xs
xsm
sm
md
lg

หม่อมอุ๋ย-ธปท.พอใจค่าเงินบาทอ่อนช่วยฟื้นเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ผู้ว่าธปท.เผยเงินบาทอ่อนในขณะนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ระบุโอกาสน้อยเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด แต่ลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อช่วยการชะลอตัวเศรษฐกิจ และลดดอกเบี้ยแบบสุดโต่งไม่ได้ ห่วงเรื่องผลข้างเคียง ด้าน “หม่อมอุ๋ย” พอใจค่าบาทอ่อน หวังช่วยผู้ส่งออกเชื่อมั่น และมีช่องหายใจเพิ่มขึ้น ชม ธปท.ออกมาตรการถูกที่ถูกเวลา

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เงินบาทอ่อนค่าในขณะนี้เป็นไปในทิศทางน่าพอใจจากช่วงก่อนหน้านี้เงินบาทแข็งค่า และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป โดยค่าเงินอ่อนค่ามีผลทั้งปัจจัยในประเทศและต่างประเทศเข้ามาส่งเสริมกันไม่ว่าเป็นเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การออกมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาเข้มแข็ง และช่วงวันหยุดยาวมีการปรับฐานะเงินตราต่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยง

ทั้งนี้ ยอมรับว่าในไตรมาสแรกของปีนี้ ภาวะเศรษฐกิจไทยค่อนข้างอ่อนแรงและมากกว่าที่ธปท.คาดการณ์ไว้ ซึ่งปัจจัยสำคัญจากการชะลอตัวของภาคส่งออกไทย อย่างไรก็ตาม แม้ในไตรมาสแรกการเบิกจ่ายและการท่องเที่ยวออกมาดี แต่ยังไม่เพียงพอที่จะทดแทนการชะลอตัวภาคส่งออกไทยและการลดลงการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ จึงส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
ต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ผ่านมา เพื่อลดความเสี่ยงการชะลอตัวเศรษฐกิจไทย ถือเป็นการดำเนินนโยบายการเงินทำเผื่อไว้ก่อน

“ขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะการเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหมายถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจแผ่วมาก เกิดภาวะการว่างงานสูงขึ้น และการอุปโภคบริโภคติดลบ แต่ประเทศไทยไม่ใช่สถานการณ์ดังกล่าว และในฐานะคนทำนโยบายการเงินต้องมองไปล่วงหน้าและดูอย่างรอบคอบ ถ้าอะไรแบงก์ชาติทำได้โดยไม่มีความเสี่ยงเราก็ทำให้มันแน่นหนาขึ้น ฉะนั้น การลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดความเสี่ยง แต่อนาคตโอกาสเกิดเงินฝืดมีน้อยมาก”

ต่อข้อซักถามที่ว่าคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.)ระบุว่าดอกเบี้ยนโยบายและเงินบาทยังลดลงไม่เพียงพอในภาวะเงินเฟ้อต่ำ จึงมองว่ายังมีช่องให้ใช้นโยบายการเงินเพิ่มเติมได้อยู่นั้น ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินต้องดูความพอดี การผสมผสานนโยบายต่างๆ และบทบาทของแต่ละภาคส่วนร่วมกัน ฉะนั้น การลดดอกเบี้ยแบบสุดโต่งทำให้ค่าเงินผิดปกติและสร้างผลข้างเคียงได้ จึงต้องอาศัยเครื่องมือนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง ภาวะเศรษฐกิจจริง และการลงทุนในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมด้วย

แม้บอร์ดกนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งติดต่อกัน ครั้งละ 0.25% แต่สถาบันการเงินยังไม่ลดลงตามมองว่าต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง เนื่องจากสถาบันการเงินต้องดูปัจจัยด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องรายรับ-รายจ่ายประกอบด้วย ทั้งนี้ หลังปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมีผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารระยะข้ามคืน (Overnight Rate) ลดลงทันที

ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ธปท.ไม่ได้ห่วงปัญหาหนี้ครัวเรือน และมองว่าจะไม่กระทบระบบเศรษฐกิจโดยรวม แม้ระดับหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นแตะ 85.9%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แต่ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไม่ได้มากเมื่อเทียบกับมูลค่าจีดีพี ซึ่งปัจจุบันยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 10.43 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้การเปิดให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (นาโนไฟแนนซ์) เพื่อทดแทนเงินกู้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง แต่ขอย้ำไม่ได้สนับสนุนให้ภาคครัวเรือนเป็นหนี้มากขึ้น

 “หม่อมอุ๋ย” พอใจค่าบาทอ่อน

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในรอบ 5 ปี ว่า หลังจาก ธปท.ออกมาตรการผ่อนคลายเงินไหลออกในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า ค่าเงินบาทได้อ่อนค่าลงแล้ว เพราะที่ผ่านมา ประเทศไทยเกินดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่ยังไม่มีช่องทางให้เงินไหลออกมากพอ แต่เมื่อเราออกมาตรการผอนคลายเงินทุนไหลออก เช่น อนุญาตให้คนไทยซื้อเงินตราต่างประเทศมากฝากไว้ในบัญชีเงินฝากที่เป็นเงินตราต่างประเทศ (FCD) มากขึ้น เปิดให้คนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ ให้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศได้มากขึ้น รวมทั้งยังผ่อนคลายให้ผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศ (NR) กู้เงินในประเทศและถือเงินบาทได้มากขึ้นทำให้มีช่องทางทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้

“ต้องชมธนาคารแห่งประเทศไทยที่คิดมาตรการนี้ออกมาได้ และออกมาในจังหวะที่ดี ช่วยให้การเข้าและออกเงินทุนมีความสมดุลมากขึ้น เพราะระบบที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวเช่นในปัจจุบัน เราไม่สามารถที่จะไปลดค่าเงินหรือแทรกแซงค่าเงินมากเกินไปได้ และผมมองว่าค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงได้อีก”

สำหรับผลในด้านการส่งออก รองนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมีผลต่อการส่งออกแน่นอน โดยการส่งออกในครึ่งปีหลังจะดีขึ้นหรือไม่นั้น ในขณะนี้ยังตอบไม่ได้เพราะมีปัจจัยจากเศรษฐกิจคู่ค้าต่างประเทศ แต่การอ่อนค่าลงของเงินบาทจะช่วยให้ผู้ส่งออกสามารถหายใจได้มากขึ้น และมีกำลังใจในการส่งออกมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกในระยะต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น