xs
xsm
sm
md
lg

แนะกรธ.เลี่ยงใส่ปมร้อนในร่างรธน. เปิดช่องคสช.สืบทอดอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญ ที่อยู่ในช่วงการปรับปรุงแก้ไขตามที่ฝ่ายต่างๆได้เสนอข้อคิดเห็นมาว่า ตนเห็นควรให้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) คงสาระสำคัญไว้ในร่าง 5 ประการ คือ
1. เพิ่มความเข้มข้นมาตรการปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชันทุกรูปแบบ 2. เข้มงวดกวดขั้นคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 3. เพิ่มโทษแก่คนที่ทุจริตเลือกตั้ง 4. ป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจในโครงสร้างฝ่ายบริหารได้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ และ 5. เข้มงวดกวดขั้นด้านวินัยการเงินการคลัง
นายองอาจกล่าวว่า ที่ผ่านมาจะเห็นว่าครม.-คสช. และ กรธ. พยายามบอกสังคมว่าอยากเห็นร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจากสังคม หากจะให้ได้รับการยอมรับจากประชาชน กรธ. ต้องพิจารณาเลี่ยงการเขียนบทบัญญัติที่ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัย 3. ประเด็น คือ
1. เลี่ยงการสร้างกลไกใดๆ ให้มีอำนาจเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญถาวร 2. เลี่ยงการสร้างองค์กร หรือกำหนดบทบาทองค์กร ให้มีอำนาจแฝงทั้งโครงสร้างการบริหาร หรือในฝ่ายนิติบัญญัติ และ 3. เลี่ยงความพยายามทำให้สังคมเห็นว่า มีบทบัญญัติส่อเจตนาสืบทอดอำนาจของ คสช. หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องผ่านช่องทางต่างๆ ที่จะมีขึ้นในร่างรัฐธรรมนูญ
"เพราะ 3 สิ่งนี้ ถือเป็นประเด็นร้อนที่สังคมให้ความสนใจ และถูกวิจารณ์อย่างมาก จะอาจจะก่อวิกฤตหลังจากมีการใช้รัฐธรรมนูญ เมื่อถึงวันนั้น อาจจะมีนึกถึงข้อท้วงติงเหล่านี้ และอาจจะเป็นวิกฤตที่มากกว่าวันนี้ ดังนั้นหากทางหลีกเลี่ยงได้ ก็ควรจะทำเสียจะเกิดประโยชน์มากกว่า"
ส่วนข้อเสนอ ครม.ในข้อ 16 ที่ให้มีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2 ระยะ ถือเป็นข้อที่กรธ.ต้องระมัดระวัง ไม่บรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเวลานี้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ และเคลือบแคลงสงสัยกันมาก และจะไปห้ามคนไม่ให้คิดไม่ได้ ว่าเป็นการต่อท่ออำนาจหรือไม่ เพราะพฤติกรรมที่ผ่านมาของผู้บริหาร ก็ปรากฏให้เห็นอยู่แล้ว และในร่างรัฐธรรมนูญก็มีกลไกให้บ้านเมืองเดินไปได้ระดับหนึ่งอยู่แล้ว

** กก.ยุทธศาสตร์ฉุดประเทศล้าหลัง
นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงกรณีที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. ยุทธศาสตร์ชาติ ว่า ส่วนตัวเห็นว่าเป็นเพียงอีกความพยายามซ่อนเร้นการสืบทอดอำนาจ เพราะร่างกม.ฉบับนี้ ให้อำนาจคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เหนือกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อีกทั้งการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในขณะที่โลกก็มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แผนยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ ก็จะเรื่องล้าสมัยเมื่อเวลาผ่านไป การดำเนินนโยบายของภาครัฐ หรือการแก้ไขปัญหาของชาติ ก็จะไม่ทันต่อสถานการณ์
ทั้งนี้ เมื่อฝ่ายบริหารต้องคำนึง และพะวง ถึงคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่สามารถขัดขวางได้แทบทุกเรื่อง เพียงแค่ใช้ดุลยพินิจ เมื่อคิดหรือเห็นว่าเรื่องนั้นๆ หลุดออกนอกกรอบก็ท้วงติงได้ทันที หรือหนักกว่านั้น เมื่อมีการกล่าวหาว่าส่อไปในทางทุจริต ก็ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ได้อีกด้วย ประกอบกับการให้อำนาจครอบจักรวาลแก่ศาลรัฐธรรมนูญ ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ยิ่งทำให้ฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งไร้ความหมาย จะกระทำในสิ่งที่แตกต่าง หรือที่เห็นว่าเหมาะสมไม่ได้แม้แต่น้อย เ พราะถูกครอบงำควบคุมโดยองค์กรที่มาจากไหนก็ไม่รู้ เท่ากับว่าคนไม่กี่คนมีอำนาจเหนือเสียงของประชาชนทั้งประเทศ ร่างกฎหมายนี้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามามีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร โดยใช้องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน เป็นกลไกสำคัญในการใช้อำนาจเหนือรัฐบาลและสภาที่มาจากเลือกตั้ง
"การให้อำนาจแก่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่ผูกโยงกับ ป.ป.ช. รวมไปถึงความยิ่งใหญ่ของศาลรัฐธรรมนูญในอนาคต เท่ากับว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำอะไรไม่ได้เลย พรรคการเมืองไม่จำเป็นต้องแข่งขันกันในเรื่องนโยบาย เพราะยังไงก็ต้องมาเป็นลูกไล่ขององค์กรที่มาจากการแต่งตั้งเหล่านี้ สุดท้ายประเทศก็ล้าหลัง ถดถอย หรือดีที่สุดคือย่ำอยู่กับที่ " นายอุเทน กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น