สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. วิเคราะห์ถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือน โดย ณ ไตรมาสที่ 1 ปี 59 ยอดคงค้างหนี้ภาคครัวเรือนอยู่ที่ 11.08 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 81.1 ต่อ GDP ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 81.6 ในไตรมาสก่อนหน้าว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาสที่ 1 ปี 59 เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบหลายปี โดยการลดลงของหนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP เป็นผลมาจากการขยายตัวที่ชะลอลงของสินเชื่อหลายประเภท อาทิ สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล ซึ่งได้ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 8.5 ร้อยละ 5.6 และร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนตามลำดับ ขณะที่สินเชื่อรถยนต์หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -2.2 สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรถยนต์ มีสัดส่วนถึงร้อยละ 27.9 และร้อยละ 14.8 ของหนี้ครัวเรือนรวมตามลำดับ และหากพิจารณาตามสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อพบว่า โดยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 42.9 เป็นสินเชื่อในธนาคารพาณิชย์ และกว่าร้อยละ 29.3 เป็นสินเชื่อในสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาคุณภาพสินเชื่อแล้วยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ระดับต่ำเพียงร้อยละ 3.3 ของสินเชื่อรวม