ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กรมการบินพลเรือนแจงยกเลิกเส้นทางบินกานต์แอร์ 10 เส้นทาง จากอู่ตะเภาและเชียงใหม่ เพราะขอทำการบินแบบเช่าเหมาลำ แต่กลับบินแบบประจำ อ้างที่ไม่อนุมัติเพราะขาดเอกสาร ด้านเจ้าของกานต์แอร์โต้กลับ เรื่องความปลอดภัยใครพิจารณา ชี้ที่ผ่านมามีคนขอเปิดเส้นทางใหม่ อ้างเครื่องเยอะไว้ก่อน แต่ไม่ทำการบิน พบข้อมูลกรมการบินพลเรือน สายการบินเจ้าดังไร้ทำการบินอื้อ หลายเส้นทางเปิดแล้วเจ๊ง
จากกรณีที่กรมการบินพลเรือนได้ยกเลิกเส้นทางบินของสายการบินกานต์แอร์ จำนวน 10 เส้นทาง กรมการบินพลเรือนได้ทำหนังสือชี้แจงว่า ได้อนุญาตให้สายการบินกานต์แอร์ทำการบินแบบไม่ประจำ ระหว่างสนามบินต่างๆ ภายในประเทศ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558 ซึ่งต่อมาสายการบินกานต์แอร์ ได้เปิดทำการบินแบบไม่ประจำ จำนวน 10 เส้นทาง ได้แก่ เชียงใหม่-เชียงราย, เชียงใหม่-แม่สอด, เชียงใหม่-นครราชสีมา, อู่ตะเภา-อุบลราชธานี, อู่ตะเภา-เชียงใหม่, อู่ตะเภา-อุดรธานี, อู่ตะเภา-หัวหิน, อู่ตะเภา-ขอนแก่น, อู่ตะเภา-หาดใหญ่ และดอนเมือง-อู่ตะเภา กรมการบินพลเรือนได้ตรวจสอบการปฏิบัติการบินของสายการบินกานต์แอร์ ทั้ง 10 เส้นทางดังกล่าว พบว่า ไม่ใช่ทำการบินแบบไม่ประจำตามที่ได้รับอนุญาต แต่เป็นการทำการบินแบบประจำ โดยสายการบินกานต์แอร์ได้มีการเผยแพร่ตารางเวลาทำการบินประจำในเส้นทางเดิม และมีการโฆษณา จำหน่ายบัตรโดยสารให้แก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต กรมการบินพลเรือนจึงได้มีหนังสือแจ้งเตือนสายการบินกานต์แอร์ ให้ปรับปรุงแก้ไขการดำเนินบริการให้ถูกต้อง
นอกจากนี้ ตามที่ปรากฎเป็นข่าวว่าสายการบินกานต์แอร์ ได้ยื่นคำขอรับการจัดสรรสิทธิทำการบินแบบประจำต่อกรมการบินพลเรือน ใน 10 เส้นทางข้างต้น ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 นั้น กรมการบินพลเรือนชี้แจงว่า มีความยินดีที่จะพิจารณาอนุญาตคำขอของสายการบินกานต์แอร์ แต่จำเป็นต้องรับทราบข้อมูลอย่างเพียงพอเพื่อประกอบการพิจารณา เช่น จำนวนของอากาศยานที่ใช้ทำการบินว่ามีความเพียงพอกับเส้นทางที่ประสงค์จะให้บริการ รวมทั้งมีแผนการใช้นักบินและลูกเรือที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกันหรือไม่อย่างไร เพื่อให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัยต่อสาธารณชน
- เจ้าของ "กานต์แอร์" โต้กลับ ใครขอเส้นทางแล้วไม่ทำการบิน
ด้าน ร.อ.สมพงษ์ สุขสงวน ประธานกรรมการสายการบินกานต์แอร์ กล่าวในเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงกรณีที่กรมการบินพลเรือนชี้แจงกรณียกเลิกเส้นทางการบิน 10 เส้นทาง รวมทั้งกรณีที่ไม่อนุญาตคำขอเป็นเพราะข้อมูลประกอบการพิจารณาไม่เพียงพอ ว่า เรื่องสำคัญสุดคือเรื่องของความปลอดภัย แต่ตนสับสนว่าต่อไปเรื่องความปลอดภัย ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ชั้น 4 กรมการบินพลเรือน ที่ดูแลความปลอดภัยโดยตรง หรือต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ชั้น 2 ที่รับผิดชอบสิทธิการบินหรือเส้นทางบินโดยตรง ถึงแม้จะเป็นสายการบินเล็กๆ แต่ก็ห่วงชีวิตผู้โดยสาร ความปลอดภัยต้องมาก่อนเสมอ ส่วนเรื่องจำนวนนักบินและลูกเรือ ถ้ามีไม่พอ คงบินแบบไม่ประจำตามที่ผ่านมาไม่ได้แน่นอน เพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายบินและฝ่ายความปลอดภัยชั้น 4 ของกรมการบินพลเรือนคงไม่ปล่อยแน่นอน ที่สำคัญรายชื่อนักบินและลูกเรือจะมีอยู่ที่ชั้น 4 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบินโดยตรง ถ้าไม่มีรายชื่อถือว่าผิดกฎหมายแน่นอน
ส่วนเรื่องจำนวนเครื่องบิน ตอนยื่นขอเส้นทางเมื่อเดือนธันวาคม 2557 ตนวางแผนนำเครื่องบินเข้ามา โดยเครื่องบินมาถึงเมื่อต้นปี 2558 แต่เส้นทางยังไม่ได้รับอนุญาต หากจอดเครื่องทิ้งไว้จะค่าใช้จ่ายสูง เช่น ค่าจอดเครื่องบิน ค่าเช่าเครื่องบิน ค่าใช้จ่ายนักบิน ลูกเรือ ช่าง และเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดิน (กราวน์) และด้วยเส้นทางที่จะบิน เป็นเส้นทางที่ทางกรมการบินพลเรือน กำหนดให้เป็นเส้นทางย่อย คือเส้นทางที่เกรดต่ำสุด ผู้โดยสารน้อยที่สุด จึงวางแผนบินวันเว้นวัน เพื่อความเหมาะสมกับความต้องการ โดยเส้นทางเชียงใหม่ ไปแม่สอดและเชียงราย ใช้เครื่องคาราแวน 12 ที่นั่ง เพราะผู้โดนสารน้อย และระยะทางไม่ไกลมาก จะเหลือ 8 เส้นทาง บินวันเว้นวัน จะเหลือบินวันละ 4 สถานี ก็จะเหมาะสมกับเครื่องบิน
"ปัจจุบันลองดู ใครขอเส้นทางแล้วไม่ทำการบินบ้าง ถึงแม้เขาจะมีเครื่องเยอะ ลองเข้าไปดูในเว็บของกรมการบินพลเรือน ส่วนเครื่องที่อู่ตะเภา ต้องมาบินแม่สอดวันละ 3 เที่ยวเพราะว่าไม่มีเส้นทางที่จะบิน แต่พนักงานแทบไม่ตกงานเลย ผมรับผิดชอบทุกคน" ร.อ.สมพงษ์ กล่าว
ขออนุญาตชี้แจงและถามข้อสงสัยครับ 1เรื่องสำคัญสุดคือเรื่องของความปลอดภัยทางที่เอกสารด้านล่างนี้ครับ ผมสับสนว่าต่อไปเรื่...
Posted by Somphong Sooksanguan on Friday, June 12, 2015
- พบบางสายการบินได้รับการจัดสรรเส้นทางแล้วไร้ทำการบินอื้อ
ผู้สื่อข่าว ASTVผู้จัดการออนไลน์ ตรวจสอบข้อมูลการอนุญาตให้สายการบินของไทยเพิ่มเติมเส้นทางบินภายในประเทศ ของกรมการบินพลเรือน พบว่ามีอยู่ 9 บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตจากกรมการบินพลเรือน อาทิ บริษัท โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ จำกัด, บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด, บริษัท กานต์นิธิ เอวิเอชั่น จำกัด, บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน), บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด, บริษัท ซิตี้แอร์เวย์ จำกัด, บริษัท ไทย ไลอ้อน เมนทารี จำกัด และ บริษัท ไทย เวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต๊อค จำกัด
โดยในส่วนของ สายการบินโอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ พบว่าได้รับการจัดสรรเส้นทางการบิน 3 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-ภูเก็ต และเชียงใหม่-ปาย แต่ได้หยุดให้บริการเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ไปแล้ว เหลือเพียงเส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต ให้บริการ 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ส่วนเส้นทางเชียงใหม่-ปาย ใช้โค้ตแชร์ร่วมกับกานต์แอร์
ขณะที่สายการบินไทยแอร์เอเชีย ได้รับการจัดสรรเส้นทางการบิน 24 เส้นทาง โดยเส้นทางล่าสุดที่ได้รับอนุญาตในปี 2558 คือ กรุงเทพฯ-บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา ส่วนสายการบินกานต์แอร์ ได้รับการจัดสรรเส้นทางการบิน 9 เส้นทาง โดยส่วนใหญ่เป็นเส้นทางการบินที่ออกจากต้นทางเชียงใหม่ไปยังปาย น่าน แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น พิษณุโลก อุบลราชธานี และหัวหิน ส่วนต้นทางจากกรุงเทพฯ มีเส้นทางการบินไปยังแม่สอด และสุรินทร์ แต่ปัจจุบันเส้นทางสุรินทร์ยังไม่เปิดให้บริการ
ด้านสายการบินนกแอร์ ได้รับการจัดสรรเส้นทางการบิน 33 เส้นทาง แต่พบว่ามีบางเส้นทางได้หยุดให้บริการ อาทิ เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน, เชียงใหม่-หาดใหญ่, เชียงใหม่-น่าน, เชียงใหม่-ขอนแก่น, เชียงใหม่-พิษณุโลก, เชียงใหม่-แม่สอด โดยส่วนหนึ่งมาจากการหยุดให้บริการของสายการบินนกมินิ เนื่องจากบริษัท สยาม เจนเนอรัล เอวิเอชั่น จำกัด หรือเอสจีเอ ถอนความร่วมมือกับนกแอร์เมื่อปี 2557 นอกจากนี้ยังมีเส้นทางที่ขออนุญาตแล้วแต่จนถึงปัจจุบันยังไม่เปิดทำการบิน ได้แก่ ภูเก็ต-อุดรธานี และ ภูเก็ต-ขอนแก่น
- "บางกอกแอร์เวย์" ซุ่มเงียบได้รูท "ภูเก็ต-หาดใหญ่" ส่วน "เชียงใหม่-กระบี่" แวะพักสุวรรณภูมิ
ส่วนสายการบินบางกอกแอร์เวย์ ได้รับการจัดสรรเส้นทางการบิน 18 เส้นทาง โดยเส้นทางล่าสุดที่ได้รับอนุญาตในปี 2558 คือ ภูเก็ต-หาดใหญ่ เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ทำการบินในขณะนี้ นอกจากนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า เส้นทางเชียงใหม่-กระบี่ ใช้วิธีการหยุดระหว่างทางที่กรุงเทพฯ (ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) เพื่อรับผู้โดยสารจากกรุงเทพฯ เนื่องจากก่อนหน้านี้กรมการบินพลเรือนตั้งเงื่อนไขเอาไว้ว่า หากไม่เปิดทำการบินบินภายในฤดูหนาว 57/58 จะเสนอกระทรวงคมนาคมเพิกถอนเส้นทาง
ขณะที่สายการบินไทยสมายล์ ได้รับการจัดสรรเส้นทางการบิน 12 เส้นทาง โดยเส้นทางล่าสุดที่ได้รับอนุญาตในปี 2558 คือ กรุงเทพฯ-นราธิวาส เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา แต่พบว่ามีบางเส้นทางที่ยังไม่ทำการบินในขณะนี้ คือ เชียงใหม่-อุดรธานี ปรับปรุงเงื่อนไขการใช้โค้ตแชร์ร่วมกับสายการบินอื่น ด้านสายการบินซิตี้แอร์เวย์ ได้รับการจัดสรรเส้นทางการบิน 2 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-ภูเก็ต และภูเก็ต-สุราษฎร์ธานี แต่ทั้งสองเส้นทางยังไม่ทำการบินในขณะนี้ และสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ได้รับการจัดสรรเส้นทางการบิน 10 เส้นทาง แต่ยังไม่มีการให้บริการในเส้นทาง กรุงเทพฯ-นครศรีธรรมราช โดยคาดว่าจะเปิดทำการบินในปีนี้
อีกด้านหนึ่ง สายการบินไทย เวียตเจ็ท แอร์ ได้รับการจัดสรรเส้นทางการบิน 8 เส้นทางเมื่อปี 2556 แต่ยังไม่เปิดทำการบิน โดยมี 2 เส้นทางที่ใช้โค้ตแชร์ร่วมกับกานต์แอร์ ได้แก่ เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่-พิษณุโลก โดยก่อนหน้านี้ สายการบินกานต์แอร์ได้ยุติแผนดำเนินธุรกิจของสายการบินไทยเวียตเจ็ท ที่ร่วมทุนกับสายการบินเวียดเจ็ทแอร์ของเวียดนาม โดยทยอยขายหุ้นออกไปเกือบทั้งหมดตั้งแต่ต้นปี 2558 เนื่องจากแนวคิดในการบริหารจัดการไม่ตรงกัน ทั้งการบริหารและการตลาด ประกอบกับความล่าช้าในการจัดหาเครื่องบินของเวียดเจ็ทแอร์ มีเครื่องบินเข้ามาเพียง 1 ลำ ส่งผลทำให้กว่า 2 ปียังไม่สามารถเปิดทำการบินได้.