ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -นกแอร์ปีกหักยังเซถลายังหาทางหยุดวิกฤตไม่ได้ ทั้งยกเลิกเที่ยวบิน ทั้งนักบินทยอยตบเท้าลาออก งานนี้ซีอีโอนกแอร์ “พาที สารสิน” มีตำแหน่งเป็นเดิมพันจะอยู่หรือจะไปยังลูกผีลูกคน มิหนำซ้ำยังทำวงการบินสั่นสะเทือนลามเป็นลูกโซ่ โดย กพท.ตรวจพบอีก 4 สายการบินเข้าขั้นโคม่า มีปัญหาอาการร่อแร่
คำมั่นสัญญาจากลมปากนายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ ที่กล่าวย้ำเรียกความเชื่อมั่นว่า ต้นเดือนมีนาคมนี้เคลียร์ปัญหาจบแน่ ไม่ต้องห่วงกังวลจะยกเลิกเที่ยวบินอีก เป็นแต่เพียงวาจาที่ขอแก้ผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ เพราะถึงตอนนี้ยังไม่เห็นมีทีท่าว่านกแอร์จะแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ยิ่งมีข่าวนักบินทยอยตบเท้าลาออกจากนกแอร์เหมือนเลือดที่ไหลไม่หยุด ก็ไม่แน่ว่างานล้างบางนกแอร์ของนายพาที สุดท้ายแล้วตัวเขาเองจะถูกล้างไปพร้อมกันด้วยหรือไม่
“....ยืนยันว่าการแก้ไขปัญหาโครงสร้างภายในองค์กรที่เกิดขึ้นจะดำเนินการแล้วเสร็จภายเดือนกุมภาพันธ์และนับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมนี้ สถานการณ์ทุกอย่างจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ส่วนกรณีนักบินลาออกผมมองว่าเป็นเรื่องปกติ หากมีกัปตันที่ถูกให้ออกไป 3 คน ก็จะต้องมีกัปตันในกลุ่มเดียวกันสมัครใจลาออกตามไปด้วย แต่ขอให้มั่นใจว่า 1 มีนาคมนี้ ปัญหาทุกอย่างจะแก้ไขได้ ขั้นตอนขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาโครงสร้างภายในองค์กร และผมยอมรับว่าจะมีการดำเนินการเพื่อล้างบางทั้งหมด" นายพาที ให้สัมภาษณ์กับสื่อหลายสำนักเช่นนั้น
ขณะที่นายพาทีนั่งยันนอนยันว่า 1 มีนาคมนี้ ทุกอย่างเคลียร์ ปัญหาจบ แต่เอาเฉพาะเรื่องการยกเลิกเที่ยวบิน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็กล่าววาจาตรงกันข้ามกับนายพาที โดยให้สัมภาษณ์ว่า จากกรณีที่สายการบินนกแอร์ยกเลิกเที่ยวบินเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 เนื่องจากปัญหาภายในบริษัทนั้น ล่าสุดทางสายการบินนกแอร์ได้แจ้งว่ามีความจำเป็นในการยกเลิกเที่ยวบินประมาณ 20 เที่ยวบินต่อวันต่อไปจนถึงวันที่ 10 มีนาคม 2559 จากเดิมที่คาดว่าจะถึงแค่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 เนื่องจากการปรับเปลี่ยนเพื่อแก้ปัญหาภายในและบริหารจัดการเรื่องนักบินยังไม่เรียบร้อย ระหว่างนี้จะมีการใช้เที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) มาช่วยให้บริการ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสายการบินไทย, สายการบินไทยสมายล์, ไทยไลอ้อนแอร์ และนกสกู๊ต บางส่วน โดยนกแอร์เชื่อว่าเที่ยวบินจะเข้าสู่ตารางบินปกติหลังจากปรับปรุงแก้ปัญหาภายในบริษัทแล้วหลังวันที่ 10 มีนาคม 2559
จากเส้นตาย 29 กุมภาพันธ์ 2559 เคลียร์ปัญหาจบ เลื่อนออกไปเป็น 10 มีนาคม 2559 แทน ไม่แน่ว่าถึงเวลานั้น ซีอีโอนกแอร์ จะประกาศยกเลิกเที่ยวบินอีกหรือไม่ หรือจะประกาศลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบในผลงานที่ทำให้องค์กรสะสมปัญหาจนลุกลามบานปลายใหญ่โตเอาไม่หยุดฉุดไม่อยู่อย่างเวลานี้
การดิ้นรนของนายพาทีที่ต้องพานกแอร์ให้รอด ให้เป็นที่พอใจของผู้โดยสาร ให้ได้ตามมาตรฐานสายการบิน เป็นความท้าทายความสามารถของนายพาที อย่างแท้จริงว่ามีอยู่จริงสมราคาคุยหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทิ้งขว้างผู้โดยสารหากเกิดขึ้นอีกนกแอร์ต้องเจออาญาสิทธิ์พักใช้ใบอนุญาตและตามมาด้วยการเพิกถอนใบอนุญาตจากกระทรวงคมนาคมที่เรียกนายพาทีไปเตือนก่อนหน้านี้แล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาของนกแอร์เฉพาะหน้าโดยการดึงสายการบินพันธมิตรเข้ามาบินชาร์เตอร์ไฟลต์ก็แขวนอยู่บนความเสี่ยง เพราะสายการบินพันธมิตร ต่างออกตัวว่า ไม่ได้มีเครื่องว่างสำรองไว้สำหรับนกแอร์ตลอดตามต้องการ แต่เหตุที่ต้องเข้ามาช่วยๆ กัน ก็เพราะคำสั่งจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่สั่งผ่านกระทรวงคมนาคมว่า ทุกสายการบินต้องร่วมมือกันเข้ามาช่วยเหลือทันทีในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นไม่ใช่ปล่อยทิ้งขว้างผู้โดยสาร ไม่งั้นมีปัญหาแน่
ปัญหาเฉพาะหน้าของนกแอร์ที่ต้องแก้ไขด้วยการดึงสายการบินพันธมิตรเข้ามาช่วยบิน หากยังยืดเยื้อต่อไปจะสร้างผลกระทบต่อนกแอร์ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพราะอาจต้องเสียค่าโดยสารให้สายการบินพันธมิตรในราคาแพงกว่าที่ขายให้กับผู้โดยสารปกติ
ขณะเดียวกัน สายการบินพันธมิตรที่เข้ามารับงานนกแอร์นั้น ตามปกติแล้วทุกสายการบินจะมีการวางแผนการบินล่วงหน้าก่อนทุกเส้นทางไม่มีเครื่องว่างสำรองเพราะนั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายจิปาถะทั้งค่าหลุมจอด ค่าเช่าสนามบิน ฯลฯ ดังนั้น ในเวลาฉุกละหุกที่ไม่ได้เตรียมพร้อมล่วงหน้า สายการบินพันธมิตรอาจจะไม่มีเครื่องสำหรับรับผู้โดยสารของนกแอร์ที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกเที่ยวบินของสายการบินนกแอร์ ก็มีโอกาสเป็นไปได้ทั้งนั้น
ส่วนปัญหาใหญ่เรื่องการลาออกของนักบินนกแอร์ที่ลามมาตั้งแต่กรณีปลดนักบินจากวิกฤตหยุดบินวันวาเลนไทม์ 14 กุมภาฯ นั้น ถามว่า ถึงเวลานี้นักบินทยอยลาออกกันมาน้อยแค่ไหน คำตอบเบื้องต้นมีรายงานข่าวว่า ตอนนี้มีที่ยื่นใบลาออกแล้วเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา จำนวน 17 คน โดยมีผลสิ้นเดือนกุมภาฯ นี้ และยังไม่แน่ว่าจะมีการตบเท้าลาออกตามไปอีกหรือไม่
การลาออกของนักบินเพราะถูกคำสั่งปลดหรือสะสมความไม่สบายใจจากการทำงานเกินมาตรฐานชั่วโมงบิน เป็นปัญหาที่ประเหมาะกับสถานการณ์ตลาดความต้องการนักบินมีสูงมาก ต้องยอมรับว่าตลาดเป็นของนักบิน สายการบินต่างพากันแย่งชิงตัวนักบินกันให้ควั่ก เนื่องจากอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินของไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้แต่ละปีมีความต้องการนักบินใหม่สูงถึง 400 - 500 คน ต่อปี แต่การผลิตนักบินรวมทั้งรัฐและเอกชนปีๆ ทำได้เพียง 300 -400 คนเท่านั้น
การดึงตัวนักบินที่จูงใจด้วยค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นจึงเป็นทางเลือกทั้งสายการบินและนักบินที่ต้องการเพิ่มบุคลากรและเพิ่มรายได้ โดยเฉลี่ยเวลานี้เม็ดเงินรายได้ของนักบินในเมืองไทย จะตกราว 300,000 บาทเดือน แต่หากย้ายไปสายการบินตะวันออกกลางของบรรดาเศรษฐีน้ำมัน จะได้รับค่าตอบแทนสูงถึงประมาณ 1,000,000 บาทต่อเดือน เลยทีเดียว
นายปิยะ ตรีกาลนนท์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด หรือ บีเอซี โรงเรียนการบินเอกชนแห่งแรกในไทย ให้ข้อมูลกับ “ไทยรัฐ” ว่า ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ อย่างโบอิ้ง และแอร์บัส ได้ประเมินไว้ว่า ภายใน 20 ปีนับจากนี้ สองผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ต้องผลิตเครื่องบินตามคำสั่งซื้อจากสายการบินต่างๆ มากถึง 20,000-30,000 ลำ ซึ่งเครื่องบิน 1 ลำจะต้องใช้นักบิน 14-15 คน ดังนั้น สายการบินทั่วโลก จะมีความต้องการนักบินใหม่เพิ่มขึ้นราว 533,000 คน
ด้วยเหตุฉะนี้ การแก้ปัญหาด้วยการ “ล้างบาง” โดยนึกว่าเท่ห์ของซีอีโอนกแอร์ อาจจบลงไม่สวยอย่างที่คิด
“ขอบอกทุกคนนะครับ เรากำลังจะกลับมา ดีเลยนะครับ ที่หายไปเพราะเราจะกลับมาดีมาก รายได้ไม่มีปัญหาและไม่เจ๊งตามข่าวนะครับ เชื่อมั่นได้เลย” ข้อความผ่านทวิตเตอร์ ของนายพาที ที่โพสต์ข้อความ เมื่อเวลา 09.03 น. ของวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา อาจให้ความหมายไปทางตรงกันข้าม!!
อย่างไรก็ตาม นายอาคมได้ออกมาช่วยอุ้มนกแอร์ โดยอธิบายกรณีลาออกของนักบินว่า ได้รับรายงานจากนายพาทีว่ามีนักบินลาออกจริง แต่ก็มีนักบินเข้ามาใหม่เพิ่มขณะนี้อีกประมาณ 15 คน โดยเป็นนักบินและครูฝึกด้วยจากสหรัฐอเมริกาภายใต้ความร่วมมือในการเป็นพันธมิตรกับทางโบอิ้งประมาณ 10 คน และเป็นนักบินบางคนที่ตัดสินใจลาออกไปก่อนหน้านี้แล้วเปลี่ยนใจกลับมาใหม่ขอมาปักหลักกินข้าวหม้อเดียวกัน จะทำให้มีนักบินเพิ่มอีก 15 คน จากที่มี 190 คน
ความหมายของซีอีโอนกแอร์กับนายอาคมคือ นักบินออกไป 17 คน แต่มีเข้ามาใหม่ 15 คน สูสีกัน ยังไม่น่าจะมีปัญหา เป็นการปลอบใจตัวเอง ปลอบใจพนักงาน ปลอบใจผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินนกแอร์ เป็นพลางๆ ก่อน
หรือว่าจริงๆ แล้วปัญหาอยู่ที่ตัวนายพาทีเอง?
วิกฤตสายการบินนกแอร์ ยังไม่จบ แถมดูท่าจะจุดเชื้อไฟลามไปยังสายการบินอื่นๆ ด้วย เพราะเมื่อสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ลงลุยตรวจฐานะการบินของ 50 สายการบิน พบว่า มีอยู่ 4 สายการบินที่เผชิญปัญหาวิกฤตหนัก
มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ลงนามสั่งให้สายการบินซิตี้ แอร์เวย์ หยุดทำการบินเป็นการชั่วคราวแล้ว เนื่องจากหลังตรวจสอบสถานะทางเศรษฐกิจ มีความเสี่ยงมาก และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหายกเลิกเที่ยวบินจนทำให้ผู้โดยสารตกค้างที่สนามบินเหมือนที่ผ่านมา
ส่วนสายการบินเอเชียนแอร์ ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว โดยศาลมีคำสั่งให้หยุดทำการบินไปแล้วตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการนำทรัพย์สินของบริษัทออกจำหน่ายเพื่อใช้หนี้ นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 สายการบินคือ สายการบินกานต์แอร์ และเจ็ทเอเซีย แอร์เวย์ ที่ กพท.ต้องติดตามฐานะทางการเงินอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ กพท.ได้ตรวจสอบสถานะทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศที่ได้ รับอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าในการเดินอากาศในไทย ในปัจจุบัน จำนวนทั้งสิ้น 50 บริษัท โดยพิจารณาจากฐานะทางการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 พบว่า มีผู้ประกอบการสายการบิน 4 แห่ง กำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ประกอบด้วย 1.บริษัทซิตี้ แอร์เวย์ จำกัด ผู้ให้บริการสายการบินซิตี้แอร์เวย์ 2.บริษัทกานต์นิธิ เอวิเอชั่น จำกัด ผู้ให้บริการสายการบินกานต์แอร์ 3.บริษัทสายการบินเอเชียน จำกัด ผู้ให้บริการสายการบินเอเชียนแอร์ และ 4.บริษัทเจ็ทเอเซีย แอร์เวย์ จำกัด ผู้ให้บริการสายการบินเจ็ทเอเซีย แอร์เวย์ โดยทั้ง 4 สายการบินดังกล่าว เปิดให้บริการแบบเช่าเหมาลำ (Charter Flight)
การตรวจสอบสายการบินที่มีผลออกมาข้างต้น ไม่ใช่สัญญาณที่ดีแต่การหยุดความเสี่ยงไว้ตั้งแต่ต้นไม่ปล่อยให้เกิดโกลาหลค่อยแก้ไขก็ยังถือว่าไหวตัวทัน
แต่ที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งในเวลานี้ก็คือ โอกาสทางธุรกิจที่มาพร้อมกับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก นกแอร์กลับไม่สามารถเพราะดันมาปีกหักกลางอากาศเสียก่อน