้นมากำหนดตัวเองต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้มันไม่ได้ ถ้ามาบอกว่าประเทศไทยต้องประชาชนบริหารทุกอย่างในพื้นที่ ในภูมิลำเนาของตัวเองมันทำได้หรือไม่ ถ้าอย่างนั้นก็อิสระหมด ทำอะไรไม่ได้เลย ทั้งเส้นทางรถไฟ ถนน จะทำไม่ได้เลย เพราะแต่ละพื้นที่ต้องการความต้องการของตัวเอง จัดสรรทรัพยากรของตัวเอง มันทำได้ไหม ถ้าทำอย่างนั้นก็ล้าหลังไปแล้วกัน ก็อยู่แบบเดิม
เมื่อถามว่า ถ้านักการเมืองต้องการจะลงพื้นที่พบประชาชน อย่างที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่พบชาวนาที่ จ.พระนครศรีอยุธยาจะสามารถทำได้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ได้ เพราะไม่มีหน้าที่ตรงนั้น อะไรที่เป็นหน้าที่ของการเมือง หรือเกี่ยวข้องกับการเมืองทำไม่ได้หมด ทำได้เพียงการร่วมประชุมกับศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ถ้าอยากจะพบปะกัน ตนกำลังให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ดูรายละเอียดว่าจะประชุมพรรคกันที่ไหนอย่างไร แต่ต้องไม่ใช่การประชุมอิสระ เพราะประชุมกันอยู่แล้ว ทางโทรศัพท์ก็สามารถคุยกันได้ แต่ถ้าอยากประชุมพรรคให้ไปที่ ศปป. จะจัดห้องไว้ให้ แล้วจะให้คนไปนั่งฟังด้วย
เมื่อถามว่าสิ่งที่ พล.อ.ชวลิต ทำสามารถถือว่าผิดคำสั่ง คสช. หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยน้ำเสียงเข้มว่า “ท่านเป็นใคร ควรจะรู้หรือไม่ว่าควรต้องทำอะไรอย่างไร ไปถามท่านโน่น เดี๋ยวจะหาว่าผมไม่เคารพท่านอีก แต่นี่เคารพอยู่ เพราะท่านเป็นอดีตผู้บังคับบัญชา ถ้าท่านทำไปมากกว่านี้ และผิดพลาดมากกว่านี้ คนก็มาเล่นงานผมอีก แต่อย่าลืมว่าท่านไปอยู่กับรัฐบาลมาก่อน และไม่ได้อยู่ข้างรัฐบาลผม ฉะนั้นท่านก็อยู่ในข่ายเหมือนกัน แต่ผมเคารพท่านเป็นการส่วนตัวอยู่แล้วในฐานะทหารเก่า และไม่เคยดูถูกท่าน ในความเป็นคนเก่งของท่าน แต่วันนี้ท่านอายุเยอะแล้วนะ”
เมื่อถามว่า การที่ระบุว่า พล.อ.ชวลิต อายุเยอะ ควรพักผ่อนแล้วใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่รู้ แล้วแต่จะคิด แต่ท่านก็เคยเสนอว่าพร้อมที่จะเป็นนายกฯ ไม่ใช่เหรอ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การเข้ามาทำงานในลักษณะที่ตนเข้ามาไม่ใช่สิ่งที่ใครอยากทำ อย่างตนก็เกษียณไปแล้ว แต่ก็ไม่มีใครจะเข้ามาทำงาน
“วันนี้หาคนที่จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรียังไม่ค่อยอยากจะมี จะมีก็แค่คนเก่าๆ ก็ไม่รู้ว่าพวกท่านจะได้คนเก่าๆหรือเปล่ายังไม่รู้ ถ้าบอกว่าไม่มีใครอยากเป็นแล้วใครจะทำงาน ไม่งั้นก็ไม่ต้องมีรัฐบาล ไม่ต้องมีกลุ่มโน้น กลุ่มนี้ ถืออีดาบฆ่าฟันเอาปืนไล่ยิงกัน การปฏิรูปเรื่องโครงสร้าง เรื่องของตำรวจเป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่ ถ้าทำตอนนี้ก็ตีกันตาย ต้องไปทำตอนปฏิรูปให้มีการไปปรับและทำกันแล้วค่อยเสนอมาจากนั้นก็ตั้งกรรมการมาพิจารณาศึกษาว่าเหมาะสมและทำได้หรือไม่ ถ้าทำตามใจกันมันไม่ได้ อยากเปลี่ยนตำรวจ อยากให้มีตำรวจท้องถิ่นก็ต้องทดลอง ลดกำลังตรงนี้ไปเพิ่มตรงนั้น กำหนดหน้าที่เฉพาะลงไป โดยส่วนกลางก็ยังคงมีอำนาจอยู่เพื่อทำการถ่วงดุล และถ้าแข็งแรงดีแล้วก็ค่อยๆปรับเปลี่ยน ตัวอย่างของตำรวจนั้นให้คัดสรรมาจากไหน ให้อำนาจผู้ว่าในการคัดสรรมา และผู้ว่าฯ ก็ต้องเลือกตั้งมาอีกแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น ขนาดปัจจุบันมีรัฐบาล มีส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ยังมีปัญหา แล้วถ้ามีตำรวจท้องถิ้นขึ้นมา ใครจะรับประกันว่าแต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัดจะไม่มีอำนาจถืออาวุธต่อสู้กัน แค่นี้ก็จะตีกันตายแล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวและว่า การปฏิรูปเคยบอกแล้วว่าต้องทำเป็นขั้นตอน ขั้นแรกใช้โครงสร้างเดิมที่มีอยู่แล้วบูรณาการให้ได้ โดยไม่ต้องใช้อำนาจพิเศษ