เกียรตินาคินเดินหน้ารุกกลุ่มลูกค้า Wealth Management ผนึกภัทร ออกสินเชื่อ Lombard ใช้พอร์ตลงทุน-เงินฝากค้ำ ตั้งเป้า 2 หมื่นล้าน ใน 1-2 ปี รับเช่าซื้อรถยังชะลอ ยอดรวมหดตัว 2-3%
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (KKP) กล่าวว่า สินเชื่อของธนาคารในปีนี้คงจะยังหดตัวอยู่เล็กน้อยประมาณ 2-3% หรือมียอดคงค้างที่ 180,000 ล้านบาท เนื่องจากสินเชื่อเช่าซื้อซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 70% ของยอดคงคงค้างรวม หรือประมาณ 120,000 ล้านบาท ยังคงหดตัวอยู่ 4-5% ซึ่งก็เป็นไปตามภาวะตลาดรวม ขณะที่สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่ในระดับทรงตัว และสินเชื่อบรรษัทเติบโตได้ดี โดยในไตรมาส 3 มียอดคงค้างจาก 5,000 ล้านบาทเป็น 8,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่ยังต่ำ
ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารอยู่ที่ 6% ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเอ็นพีแอลของกลุ่มเช่าซื้อที่ลดลง 0.2-0.3% ขณะที่กลุ่มเอสเอ็มอี และสินเชื่อบุคคลยังคงเพิ่มขึ้น ตามภาระหนี้สินครัวเรือนที่ยังสูง ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อที่ได้รับผลกระทบเป็นอันดับต้นๆ เอ็นพีแอลเริ่มชะลอตัวลงแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีการตั้งสำรองฯ อยู่ในระดับสูงถึง 170% ซึ่งสูงกว่าระดับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด
นายอภินันท์ กล่าวอีกว่า โครงสร้างธุรกิจของธนาคารเปลี่ยนไปตั้งแต่ควบรวมธุรกิจกับทางภัทรฯ ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนรายได้ดอกเบี้ยของธนาคารลดลงจาก 90% มาที่ 60% โดยมีรายได้ค่าธรรมเนียมเข้ามามากขึ้นจากธุรกิจตลาดทุนที่ทางภัทรฯ มีความเชี่ยวชาญเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตรงนี้เป็นไปตามทิศทางที่ธนาคารวางไว้
ออก Lombard Loan รุก Private Banking
ล่าสุด กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรได้เปิดตัว “Lombard Loan” สินเชื่อหมุนเวียนอเนกประสงค์เสนอให้กับลูกค้ากลุ่ม High net worth ที่มีทรัพย์สินทางการเงิน หรือพอร์ตลงทุนกับ บล.ภัทร วงเงินตั้งแต่ 30 ล้านบาทเป็นต้นไป โดยไม่จำกัดวัตถุประสงค์ในการเบิกใช้สินเชื่อ สามารถใช้เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน หรือเพิ่มอัตราผลตอบแทนของพอร์ตลงทุนได้ อาทิ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เป็นต้น ซึ่งในช่วงที่ผ่าน ทางกลุ่มได้ทดลองปล่อยสินเชื่อนี้มาตั้งแต่เดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ได้รับผลตอบรับที่ดี มียอดอนุมัติไปแล้ว 3,000 ล้านบาท และตั้งเป้ามียอดสินเชื่อดังกล่าว 20,000 ล้านบาทใน 1-2 ปี
“สินเชื่อที่ปล่อยไปจะอยู่ในพอร์ตของธนาคาร แต่การติดตามมูลค่าหลักประกัน และเงินลงทุนจะอยู่ทางภัทรซึ่งมีความเชี่ยวชาญสูง ความเสี่ยงจะอยู่ที่ตรงนี้ และภัทรก็ทำเรื่องนี้มาตลอดจึงมั่นใจได้ และให้หารือกับแบงก์ชาติแล้วว่า เราสามารถใช้เงินฝาก หรือพอร์ตแทนรายได้ ทำให้สามารถเติมเต็มความต้องการให้ลูกค้ากลุ่มใหญ่ของเราได้ โดยปัจจุบันภัทรมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารรวมกันมากกว่า 3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากสิ้นปี 2557”.