xs
xsm
sm
md
lg

รถทัวร์ปรับอากาศ VS โลว์คอสท์แอร์ไลน์

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


(1)

เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา ได้ใช้สิทธิ์วันหยุดปีใหม่ครึ่งแรกออกไปต่างจังหวัด เนื่องจากมีงานแต่งงานเพื่อนที่ จ.ชัยภูมิ ก็เลยใช้บริการรถประจำทางปรับอากาศอีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้เวลาไปต่างจังหวัดไกลๆ มักจะใช้บริการสายการบิน โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสท์แอร์ไลน์) มาตลอด

ผมกลับมาใช้บริการ "นครชัยแอร์" อีกครั้ง ซึ่งในช่วงเทศกาลปีใหม่จะจองตั๋วออนไลน์ยากมาก ท้ายที่สุดแม้จะได้ตั๋วเป็นรถชั้นเฟิสต์คลาส ราคาแพงกว่ารถปรับอากาศปกติประมาณ 140 บาท แต่กลับมาดูวันเดินทางอีกทีปรากฏว่าเป็นคืนวันพฤหัสบดี (ในตั๋วระบุวันศุกร์ก็จริง แต่เป็นเที่ยวเวลา 00.15 น.) เลยตกลงกับที่ทำงานขอเลื่อนวันหยุดเร็วขึ้นอีก 1 วัน

อันที่จริงใครที่ซื้อตั๋วออนไลน์และชำระเงินผ่านบัตรเครดิตเรียบร้อยแล้ว สามารถพิมพ์ตั๋วจากที่บ้านเพื่อใช้ขึ้นรถได้ทันที แต่ถ้าเราไปจองที่ร้านอินเตอร์เน็ต หรือคอมพิวเตอร์ที่อื่นแล้วไม่มีเครื่องปริ้นเตอร์ สามารถนำเลขที่อ้างอิง 8 หลักด้านบนสุดของตั๋วจดใส่กระดาษ แล้วไปรับตั๋วโดยสารที่ศูนย์บริการนครชัยแอร์ได้เช่นกัน

การบริการของนครชัยแอร์ในวันนั้นรู้สึกแตกต่างจากครั้งที่เคยเดินทางในช่วงที่ผ่านมา พนักงานต้อนรับดูเหมือนรีบพูดแนะนำเส้นทาง จุดลงรถ เพื่อให้มันจบๆ มากขึ้น คงเป็นเพราะขั้นตอนนี้อาจดูน่าเบื่อ แต่โดยภาพรวมทั้งการยิ้มแย้มเวลาแจกสิ่งของทั้งน้ำดื่ม น้ำอัดลม ขนมขบเคี้ยว อาหารว่างและเครื่องดื่มพร้อมผ้าเย็นยังคงมีอยู่

สิ่งที่น่าตกใจระหว่างโดยสารอยู่บนรถก็คือ เจอแมลงสาบทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ ในช่วงเที่ยวไปเห็นแมลงสาบตัวเล็กๆ เดินผ่านอยู่ตรงหน้า ผมต้องใช้วิธีเอาเท้าตบตรงผนังรถให้มันเดินหนีออกไปทางอื่น เที่ยวกลับหลังจากหลับไปสองตื่นปรากฏว่าพบศพแมลงสาบสภาพเละอยู่ตรงหน้า คนที่เกลียดแมลงสาบอย่างผมเห็นแล้วแทบช็อก

พยายามมองโลกในแง่ดีว่า ปัญหานี้ไม่น่าจะเป็นความผิดของนครชัยแอร์โดยตรง เพราะสภาพรถดูเหมือนทำความสะอาดอย่างดี แต่น่าจะเป็นที่สัมภาระของผู้โดยสารที่ติดตัวขึ้นไปบนที่นั่ง อาจจะมีแมลงสาบเล็ดรอดเข้ามาก็ได้ จึงขอฝากนครชัยแอร์ช่วยปรับปรุงตรงจุดนี้ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในระยะยาว

ในการเดินทางนครชัยแอร์เส้นทางกรุงเทพฯ-ขอนแก่น เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาล เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรติดขัดบนถนนมิตรภาพ จึงใช้เส้นทางสีคิ้ว ด่านขุนทด แวะเปลี่ยนพนักงานขับรถที่ชัยภูมิ ถึงสามแยกคอนสวรรค์ เลี้ยวขวาไป อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น ออกถนนมิตรภาพที่ อ.บ้านไผ่ แล้วไปถึงสถานีขนส่งขอนแก่นแห่งที่ 3 ทำให้ล่าช้าไปเกือบ 1 ชั่วโมง

ก่อนหน้านี้ทางราชการบังคับให้รถประจำทางย้ายจากสถานีขนส่งปรับอากาศ ไปยังสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดขอนแก่นแห่งที่ 3 (บขส. 3) ตั้งอยู่ที่บริเวณทางแยกต่างระดับถนนรอบเมืองขอนแก่น ห่างจากตัวเมือง 7 กิโลเมตร ทำให้ในปัจจุบันสถานีขนส่งปรับอากาศกลายเป็นท่ารถตู้ไปจังหวัดใกล้เคียงอย่างอุดรธานี ร้อยเอ็ด นครราชสีมา

เดิมนครชัยแอร์สมัยที่อยู่สถานีปรับอากาศจะมีรถตู้รับส่งถึงมหาวิทยาลัยขอนแก่น บริเวณศูนย์คอมเพล็กซ์ แต่เมื่อจำเป็นต้องย้ายไปที่ บขส. 3 ทำให้ต้องเพิ่มจุดรับส่งที่สถานีปรับอากาศด้วย ซึ่งช่วยได้เยอะเพราะไม่ต้องจ่ายค่าแท็กซี่ แม้จะไม่ได้มีรถตลอดคืนก็ตาม เนื่องจากรถที่มาถึงขอนแก่นช่วง 00.30-05.30 น. จะใช้วิธีเข้าไปส่งถึงสถานีปรับอากาศ

ทุกวันนี้สถานีปรับอากาศเป็นไปด้วยความเงียบเหงา ศูนย์บริการนครชัยแอร์ที่นั่นถูกปิดร้าง มีเพียงพนักงานที่ช่องขายตั๋วอยู่คนเดียว คอยรับจองตั๋วโดยสาร (แต่ให้นำรหัสอ้างอิงไปชำระเงินที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น) แนะนำลูกค้า และเป็นจุดรอรถไปสถานี บขส. 3 ซึ่งผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงแบบกะทันหัน นครชัยแอร์สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี

จากการใช้บริการนครชัยแอร์ครั้งล่าสุด ผมมีความรู้สึกว่าเดี๋ยวนี้ไม่เหมือนเดิม แม้มาตรฐานในการให้บริการจะยังไม่ลดลงไปมากกว่านี้ก็ตาม น่าเป็นห่วงว่าในระยะยาวหากเป็นเช่นนี้มากๆ จะมีผลฉุดรั้งมาตรฐานการบริการให้ลดลงมาก็ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการที่ลูกค้าเชื่อถือในแบรนด์ต้องระวังอย่างยิ่ง

(2)

การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัด หรือจากจังหวัดหัวเมืองของคนบ้านเรานั้น สมัยก่อนดูเหมือนว่าจะยังไม่มีทางเลือกมากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นรถโดยสารประจำทาง รถไฟ ซึ่งกินระยะเวลานานนับชั่วโมง ส่วนการเดินทางโดยสารเครื่องบินจำกัดอยู่เพียงแค่คนที่มีสตางค์เท่านั้น

กระทั่ง "สายการบินต้นทุนต่ำ" หรือ โลว์คอสต์แอร์ไลน์ เข้ามาเป็นตัวเลือกให้บริการ และเริ่มได้รับความนิยมในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา ด้วยจุดเด่นคือความสะดวกรวดเร็ว และราคาที่ผู้มีรายได้น้อยและปานกลางสามารถเข้าถึงได้ ด้วยการซื้อตั๋วล่วงหน้าในราคาโปรโมชั่นหลักร้อยบาท จึงทำให้ได้รับความนิยมจากผู้เดินทางมากขึ้น

จากเดิมการเดินทางโดยเครื่องบินได้รับความนิยมเฉพาะจังหวัดหัวเมืองหลัก ก็เริ่มขยายไปยังจังหวัดหัวเมืองในระดับรองลงมา สายการบินแต่ละเจ้าเริ่มเปิดเส้นทางการบินใหม่ๆ ในจังหวัดที่มีสนามบินของกรมการบินพลเรือนอยู่แล้ว รวมทั้งมีบริการรถตู้รับส่งจากสนามบินไปยังจังหวัดที่อยู่ติดกัน โดยเพิ่มค่าบริการไปด้วย

แน่นอนว่าความนิยมต่อสายการบินโลว์คอสต์ทำให้ผู้ประกอบการรถประจำทางปรับอากาศ โดยเฉพาะรถร่วม บขส. ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก็มักจะมีผู้ประกอบการหน้าเดิมๆ อย่างเช่น “เจ๊เกียว” สุจินดา เชิดชัย คอยออกมาเรียกร้องมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐเวลาน้ำมันขึ้นราคาแทบทุกครั้ง

ค่าโดยสารรถประจำทางหมวด 2 วิ่งระหว่างกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัด และหมวด 3 วิ่งระหว่างจังหวัดต่อจังหวัด ขึ้นราคากิโลเมตรละ 4 สตางค์ไปเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 หรือเมื่อ 2 ปีก่อน สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่เวลานั้น เจ๊เกียวมองว่าต้องขึ้นราคากิโลเมตรละ 9 สตางค์ โดยให้เหตุผลว่ายังไม่คุ้มกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากเสียงเรียกร้องต่อสังคมหลังราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง ประกอบกับรัฐบาลได้ลดราคาน้ำมัน ในที่สุด พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม ได้อนุมัติหลักการลดค่าโดยสารอีกกิโลเมตรละ 2 สตางค์ คาดว่าที่ประชุมคณะกรรมการขนส่งทางบกกลางจะเห็นชอบได้ในวันที่ 15 มกราคม 2558 ก่อนมีผลบังคับใช้ในวันถัดไป

พูดถึงผลกระทบของผู้ประกอบการรถประจำทางปรับอากาศ ต่อการเข้ามาของโลว์คอสท์ ฟังสุ้มเสียงของเจ๊เกียว เหมือนแกจะตีโพยตีพายว่า หากในอนาคตมีการเปิดทำการบินเส้นทางระยะใกล้ๆ จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจเดินรถทัวร์ถึง 400% ก็ต้องเตรียมตัวเจ๊งไปทำธุรกิจอย่างอื่นแทน

แต่พอมาฟังผู้ประกอบการที่ได้ชื่อว่าให้บริการดีที่สุดในบรรดารถทัวร์เจ้าต่างๆ อย่างนครชัยแอร์ กลับพบว่า ได้รับผลกระทบไม่แตกต่างกัน

คุณเครือวัลย์ วงศ์รักมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารนครชัยแอร์ เปิดเผยว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการประสบปัญหาจากเศรษฐกิจภาพรวม ทำให้คนเดินทางน้อยลง และยังมีสายการบินโลว์คอสต์ ลดราคาค่าโดยสารลงมาก จนประชาชนหันไปใช้บริการโลว์คอสต์ รวมถึงยังมีรถตู้ที่วิ่งในเส้นทางกับรถโดยสาร

ทั้งนี้ ส่วนแบ่งการตลาดของนครชัยแอร์อยู่ที่ร้อยละ 11 อัตราบรรทุกเฉลี่ยร้อยละ 79 ซึ่งการดำเนินงานปี 2557 โตขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2 ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เติบโตที่ร้อยละ 10 จากปัญหาสายการบินโลว์คอสต์ลดราคา รถตู้วิ่งทับเส้นทาง สำหรับรายได้อยู่ที่ประมาณ 1,700 ล้านบาท

คุณเครือวัลย์กล่าวอีกว่า อยากให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแลทั้งการกำหนดราคาขั้นต่ำของการเดินทางแต่ละประเภทให้ชัดเจน ทั้งสายการบินโลว์คอสและรถตู้ เพื่อให้แข่งขันได้ ไม่ต้องประสบปัญหาการขาดทุนของทุกฝ่าย และหากราคาต่ำมากก็จะมีการลดต้นทุนที่จำเป็น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการเดินทางได้

ที่สำคัญ การที่ภาครัฐดำเนินการให้รถตู้ผิดกฎหมายเข้ามาอยู่ในระบบ ทำให้ถูกกฎหมาย ก็กระทบต่อรถโดยสาร เพราะเกิดปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย การให้บริการที่มากกว่าจำนวนผู้โดยสาร กลายเป็นการสิ้นเปลืองน้ำมัน ถนนสึกกร่อน



สถานีขนส่งผู้โดยสารรถปรับอากาศจังหวัดขอนแก่น ปัจจุบันกลายสภาพเป็นที่จอดรถตู้โดยสารประจำทางไปยังจังหวัดใกล้เคียง อาทิ นครราชสีมา อุดรธานี หลังจากที่ทางราชการบังคับให้รถประจำทางปรับอากาศทุกเส้นทางให้บริการที่สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งใหม่ บริเวณถนนวงแหวนรอบเมืองขอนแก่น

สอดคล้องกับ สมาคมผู้ประกอบการรถร่วมโดยสาร ได้มีข้อเรียกร้อง 6 ข้อ ได้แก่ ให้ลดเที่ยววิ่งขั้นต่ำและสูงตามความจริง, ขอให้ยกเลิกประกันภัยประเภท 3 เหลือแค่ประกัน พ.ร.บ., รถที่มีจำนวนมากเกินไปให้พักการวิ่ง โดยขอฝากโควตาที่เกินความจำเป็น และขออนุมัตินำรถไปวิ่งนอกเส้นทางได้

รวมทั้งกรณีค่าปรับต่างๆ ขอให้พิจารณาก่อนปรับว่าสมควรหรือไม่, ค่าปรับของกรมการขนส่งทางบก เมื่อปรับแล้วให้เป็นอันยุติ ไม่ใช่ปรับแล้วส่งเอกสารแจ้งไปยัง บริษัท ขนส่ง จำกัด แล้วต้องจ่ายค่าปรับต่อ และเรื่องลดค่าโดยสาร หรือขึ้นค่าโดยสาร ยินดีให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามมติของกระทรวงคมนาคม

หากคิดกันในมุมมองผู้บริโภคจะเห็นว่า ที่ผ่านมาเราได้เห็นภาพลักษณ์แย่ๆ ของรถประจำทางปรับอากาศ ไม่ว่าจะเป็นห้องโดยสารที่มีสภาพเก่า ชำรุด สกปรก หรือจะเป็นการบริการและมารยาทที่แย่ของเจ้าหน้าที่ ไปจนถึงพฤติกรรมด้านมืด อย่างการให้ผู้โดยสารยัดเยียดนั่งลงกับพื้นทางเดิน หรือปล่อยผู้โดยสารลอยแพกลางทางก็มี

ซึ่งการเกิดขึ้นของโลว์คอสท์แอร์ไลน์ ก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภคที่จะได้ใช้บริการโดยสารเครื่องบินที่มีจุดเด่นคือตรงเวลา ปลอดภัย และราคาสมเหตุสมผล หากได้ตั๋วเครื่องบินราคาโปรโมชั่นก็ประหยัดขึ้นไปอีก และถือเป็นการสั่งสอนรถร่วม บขส. ที่มีภาพลักษณ์แย่ๆ ไปในตัว

แต่ถ้าคิดในมุมมองผู้ประกอบการ ผมเชื่อว่าหลายบริษัทก็พยายามปรับปรุงมาตรฐานรถ และการให้บริการ บางบริษัทสร้างมาตรฐานเทียบเท่าสายการบินด้วยซ้ำไป แต่เมื่อจุดด้อยของการคมนาคมทางบกที่ใช้เวลานาน ยกตัวอย่าง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ รถประจำทางใช้เวลา 9-10 ชั่วโมง แต่เครื่องบิน 1 ชั่วโมง เมื่อเจอโปรโมชั่นต่ำกว่าทุนยังไงก็ดีกว่า

ยิ่งศึกษาถึงการดำเนินงานของโลว์คอสท์แอร์ไลน์ พบว่าราคาตั๋วเครื่องบินไม่ได้ถูกกำหนดตายตัว มีความยืดหยุ่นตามนโยบายของแต่ละสายการบิน แต่ราคาจะสูงขึ้นในช่วงใกล้วันเดินทาง หรือฤดูท่องเที่ยว เทียบกับรถทัวร์ที่ค่าโดยสารกำหนดตายตัว ขึ้นราคาสูง-ต่ำเพื่อแข่งกันก็ไม่ได้ หากลดราคาก็ขาดทุนเพราะต้นทุนเดินรถก็สูงอยู่แล้ว

ไม่นับรวมเส้นทางต่างจังหวัด รถประจำทางหมวด 3 ถูกแข่งขันด้วยรถตู้ปรับอากาศ ซึ่งรวดเร็วกว่า อย่างที่ขอนแก่นเห็นรถตู้ไปจังหวัดใกล้เคียงจอดที่สถานีปรับอากาศ และหน้าเซ็นทรัลพลาซ่า ขอนแก่น ซึ่งส่วนใหญ่ขึ้นทะเบียนถูกกฎหมายให้บริการแล้ว ยิ่งน่าเป็นห่วงว่าจะค่อยๆ กลืนรถประจำทางที่มีอยู่เดิมมากขึ้น

ถึงตอนนั้นสภาวะของรถปรับอากาศน่าจะเรียกได้ว่า “ทำคุณกับคนไม่ขึ้น” และที่สุดหากไม่ปรับตัวเพื่อความอยู่รอดก็ถึงคราวล้มหายตายจาก เหมือนเส้นทางจังหวัดใกล้กรุงเทพฯ บางจังหวัดที่ทุกวันนี้ถูกเปลี่ยนไปเป็นรถตู้ปรับอากาศหมดแล้ว ไม่เหลือรถประจำทางวิ่งให้บริการอีกต่อไป



สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ขณะลงจอดที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ที่ผ่านมาเส้นทางเชียงใหม่เปิดให้บริการเป็นเส้นทางแรกในปี 2556 ปัจจุบันมีเที่ยวบินจากดอนเมืองให้บริการจุดหมายปลายทาง 9 แห่ง ด้วยฝูงเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737-900ER จำนวน 8 ลำ (ภาพจากแฟ้ม)

(3)

แม้ผลกระทบจากโศกนาฏกรรมเครื่องบินของสายการบินในเอเชียประสบอุบัติเหตุ จะทำให้ความเชื่อมั่นในการโดยสารเครื่องบินได้รับผลกระทบ ผลประกอบการสายการบินต้นทุนต่ำทุกแห่งในตลาดหุ้นไทยขาดทุนทุกบริษัท อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า การบริโภคครัวเรือนยังอ่อนแอ และสถานการณ์ทางการเมืองจะทำให้นักท่องเที่ยวลดลง

แต่อีกด้านหนึ่ง ในปี 2558 หากเศรษฐกิจฟื้นตัว แนวโน้มธุรกิจการบินในประเทศน่าจะเริ่มแข่งขันกันอย่างหนักมากขึ้น จากการเปิดให้บริการของสายการบินน้องใหม่อย่าง “ไทยเวียตเจ็ทแอร์” ซึ่งร่วมทุนระหว่างนายทุนจากเวียดนาม กับสายการบินกานต์แอร์ คาดว่าจะเปิดให้บริการหลังได้รับเครื่องบินแอร์บัส เอ 320 ลำที่สองประมาณเดือนมีนาคม 2558

ข้อมูลจากกรมการบินพลเรือน ระบุถึงการจัดสรรเส้นทางบินภายในประเทศปี 2557 ว่า ไทยเวียตเจ็ทได้รับการจัดสรรเส้นทางการบินอยู่ในมือ 6 เส้นทาง โดยส่วนใหญ่มีต้นทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต หาดใหญ่ กระบี่ และ อุดรธานี ส่วนเส้นทางเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่-พิษณุโลก เป็นเที่ยวบินร่วมกับกานต์แอร์

จุดเด่นของไทยเวียตเจ็ทแอร์ก็คือ เป็นโลว์คอสต์แอร์ไลน์ในประเทศเพียงแห่งเดียวให้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิ ต่างจากทุกเจ้าให้บริการที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งเส้นทางบินระยะแรกจะเป็นกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-ภูเก็ตคาดว่าเพื่อสอดรับกับเที่ยวบินของเวียตเจ็ทแอร์จากฮานอยวันละ 1 เที่ยวบิน และโฮจิมินห์วันละ 2 เที่ยวบิน

ส่วน สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ได้รับการจัดสรรเส้นทางการบิน 12 เส้นทาง ทำการบินไปแล้ว 9 เส้นทาง แต่ยุบไป 2 เส้นทาง คือ หาดใหญ่-สุราษฎร์ธานี และหาดใหญ่-หัวหิน ที่ยังไม่ได้ทำการบินมี 3 เส้นทาง ได้แก่ ดอนเมือง-เชียงราย, ดอนเมือง-อุบลราชธานี และ ดอนเมือง-นครศรีธรรมราช ที่ผ่านมาได้รับมอบเครื่องบินมาแล้ว รวม 8 ลำ

ขณะที่ สายการบินนกแอร์ ที่ผ่านมาเพิ่งได้รับการต่อใบอนุญาตจากกรมการบินพลเรือนไปเมื่อกลางปี 2557 โดยมีเส้นทางการบินที่ได้รับการจัดสรร 32 เส้นทาง แต่หลายเส้นทางที่เคยทำการบินแต่ได้ระงับไป เนื่องจากหมดสัญญาเช่าเครื่องบินขนาดเล็ก SAAB 340 อาทิ เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่-แม่สอด, เชียงใหม่-ขอนแก่น เป็นต้น

ที่ผ่านมา นกแอร์ได้ขออนุญาตเปิดเส้นทางบินใหม่ 1 เส้นทาง คือ ดอนเมือง-ขอนแก่น วันละ 2 เที่ยวบิน แต่ที่น่าสนใจคือบางเส้นทางนกแอร์ยังไม่เคยทำการบิน คือเส้นทาง ภูเก็ต-ขอนแก่น และ ภูเก็ต-อุดรธานี ซึ่งเส้นทางหลังมีเพียงแอร์เอเชียรายเดียวที่ให้บริการวันละ 1 เที่ยวบิน



สายการบินไทยแอร์เอเชีย ขณะจอดที่สนามบินดอนเมือง โดยแอร์เอเชียเป็นโลว์คอสต์แอร์ไลน์ระดับแนวหน้าในภูมิภาคเอเชีย โดยมีเครื่องบินรวมทั้งสิ้น 160 ลำ และมีเครือข่ายการบินครอบคลุมทั้งอาเซียน รวมไปถึงประเทศจีน อินเดีย และออสเตรเลีย รวม 95 เส้นทางบิน และให้บริการผู้โดยสารกว่า 250 ล้านคนต่อปี (ภาพจากแฟ้ม)

และสายการบินที่กำลังเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ คือ ไทยแอร์เอเชีย ที่ผ่านมาได้รับการจัดสรรเส้นทางการบินใหม่ 6 เส้นทาง เปิดให้บริการแล้ว 1 เส้นทาง คือ ดอนเมือง-สกลนคร ในปี 2558 แอร์เอเชียจะเปิดให้บริการอีก 3 เส้นทาง คือ ดอนเมือง-น่าน, ดอนเมือง-เลย และ ดอนเมือง-ร้อยเอ็ด ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้

ที่น่าสนใจคือ ยังมีเส้นทางที่ได้รับการจัดสรรอีก 2 เส้นทางที่ยังไม่ทำการบิน คือ หาดใหญ่-อุดรธานี หลังจากไทยไลอ้อนแอร์เปิดให้บริการไปแล้วสัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน และที่น่าจับตามองคือเส้นทาง กระบี่-ขอนแก่น ซึ่งที่ผ่านมาแอร์เอเชียมีเที่ยวบินจากกระบี่ไปยังจุดหมายทั้งในและต่างประเทศ อาทิ เชียงใหม่ กวางโจว กัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์

ที่ผ่านมาหลังเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินโดยสารสายการบินแอร์เอเชียอินโดนีเซีย เที่ยวบินที่ QZ8501 เส้นทางสุราบายา ไปสิงคโปร์ตกลงไปในทะเล ทำให้ผู้โดยสาร 155 คน และลูกเรือพร้อมนักบิน 7 คนเสียชีวิต บางส่วนนอกจากกระทบความเชื่อมั่นต่อผู้โดยสารแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อหุ้นแอร์เอเชียในตลาดหลักทรัพย์กัวลาลัมเปอร์ร่วงลงมากว่า 10 จุด

แต่ แดเนียล หว่อง นักวิเคราะห์จาก Hong Leong Investment Bank ในมาเลเซีย เปิดเผยผ่านวิทยุวีโอเอว่า ผู้โดยสารส่วนใหญ่ในเอเชียมีรายได้ระดับปานกลางถึงต่ำ ยังคงต้องพึ่งพาบริการของสายการบินต้นทุนต่ำอย่างเช่นแอร์เอเชียต่อไป เพราะไม่มีทางเลือกมากนักสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศแบบราคาประหยัดภายในภูมิภาคเอเชีย

สิ่งที่น่าจับตานับจากนี้ คือหลังภารกิจเกี่ยวกับอุบัติเหตุเที่ยวบินที่ QZ8501 ผ่านพ้นไป แอร์เอเชียอาจจะออกโปรโมชั่นในภูมิภาคเพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากลูกค้า เช่นเดียวกับมาเลเซียแอร์ไลน์ที่ลดค่าโดยสารก่อนหน้านี้ ซึ่งโดยปกติการจัดแคมเปญโปรโมชั่นมักจะทำพร้อมกันทั้งภูมิภาคอยู่แล้ว เช่น ฟรีซีท (Free Seats) หรือบิ๊กเซล (Big Sales)

และถึงแม้เศรษฐกิจในบ้านเราจะซบเซาอย่างต่อเนื่อง แต่ในปีนี้เราจะได้เห็นการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรง ตามการขยายฝูงบินและเพิ่มเที่ยวบินอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเกิดสภาวะล้นตลาด รวมทั้งช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวในเดือนมิถุนายนถึงกันยายน จะมีโปรโมชั่นด้านราคาเกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นยอดขายและรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด

มนุษย์เงินเดือนในกรุงเทพฯ อาจจะได้โอกาสช่วงชิงตั๋วเครื่องบินราคาถูกมากขึ้น แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงระยะยาวคือ หากเที่ยวบินเกิดภาวะล้นตลาด สายการบินอาจไม่มีทางเลือกนอกจากลดเที่ยวบิน ยุบรวมไฟล์ท และยุบเส้นทางที่รายได้ต่ำออกไป เวลานั้นเราอาจจะต้องจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินราคาแพงมากขึ้น พร้อมกับรถทัวร์ที่ล้มหายตายจาก เหลือเพียงไม่กี่เจ้า

ถึงตอนนั้นคงบอกได้คำเดียวว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรที่จีรังยั่งยืนจริงๆ...

กำลังโหลดความคิดเห็น